วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2561

รถไฟสายพระพุทธบาท ภาพสถานีรถไฟ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๓๕) MO Memoir : Thursday 29 March 2561

รถไฟสายพระพุทธบาทที่เริ่มต้นที่ อ.ท่าเรือ อยุธยา ไปยังพระพุทธบาท สระบุรี จัดได้ว่าเป็นรถไฟเอกชนสายแรก ๆ ของประเทศไทย และเป็นสายที่ดำเนินการโดยเอกชนตั้งแต่ต้นจนเลิกกิจการ B. R. Whyte กล่าวไว้ในหนังสือ "The Railway Atlas of Thailand, Laos and Combodia" เอาไว้ว่ารถไฟสายนี้เริ่มกิจการราว ๆ ปี ค.ศ. ๑๙๐๒ - ๑๙๐๓ ก่อนที่จะเลิกกิจการไปในปีค.ศ. ๑๙๔๒ (พ.ศ. ๒๔๘๕ หรือช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ ๒)
 
และด้วยการที่เส้นทางรถไฟสายนี้เป็นเส้นทางรถไฟเอกชนที่สร้างขึ้นในยุคที่การถ่ายรูปยังไม่แพร่หลาย ก็เลยทำให้ภาพถ่ายบรรยากาศต่าง ๆ ของเส้นทางรถไฟนั้นแทบจะไม่มี แม้ว่าจะมีนักเขียนบางท่านได้บรรยายบรรยากาศการนั่งรถไฟสายนี้เอาไว้บ้างก็ตาม (เช่น เหม เวชกร และนาวาเอก สวัสดิ์ จันทนี)
 
สัปดาห์ที่แล้วระหว่างเปิดดูหนังสือตามชั้นต่าง ๆ ของห้องสมุดมหาวิทยาลัย ก็ได้ไปเจอหนังสือ "สยามเก่า เล่าใหม่" ที่เขียนโดย ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ และในเรื่อง "การรถไฟไทยสมัยรัชกาลที่ ๕) ก็มีภาพที่ระบุว่าเป็น "สถานี รถไฟสายพระพุทธบาท" ดังแสดงในรูปที่ ๑ ข้างล่าง และดูเหมือนจะเป็นสิ่งเดียวที่กล่าวถึงเส้นทางรถไฟสายนี้ในหนังสือเล่มนี้ จากภาพจะเห็นได้ว่าสำหรับรถไฟเล็กที่ไม่ได้บรรทุกน้ำหนักมาก (เส้นทางสายนี้ขนคนเป็นหลัก) แค่ทำคันทาง วางไม้หมอน แล้วก็วางรางลงไป ก็วิ่งรถได้แล้ว โดยไม่ต้องมีหินโรยจนเต็มระดับไม้หมอนและออกไปทางด้านข้างทั้งสองด้านเหมือนในปัจจุบัน


รูปที่ ๑ ภาพสถานีรถไฟพระพุทธบาท ที่ปรากฏในหนังสือ "สยามเก่า เล่าใหม่" โดย ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น (เลขที่ ๒๓๖/๖-๗ สยามสแควร์ ซอย ๒ ข้างโรงภาพยนต์ลิโด้) พ.ศ. ๒๕๒๐

รูปที่ ๒ แผนที่เส้นทางรถไฟสายพระพุทธบาท ที่ปรากฏในเอกสาร Air Objective Folder Thailand เป็นเอกสารที่กองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาจัดทำขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพื่อชี้เป้าหมายการทิ้งระเบิดในประเทศไทย ในแผนที่นี้เป้าหมายหนึ่งคือสนามบินโคกกระเทียม (Koke Kathiem) ส่วน G. Hokwasaibon คือคลองหกวาสายบน

เรื่องรถไฟสายพระพุทธบาทเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ ๓ ที่เขียน สองเรื่องก่อนหน้านี้คือ
"รถไฟสายพระพุทธบาท" (วันอาทิตย์ที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๖) และ
"รถไฟสายพระพุทธบาทในหนังสือนิทานชาวไร่" (วันพุธที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๙)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น