วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

โปรดใช้ความระมัดระวัง ก่อนจะต่อยอดความคิดออกไป (คิดสักนิดก่อนกด Share เรื่องที่ ๖) MO Memoir : Monday 9 February 2558

เมื่อประมาณต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผมได้เห็นภาพ Infographic รูปหนึ่งที่มีคนกด Share ต่อ ๆ กันมา ซึ่งเมื่ออ่านดูแล้วก็เห็นว่าอ่านสนุกและมีสาระดี แต่ก็มีอยู่จุดหนึ่งที่ผมอ่านแล้วสะกิดใจ

ลองอ่านกันเองดูก่อนไหมครับ แล้วลงเดาดูว่าผมเองไปสะกิดใจตรงไหน ตัวคุณเองก็ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนผมหรือเห็นด้วยกับผมก็ได้ (ดูรูปที่ ๑ ข้างล่าง)


รูปที่ ๑ Info graphic ที่เห็นจากการกด Share ทาง facebook
  
จุดที่สะกิดใจผมก็คือวิธีการนำเสนอตรงวัสดุที่ใช้ทำภาชนะบรรจุครับ ที่ผมตัดเฉพาะส่วนนี้มาให้ดูในรูปที่ ๒ ข้างล่าง ลองอ่านดูเอาเองก่อนก็แล้วกันว่าหลังจากอ่านแล้วรู้สึกอย่างไรกันบ้าง
  
รูปที่ ๒ นำมาเฉพาะส่วนวัสดุที่ใช้ทำถ้วย

สิ่งแรกที่ผมสะดุดตาก็คือชื่อชนิดวัสดุ เริ่มจากช่องซ้ายสุดที่ระบุว่าเป็น “พลาสติก PP (Polypropylene)” ช่องกลางที่ระบุว่าเป็น “โฟม PS (Polystyrene)” และช่องขวาสุดที่ระบุว่าเป็น “กระดาษลามิเนต PE (Polyethylene)
  
คำถามแรกก็คือพอเราเห็นคำภาษาอังกฤษในวงเล็บแล้วเราคิดว่ามันคืออะไร
  
(ก) มันเป็นเพียงคำเต็มของคำย่อ PP PS และ PE ที่อยู่ท้ายชื่อในบรรทัดบน หรือ
  
(ข) มันแทนคำบรรทัดบนทั้งคำ (คือแทนคำว่า พลาสติก PP โฟม PS และกระดาษลามิเนต PE)

ถ้าเรามองมันแบบข้อ (ก) ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเรามองมันแบบข้อ (ข) ก็ลองพิจารณาดูว่าตอนที่เราเห็นคำว่า “กระดาษ” นั้นเรารู้สึกอย่างไรหรือเปล่ากับภาชนะบรรจุที่ทำจากวัสดุดังกล่าวเทียบกับสองตัวแรกที่ระบุชัดเจนว่าเป็นพลาสติกและโฟม ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงนั้นวัสดุทั้ง ๓ ชนิดต่างประกอบด้วยวัสดุพลาสติกทั้งนั้น

ถัดไปคือข้อมูลการเปรียบเทียบ ในที่นี้สำหรับวัสดุทั้ง ๓ ชนิดนั้นเริ่มด้วยอุณหภูมิใช้งาน ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต้องมีการเติมน้ำร้อนก่อนการบริโภค ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ว่าที่ว่าวัสดุทั้ง ๓ ชนิดนั้นจะต้องทนอุณหภูมิได้อย่างต่ำ 100ºC (อุณหภูมิของน้ำเดือด)
  
ข้อมูลการเปรียบเทียบในบรรทัดถัดไปผมเห็นว่าน่าสนใจ ข้อมูลตัวที่สองที่ให้มานั้นสำหรับพลาสติก PP และโฟม PS บอกถึงข้อดี แต่พอเป็นกระดาษลามิเนตกลับไม่มีการบอกข้อดี กล่าวถึงข้อเสียเลย การนำเสนอเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามได้ว่าถ้าวัสดุดังกล่าวมันไม่มีข้อดีในการนำมาใช้ทำบรรจุภัณฑ์ดังกล่าว แล้วเขานำเอามาทำบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวทำไม
  
ที่แปลกก็คือในกรณีของโฟม PS มีการให้ข้อมูลตัวที่สามที่เป็นข้อเสียของโฟม PS คือใช้เวลานานในการย่อยสลาย แต่จะว่าไปแล้วการใช้เวลานานในการย่อยสลายมันไม่ได้เป็นเฉพาะ PS พลาสติก PE และ PP ก็มีปัญหานี้เช่นเดียวกัน แต่กลับไม่นำมาแสดงในช่องข้อมูลของพลาสติกอีกสองชนิดนั้น
  
และจะว่าไปแล้วถ้าสังเกตก็จะเห็นว่าพื้นที่การนำเสนอข้อมูลของวัสดุทั้ง ๓ ชนิดนั้นก็เท่า ๆ กัน แต่ในกรณีของโฟม PS กลับมีการลดขนาดตัวหนังสือ (font) ให้เล็กลง เพื่อที่จะได้ใส่ข้อมูลตัวที่สามที่เป็นข้อเสียลงไปได้ (คำถามก็คือทำไมไม่ทำอย่างนี้กับวัสดุอีกสองชนิดที่เหลือด้วย)
  
โดยปรกติแล้ว ผมเห็นว่าถ้าจะทำการเปรียบเทียบสิ่งใดก็ควรให้ข้อมูลขั้นต่ำที่ประกอบด้วย คุณสมบัติ/คุณลักษณะทั่วไป จุดเด่น และจุดต้อย เพื่อที่จะได้เป็นการเปรียบเทียบที่เป็นธรรม ไม่เลือกเฉพาะข้อดีของตัวใดตัวหนึ่ง (โดยปกปิดข้อเสีย) และเลือกเฉพาะข้อเสียของอีกตัวหนึ่ง (โดยปกปิดข้อดี) มานำเสนอ เพราะจะทำให้การพิจารณานั้นผิดพลาดไปได้

เวลากล่าวถึงการย่อยสลายบางทีก็ต้องมาคุยนิยามกันว่าแค่ไหนจึงจะเรียกว่าย่อยสลาย วัสดุพลาสติกบางชนิดนั้นมีการเติมพวก platicizer ผสมลงไป เพื่อให้แตกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ได้ง่าย (ที่เห็นได้ชัดคือถุงพลาสติกหูหิ้ว) ไม่คงรูปอยู่ในสภาพชิ้นส่วนใหญ่ แต่ว่าแต่ละชิ้นส่วนเล็กที่แตกออกมานั้นก็ยังคงเป็นพอลิเมอร์ที่เหมือน/ใกล้เคียงกับพอลิเมอร์ตั้งต้นอยู่
  
ถ้าพูดถึงการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย ก็มักจะหมายความถึงการเปลี่ยนสารอินทรีย์ที่อยู่ในน้ำนั้นไปเป็นคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำจนหมด
  
หรือหมายถึงการที่โมเลกุลใหญ่แตกออกเป็นโมเลกุลที่เล็กลง กลายเป็นสารอินทรีย์ที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม หรือจนกลายเป็นสารอินทรีย์ที่จุลินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ (หรือระบบบำบัด) สามารถจัดการเปลี่ยนให้กลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำได้

เวลาสอนสัมมนาผมมักจะกล่าวกับนิสิตเสมอว่า สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ควรต้องได้จากการเรียนวิธีการนำเสนอไม่ได้มีแต่เพียงแค่การพูดอย่างไรให้คนอื่นเชื่อ แต่ยังมี “การฟังอย่างไรไม่ให้ถูกหลอก” คือในระหว่างการรับฟังนั้นต้องสามารถคัดเอาสีสรร เทคนิค และสิ่งยั่วยวนต่าง ๆ ที่ทำให้การนำเสนอดูดีนั้นออกไปจากข้อมูลที่รับเข้ามา มองหาในสิ่งที่ผู้นำเสนอหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึง (เช่นกล่าวแต่ข้อดี โดยไม่กล่าวถึงข้อเสีย หรือกล่าวถึงข้อเสีย ไม่กล่าวถึงข้อดี)
  
ก่อนหน้านี้เคยมีการโฆษณาน้ำมันพืชชนิดหนึ่งว่า “แช่เย็นแล้วไม่เป็นไข” ด้วยการเอาน้ำมันพืชไปใส่ในช่องทำน้ำแข็งในตู้เย็น ซึ่งมันก็เป็นจริงดังเขาโฆษณา เพราะในวงการเป็นที่รู้กันทั่วว่าในการผลิตน้ำมันพืชชนิดนั้น เขาจะนำเอาน้ำมันพืชที่สกัดได้นั้นไป “แช่เย็น” ก่อนเพื่อคัดเอาส่วนที่เป็นไขออกไป จากนั้นจึงนำส่วนที่ไม่แข็งตัวนี้มาบรรจุขวดขาย ดังนั้นถ้านำเอาน้ำมันส่วนนี้มาแช่เย็นใหม่มันก็ไม่แข็งตัวเป็นไข ซึ่งเป็นเรื่องปรกติ เรื่องนี้ผมเคยคุยกับวิศวกรที่ทำงานที่โรงงานดังกล่าว ผมก็ถามเขาตรง ๆ ว่าทำไมบริษัทคุณถึงโฆษณาอย่างนั้น มีวัตถุประสงค์อะไร ซึ่งผมก็ไม่ได้รับคำตอบ
  
แต่สิ่งสำคัญคือผู้ที่รับข้อมูลไปนั้นคิดอย่างไรกับน้ำมันพืชที่แช่เย็นแล้วเป็นไข คิดอย่างไรกับน้ำมันพืชที่แช่เย็นแล้วไม่เป็นไข แล้วเคยตรวจสอบสิ่งที่คิดนั้นหรือไม่ว่าถูกต้องหรือไม่
  
แต่สำหรับการตลาดแล้ว สิ่งที่ผู้บริโภคคิดต่อยอดไปนั้นจะถูกหรือผิดไม่สำคัญ สำคัญตรงที่ว่าขอให้ได้ประโยชน์จากความคิดนั้นเป็นสำคัญ

ไม่มีความคิดเห็น: