วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

รู้ทันนักวิจัย (๑๑) บน simulation ทุกอย่างเป็นไปได้หมด (ภาค ๔) MO Memoir : Sunday 6 May 2561

แก๊สไฮโดรเจนที่ใช้กันอยู่ในบ้านเรานั้นเห็นจะมีแหล่งที่มาหลัก ๆ อยู่สองแหล่งด้วยกัน แหล่งแรกคือแก๊สไฮโดรเจนที่ได้จากกระบวนการผลิตโซดาไฟที่ได้แก๊สไฮโดรเจนและแก๊สคลอรีนเป็นผลพลอยได้ แหล่งที่สองคือแก๊สไฮโดรเจนที่เกิดจากการทำให้โมเลกุลไฮโดรคาร์บอนตั้งแต่ C2 ขึ้นไปแตกตัวเป็นโอเลฟินส์หรือโมเลกุลที่เล็กลง ไฮโดรเจนที่ได้จากกระบวนการหลังนี้มักจะถูกนำไปใช้ในกระบวนการอื่นในโรงงานต่อ หรือไม่ก็ส่งขายให้กับโรงงานที่อยู่ในพื้นที่ตั้งเดียวกัน แก๊สไฮโดรเจนจากสองแหล่งจะเรียกว่าเป็นผลพลอยได้จากการผลิตผลิตภัณฑ์อื่นก็ได้
 
กระบวนการหลักในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เน้นการผลิตแก๊สไฮโดรเจนเป็นผลิตภัณฑ์เลยเห็นจะได้แก่ "Steam reforming" กระบวนการนี้จะให้มีเทน (methane CH4) เป็นสารตั้งต้น (เพราะมันมีสัดส่วนไฮโดรเจนในโมเลกุลเยอะสุด) โดยจะผสมมีเทนเข้ากับไอน้ำ ผ่านไปบนตัวเร่งปฏิกิริยาที่เป็นพวกโลหะนิเกิล (Ni) อุณหภูมิการทำปฏิกิริยาจะสูงในระดับ 1,000ºC ที่อุณหภูมิการทำปฏิกิริยาระดับนี้ แก๊สผสมที่เข้ามาจะถูกแบ่งแยกไหลเข้าสู่ท่อย่อยหลายท่อที่มีตัวเร่งปฏิกิริยาบรรจุอยู่ภายในเสมือนเป็นเบดนิ่งเล็ก ๆ หลายเบดทำงานคู่ขนานกั โดยภายนอกท่อนั้นจะให้ความร้อนด้วยเปลวไฟ จะเรียก reactor แบบนี้ว่าเป็น fired process heater ก็ได้ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากปฏิกิริยาคือไฮโดรเจน H2, คาร์บอนมอนอกไซด์ CO และคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 แต่ตัวหลักที่เขาอยากได้มากกว่าก็คือ H2 ดังนั้นจึงมักมีการติดตั้ง reactor สำหรับปฏิกิริยา water gas shift ต่อเข้าไปด้วย ในปฏิกิริยา water gas shift นี้ CO จะทำปฏิกิริยากับ H2O เกิดเป็น H2 และ CO2 ทำให้ได้ไฮโดรเจนเพิ่มขึ้น แต่ทั้งปฏิกิริยา steam reforming และ water gas shift นี้ต่างถูกคุมด้วยสมดุลเคมี
 
ตอนที่บ้านเราจะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่มาบตาพุดนั้นก็มีการศึกษาการตั้งโรงงานนี้อยู่เหมือนกัน เพื่อที่จะได้เอาไฮโดรเจนไปผลิตแอมโมเนียและต่อเนื่องไปยังยูเรียเพื่อใช้เป็นปุ๋ยเคมี และอีกส่วนหนึ่งก็เอาไปผลิตเมทานอล (methanol CH3OH) ที่ใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีหรือใช้เป็นเชื้อเพลิงเหลวทดแทนน้ำมัน แต่สุดท้ายโรงงานนี้ก็ไม่เกิด
 
พักหลังนี้มีคนศึกษาปฏิกิริยา steam reforming กันมากขึ้น โดยใช้เหตุผลว่าไฮโดรเจนเป็นพลังงานสะอาดสำหรับใช้กับเซลล์เชื้อเพลิงเพื่อการผลิต "ไฟฟ้า" แต่ไม่ยักกล่าวถึงพลังงาน "ความร้อน" ที่ต้องใช้ในปฏิกิริยา steam refoming ที่เป็นปฏิกิริยาดูดความร้อนเยอะซะด้วย (สมการที่ (2) ในรูปที่ ๑) ว่าได้มาจากแหล่งใด 
  
