วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

รอหลีกที่รางโพธิ์ MO Memoir : Thursday 26 July 2561

ก็เป็นเพียงแค่ บันทึกเหตุการณ์ประจำวัน ที่เกิดขึ้น ณ สถานีรถไฟเล็ก ๆ แห่งหนึ่งใกล้ชายขอบกรุงเทพมหานคร
 
ระบบรถไฟรางเดี่ยวที่ให้รถไฟวิ่งไป-กลับบนรางเดียวกัน มันก็มีข้อดีตรงที่ประหยัดค่าวางราง เส้นทางรถไฟบ้านเราที่สร้างมาตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบันก็เป็นอย่างนั้น เพียงแต่มันต้องมีระบบป้องกันไม่ให้รถไฟวิ่งชนกัน และวิธีการหนึ่งที่บ้านเราใช้กันมานานแล้วก็คือการใช้ระบบ "ห่วงทางสะดวก" (ดู Memoir ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๓๙ วันอังคารที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๕ เรื่อง "ห่วงทางสะดวก") กล่าวคือถ้ารถไฟวิ่งเข้าสถานีแล้วที่สถานีนั้นไม่มีห่วงทางสะดวกให้ รถไฟขบวนนั้นก็ต้องหยุดรอ เพื่อให้รถไฟที่วิ่งสวนมาในทางเดียวกันนั้นนำห่วงทางสะดวกที่รับมาจากสถานีข้างหน้ามามอบให้ที่สถานี รถไฟจึงจะวิ่งต่อไปได้ แต่วิธีนี้ก็มีข้อเสียก็คือถ้ามีรถไฟเดินทางหนาแน่น การเดินทางจะใช้เวลามากขึ้นเพราะต้องเสียเวลารอหลีก ในกรณีเช่นนี้การใช้ระบบรางคู่ก็จะดีกว่า คือให้รางฝั่งหนึ่งเป็นเส้นขาขึ้นและอีกฝั่งเป็นเส้นขาล่อง การใช้ระบบรางคู่ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องรถไฟจะวิ่งประสานงากัน แต่จะวิ่งชนท้ายกันหรือเปล่านั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง (อ่านตัวอย่างได้ใน Memoir ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๓๙๔ วันจันทร์ที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๐ เรื่อง "ใครผิด? (อุบัติเหตุรถไฟชนท้ายที่สถานีรถไฟ Clapham Junction ประเทศอังกฤษ)")


รูปที่ ๑ สถานีรถไฟรางโพธิ์ก็เป็นสถานีที่แปลกสถานีหนึ่ง คือมีถนนตัดผ่านช่วงกลางสถานี คือสถานีรถไฟทั่วไปนั้นเวลาที่รถไฟเข้าจอดให้คนขึ้นลงหรือรอหลีก ก็มักจะไม่จอดขวางถนน แต่สถานนีนี้ดูเหมือนจะไม่ใช่อย่างนั้น ไม่รู้ว่าเป็นเพราะว่าแต่ก่อนขบวนรถไฟมันสั้น หรือเป็นเพราะไม่ค่อยมีรถวิ่ง ก็เลยมีการตัดถนนผ่านสถานีแบบนี้ ป้ายที่เห็นคือขณะรถไฟวิ่งเข้าจอดในรางรอหลีก เพื่อให้รถที่มาจากทางวงเวียนใหญ่วิ่งผ่านไปก่อน สภาพรางช่วงนี้ยังเป็นหมอนไม้อยู่เลย

รูปที่ ๒ สถานีรางโพธิ์เป็นสถานีรถไฟบนเส้นทางสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย โดยอยู่ระหว่างสถานีรางสะแกกับสามแยก ถ้ามาจากกรุงเทพทางถนนพระราม ๒ ก็จะวิ่งเลยถนนวงแหวนตะวันตกมาหน่อย สถานีจะอยู่ทางด้านฝั่งเหนือของถนนพระราม ๒


รูปที่ ๓ ตัวอาคารสถานี ที่เห็นอยู่อีกฟากหนึ่งของถนนทางด้านขวาสุดของรูปที่ ๑

รูปที่ ๔ รถไฟมาจอดรอหลีกที่ปลายชานชลาสถานี ส่วนรางรอหลีกก็ยาวไปถึงสุดขอบขวาของรูปที่เห็นอยู่ไกล ๆ รางช่วงนี้คงได้รับการปรับปรุงแล้ว เพราะเห็นใช้หมอนคอนกรีตรองรางแล้ว ไม่รู้เป็นเพราะมีอุบัติเหตุรถตกรางบริเวณสถานีนี้เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายนที่ผ่านมาหรือเปล่า ก็เลยมีการถือโอกาสซ่อมบำรุงซะเลย

