วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

รถไฟสายพระพุทธบาท (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๔๑) MO Memoir : Sunday 5 May 2556

เมื่อประมาณ ๒๐ ปีที่แล้วทางทบวงมหาวิทยาลัยได้ทำการกู้เงินจากแหล่งสองแหล่งเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัย แหล่งแรกคือการกู้เงินจากธนาคารโลก (World Bank) เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ซึ่งโครงการนี้ทุกมหาวิทยาลัยต่างได้รับไป โครงการที่สองคือโครงการเงินกู้จากประเทศญี่ปุ่นเรียกชื่อย่อว่า OECF เป็นโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและการวิจัยในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรีสายวิทยาศาสตร์เพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งมหาวิทยาลัยของเราก็ได้รับมาสำหรับคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์
  
ในส่วนของโครงการเงินกู้ OECF นั้น ทางญี่ปุ่นยังได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค มีรายการหนึ่งที่ผมเห็นว่าดีมากแต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเท่าใดนัก คือการที่เขาส่งนักประวัติศาสตร์ (คนหนุ่มผู้หนึ่ง) มาทำการศึกษาเปรียบเทียบประวัติศาสตร์การพัฒนารถไฟของไทยเทียบกับของญี่ปุ่น
 
ประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นนั้นโดบังคับให้เปิดประเทศในเวลาไล่เรี่ยกัน และได้รับรถไฟขบวนแรกมาในเวลาไล่เลี่ยกันด้วย แต่การพัฒนานั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ประเด็นนี้คนไทยที่สนใจเรี่องประวัติศาสตร์รถไฟไทยมักชอบเอาไปเปรียบเทียบโดยมักมองภาพเป็นลบแต่เพียงด้านเดียว แต่นักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่เขามาศึกษานั้นเขากลับมองภาพและให้ภาพที่แตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิงกับที่คนไทยชอบมอง (ผมว่าคนไทยชอบมองแบบดูถูกพวกเดียวกันเอง)
 
ในการศึกษาประวัติศาสตร์การพัฒนาการขนส่งทางรถไฟนั้นจะมองแต่แง่เศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองภาพของเหตุการณ์ทางการเมืองรอบข้าง การทหาร อิทธิพลจากประเทศมหาอำนาจ รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจและสังคนในขณะนั้นร่วมด้วย ซึ่งประเทศไทยเมื่อเริ่มต้นคิดจะมีรถไฟนั้น ผลของอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจแตกต่างไปจากญี่ปุ่นอย่างสิ้นเชิง ญี่ปุ่นเองนั้นมีแต่สหรัฐอเมริกาที่หวังเข้ามาหาผลประโยชน์ และต่างชาติก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะใช้เส้นทางขนส่งทางบกของญี่ปุ่น ส่วนในประเทศไทยเองนั้นมีทั้งอังกฤษทางฝั่งตะวันตกและฝรั่งเศสทางฝั่งตะวันออก ที่หวังจะใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางเดินทางทางบกด้วยรถไฟเพื่อเข้าไปยังจีนตอนใต้
 
การให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนสร้างทางรถไฟในประเทศไทยนั้นอาจเป็นการเปิดช่องให้ต่างชาติใช้เป็นข้ออ้างในการส่งทหารเข้ามารักษาผลประโยชน์ของคนของชาติตนที่เข้าไปลงทุนในประเทศอื่น ในขณะเดียวกัน (ในสมัยนั้น) การขนส่งทางรถไฟเป็นวิธีการขนส่งทางบกที่ทำให้กองทัพสามารถเคลื่อนย้ายกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และสัมภาระ จำนวนมากไปยังสนามรบได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเมื่อไทยเริ่มคิดจะมีรถไฟ จึงได้มีการนำปัจจัยเหล่านี้มาประกอบการพิจารณาการวางแผนเส้นทางเดินรถไฟ รวมทั้งขนาดรางที่จะใช้สำหรับประเทศไทย การตัดสินใจเรื่องขนาดรางและเส้นทางเดินรถในช่วงแรกของไทยทำให้รถไฟไทยถูกขนานนามว่าเป็น "รถไฟการเมือง หรือ Political Railways" คือให้น้ำหนักกับปัจจัยด้านการเมืองและความมั่นคงของประเทศมากกว่าทางด้านเศรษฐกิจ และทำให้ทางภาครัฐต้องทำหน้าที่เป็นก่อสร้างเส้นและควบคุมเส้นทางเอง

รายงานการศึกษาของนักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นผู้นั้นผมไม่สามารถตามหาได้ว่ามีเก็บไว้ที่ไหน แต่เมื่อปลายปีที่แล้วไปได้หนังสือเล่มหนึ่งชื่อ "Rails of the Kingdom - The History of Thai Railways" เขียนโดย Ichiro Kakizaki จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Whit Lotus ในปีที่แล้ว ที่ได้ให้ภาพเดียวกันกับที่ผมเคยได้ฟังมาเมื่อเกือบ ๒๐ ปีก่อนหน้านั้น ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคนเขียนหนังสือเล่มนี้กับคนที่มาบรรยายให้ผมฟังในวันนั้นเป็นคน ๆ เดียวกันหรือเปล่า

เมื่อเริ่มมีรถไฟ การสร้างทางรถไฟนั้นจัดเป็นธุรกิจใหม่ที่มีเอกชนหลายรายทั้งคนไทยเองและต่างชาติที่หวังเอามาลงทุนทำกำไร ในหนังสือของ Ichiro Kakizaki หน้า ๒๕ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ช่วงนี้เอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เอกชน (โดยเฉพาะต่างชาติ) ใช้ประโยชน์จากเส้นทางหลักที่ทางภาครัฐลงทุนสร้างเอาไว้ จึงได้มีการกำหนดให้เส้นทางที่เอกชนจะลงทุนนั้นใช้ความกว้างของรางที่ "แคบ" กว่าความกว้างของรางของเส้นทางหลักที่เรียกว่า Narrow gauge ความกว้างของราง (ที่เรียกว่า gauge เป็นการวัดจากขอบด้านในของรางฝั่งหนึ่งไปยังขอบด้านในของรางอีกฝั่งหนึ่ง) ที่ไทยใช้อยู่ในขณะนั้นคือ Standard gauge ที่กว้าง 1435 mm (เส้นทางไปโคราช ส่วนเส้นทางสายใต้ที่สร้างทีหลังใช้ขนาด Metre gauge ที่กว้าง 1000 mm)

รถไฟเอกชนสายแรกที่ได้รับอนุญาตให้ทำการสร้างคือรถไฟสายท่าเรือ-พระพุทธบาท ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟจากริมแม่น้ำป่าสักใกล้กับทางรถไฟสายเหนือในท้องที่อำเภอท่าเรือจังหวัดพระนาคศรีอยุธยา ไปยังพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี ขนาดความกว้างของรางที่ Ichiro Kakizaki รายงานไว้ในหนังสือของเขาคือ 600 mm แต่ตรงนี้ที่มีคนศึกษาไว้กล่าวว่าขนาดที่แท้จริงคือ 750 mm (http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=18) ซึ่งเมื่อดูรูปที่แสดงในหนังสือของ Ichiro Kakizaki แล้ว (รูปที่ ๑) ผมว่าขนาดความกว้างน่าจะเป็น 750 mm มากกว่า

รูปที่ ๒-๕ เป็นแผนที่แนบท้ายราชกิจจานุเบกษาที่ปรากฏเส้นทางรถไฟสายดังกล่าวที่ผมค้นเจอ เส้นทางสายนี้ความยาวตลอดเส้นทางประมาณ ๑๙ กิโลเมตร


รูปที่ ๑ รถไฟจากท่าเรือไปพระพุทธบาทสระบุรี จากหนังสือ "Rails of the Kingdom - The History of Thai Railways" เขียนโดย Ichiro Kakizaki ซึ่งเขาไปนำมาจากหนังสือครบรอบ ๑๐๐ ปีการรถไฟแห่งประเทศไทยอีกที (เขาระบุแหล่งที่มาว่ามาจาก RFT 1997 หน้า 137)

รูปที่ ๒ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินบริเวณพระพุทธบาท ตำบลขุนโขลน ตำบลหนองโดน จังหวัดสระบุรี พ.ศ. ๒๔๗๙ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๕๓ หน้า ๑๒๘๐ วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๔๗๙ ปรากฏแนวทางรถไฟทางด้านซ้ายของแผนที่ รูปนี้แสดงส่วนปลายทางของเส้นทางรถไฟทางด้านพระพุทธบาท ในกรอบสีเหลืองคือศาลเจ้าพ่อเขาตกที่มีเล่าไว้ในนิยายของ เหม เวชกร

รูปที่ ๓ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินในท้องที่ ตำบลบ้านหมอ อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี พ.ศ. ๒๔๘๑ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๕๖ หน้า ๒๒๗ วันที่ ๓ เมษายน ๒๔๘๒

รูปที่ ๔ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์ที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี พ.ศ. ๒๔๘๒ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๕๖ หน้า ๖๘๘ วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๔๘๒ จะปรากฏสถานีท่าเรือที่เป็นสถานีต้นทางของทางรถไฟสายพระพุทธบาทตรงแม่น้ำป่าสัก ที่วิ่งแยกออกจากทางรถไฟสายเหนือไปทางด้านขวา


รูปที่ ๕ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาถอนการหวงห้ามที่ดินบางส่วนบริเวณพระพุทธบาท ตำบลขุนโขลน ตำบลหนองโดน จังหวัดสระบุรี พ.ศ. ๒๔๙๗ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ เล่ม ๗๑ ตอน ๒ หน้า ๑ วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๗ ปรากฏแนวทางรถไฟทางด้านซ้ายของแผนที่ ส่วนหนึ่งที่รูปนี้แตกต่างไปจากรูปที่ ๑ คือมีถนนพหลโยธินตัดผ่านบริเวณพระพุทธบาทแล้ว




