วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๒ จากท่าฉลอมถึงท่าฉลวย MO Memoir : Saturday 5 February 2554

ในรายการวิทยุของสถานีวิทยุศึกษา (FM 92.0 MHz) ที่ผมฟังเป็นประจำช่วงสี่โมงเย็นถึงห้าโมงเย็นนั้น มักจะมีการนำประวัติเพลงไทยเดิมต่าง ๆ มาเล่าให้ฟัง และอธิบายที่มาที่ไป จากนั้นก็ตามด้วยการเปิดเพลงให้ฟัง ซึ่งอาจเป็นการบรรเลงอย่างเดียวหรือมีบทร้องประกอบด้วย

เท่าที่สังเกตนั้นดูเหมือนว่าพวกเพลงไทยเดิมเก่า ๆ (เช่น ค้างคาวกินกล้วย) จะมีแต่ทำนอง ส่วนบทร้องก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเอาอะไรมาร้อง อาจจะแต่งขึ้นมาใหม่หรือนำบทวรรณคดีท่อนที่คิดว่าไพเราะมาร้องกับทำนองเพลงนั้น ส่วนพวกที่แต่งขึ้นในช่วงหลัง ๆ แม้ว่าจะมีบทร้องมาแต่ต้น แต่ก็มีคนเอาทำนองเหล่านั้นไปใส่บทร้องใหม่ก็มีให้เห็นกันอยู่ทั่วไป นั่นก็แสดงว่าในวงการเพลงของไทยนั้น เรื่องใช้ทำนองเพลงของเพลงเดียวกันแต่ใช้เนื้อร้องต่างกันนั้นมีมานานแล้ว แม้แต่บทเพลงของวงสุนทราภรณ์เองก็มีการนำเอาเพลงไทยเดิมมาเล่นด้วยเครื่องดนตรีสากลและใส่เนื้อร้องที่แต่งใหม่เข้าไปอยู่หลายบทเพลงเหมือนกัน

ในวงการเพลงไทยก็มีอยู่ยุคหนึ่งที่มีการนำเอาทำนองเพลงที่เป็นที่นิยมในยุคนั้นมาใส่เนื้อร้องใหม่ โดยเนื้อร้องใหม่ที่ใส่นั้นจะเน้นไปทางตลกขบขันหรือทะลึ่งเสียมากกว่า (แต่ไม่ถึงขั้นโดนแบน) รายที่ผมคิดว่าได้รับความนิยมมากที่สุดเพราะมีการออกอัลบัมเทปหลายอัลบัมคือเพลงแปลงที่ร้องโดยนักร้องชื่อ บุญธรรม พระประโทน ซึ่งปัจจุบันท่านผู้นี้ก็ได้เสียชีวิตไปแล้ว

เนื้อเพลงข้างล่างก็เป็นเพลงที่รุ่นพี่สอนพวกผมกันมาเอาไว้ร้องกันเล่น ๆ เพลงนี้เริ่มร้องกันในคณะเมื่อไรก็ไม่รู้ แต่ปัจจุบันดูเหมือนนิสิตปัจจุบันจะไม่มีใครรู้จักแล้ว

เพลงนี้ร้องอย่างไรก็ลองไปเปิดเพลง "ท่าฉลอม" เนื้อเพลงคำร้องโดยครู ชาลี อินทรวิจิตร ทำนองโดยครู สมาน กาญจนะผลิน และขับร้องโดย ชรินทร์ นันนาครฟังดูเองก็แล้วกัน


พี่อยู่ไกลถึงท่าฉลวย

แต่พี่ไม่รวยมารักคนสวยยามยาก

ออกทะเลจะหากล้วยมาฝาก

แม่คุณขวัญใจคนยาก

รับกล้วยฝากจากพี่ได้ไหม


กล้วยอะไรถึงถูกใจน้อง

แต่พี่รับรองว่าน้องต้องชอบกล้วยไข่

กล้วยตานีนั้นมันมีเม็ดใน

กล้วยหอมทั้งยาวทั้งใหญ่

กล้วยถูกใจต้องกล้วยหักมุก


ผมเห็นว่าวิทยาศาสตร์นั้นเราเรียนไปเพื่อสร้างสรรวัตถุ แต่การสร้างสรรจิตใจและทำความเข้าใจในตัวมนุษย์นั้นผมคิดว่าต้องใช้ศิลป วิทยาศาสตร์จะขาดความงดงามถ้าขาดความเป็นศิลปินเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมจึงมีความเห็นว่าคนที่เรียนสายวิทย์นั้นก็ไม่ควรที่จะทอดทิ้งความงามด้านต่าง ๆ ที่ทางสายศิลป์เขาเรียนกัน ทั้งนี้เพื่อที่จะคงสภาพจิตใจเอาไว้ไม่ให้ลดต่ำลงจนเป็นเพียงแค่ cpu คอมพิวเตอร์ที่เก่งกาจในด้านการประมวลผลแต่ไม่มีความรู้สึกใด ๆ

ไม่มีความคิดเห็น: