วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2556

รถไฟสายบางบัวทอง (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๓๘) MO Memoir : Thursday 28 March 2556

"ความเจริญในเวลานี้ทำให้คล้ายกับว่าบ้านเมืองแคบเข้ามา เพราะว่าทั้งรถทั้งเรือทันใจไปมาสะดวก สมัยผมยังเด็ก อยู่กับคุณย่าที่ตลาดแก้วตลาดขวัญเมืองนนท์โน่น จะไปมาทีต้องนั่นรถรางไปลงบางกระบือ แล้วลงเรืออีกทีจึงจะถึงเมืองนนท์ แต่เดี๋ยวนี้สะดวกเลย เวลานี้ผมย้ายบ้านไปอยู่บางบัวทองแล้ว จะไปมาก็สะดวก ถ้าเป็นแต่ก่อนจะยุ่งมาก ต้องลงเรือที่ท่าเตียนเป็นเรือเมล์แดงเมล์เขียว หรือถ้าจะไปทางลัดก็ต้องนั่งรถรางไปลงที่เทเวศน์แล้วข้ามเรือจ้างไปฝั่งธน จะมีสถานีรถยนต์รางของเจ้าคุณวรพงษ์วิ่งตัดสวนต่าง ๆ ไปออกทุ่งนาตรงไปตลาดบางบัวทอง รถรางของท่านเจ้าคุณท่านนี้สร้างตัวรถแบบเดียวกับรถยนต์รางที่ปากลัดพระประแดง คือไม่มีฝาไม่มีตัวถัง รถเปิดโปร่ง มีม้านั่งเป็นแถว ๆ ไป เวลานี้เขาเลิกเสียหมดแล้ว ผมยังนึกเสียดายอยู่ หลานสาวเป็นครูก็อยากรู้อะไรต่ออะไรรอบ ๆ ตัว ผมเป็นตาเป็นปู่รู้อะไรจำอะไรก็เล่าให้ฟังไปเท่าที่รู้ตามระเบียบของคนที่เกิดก่อนเขา เห็นอะไรก่อนเขา"

จากเรื่อง "ชีวิตคุณย่า" โดย เหม เวชกร ในหนังสือชุด "ภูติ ผี ปิศาจ ไทย ๑๐๐ ปี เหม เวชกร" ตอนใครอยู่ในอากาศ โดยสำนักพิมพ์วิริยะ พิมพ์ครั้งที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๗

"จากเรื่องผีของครูเหม ทำให้ได้รู้ว่าในอดีตเคยมีรถไฟวิ่งจากบางยี่ขันไปบางบัวทอง, ปากคลองตลาดเคยเป็นที่ตั้งห้างฝรั่ง ..." คำนิยมในหนังสือชุด "ภูติ ผี ปิศาจ ไทย ๑๐๐ ปี เหม เวชกร" โดย จุลศักดิ์ อมรเวช หรือ จุก เบี้ยวสกุล

นิยายเรื่อง "ชีวิตคุณย่า" ที่ยกมาข้างต้นนั้น ให้คำบรรยายถึงรถยนต์รางหรือรถไฟขนาดเล็ก ที่เคยวิ่งจากริมแม่น้ำเจ้าพระยาแถววัดบวรมงคล (หรือวัดลิงขบ) ไปตัดกับทางรถไฟสายใต้ที่มาจากสะพานพระราม ๖ ที่สถานีบางบำหรุ ก่อนผ่านไปยังบางกรวยและบางบัวทอง รถไฟสายบางบัวทองนี้มีบางที่จะเรียกชื่อตามเจ้าของคือ "รถไฟสายเจ้าคุณวรพงษ์" หรือ "รถไฟสายพระยาวรพงษ์" แนวเส้นทางรถไฟสายนี้ส่วนที่เริ่มจากวัดบวรมงคลปัจจุบันคือซอยพระยาวรพงษ์หรือซอยจรัญสนิทวงศ์ ๔๖ นั่นเอง ตัดไปยังซอยฝั่งตรงข้าม (จรัญสนิทวงศ์ ๕๗) ไปโผล่ที่สถานีรถไฟบางบำหรุ ส่วนถัดไปจากนั้นคือแนวถนนเทอดพระเกียรติไปจนบรรจบถนนสายบางกรวย-ไทรน้อย และตามถนนสายบางกรวย-ไทรน้อยไปยังท่าน้ำนนท์ฝั่งตรงข้ามศาลากลาง (หลังเก่า) และอำเภอบางบัวทอง
  
ในนิยายเรื่องดังกล่าวยังกล่าวถึงรถยนต์รางที่ "ปากลัดพระประแดง" เส้นทางสายนี้ B.R. Whyte กล่าวไว้ในหนังสือของเขา (รูปที่ ๔) ว่าเป็นเส้นทางสั้น ๆ ยาวประมาณ 1900 เมตร
  
หนังสือเรื่องผีของ เหม เวชกร นั้น หวังว่าในงานสัปดาห์หนังสือที่กำลังจะถึงในวันศุกร์นี้ยังพอหาซื้อได้ ที่ร้านหนังสือสารคดี ถ้าใครยังไม่มีก็ขอแนะนำให้ซื้อเก็บเอาไว้

ผมรู้จักเส้นทางรถไฟสายนี้ครั้งแรกตอนที่มหาวิทยาลัยจัดแสดงนิทรรศการแผนที่เก่าของกรุงเทพที่หอสมุดกลาง แล้วไปสังเกตเห็นว่าแถวบ้านเคยมีทางรถไฟจากริมแม่น้ำเจ้าพระยาไปบางบัวทอง เส้นทางรถไฟสายบางบัวทองนี้มีกลุ่มคนสนใจศึกษาประวัติศาสตร์กันมาก ที่รวบรวมไว้ดีมากที่หนึ่งคือที่เว็บ "รถไฟไทยดอทคอม - http://portal.rotfaithai.com" หรือจะไปอ่านที่ http://www.th.wikipedia.org ก็ได้
  
ในที่นี้ผมเพียงเอารูปที่เกี่ยวกับรถไฟสายนี้จากเอกสารที่มีในมือมาเล่าให้ฟังคือ "Air objective folder Thailand" ซึ่งเป็นคู่มือของกองทัพอากาศสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่มีแผนที่เส้นทางรถไฟในประเทศไทยที่เป็นเป้าหมายโจมตีทางอากาศ และจากหนังสือที่เขียนโดยชาวต่างชาติอีกสองเล่มคือ "The Railway Atlas of Thailand, Laos and Cambodia" โดย R.R. Whyte และ "The Railways of Thailand" โดย R. Ramaer และเท่าที่ค้นเจอในราชกิจจานุเบกษา

รูปที่ ๑ แผนที่แนบท้ายราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๕๔ หน้า ๑๘๕๙ วันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ เรื่อง "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พุทธศักราช ๒๔๘๐" จะเห็นแนวทางรถไฟปรากฏอยู่ในแผนที่ (ตามแนวเส้นประสีแดง)

รูปที่ ๒ หน้าสารบัญของเอกสาร Air objective folder Thailand ฉบับวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๑๙๔๓ (พ.ศ. ๒๔๘๖) ของหน่วยข่าวกรองทางทหารของสหรัฐในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในเอกสารนี้มีรายละเอียดเป้าหมายการทิ้งระเบิดของสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในกรุงเทพและรูปถ่ายสถานที่ที่เป็นเป้าหมาย มีการระบุเอาไว้ด้วยว่าห้ามเอาติดขึ้นเครื่องเมื่อออกปฏิบัติการโจมตี เอาไว้ว่าง ๆ จะค่อย ๆ ตัดตอนออกมาเล่าสู่กันฟัง

รูปที่ ๓ รูปนี้ขยายออกมาจากแผนที่ในหน้า ๒๓ ของเอกสาร Air objective folder Thailand มีปรากฏชื่อสถานีรถไฟบางบัวทอง (ปัจจุบันคือบริเวณวัดบวรมงคล) และจุดตัดทางรถไฟสายใต้ที่สถานีรถไฟบางบำหรุ แนวทางรถไฟคือตามเส้นประสีแดง


รูปที่ ๔ หนังสือ "The Railway Atlas of Thailand, Laos and Cambodia" โดย ฺB.R. Whyte และ "The Railways of Thailand" โดย R. Ramaerที่มีการรวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ ของเส้นทางรถไฟต่าง ๆ ที่เคยมีในเมืองไทยในอดีต


รูปที่ ๕ ภาพเขียนหัวรถจักรรถไฟสายบางบัวทอง (จากหนังสือ "The Railways of Thailand" โดย R. Ramaer หน้า ๑๘๓)

รูปที่ ๖ ภาพหัวรถจักรรถไฟสายบางบัวทอง (จากหนังสือ "The Railways of Thailand" โดย R. Ramaer หน้า ๑๘๔)


รูปที่ ๗ หัวรถจักรรถไฟสายบางบัวทอง หลังจากเลิกกิจการได้ถูกขายต่อให้กับบริษัทส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย (ภาพจากหนังสือ "The Railways of Thailand" โดย R. Ramaer หน้า ๑๘๔)


รูปที่ ๘ แผนที่แนบท้ายราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๔๗ หน้า ๑๐ วันที่ ๑๑ พฤษภาคมพ.ศ. ๒๔๗๓ เรื่อง พระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นสร้างรถไฟราษฎร์สายบางบัวทอง รูปนี้แสดงบริเวณแยกไปทางน้ำนนท์ฝั่งตรงข้ามศาลากลางจังหวัดหลังเก่า


รูปที่ ๙ แผนที่แนบท้ายราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๗๓ ตอนที่ ๖๐ ฉบับพิเศษหน้า ๗ วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เรื่อง "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องจัดตั้งสุขาภิบาลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี" จะเห็นว่ามีการระบุแนวทางรถไฟพระยาวรพงษ์ (เดิม) ปรากฏอยู่ในแผนที่

ไม่มีความคิดเห็น: