วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559

รถไฟสายพระพุทธบาทในหนังสือนิทานชาวไร่ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรง ตอนที่ ๑๑๒) MO Memoir : Wednesday 21 September 2559

ช่วงหนึ่งเขามีการทำรายชื่อหนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน แต่พอเห็นรายชื่อแล้วก็คงต้องขอบอกว่าบางเล่มนั้นไม่รู้เหมือนกันว่าจะไปหาอ่านที่ไหน เพราะเป็นหนังสือเก่า (ถ้าผู้เขียนไม่ได้มีชื่อเสียง ก็คงจะไม่มีการพิมพ์ซ้ำมานานแล้ว) หนังสือชุด "นิทานชาวไร่" ที่เขียนโดย นาวาเอก สวัสดิ์ จันทนี ก็ได้รับการจัดเป็นหนึ่งในหนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่านเช่นกัน หนังสือชุดนี้เขาว่ามีกว่า ๑๐ เล่ม แต่ที่เห็นในห้องสมุดมหาวิทยาลัยเห็นมีเพียง ๕ เล่มเท่านั้นเอง
 
เรื่องที่เอามาเล่าในวันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับรถไฟสายพระพุทธบาท เรื่องนี้เคยนำมาเขียนไว้ครั้งหนึ่งใน Memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๖๑๕ วันอาทิตย์ที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๖ เรื่อง "รถไฟสายพระพุทธบาท (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๔๑)" ที่เล่าถึงบรรยากาศการนั่งรถไฟสายดังกล่าวที่ เหม เวชกร นำมาเป็นฉากในการเขียนนิยาย (คือตัวเอกในนิยายไม่ได้นั่งรถไฟ แต่เป็นการเดินเท้าไปตามเส้นทางรถไฟ) แต่คราวนี้เป็นการเล่าเรื่องราวจากบันทึกความทรงจำของผู้ที่ได้มีโอกาสนั่งรถไฟสายดังกล่าว

ในหนังสือนิทานชาวไร่ เล่มที่ ๔ เรื่องที่ ๓๘ ไหว้พระพุทธบาทสระบุรี นาวาเอก สวัสดิ์ จันทนี ได้เล่าถึงบรรยากาศการนั่งรถไฟเล็กสายพระพุทธบาทนี้ โดยเล่าไว้ว่าได้มีโอกาสขึ้นรถไฟสายดังกล่าวสองครั้งด้วยกัน ครั้งแรกน่าจะประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๑ และครั้งหลังใน พ.ศ. ๒๔๕๘ เมื่อเทียบกับอายุท่านที่เกิดเมื่อ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ แสดงว่าได้นั่งรถไฟสายดังกล่าวครั้งแรกเมื่อยังมีอายุน้อยอยู่ ท่านผู้เขียนได้บรรยายถึงการนั่งรถไฟสายดังกล่าวในช่วงเทศกาลไหว้พระพุทธบาทไว้ดังนี้

"..... รถไฟเล็กนี้ดูก็จะเท่ากับรถไฟที่ทางการออกแสดงรอบ ๆ เขาดินหรือรอบ ๆ สวนลุมพินีในเวลามีงานฉลองรัฐธรรมนูญเสมอ ๆ นั่นเอง ตัวข้าพเจ้าเองได้เคยขึ้นสองครั้ง ครั้งแรกจำไม่ได้แน่แต่ประมาณ พ.. ๒๔๕๑ ครั้งหลังใน พ.. ๒๔๕๘ ดูมันก็โคลงสนุกดีเหมือนกัน นั่งกันอย่างยัดทะนาน เพราะเป็นเทศกาลไหว้พระพุทธบาท เดินระหว่างท่าเรือจนถึงพระพุทธบาท ราว ๖๐ กิโลเมตรแต่จะเริ่มเมื่อใด และเลิกเดินเมื่อใด ข้าพเจ้าจำไม่ได้เสียแล้ว ....."

นอกจากนี้ท่านผู้เขียนยังได้เล่าถึงตำนานของเจ้าพ่อเขาตกไว้ดังนี้

"..... มีตำนานกล่าวว่าทุกคนต้องลงไหว้เจ้าพ่อเขาตก แม้กระทั่งอยู่บนรถไฟก็ต้องลงจากรถไฟมายังพื้นดินแล้วทำการกราบไหว้ แต่เมื่อข้าพเจ้าไปใน พ.. ๒๔๕๘ ข้าพเจ้าหาได้ลงจากรถไฟไม่ เพราะถ้าขืนลงไปก็ไม่แน่ว่าจะได้มานั่งตามเดิมหรือไม่ คงได้แต่นั่งไหว้ทั้ง ๆ ที่อยู่บนรถไฟเล็กนั้นเอง กล่าวกันว่าถ้าใครไม่ไหว้ต้องมีอันเป็นเลือดปากเลือดจมูกออก ....."

ส่วนศาลเจ้าพ่อเขาตกตั้งอยู่ตรงไหน ดูได้จากแผนที่ในรูปที่ ๑ ที่แนบมา

(ข้อมูลวันเกิดของ นาวาเอก สวัสดิ์ จันทนี นำมาจาก "หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นาวาเอก สวัสดิ์ จันทนี" ที่ทางเว็บ http://www.digitalrarebook.com/ สแกนและนำมาแสดงเป็นตัวอย่าง)


รูปที่ ๑ ศาลเจ้าพ่อเขาตกอยู่ในกรอบสีเหลืองทางมุมซ้ายล่างของแผนที่ (จากแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินบริเวณพระพุทธบาท ตำบลขุนโขลน ตำบลหนองโดน จังหวัดสระบุรี พ.ศ. ๒๔๗๙ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๕๓ หน้า ๑๒๘๐ วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๔๗๙)

หนังสือฉบับที่ผมยืมมาอ่านนั้นเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๐๙ (ก็ ๕๐ ปีที่แล้ว) จำนวน ๑๕๐๐ เล่ม ตอนนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามีการพิมพ์ซ้ำเพิ่มเติมอีกหรือเปล่า ผมเห็นว่าถ้าคณะกรรมการที่ทำหน้าที่พิจารณาว่าหนังสือใดนั้นควรจัดให้เป็น "หนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน" แต่มันไม่มีการพิมพ์ซ้ำหรือไม่สามารถหาอ่านได้ง่าย ก็ควรที่จะหาทางจัดพิมพ์เผยแพร่ให้เป็นที่รับทราบกันทั่วไป ไม่ควรให้มีเพียงแต่ชื่อปรากฏ แต่ควรมีเล่มหนังสือให้ผู้ที่อยากอ่านสามารถเข้าถึงได้ด้วย

ท้ายสุดนี้ก็ขอแนบปกหน้าและคำนำที่ท่านผู้เขียนได้เขียนเอาไว้ในหนังสือดังกล่าว มาลงเอาไว้เป็นที่ระลึกถึง









ไม่มีความคิดเห็น: