วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) ตอนที่ ๙ MO Memoir : Wednesday 22 July 2563

เมื่อปลายเดือนที่แล้วและต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมเกี่ยวกับการจัดทำ Internal Compliance Programme หรือที่เรียกย่อว่า ICP ของกรมการค้าต่างประเทศ เรียกว่าเป็นการอบรมในเนื้อหาส่วนที่ผมไม่เคยเข้าร่วมมาก่อน เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการองค์กรเพื่อปฏิบัติตามข้อกฎหมาย ในการส่งสินค้า (ที่ต้องมีการระบุว่าเป็นหรือไม่เป็นสินค้าสองทาง) ไปยังผู้รับที่ต่างประเทศ ผู้ที่เข้าร่วมอบรมในงานนี้เกือบทั้งหมดจะเป็นตัวแทนจากบริษัทต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ มีบ้างบางส่วนที่เป็นผู้ที่มาใหม่ มาจากบริษัทที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายนี้ด้วยหรือไม่ ในขณะที่ช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นผมเองจะเข้าอบรมในส่วนของการพิจารณาคุณลักษณะสินค้าว่าเข้าข่ายเป็นสินค้าสองทางหรือไม่ โดยผู้เข้าร่วมนั้นจะเป็นนักวิชาการเสียมากกว่า
 
ในการประชุมทั้งสองครั้งที่ผ่านมานั้นก็ได้ทำให้เห็นมุมมองที่แตกต่างกันระหว่าง บริษัทที่ทำการส่งออก และผู้ที่จะมาทำหน้าที่พิจารณาว่าสินค้าเข้าข่ายหรือไม่ ซึ่งในช่วงเวลาแรกนั้นการทำงานทั้งสองฝั่งคงมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่สุดท้ายแล้วเมื่อเริ่มมีการสะสมประสบการณ์ที่มากพอ งานทั้งสองฝั่งก็คงจะรวมเข้าด้วยกันเอง สำหรับวันนี้ก็จะเป็นการบันทึกความเห็นและคำถามส่วนตัวที่ยังไม่มีคำตอบ (แค่บันทึกไว้กันลืม) ที่ระบบคงต้องค่อย ๆ พิจารณาปรับแก้กันไป

รูปที่ ๑ ความหมายของ ICP (จากไฟล์เอกสารการประกอบการอบรมเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓)

อันที่จริงเรื่องนี่มันเกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษาด้วย และงานนี้เขาก็ได้ส่งจดหมายเชิญไปยังสถาบันการศึกษาหลายแห่งด้วย แต่การอบรมในรอบวันจันทร์ที่ผ่านมา ไม่ยักมีสถาบันการศึกษาไหนส่งตัวแทนเข้าร่วม จากรายชื่อที่เห็นมีผมสมัครไปเข้าฟังเองเพียงคนเดียว (เพราะเขาส่งอีเมล์ชวนผมให้เข้าร่วม)
  
ต่อไปก็จะเป็นการบันทึกสิ่งที่ได้ไปเรียนรู้มา และสิ่งที่คาดว่าจะเป็นปัญหา ที่ต้องคอยทำการแก้ไขปรับปรุงระบบกันต่อไปในอนาคต

. EU List กับ HS code

สินค้า (ที่รวมถึงสิ่งที่จับต้องไม่ได้เช่น องค์ความรู้และซอร์ฟแวร์) ใดจะถูกจัดเป็นสินค้าใช้ที่ใช้ได้สองทางหรือไม่นั้น ต้องไปดูคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในรายการที่เรียกว่า EU List (ที่มีการปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะ) รายการนี้เป็นรายการที่ผู้ตรวจสอบจะใช้พิจารณาว่าสินค้านั้นเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทางหรือไม่
  
แต่การส่งออกสินค้านั้น เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน (เช่นการเก็บภาษีศุลกากร) จะมีการให้เลขรหัสสินค้าที่เรียกว่า HS code กล่าวคือสินค้าชนิดเดียวกันก็จะมีเลขรหัส HS code (ถ้าจำไม่ผิดก็น่าจะเป็นเลข ๖ ตัวแรก) แบบเดียวกัน รายการนี้เป็นรายการที่ผู้ส่งออกใช้ในการดำเนินเรื่องการส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ (เช่นเกี่ยวกับพิกัดภาษีศุลกากร)
  
EU List มันมีการกำหนด คุณสมบัติทางกายภาพ, ความสามารถในการทำงาน, วัสดุที่ใช้สร้าง ฯลฯ สินค้าเหล่านั้น เช่น ท่ออะลูมิเนียมที่เข้าข่าย EU List ก็จะมีการกำหนดความสามารถในการรับแรงของท่อนั้น แต่คุณสมบัติเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏใน HS code
  
จากการฟังการอบรมที่ผ่านมา เข้าใจว่าสิ่งที่ทางกรมการค้าต่างประเทศได้เริ่มทำขึ้นมาแล้วก็คือ การพยายามเทียบเคียงว่ารายชื่อที่ปรากฏใน EU List นั้นน่าจะเกี่ยวข้องกับ HS code ตัวใดบ้าง ซึ่งแน่นอนว่า ๑ รายชื่อใน EU List จะเกี่ยวข้องกับ HS code หลายรายการด้วยกัน ส่วนที่ว่าจะมีครบหรือไม่นั้นก็คงต้องช่วยกันปรับปรุงกันต่อไป

. เข้าข่ายหรือไม่เข้าข่าย

"ถ้าตรวจสอบแล้ว สินค้านั้นไม่ได้มีคุณสมบัติตรงตาม EU List ก็สามารถส่งออกได้เลยใช่ไหม"
ประเด็นนี้น่าสนใจอยู่ตรงที่ ถ้าชนิดของสินค้าที่จะส่งออกไปนั้น มันมีรายชื่อปรากฏอยู่ใน EU List แต่สินค้าที่ผู้ผลิตจะส่งออกไปนั้น ไม่ได้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ใน EU List ทุกข้อ (คืออาจมีเพียงบางข้อเท่านั้นที่ตรง) จะตีความว่าสินค้านั้นไม่เป็นสินค้าควบคุมได้หรือไม่
 
ตอนที่ไปอบรมที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมเมื่อปีแล้ว ก็ได้มีการกล่าวถึงประเด็นนี้ เพราะมันมีประเด็นที่ว่าความแตกต่างนั้นเกิดจากดัดแปลงสินค้าเพื่อเลี่ยงกฎระเบียบหรือไม่ เช่นการเคลือบผิวด้านนอกที่สัมผัสกับสารเคมี เพื่อไม่ให้มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดของสินค้าควบคุม โดยผู้รับสามารถกำจัดผิวเคลือบนั้นออกไปได้ หรือการเปลี่ยนแปลงชิ้นส่วนบางชิ้น (ที่อาจมีการแยกส่งต่างหาก) เพื่อให้ไม่เข้าข่าย แต่ผู้รับนั้นสามารถถอดเอาชิ้นส่วนนั้นออกและใส่ชิ้นส่วนใหม่ (ที่อาจได้รับมาอีกทางหนึ่ง) ทำให้กลับกลายเป็นสินค้าควบคุมได้ 
 
หรือด้วยการแยกออกเป็นชิ้นส่วนย่อย ๆ ที่แต่ละชิ้นส่วนย่อยสามารถทำงานได้อย่างอิสระ และไม่ตรงตามข้อกำหนดของสินค้าควบคุม แต่ทางผู้รับสามารถนำเอาชิ้นส่วนย่อยเหล่านั้นมาประกอบรวมกัน ทำให้เมื่อประกอบเสร็จแล้วสิ่งที่ได้นั้นจะมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์สินค้าควบคุม (เช่นการแยกส่งหม้อแปลงไฟฟ้า ๓ เฟสในรูปของหม้อแปลงไฟฟ้าเฟสเดียว ๓ ตัว)
  
กรณีนี้เคยเล่าไว้ในเรื่อง
"สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items - DUI) ตอนที่ ๕)" (วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๒)
และ "สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items - DUI) ตอนที่ ๗)" (วันศุกร์ที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๒)

. การหาสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใน

ตัวนี้อาจเป็นปัญหาของการใช้ HS code ก็ได้ ลองดูกรณี HS code 870323 ที่เป็นของรถยนต์เครื่องเบนซินขนาดความจุกระบอกสูบ 1,500 - 3000 cc ในรูปที่ ๒
  
จะเห็นนะครับว่าในรายการต่าง ๆ นั้นจะกล่าวถึงเพียงแค่จำนวนผู้โดยสาร (รวมคนขับ) ชนิดของเครื่องยนต์ (ที่ยกมาคือเป็นเครื่องยนต์เบนซิน) และขนาดของเครื่องยนต์ (ความจุกระบอกสูบ) โดยไม่กล่าวถึงอุปกรณ์ย่อยอื่น ๆ ที่ทางผู้ผลิตรถยนต์อาจติดตั้งเพิ่มเติมเข้าไป เช่นระบบเซนเซอร์ตรวจจับระยะห่าง ระบบเซนเซอร์ตรวจจับอัตราเร่ง ระบบระบุตำแหน่ง GPS อุปกรณ์เข้ารหัสเพื่อการควบคุมหรือสั่งการ ฯลฯ อุปกรณ์ย่อยเหล่านี้ที่เป็นส่วนประกอบของสินค้าหลัก อาจมีคุณสมบัติที่เป็นไปตามข้อกำหนด EU List ก็ได้
 
สิ่งที่ทางศุลกากรมองเห็นจะมีเพียง "รถยนต์" และ "เครื่องยนต์" เพราะ HS code ไม่ได้มีการระบุถึงรายละเอียดปลีกย่อยส่วนประกอบต่าง ๆ ของรถยนต์ที่จะส่งออก ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของผู้ผลิตรถที่ต้องตรวจสอบว่า ส่วนประกอบย่อยที่ติดตั้งเข้ากับผลิตภัณฑ์หลักนั้นอยู่ในบัญชีรายชื่อ EU List ด้วยหรือไม่
  
กรณีนี้เคยเล่าไว้ในเรื่อง "สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items - DUI) ตอนที่ ๓)" (วันอาทิตย์ที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๒)

รูปที่ ๒ รายละเอียด HS Code 870323 ที่เป็นของรถยนต์เครื่องเบนซินขนาดความจุกระบอกสูบ 1,500 - 3000 cc
 
. เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้อง

ในระหว่างการอบรม วิทยากรได้ถามผู้เข้าร่วมการอบรมท่านหนึ่งว่ามาจากไหน ผู้เข้าร่วมท่านนั้นก็บอกว่ามาจากโรงงานผลิตเบียร์แห่งหนึ่ง ซึ่งก็โดนท่านวิทยากรแซวว่า มาทำไม โรงงานผลิตเบียร์เกี่ยวอะไรกับการผลิตอาวุธทำลายล้างสูง
 
อันที่จริงในการอบรมวันนั้นก็มีตัวแทนมาจากโรงงานต่าง ๆ ที่แม้แต่เขาเองก็ยังไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องอย่างไร เพราะผลิตภัณฑ์ที่เขาผลิตนั้นเป็นเพียงแค่สินค้าธรรมดา (เช่นกระจก น้ำมันพืช)
 
แม้ว่าผลิตภัณฑ์ที่โรงงานเขาผลิตจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับการผลิตอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง แต่มันไปมีประเด็นตรงที่ตัวอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต เช่น อุปกรณ์ควบคุมความเที่ยงตรงของการทำงาน อุปกรณ์ปรับอากาศ (เช่นที่ใช้ในห้อง clean room ในโรงงานผลิต อาหาร เครื่องสำอาง ยา) อุปกรณ์ที่ใช้ในห้องปลอดเชื้อ ถังหมัก เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน เครื่องกรอง spray dryer ฯลฯ ซึ่งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เหล่านี้อาจไม่เป็นสินค้าควบคุมเลยก็ได้ หรือมีเพียงแค่บางชิ้นที่เข้าข่ายเป็นสินค้าควบคุม แต่มีประเด็นสิ่งที่ต้องคำนึงก็คือ ตัวโรงงานเองนั้นอาจไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติสูงขนาดเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง แต่ต้องการสั่งสินค้าที่เป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทางมาใช้งาน (ซึ่งอาจทำไปเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตให้ดีขึ้น) หรือ "เป็นทางผ่านของอุปกรณ์ตัวนั้นไปยังแหล่งอื่น" ในรูปของอุปกรณ์ใช้งานแล้ว
  
ดังนั้นการพิจารณาว่าโรงงานใดจะเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่นั้น จะพิจารณาจากผลิตภัณฑ์ที่เขาผลิตเท่านั้นไม่ได้ ควรต้องพิจารณาไปถึงกระบวนการผลิตที่ใช้ด้วย และความเป็นไปได้ที่จะใช้อุปกรณ์ที่เข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทางในการผลิตสินค้าของเขาด้วย
  
กรณีนี้เคยเล่าไว้ในเรื่อง "การเลือกวัสดุสำหรับ F2 และ HF" (วันพุธที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๒)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น