ระหว่างเดินทางกลับจากมหาชัยเมื่อบ่ายวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ กรกฎาคม รถไฟขบวนที่โดยสารมาก็มาจอดรอหลีกที่สถานีรางโพธิ์นี้ เพื่อให้ชบวนที่วิ่งสวนมาจากวงเวียนใหญ่ผ่านไปก่อน เส้นทางสายนี้ผมไม่เห็นเขามีเสาสำหรับคล้องรับ-ส่งห่วงทางสะดวก ก็เลยไม่รู้ว่าเขาใช้ระบบอะไรติดต่อกันเพื่อบอกให้สถานีข้างหน้าทราบว่ากำลังมีรถไฟวิ่งไป ภาพและคลิปวิดิโอที่นำมาแสดง ก็เป็นการถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือที่ติดตัวไป วิดิโอนั้นถ่ายด้วยโปรแกรม daily road voyager แล้วก็จับภาพจากคลิปบางส่วนนำมาบันทึกไว้เป็นภาพนิ่ง (รูปที่ ๖ - ๙)
 
การเดินทางด้วยรถไฟในบ้านเราเนี่ย เวลาที่รถไฟจอดมันก็บรรยากาศเป็นอีกแบบเลย จากเสียงที่ดังจนฟังเพลินหรือลืมไปว่ามีเสียงรถวิ่งอยู่ พอรถจอดทีมันก็เงียบสงบ ได้ยินแต่เสียงพัดลม และเสียงประกาศจากสถานี นึกถึงตอนเด็ก ๆ ที่เคยนั่งรถไฟชั้น ๓ ไปใต้ พอรถไฟจอดทีก็โผล่หน้าออกไปดูทางหน้าต่าง เพราะอยากรู้ว่าที่สถานีนั้นมีอะไรขายบ้าง แต่ละท้องถิ่นก็ขายของกินแตกต่างกันไป ตอนนี้ก็ไม่ได้เดินทางด้วยรถไฟเป็นระยะทางไกลมานานแล้ว ไม่รู้เหมือนกันว่าบรรยากาศมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง แต่ก็เชื่อว่าคงไม่เหมือนเดิม
 
และก็เป็นอย่างที่เกริ่นเอาไว้บรรทัดแรก Memoir ฉบับนี้ก็ไม่มีเนื้อหาสาระอะไร เป็นเพียงแค่บันทึกเหตุการณ์ประจำวัน ที่เกิดขึ้น ณ สถานีรถไฟเล็ก ๆ แห่งหนึ่งใกล้ชายขอบกรุงเทพมหานคร ที่บังเอิญผ่านไปได้พบเห็นมา ก็เลยเอามาบันทึกไว้แค่นั้นเอง


รูปที่ ๕ ลองมองย้อนกลับไปอีกฝั่งหนึ่ง ช่วงนี้เป็นตอนบ่ายหลังเที่ยงไม่นาน ผู้โดยสารก็เลยน้อยหน่อย แต่ดูแล้วคิดว่าถ้าเป็นหลังโรงเรียนเลิกหรือเลิกงาน ก็น่าจะมีคนพลุกพล่านอยู่เหมือนกัน เพราะเห็นมีร้านค้าขายของอยู่หลากหลายข้างชานชลาสถานี


รูปที่ ๖ ภาพจับมาจากคลิปวิดิโอ รถไฟที่มาจากวงเวียนใหญ่กำลังวิ่งเช้าตัวสถานี


รูปที่ ๗ พอท้ายรถไฟที่วิ่งสวนมาวิ่งพ้นจุดสับราง พนักงานประจำรถขบวนที่ผมโดยสารก็ชูธงเขียวให้สัญญาณ (ในกรอบสีแดง) เพื่อให้รถไฟชบวนที่รอหลีกอยู่นั้นเริ่มเคลื่อนตัวออกจากสถานี ดูเหมือนว่าสถานีนี้ยังคงใช้พนักงานไปโยกสับรางที่ตำแหน่งประแจสับราง (ไม่ได้ใช้คันโยกที่ดึงผ่านเส้นลวดจากในตัวสถานี) ถ้าเป็นช่วงที่มีฝนตกหนักก็น่าเห็นใจเจ้าหน้าที่อยู่เหมือนกัน


รูปที่ ๘ ขณะกำลังเคลื่อนตัวจากรางรอหลีกกลับเข้ารางหลัก


รูปที่ ๙ พ้นจากสถานีมาหน่อยมีต้นกล้วยขึ้นเต็มข้างทาง เรียกว่าตันมันเอียงจนใบมันระเข้ากับตัวรถ บางต้นเอียงมากขนาดต้องมีการเอาเชือกมาผูกดึงเพื่อให้ไม่ให้ต้นล้มขวางหน้ารถ บางจุดเห็นได้เลยว่า ถ้าหากรถไฟจอด ก็คงจะเอื้อมมือไปตัดกล้วยที่ต้นได้ทั้งเครือ

วิดิโอขณะรถไฟวิ่งสวนทางมา

ไม่มีความคิดเห็น: