วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

เกียร์ยิ้ม ๒๕๒๘ ฉบับเปิดเทอม (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๖๔) MO Memoir : Wednesday 30 April 2557

"น่ารัก แต่สวยมันคนละเรื่อง" เป็นความเห็นที่นิสิตหญิงน้องใหม่ Intania 69 ผู้หนึ่งกล่าวถึงรุ่นพี่ผู้หญิง แต่คงไม่ได้หมายถึงพี่ผู้หญิงรุ่น 68 นะ เพราะหนึ่งในรุ่น 68 นี้ได้เป็นคนอัญเชิญพระเกี้ยวงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ในยุคสมัยที่เขาคัดเฉพาะตัวแทนนิสิตปี ๑ เท่านั้น (ส่วนใครเป็นคนกล่าวลองหาเอาเองก็แล้วกันในเกียร์ยิ้มฉบับนี้)

ใน Memoir ฉบับเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ผมบอกไปว่าไม่ทราบว่ามีการออกเกียร์ยิ้มกี่ฉบับต่อปี และออกมากี่ปีแล้ว แต่มาพบคำเฉลยอยู่ในหน้าแรกของเกียร์ยิ้มฉบับแรกของปีการศึกษา ๒๕๒๘ ที่บอกให้ทราบว่าในปีการศึกษา ๒๕๒๗ นั้นมีการออกเกียร์ยิ้มทั้งสิ้น ๔ ฉบับ และปีการศึกษา ๒๕๒๘ ก็เป็นปีที่ ๓ ของเกียร์ยิ้ม ถ้านับกันตามนี้ก็แสดงว่าการออกเกียร์ยิ้มครั้งแรกน่าจะมีในปีการศึกษา ๒๕๒๖ ข้อมูลตรงนี้ผมคงยืนยันอะไรให้ไม่ได้ เว้นแต่จะมีผู้ที่มีอาวุโสสูงกว่าผมและเรียนอยู่ในคณะในช่วงเวลาดังกล่าวมายืนยันให้
  
เกียร์ยิ้มฉบับปฐมฤกษ์ปีการศึกษา ๒๕๒๘ นั้นจัดว่าหนาหน่อย เป็นกระดาษที่พับครึ่งลงมาแล้วแต่ละหน้าจะเล็กกว่ากระดาษ A3 เล็กน้อย มีทั้งสิ้น ๓ แผ่นซ้อนกันอยู่ รวมทั้งหมดก็ ๑๒ หน้า พอสแกนด้วยเครื่องสแกนที่ใช้ได้กับกระดาษใหญ่สุดคือ A4 ก็เลยต้องแยกเป็น ๒๔ หน้า
  
เกียร์ยิ้มฉบับปฐมฤกษ์ของปีการศึกษาก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ด้วยการแนะนำให้รู้จักกับนิสิตหญิงน้องใหม่ของคณะ ปีการศึกษา ๒๕๒๘ เป็นปีที่มีนิสิตหญิงเข้ามาเกือบครึ่งร้อย (แม้ว่าจะมีออกไปเรียนที่อื่นด้วยในภายหลัง) ดังนั้นคิดว่าน่าจะเป็นปีแรกที่ทำให้จำนวนนิสิตหญิงของคณะวิศวกรรมศาสตร์รวมกัน ๔ ชั้นปีมีจำนวนมากกว่า ๑๐๐ คน (ถ้าจำไม่ผิดจำนวนนิสิตหญิงของคณะ รุ่นรหัส ๒๗ มี ๓๐ คนเศษ รุ่นรหัส ๒๖ มี ๒๐ คนเศษ และรุ่นรหัส ๒๕ ดูเหมือนจะมีไม่ถึง ๒๐ คน)

ส่วนเนื้อหาของเกียร์ยิ้มฉบับดังกล่าวมีอะไรบ้าง เชิญติดตามอ่านเอาเองก็แล้วกัน


































วันจันทร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2557

เกียร์ยิ้ม ๒๕๒๗ ฉบับเปิดเทอม (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๖๓) MO Memoir : Monday 28 April 2557