บรรยากาศการเดินทางด้วยรถไฟในเส้นทางสายนี้คงหาไม่ได้จากเอกสารทางราชการ แต่ไปมีปรากฏในนิยายเรื่อง "อ้ายบักสอย" ที่แต่งโดยเหม เวชกร ข้อความข้างล่างผมคัดมาจากหนังสือเปิดกรุผีไทย ๑ ตอนผ้าป่าผีตาย ฉบับพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

"พอรุ่งขึ้นเราสามคนได้ขึ้นรถไฟมาลงที่ท่าเรือพระพุทธบาท ผมตื่นเต้นจนพูดไม่ถูก ดูผู้คนช่างคึกคักเอาการ รถไฟสายเล็กของพระพุทธบาทน่าดูมาก เป็นรถคันเล็ก ๆ ไม่มีตัวถัง มีม้านั่งกันโล่ง ๆ มองเห็นกันสนุกกันอย่างว่าไปเที่ยวป่าเที่ยวเขาเน้อ! เธอก็มองเห็นฉัน ฉันก็มองเห็นเธอ โปร่งไปทุกคันรถน่าสนุก แต่เราไม่มีเรื่องจะขึ้นกับเขา เราจะใช้กำลังความแข็งแกร่งกล้าเดินไปสู่โดยทางทุรกันดาร เสียงรถไฟสายเล็กเปิดหวีดเสียงยาวเสียงถี่ เป็นการเรียกร้องให้เร่งไปซื้อตั๋วหรือเป็นการโฆษณาการเที่ยวผ่านดงพงพี บรรดาคนที่อยู่ในที่นั้นต่างก็ใจเต้นตูม อยากจะรีบขึ้นนั่งรถ"

ส่วนเมื่อเข้าไปใกล้ถึงพระพุทธบาทแล้วบรรยากาศจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น เหม เวชกร ได้เล่าเอาไว้ดังนี้

"..... และเขาแนะทางเดินให้เราว่า ควรจะยึดแนวทางรถไฟสายเล็กนี้เดินไปจะพบสถานีอีกหลายสถานีแล้วจะไปผ่านศาลเจ้าพ่อเขาตก ที่ตรงนั้นรถไฟจะหยุดให้คนไหว้เจ้าพ่อกันมีดอกไม้ธูปเทียนขาย เมื่อถึงศาลเจ้าพ่อแล้วจะไม่เดินตามทางรถไฟไปก็ได้ เดินตามทางป่าละเมาะและทุ่งบ้างละเมาะบ้าง เป็นทางลัดเข้าพระพุทธบาทเลย ....."

และสมัยนั้นที่พระพุทธบาทมีอะไรให้เที่ยวบ้าง เหม เวชกร ก็ได้เล่าเอาไว้เช่นเดียวกัน (ดูรูปที่ ๒ หรือ ๕ ประกอบ)

"เมื่อเสร็จอาหารเช้าแล้วเราก็ออกเดินทางตามที่ผีบอก เลาะไปตามทางรถไฟจนถึงตำบลเจ้าพ่อเขาตก เราก็แวะเข้าไปที่ศาล ผลทำการสัการบูชาคนเดียว พระท่านไหว้และบูชาใครไม่ได้นอกจากพระพุทธเจ้าองค์เดียว เรานั่งกันแถว ๆ นั้นจนเห็นคนเดินทางมาจากพระพุทธบาทเพื่อจะผ่านไปถ้ำมหาสนุก เราก็ถือโอกาสเดินสวนทางกับพวกนั้นเข้าพระพุทธบาทดีกว่าจะเดินสุ่มไป ........... กะว่าพรุ่งนี้ตอนเช้าจะขึ้นปิดทองรอยพระพุทธบาท ในวันนี้ไปเที่ยวแค่ถ้ำประทุนก่อน เป็นครั้งแรกในชีวิตได้เข้าถ้ำและได้ชมบ่อพรานล้างเนื้อ รอยปักปอก และที่คุกเข่าลับหอกของพรานบุญพร้อมทั้งถ้ำกินนร ถ้ำระฆัง
ต่อวันรุ่งขึ้นก็ไปต่อยังถ้ำวิมานจักรี ถ้ำชาละวัน รุ่งอีกวันไปถ้ำมหาสนุก พุกร่าง ตามที่พระทั้งสองเล่าให้ฟังจนครบทุกแห่ง ผู้รู้คราวหลังว่ายังมีที่เที่ยวอีก หากแต่ไม่มีเวลาและก็ไปกันไม่ถูกจึงเดินทางกลับ คือกลับรถไฟ มาเดินด้วยเท้าเอาเพียงบ้านภาชีกลับบ้านมาบโพธิ์เท่านั้นเอง"

ปัจจุบันเส้นทางสายนี้คือทางหลวงสาย ๓๐๒๒ อ.ท่าเรือ - .พระพุทธบาท

ไม่มีความคิดเห็น: