วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2559

GC-2014 ECD & PDD ตอนที่ ๓๗ พีคออกซิเจนจาก ECD MO Memoir 2559 Jan 4 Mon

Memoir ฉบับนี้เป็นบันทึกสัญญาณพีคออกซิเจนที่วัดจาก ECD ในช่วงบ่ายวันนี้ เพื่อไว้อ้างอิงในการเปรียบเทียบความแรงของสัญญาณ ECD เมื่อเวลาผ่านไป (ECD ทำงานด้วยสารกัมมันตภาพรังสี ซึ่งจะเสื่อมไปตามเวลา) สภาวะการทำงานยังคงเป็นเช่นเดียวกันกับที่รายงานไว้ใน Memoir ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๑๑๐๓ เรื่อง "GC-2014 ECD & PDD ตอนที่๓๖ ECDหลังผ่านไปปีเศษ" เพียงแต่การทดลองในวันนี้ใช้อุณหภูมิคอลัมน์ 40ºC
 
รูปแรกนั้นเป็นโครมาโทแกรมจากการฉีดอากาศ ๔ ครั้ง พีคที่เห็นนั้นเป็นพีคออกซิเจน (เราใช้ไนโตรเจนเป็น carrier gas ดังนั้นจึงไม่มีพีคไนโตรเจน) เป็นการเปรียบเทียบตำแหน่งและขนาดความสูงของพีค รูปที่สองนั้นเป็นภาพขยายส่วนฐานของพีคโดยที่ไม่ได้มีการปรับแต่งระดับของเส้น base line จะเห็นว่าในช่วงแรกเส้น base line จะอยู่ที่ระดับสูง (เปิดเครื่องตั้งแต่ ๘.๓๐ น มาฉีดตัวอย่างครั้งแรกตอนราว ๆ บ่ายโมงครึ่ง แต่พอการฉีดสองครั้งหลัง (หลังบ่ายสามโมง) ได้ระดับเส้น base line ที่ใกล้เคียงกัน ผลนี้แสดงให้เห็นว่าต้องใช้เวลานานเท่าใดกว่าเส้น base line จะคงที่ (ปรกติจะเปิดไว้อย่างน้อย ๔ ชั่วโมงก่อน จึงจะเริ่มฉีดตัวอย่างแรกได้
 
ส่วนรูปสุดท้ายเป็นการนำโครมาโทแกรมมาทาบทับกันโดยวางจุดตั้งต้นพีคให้อยู่ที่ระดับเดียวกัน เพื่อตรวจสอบจุดสิ้นสุดของพีค
 
เครื่อง GC-2014 เครื่องนี้ พอโปรแกรมอุณหภูมิเสร็จเรียบร้อยและทำการ download พารามิเตอร์ต่าง ๆ เครื่องจะไม่ทำการเพิ่มอุณหภูมิทันที แต่จะรออยู่เป็นช่วงเวลาหนึ่งก่อน เพื่อให้ carrier gas ทำการ purge ไล่อากาศ (ที่อาจมีอยู่ในคอลัมน์เมื่อทำการปิดเครื่อง) ในคอลัมน์ออกก่อน จากนั้นจึงค่อยเพิ่มอุณหภูมิ oven ไปที่อุณหภูมิที่ทำการวิเคราะห์
 
พรุ่งนี้ก็จะทำการเปิดเครื่องทิ้งเอาไว้ในช่วงเช้า และช่วงบ่ายหลังข้าวเที่ยงก็คงจะได้ทำการฉีด NO กัน




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น