"เกียร์ยิ้ม" จะเรียกว่าเป็นจดหมายข่าวหรือหนังสือพิมพ์ก็ตามแต่ จัดทำโดยชุมนุมวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ส่วนใครเป็นคนริเริ่ม และเริ่มทำเมื่อใดนั้นก็ไม่รู้เหมือนกัน และเลิกทำไปตั้งแต่เมื่อใดนั้นผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน รู้แต่ว่าไม่มีการจัดทำมานานแล้ว แต่ช่วงปีการศึกษา ๒๕๒๗-๒๕๓๐ ซึ่งเป็นช่วงที่ผมกำลังศึกษาอยู่นั้น มีการจัดทำตลอด โดยในแต่ละปีการศึกษามีการทำออกมาจำได้ว่ามากกว่า ๑ ฉบับ แต่จะมีกี่ฉบับนั้นก็ไม่รู้เหมือนกัน

และฉบับที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดคือฉบับแรกในปีการศึกษานั้น เพราะจะเป็นฉบับแนะนำน้องใหม่ที่เป็นนิสิตหญิงว่าเป็นใครมาจากไหน

รูปร่างของเกียร์ยิ้มก็มีหลายแบบ มีทั้งแบบเป็นแผ่นพับ คือพิมพ์ลงบนกระดาษแผ่นใหญ่ ๆ แล้วพับทบให้เล็กลงมาเหลือขนาดประมาณเล็กกว่ากระดาษ A4 หน่อยนึง และมีแบบหลายแผ่นพับซ้อนกันอยู่แบบหนังสือพิมพ์ ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนทำและมีเรื่องลงมากน้อยเท่าใด

มิถุนายนนี้ก็จะเป็นการครบรอบ ๓๐ ปี Intania 68 (เข้าเรียนปีการศึกษา ๒๕๒๗) ก็เลยขอนำเอาเกียร์ยิ้มฉบับต้อนรับปีการศึกษา ๒๕๒๗ มาให้ดู เพราะผมเห็นว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารบันทึกเหตุการณ์หนึ่งของประวัติศาสตร์คณะของเรา โดยมีนิสิตเป็นคนจัดทำ ประวัติศาสตร์ส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวชีวิตนิสิตที่ใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นส่วนที่เอกสารทางราชการไม่มีการบันทึกไว้ ฉบับที่ผมมีเก็บไว้ขณะนี้กระดาษก็เริ่มเหลืองกรอบแล้ว พลิกเปิดทีก็ต้องระวังขาด ไม่รู้ว่ามันจะอยู่ไปได้อีกนานเท่าใด และไม่รู้เหมือนกันว่ายังมีคนเก็บเอาไว้อีกกี่ฉบับ เลยขอนำมาเผยแพร่ในที่นี้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีการรับรู้ว่าในช่วงเวลาหนึ่งของคณะวิศวกรรมศาสตร์ของเรา มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นบ้าง สิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายก็คือไม่ได้มีการลงชื่อว่าใครเป็นผู้จัดทำ บอกแต่เพียงว่าเป็นพี่ ๆ ชุมนุมวิชาการ
  
รุ่นผมนั้นผ่านการสอบเอนทรานซ์ทั้งสิ้น ๔๒๗ คน เป็นนิสิตหญิง ๓๒ คน ตอนนั้นก็เรียกว่าเยอะ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีจำนวนนิสิตหญิงเกิน ๓๐ คน เป็นรุ่นแรกที่เปลี่ยนระบบการศึกษาจาก มัธยมศึกษาปีที่ ๑-๕ (หรือ ม.ศ. ๑ - ม.ศ. ๕) มาเป็นมัธยม ๑-๖ (ม. ๑ - ม. ๖) เป็นรุ่นแรกที่คณะวิศวกรรมศาสตร์เปลี่ยนวิธีการเลือกภาค โดยให้นิสิตเรียนปี ๑ ร่วมกันก่อน ๑ ปี จากนั้นจึงเอาคะแนนเรียนมาใช้ในการจัดอันดับเลือกภาค ช่วงที่เรียนอยู่นั้น กว่าจะเสร็จสิ้นงานรับน้องก็หลังงานรับปริญญา ที่จัดขึ้นเป็นประจำประมาณช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนกรกฎาคม เสร็จสิ้นงานรับน้องได้สัปดาห์เดียวก็มีการสอบกลางภาค (สมัยนั้นงานรับน้องยังกินเหล้ากันหนัก) ผลสอบกลางภาคออกมารุ่นผมคะแนนระเนระนาดเป็นแถว จำได้ว่าประกาศผลสอบเทอมแรก เกรดเฉลี่ยต่ำกว่า ๒.๐๐ กันกว่าครึ่งชั้นปี
  
เรียนจบภายใน ๔ ปีกันประมาณ ๓๐๐ คนได้ (เสียชีวิตระหว่างการศึกษา ๑ คน) จำได้ว่ามีผู้ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งจำนวน ๗ คน โดยคนที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นนิสิตหญิง ได้เกียรตินิยมอันดับสองราว ๒๐ คนเศษ

ถ้าเอกสารราชการเป็นการบันทึกข้อมูลและสถิติ เกียร์ยิ้มก็คงเป็นเอกสารที่บันทึกอารมณ์และความรู้สึกและความรู้สึกของผู้คนในช่วงขณะเวลานั้น ๆ


เกียร์ยิ้มฉบับต้อนรับปีการศึกษา ๒๕๒๗ คลี่ออกมาก็มีหน้าตาอย่างนี้ อันนี้ใช้การถ่ายรูปเป็นรูปสีก็เลยเห็นสีกระดาษที่มันเหลืองกรอบแล้ว ส่วนรูปที่เป็นภาพแต่ละส่วนนั้นใช้การสแกนเอา บันทึกภาพเป็น grey scale สีมันก็เลยแตกต่างไปหน่อย


อีกด้านหนึ่งของเกียร์ยิ้มฉบับต้อนรับปีการศึกษา ๒๕๒๗



รูปนี้เข้าหอประชุม ยังแต่งชุดนักเรียนกันอยู่เลย เห็นได้ชัดจากนักเรียนหญิงที่นั่งแถวหน้า ยังใส่รองเท้านักเรียนกันอยู่เลย

สมัยนั้นชุมนุมวิชาการอยู่บนชั้นสองของตึกกิจกรรม ที่เป็นตึกที่ทำการสมาคมนิสิตเก่าในปัจจุบัน ในส่วนของห้องประชุมใหญ่บนชั้นสอง ส่วนชั้นล่างของตึกห้องด้านหันออกลานเกียร์ (ปัจจุบัน) คือห้องพักนิสิตหญิง ก่อนถูกเปลี่ยนไปเป็นร้านกาแฟและห้องรับประทานอาหารติดแอร์ ก่อนที่จะมีการรื้อโรงอาหารเก่าทิ้งและสร้างใหม่

















วันเสาร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2557

หยุดเรียนหน้าร้อน MO Memoir 2557 Apr 26 Sat

เย็นวันวานได้มีโอกาสไปนั่งฟังการแนะนำให้รู้จักโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น คือโรงเรียน Fukuoka Jo Gakuin, Junior & Senior High School ซึ่งเป็นโรงเรียนหญิงล้วน เห็นว่ามีอยู่ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือตารางเวลาเรียนในแต่ละปีการศึกษาของเขานั้นมีทั้งส่วนที่คล้ายคลึงและที่แตกต่างไปจากของประเทศทางยุโรปและสหรัฐอเมริกา และประเทศที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศทางยุโรปและสหรัฐอเมริกา
  
ในส่วนที่แตกต่างก็คือปีการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นนั้นเริ่มต้นในเดือนเมษายน จากนั้นก็จะเรียนไปเรื่อย ๆ จนสิ้นสุดครึ่งแรกประมาณเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศในซีกโลกเหนือตอนบน (ประเทศไทยอยู่ในซีกโลกเหนือเช่นกัน แต่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ฤดูร้อนของเราก็เลยมาเยือนในเดือนมีนาคม-เมษายน) ก็จะมีการหยุดพักร้อนยาวประมาณสองเดือน แล้วค่อยกลับมาเรียนใหม่อีกครั้ง จนสิ้นสุดปีการศึกษาประมาณสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะพักกันประมาณ ๑ เดือนก่อนจะเริ่มปีการศึกษาใหม่ (รูปที่ ๑)
  
แต่ส่วนที่เขาเหมือนกับประเทศทางยุโรปและสหรัฐอเมริกาคือ เขาหยุดเรียนกันในช่วง "หน้าร้อน"
ผมลองค้นดูปฏิทินการศึกษาของมหาวิทยาลัยดูบ้าง ที่ยกตัวอย่างมาก็เป็นของ Tokyo Institute of Technology (รูปที่ ๒) และ University of Tsukuba (รูปที่ ๓) ก็พบว่าการจัดการศึกษาในแต่ละปีการศึกษานั้นเขาก็สัมพันธ์กับปีการศึกษาของโรงเรียนและ "ฤดูกาล" ของประเทศเขา คือหยุดเรียนกันในช่วง "หน้าร้อน"
 
รูปที่ ๑ กำหนดการเรียนปีการศึกษา 2014 ของโรงเรียน Fukuoka Jo Gakuin, Junior & Senior High School ประเทศญี่ปุ่น หน้าเว็บของโรงเรียนดูได้ที่ http://www.fukujo.ac.jp/js/
  
รูปที่ ๒ ปฏิทินการศึกษาของ Tokyo Institute of Technology ภาคการศึกษาแรกจะเสร็จสิ้นการสอบประมาณสิ้นเดือนกรกฎาคม-ต้นเดือนสิงหาคม จากนั้นจึงหยุดเรียนฤดูร้อน ก่อนกลับมาเรียนใหม่ในเดือนตุลาคม (จาก http://www.titech.ac.jp/english/enrolled/life/schedules/2014.html)

แม้ว่าในปีที่แล้วบางมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นเช่น University of Tokyo มีการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงปฏิทินการศึกษา แต่ก็เป็นการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงเพื่อเปลี่ยนเวลาเริ่มต้นปีการศึกษาจาก "ก่อนฤดูร้อน" มาเป็น "หลังฤดูร้อน" ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อ "เรียนในฤดูร้อน"
  
ที่ผ่านมานั้นได้เห็นหลายโรงเรียนมีการเปลี่ยนชื่อโดยไปใช้ชื่อโรงเรียนต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพอเปลี่ยนชื่อแล้วโรงเรียนจะมีการพัฒนาขึ้น ปฏิทินการศึกษาก็เช่นกัน การเปลี่ยนไปใช้ตารางเดียวกับประเทศที่คิดว่าเขาพัฒนามากกว่า แต่ถ้ามันไม่รองรับกับสภาพแวดล้อมและบริบทของสังคม มันก็คงไม่ได้ทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นหรอก
  
รูปที่ ๓ ปฏิทินการศึกษาของ University of Tsukuba ภาคการศึกษาแรกจะเสร็จสิ้นการสอบประมาณสิ้นเดือนกรกฎาคม-ต้นเดือนสิงหาคม จากนั้นจึงหยุดเรียนฤดูร้อน ก่อนกลับมาเรียนใหม่ในเดือนตุลาคม
(จาก http://www.tsukuba.ac.jp/english/campuslife/calendar.html)

วันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2557

พีคเหมือนกันก็แปลว่ามีหมู่ฟังก์ชันเหมือนกัน MO Memoir : Thursday 24 April 2557

บ่ายวันวานระหว่างนั่งอ่านวิทยานิพนธ์ก็มีสาวน้อยที่ทำแลปอยู่อีกภาควิชาหนึ่งในตึกข้าง ๆ แวะเข้ามาถามปัญหาเกี่ยวกับการทดลอง ก็มีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน แต่เรื่องหนึ่งที่คิดว่าน่าสนใจที่ควรจะนำมาพิจารณากันก็คือการแปลผล FT-IR ซึ่งผมก็ได้ให้ความเห็นตามที่นำมาเป็นหัวข้อเรื่องของ Memoir ฉบับนี้คือ "พีคเหมือนกันก็แปลว่ามีหมู่ฟังก์ชันเหมือนกัน"

รูปที่ ๑ (บน) โครงสร้างของ Syndiotactic polypropylene (ล่าง) Atactic polypropylene


รูปที่ ๒ IR spectra ของ (บน) Syndiotactic polypropylene (ล่าง) Atactic polypropylene
  
อันที่จริงเรื่องการแปลผลการดูดกลืนรังสีอินฟราเรดนี้ เคยกล่าวเอาไว้ครั้งหนึ่งนานแล้วในMemoir ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๘ วันศุกร์ที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑ เรื่อง "IRspectrum interpretation" และขอแนะนำให้ผู้ที่ยังไม่มีพื้นฐานด้านนี้อ่านบทความฉบับดังกล่าวประกอบด้วย
  
สิ่งแรกที่ควรต้องพึงระลึกในการอ่านผลการดูดกลืนรังสีอินฟราเรดคือ การดูดกลืนรังสีอินฟราเรดขึ้นอยู่กับการสั่นของ "พันธะระหว่างอะตอม" หรือ "พันธะระหว่างกลุ่มอะตอม" ดังนั้นสารใดก็ตามแม้ว่าเป็นสารคนละตัวกัน แต่ถ้ามีพันธะระหว่างอะตอมหรือกลุ่มอะตอมที่เหมือนกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือมีหมู่ฟังก์ชันที่เหมือนกัน ก็จะให้รูปแบบการดูดกลืนรังสีอินฟราเรดที่เหมือนกันหรือใกล้เคียงกันมาก


รูปที่ ๓ ปฏิกิริยาการควบแน่นของ (บน) 6-Aminohexanoic acid (ล่าง) Adipic acid กับ Hexamethylenediamine

รูปที่ ๔ IR spectra ของ (บน) Polyamide-6,6 หรือ Nylon-6,6 (ล่าง) Polyamide-6 หรือ Nylon-6
  
เรื่องมันเริ่มจากเขาเล่าให้ผมฟังว่า มีคนนำเอาไคโตซาน (Chitosan) ไปผ่านกระบวนการอย่างหนึ่ง แล้วนำไปวิเคราะห์ด้วยเทคนิค FT-IR และทดสอบคุณสมบัติในการดูดซับน้ำ ปรากฏว่าผล FT-IR ที่ได้นั้นมีลักษณะพีคปรากฏเหมือนกัน เขาก็เลยสรุปว่าตัวอย่างต่าง ๆ ที่นำไปผ่านกระบวนการดังกล่าวนั้นเหมือนกับตัวอย่างก่อนนำเข้ากระบวนการ

แต่ผลการวัดการดูดซับน้ำแสดงให้เห็นว่า เมื่อผ่านกระบวนการดังกล่าวแล้ว ไคโตซานที่ได้นั้นดูดซับน้ำได้ "มากขึ้น"

ผลการวัดการดูดซับน้ำแสดงให้เห็นว่าเมื่อนำไคโตซานไปผ่านกระบวนการ ไคโตซานที่ได้มีการ "เปลี่ยนแปลง" เกิดขึ้น ทำให้มีคุณลักษณะหนึ่งแตกต่างไปจากเดิมคือการดูดซับน้ำ สิ่งที่ผมได้อธิบายให้เขาฟังก็คือก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า FT-IR นั้นเราวัดการดูดกลืนรังสีอินฟราเรดของพันธะระหว่างอะตอมหรือหมู่ฟังก์ชัน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่ทำให้พันธะบางพันธะหรือหมู่ฟังก์ชันบางหมู่หายไป ก็จะทำให้เห็นพีคการดูดกลืนรังสีอินฟราเรดของพันธะและหมู่ฟังก์ชันนั้นลดลงหรือหมายไป และการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่ทำให้เกิดพันธะบางพันธะหรือหมู่ฟังก์ชันบางหมู่เกิดขึ้นมาใหม่นอกเหนือไปจากที่มีอยู่เดิม ก็จะทำให้เห็นพีคการดูดกลืนรังสีอินฟราเรดของพันธะหรือหมู่ฟังก์ชันนั้นเพิ่มเติมขึ้นมา (แต่ต้องไม่ซ้อนกับพีคที่มีอยู่เดิมนะ)
  
อีกประการคือความสามารถในการดูดซับน้ำขึ้นอยู่กับความมีขั้วของโมเลกุล (หรือของพื้นผิว) และปริมาตรรูพรุนของวัสดุที่ใช้ดูดซับนั้น ในกรณีของไคโตซานของเขานั้นผมคิดว่ากระบวนการนั้นคงไปทำให้โมเลกุลของไคโตซานเกิดการแตกตัวในบางตำแหน่ง แต่หมู่ฟังก์ชันที่เกิดขึ้นมาใหม่ตรงตำแหน่งพันธะที่มีการแตกตัวนั้นน่าจะเป็นหมู่ที่เหมือนกับที่มีอยู่แล้วในโมเลกุลของไคโตซาน (คือ -OH และ NH2) ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้มันก็จะใช้เป็นสมมุติฐานหนึ่งที่จะอธิบายผลการทดลองที่เขาเล่าให้ฟังได้
  
จากประสบการณ์ของตัวเองนั้น การวัด "ปริมาณ" โดยใช้การวัดการดูดกลืนรังสีอินฟราเรดกับตัวอย่างที่เป็นของแข็งนั้นมันทำได้ก็จริง แต่ก็ต้องระวังมากในการเตรียมตัวอย่าง โดยเฉพาะการเตรียมที่ใช้การผสมกับ KBr ก่อนอัดเป็นแผ่น เพราะต้องควบคุมสัดส่วนการผสมและความเป็นเนื้อเดียวกันของแผ่นตัวอย่างที่เตรียมได้ให้เหมือนกันหมดทุกตัวอย่าง ด้วยเหตุในกรณีเช่นนี้จึงมักจะทำไปเพื่อการเปรียบเทียบเชิงคุณภาพมากกว่า

บังเอิญว่ายังมีโปรแกรมฐานข้อมูลพีค IR การดูดกลืนสารต่าง ๆ อยู่ในคอมพิวเตอร์เก่า ๆ เครื่องหนึ่ง (โปรแกรมฐานข้อมูลนี้มันมากับเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ CPU รุ่น 80386 ความเร็ว 16 MHz ทำงานบน Windows 3.1) ก็เลยนำเอาตัวอย่างสารสองตัวที่แตกต่างกัน แต่มีพีคการดูดกลืน IR ใกล้เคียงกันมาก เว้นแต่บริเวณพีคเล็ก ๆ บางตำแหน่งเท่านั้น มาให้ดูกันสองคู่ คือกรณีของพอลิโพรพิลีน และไนลอน

รูปที่ ๑ แสดงโครงสร้างโมเลกุลของพอลิโพรพิลีน คุณสมบัติของพอลิโพรพิลีนที่ได้นั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งหมู่เมทิล (methyl -CH3) ว่าหันไปทางทิศไหนของสายโซ่พอลิเมอร์ ถ้าเป็นแบบ Isotactic หมู่ -CH3 จะหันไปในทิศทางเดียวกันหมด ถ้าเป็นแบบ Syndiotactic หมู่ -CH3 จะหันไปในทิศทางตรงข้ามกันแบบสลับไปมาอย่างเป็นระเบียบ และถ้าเป็นแบบ Atactic ทิศทางการหันของหมู่ -CH3 จะเอาแน่เอานอนไม่ได้ และด้วยทิศทางการหันของหมู่ -CH3 เช่นนี้ส่งผลให้พอลิโพรพิลีน มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันมาก โดยแบบ Isotactic จะมีความเป็นผลึกมากที่สุด ในขณะที่แบบ Atactic นั้นมีโครงสร้างที่เป็นอสัณฐาน (amorphous) คล้ายยางซะมากกว่า
  
ถ้ายังดูไม่ออกว่าทิศทางการหันของหมู่ -CH3 นั้นมันแตกต่างกันอย่างไร แนะนำให้ไปทำความเข้าใจเรื่อง Chiral isomer ก่อน เรื่องนี้เคยเขียนเอาไว้แล้วเหมือนกันใน Memoir ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๒๙ วันเสาร์ที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เรื่อง "ปฏิกิริยาDehydroxylation"
  
แต่ไม่ว่าหมู่ -CH3 จะเรียงตัวแบบใด หมู่ฟังก์ชันของพอลิโพรพิลีนแต่ละชนิดก็ยังคงเหมือนกันคือประกอบด้วยหมู่เมทิล (methyl -CH3) หมู่เมทิลีน (methylene -CH2) และตำแหน่งของ tertiary carbon (C อะตอมตัวที่มีหมู่เมทิลมาเกาะ มันจะมีอะตอม H เกาะอยู่เพียงอะตอมเดียว อีก 3 แขนเกาะอยู่กับอะตอมคาร์บอนตัวอื่น) ดังนั้นถ้านำไปวัดการดูดกลืนรังสีอินฟราเรด ก็จะเห็นว่าพอลิเมอร์ทั้งสองชนิดมีการดูดกลืนรังสีไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งหรือความเข้มของการดูดกลืนนั้น เหมือนกันมาก (รูปที่ ๒) ยกเว้นช่วงพีคเล็ก ๆ บริเวณ 1000-1100 cm-1 เท่านั้นเอง (ช่วงบริเวณนี้เรียกว่า "Finger print region")

ตัวอย่างที่สองที่นำมาให้ดูเป็นกรณีของ polyamide สองตัวคือ polyamide-6 หรือ Nylon-6 และ polyaminde-6,6 หรือ Nylon-6,6 พอลิเอไมด์นี้ได้จากปฏิกิริยาการควบแน่นระหว่างหมู่คาร์บอกซิล (carboxyl -COOH) กับหมู่อะมิโน (amino -NH2) สารตั้งต้นของ Nylon-6 คือ 6-Amino hexanoic acid ที่มีจำนวนอะตอม C 6 อะตอม (เป็นที่มาของเลข 6 ในชื่อ) สารตัวนี้มีหมู่ -NH2 ที่ปลายโซ่ข้างหนึ่งและหมู่ -COOH ที่ปลายโซ่อีกข้างหนึ่ง ทำให้โมเลกุลของตัวมันเองสามารถต่อรวมกันเป็นสายโซ่ยาวได้ (รูปที่ ๓ บน) โดยจะมีการคายโมเลกุลน้ำออกมาในระหว่างการต่อโมเลุล (แต่ในอุตสาหกรรมจะใช้ caprolactam เป็นสารตั้งต้น โดยทำให้วง caprolactam แตกออกและเชื่อมต่อเข้าดัวยกัน การใช้ caprolactum เป็นสารตั้งต้นจะทำให้ไม่มีการคายน้ำออกมาระหว่างการต่อโมเลกุล)
  
ส่วน Nylon-6,6 นั้นได้จากปฏิกิริยาการควบแน่นระหว่างโมเลกุล Adipic acid กับ Hexamethylenediamine โดยมีการคายโมเลกุลน้ำออกมา (รูปที่ ๓ ล่าง) ในรูปที่ ๓ นั้นผมแสดงแค่การเชื่อมต่อกันระหว่างสองโมเลกุล จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการควบแน่นของโมเลกุล 6-Amino hexanoic acid ที่นำไปสู่การเกิดเป็น Nylon-6 และการควบแน่นของโมเลกุล Adipic acid กับ Hexamethylenediamine ที่นำไปสู่การเกิดเป็น Nylon-6,6 นั้นมีโครงสร้างโมเลกุลที่ไม่เหมือนกัน แต่มีหมู่ฟังก์ชันที่เหมือนกันและมีจำนวนเท่ากัน (มีหมู่ -COOH, -NH2, -CH2-, -CO-NH-) ทำให้สัญญาณการดูดกลืนรังสีอินฟราเรดของ Nylon-6 และ Nylon-6,6 นั้นคล้ายคลึงกันมาก มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยในบริเวณเลขคลื่น 900-1200 cm-1 ซึ่งเป็นบริเวณของ Finger print region
  
หวังว่าสองตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นนี้คงทำให้ตระหนักถึงความจำเป็นที่เราต้องเข้าใจว่าเครื่องมือวัดที่เราใช้นั้น โดยพื้นฐานแล้วมันวัดอะไร และจากข้อมูลที่ได้มานั้นมันควรแปลผลออกมาได้แค่ไหน ไม่ใช่แปลเกินเลยจากสิ่งที่มันวัดได้จริง

ท้ายสุดนี้ก็ขอแสดงความยินดีกับสมาชิกของกลุ่มอีก ๒ คนที่เหลือที่ผ่านการสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ในช่วงเช้าของวันนี้ไปได้ด้วยดี หวังว่าจะรีบดำเนินการแก้ไขตามที่กรรมการให้ความเห็นไว้เพื่อจะได้ปิดงานอย่างสมบูรณ์ได้สักที