แนวทางหนึ่งที่มีการคิดค้นกันเพื่อปรับปรุงกระบวนการ steam reforming ใช้การแยกการทำปฏิกิริยาออกเป็นสองส่วน (ดูรูปที่ ๑ ประกอบ) กล่าวคือแทนที่จะใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่เป็นโลหะ Ni แต่ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่เป็น NiO (รูปออกไซด์ของโลหะนิเกิล ในรูปคือ MeO) โดยคาดหวังให้มีเทนเข้าไปดึงไอออน O2- ออกจาก NiO เกิดเป็นแก๊ส H2 และ CO (สมการที่ (1) ในรูปที่ ๑) ส่วนไอออน Ni2+ ก็กลายเป็น Ni0 หรือกลายเป็นโลหะใหม่ (ในรูปคือ Me) ปฏิกิริยานี้เกิดใน Fuel reactor จากนั้นก็ส่งตัวเร่งปฏิกิริยาที่ถูกเปลี่ยนสภาพเป็นโลหะ Ni นั้นไปออกซิไดซ์ใหม่ให้กลับกลายเป็น NiO ด้วย "อากาศ" ที่ Air reactor ปฏิกิริยาการออกซิไดซ์ Ni เป็น NiO นี้เป็นปฏิกิริยาคายความร้อนสูง
 
ในช่วงรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเขียน Memoir ไปสองเรื่องคือ วันอาทิตย์ที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๑ เรื่อง "การบรรจุตัวเร่งปฏิกิริยาลง Multi tubular fixed-bed reactor" และวันพฤหัสบดีที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เรื่อง "การเตรียม Supported metal catalyst ก่อนใช้งานและ ก่อนนำออกจาก fixed-bed reactor" และได้กล่าวไว้ใน facebook ว่าสองเรื่องนี้เป็นการปูทางที่จะนำมาสู่เรื่อง "รู้ทันนักวิจัย (๑๑)" ซึ่งก็คือ Memoir ฉบับนี้ โดยเฉพาะเรื่องเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ที่เกี่ยวข้อกับเรื่องนี้โดยตรง ถ้าใครยังไม่อ่านเรื่องดังกล่าวก็ขอแนะนำให้ย้อนกลับไปอ่านก่อน แต่ถ้าเคยอ่านแล้ว สังเกตเห็นอะไรไหมบ้างไหมครับ

รูปที่ ๑ จากบทความเรื่อง "Optimization of a Chemical-Looping Auto-Thermal Reforming System Working with a Ni-based Oxygen-Carrier" โดย María Ortiz และคณะ ในวารสาร Energy Procedia 4 (2011) 425-432

ถ้าเราเห็นว่าปฏิกิริยาเคมีปฏิกิริยาหนึ่งให้ความร้อนที่มากพอ และคิดที่จะนำเอาความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีนั้นมาใช้ สิ่งสำคัญก็คือเราสามารถควบคุม "อัตราการปลดปล่อยพลังงาน" ได้หรือไม่ เทียบกันที่น้ำหนักเท่ากันแล้ว วัตถุระเบิดนั้นมีพลังงานน้อยกว่าไฮโดรคาร์บอนหลายเท่า แต่มีอัตราการปลดปล่อยพลังงานที่สูงกว่ามาก จนเราไม่สามารถนำเอาความร้อนจากวัตถุระเบิดนั้นมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนได้ (ถ้าเผาไฟเล่นในปริมาณเล็กน้อยก็ไม่เป็นไร) ผลึกโลหะขนาดเล็กนั้นมีความว่องไวในการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนสูงมาก ตัวเร่งปฏิกิริยาที่เป็นโลหะจึงถูกจัดเป็นสารประเภทpyrophoric คือถ้าโดนอากาศเมื่อไรก็มีสิทธิลุกติดไฟได้เองแม้ว่าจะอยู่ที่อุณหภูมิห้องก็ตาม และจะว่าไปแล้วผงโลหะขนาดเล็กเช่นอะลูมิเนียม ก็มีการนำมาใช้เป็นองค์ประกอบของวัตถุระเบิดบางชนิด ด้วยเหตุที่ปฏิกิริยาการออกซิไดซ์ผงโลหะขนาดเล็กให้เป็นโลหะออกไซด์นั้นคายความร้อนสูงมากและเกิดได้รวดเร็วมาก
 
ดังนั้นคำถามหนึ่งที่ตั้งขึ้นได้ตรงนี้ก็คือ ปฏิกิริยาที่ (7) ที่เป็นการออกซิไดซ์โลหะ Ni ให้กลายเป็น NiO นั้น มันมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากน้อยเท่าใด
 
อีกคำถามหนึ่ง (อันที่จริงงานนี้มันยังมีคำถามอีกเยอะมาก แต่ครั้งนี้เอาเพียงแค่ไม่กี่คำถามก่อน) ที่น่าตั้งคำถามก็คือสมการที่ (7) ที่ในบทความนั้นให้เป็นปฏิกิริยาที่ "ผันกลับได้" สารประกอบโลหะออกไซด์บางชนิดเช่น MgO นั้น เมื่อให้ความร้อนสูงมากพอจะทำให้ไอออน Mg2+ ส่วนหนึ่งกลายเป็นอะตอมโลหะ Mg พร้อมกับการปล่อยแก๊ส O2 ออกมา แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าถ้าเราเอา MgO ไปเผา สุดท้ายเราจะได้โลหะ Mg เพราะ Mg2+ ที่เปลี่ยนเป็นอะตอม Mg นั้นมีน้อยมากเมื่อเทียบกับผลึก MgO ทั้งผลึก สำหรับโลหะอัลคาไลน์ (alkaline) และอัลคาไลน์เอิร์ธ (alkaline earth) นั้น ถ้าเราต้องการโลหะบริสุทธิ์ก็คงต้องใช้กระบวนการทางไฟฟ้า แต่สำหรับโลหะทรานซิชันที่ใช้กันมากนั้น จะใช้สารเคมี (เช่นแก๊ส CO) เข้าไปรีดิวซ์ให้กลายเป็นโลหะ ตัวผลึก NiO ถ้าเป็นในรูปของผลึกขนาดใหญ่ มี "จุดหลอมเหลว" สูงเกือบ 2,000ºC แต่เมื่อเป็นผลึกขนาดเล็กบนตัวรองรับ (support) เช่นที่ใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา มันก็จะ "หลอมเหลว" ได้ที่อุณหภูมิที่ลดต่ำลง แต่ไม่ได้แปลว่ามัน "สลายตัวได้ด้วยตัวเอง" กลายเป็นโลหะกับแก๊สออกซิเจนได้ง่ายขึ้น
 
พอพูดถึงปฏิกิริยาผันกลับได้ก็เลยทำให้สมการที่ (1) ที่ในบทความให้เป็นปฏิกิริยาผันกลับได้นั้นดูน่าสนใจไปด้วย เพราะทั้ง H2 และ CO นั้นต่างเป็นแก๊สรีดิวซ์ (reducing gas) สามารถรีดิวซ์สารประกอบโลหะออกไซด์ให้กลายเป็นโลหะได้ ในห้องปฏิบัติการเองก็ใช้ H2 เป็นแก๊สรีดิวซ์โลหะออกไซด์ให้กลายเป็นโลหะ ผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็คื H2O และไอน้ำเองก็ไม่ทำการออกซิไดซ์โลหะกลับไปเป็นโลหะออกไซด์ด้วย ตัวแก๊ส CO เองก็ใช้ในการถลุงเหล็ก ในการถลุงเหล็กนั้นผลิต CO จากการเผาไหม้ถ่านโค้กที่ไม่สมบูรณ์ที่ผสมอยู่กับแร่เหล็ก แก๊ส CO ที่เกิดขึ้นจะไปรีดิวซ์ FeO หรือ Fe2O3 ให้กลายเป็นโลหะเหล็กหลอมเหลวออกมา
 
ดังนั้นใน Fuel reactor จะเห็นว่ามีปฏิกิริยาที่ไม่นำมาคำนึง (และเป็นปฏิกิริยาที่สำคัญมากด้วย) หายไปอย่างน้อยก็สองปฏิกิริยาแล้ว คือปฏิกิริยาการรีดิวซ์ NiO ให้กลายเป็นโลหะด้วยไฮโดรเจนและด้วย CO (ที่จะว่าไปแล้วสารสองตัวนี้ทำการรีดิวซ์ได้ดีกว่าไฮโดรคาร์บอนอีก) ซึ่งต่างก็เป็นปฏิกิริยาที่ทำให้สูญเสียผลิตภัณฑ์ที่ต้องการใน Fuel reactor แต่บทความนี้กลับพิจารณาว่าปฏิกิริยาดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อมีการเติม "excess oxygen" เข้าไปที่ Fuel reactor (ออกซิเจนเติมเข้าไปในรูปชอง NiO) ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วปฏิกิริยาที่ (4)-(5) มันเกิดได้พร้อมกับ (เผลอ ๆ อาจเกิดได้ดีกว่าด้วย) ปฏิกิริยาที่ (1) และ (2)
 
เราสามารถใช้ค่า Heat of reaction (∆H) ในการคำนวณค่า Gibbs free energy (∆G) และใช้ค่า ∆G คำนวณค่าคงที่สุมดุลเคมี (chemical equilibrium constant Keq) ค่าคงที่สมดุลเคมีบอกให้เราทราบว่า "ถ้า" ปฏิกิริยาเกิดได้ มันมีสิทธิเกิดไปข้างหน้าได้มากน้อยเท่าใด แต่ในความเป็นจริงนั้นปฏิกิริยาจะเกิดได้หรือไม่ได้นั้นขึ้นอยู่กับ "พลังงานงานกระตุ้น (activation energy Ea)" ปฏิกิริยาที่มีค่าคงที่สมดุลต่ำกว่าก็มีสิทธิเกิดได้ดีถ้าหากว่าปฏิกิริยานี้มีค่าพลังงานกระตุ้นต่ำ ในขณะที่ปฏิกิริยาที่มีค่าคงที่สมดุลสูงกว่านั้นอาจไม่เกิดปฏิกิริยาไปข้างหน้าเลยด้วยเหตุที่ว่ามีค่าพลังงานกระตุ้นสูง และเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามในการพิจารณาผลการคำนวณที่อิงจากการใช้ค่าคงที่สมดุลเคมีเพียงอย่างเดียว
 
ในระหว่างวิชาสัมมนานิสิตปริญญาเอกนั้น ผมตั้งคำถามเรื่องนี้กับนิสิตรายหนึ่งที่ทำวิจัยโดยอิงจากการใช้ค่าคงที่สมดุลเคมีเพียงอย่างเดียวว่ามั่นใจได้อย่างไรว่าปฏิกิริยาที่เขาเขียนนั้นเกิดขึ้นจริง โดยได้ยกตัวอย่างว่า ถ้าคุณคำนวณค่าคงที่สมดุลของการเผาไหม้กระดาษกับออกซิเจนในอากาศที่อุณหภูมิห้อง คุณก็จะเห็นว่ากระดาษมันควรทำปฏิกิริยาเผาไหม้กับออกซิเจนไปจนหมด กลายเป็น CO2 และ H2O แต่ในความเป็นจริงนั้นกระดาษกลับอยู่ในอากาศได้อย่างปลอดภัย ตรงนี้คุณจะอธิบายว่าอย่างไร ปรากฏว่าคำตอบที่เขาตอบกลับมาก็คือ "ในความเป็นจริงนั้น" เมื่อพิจารณาจากค่า ∆G แล้ว กระดาษก็ควรจะเผาไหม้ไปจนหมด
 
แล้วอะไรคือ "ความเป็นจริง" กันแน่ ระหว่างการที่เราเห็นกระดาษอยู่รอบตัวเราเต็มไปหมดแถมยังจับต้องได้อีก กับการที่มันต้องเผาไหม้กับออกซิเจนในอากาศจนหมดที่อุณหภูมิห้อง
 
แนวความคิดเรื่องการนำความร้อนจากปฏิกิริยาคายความร้อนไปให้กับปฏิกิริยาดูดความร้อนนั้นมันก็ดูดี แต่มันต้องพิจารณาเรื่อง "อุณหภูมิ" เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เราจะนำความร้อนจากแหล่งหนึ่งไปถ่ายทอดให้กับอีกแหล่งหนึ่งได้ก็ต่อเมื่อแหล่งถ่ายทอดความร้อนนั้นมี "อุณหภูมิ" ที่สูงกว่าแหล่งรับความร้อน ไม่ใช่ด้วยการมี "ปริมาณ" ความร้อนที่มากกว่า

อีกแนวทางหนึ่งที่มีการต่อยอดจากการศึกษาที่เล่ามาข้างต้นคือการใช้การดูดซับเอา CO2 ออกจากเฟสแก๊สเพื่อที่จะดึงให้ปฏิกิริยาไปข้างหน้ามากขึ้น (ดังเช่นกระบวนการในรูปที่ ๒ ข้างล่าง) แต่ที่สำคัญก็คือสารที่ใช้นั้นต้องสามารถจับ CO2 ที่อุณหภูมิสูงได้ นั่นแสดงว่าต้องใช้อุณหภูมิและพลังงานที่สูง (ที่ต้องถามต่อไปด้วยว่าจะเอามาจากไหน) ในการเผาไล่


รูปที่ ๒ จากบทความเรื่อง "Thermodynamic analysis of hydrogen production via sorption-enhanced chemical-looping reforming" โดย Pedro Ramos เอกสารฉบับนี้ค้นเจอเป็นไฟล์ pdf ทางอินเทอร์เน็ต แต่ไม่บอกว่าต้นฉบับมีการตีพิมพ์เผยแพร่ที่ไหน

อันนี้ยังไม่รวมคำถามเรื่องการส่งอนุภาคของแข็งจาก reactor หนึ่งไปยังอีก reactor หนึ่งได้อย่างไร คำตอบของคำถามนี้ก็ต้องไปดูด้วยว่าทำไมในความเป็นจริงเครื่องปฏิกรณ์ที่ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา ชนิดเบดฟลูอิไดซ์ (fludised-bed) จึงมีการใช้งานที่จำกัดเมื่อเทียบกับชนิดเบดนิ่ง (fixed-bed)

สำหรับวันนี้ คงฝากคำถามทิ้งไว้เพียงแต่นี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น