ตอนที่มีการปรับหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาครั้งล่าสุดนั้น
ผมได้สนทนากับอาจารย์หัวหน้าภาควิชา
(ในขณะนั้น)
และมีความเห็นตรงกันว่าควรจะมีวิชาเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานและการออกแบบให้นิสิตเลือกเรียน
ซึ่งเป็นที่มาของการเกิดวิชา
"2105689
การออกแบบและดำเนินการกระบวนการอย่างปลอดภัย
(Safe
Process Operation and Design)"
แต่ปัญหาหลักที่สำคัญของวิชานี้ก็คือ
จะให้ใครมาเป็นผู้สอน
เพราะว่าคำ "ดำเนินการ"
หรือ
"Operation"
นั้นหมายถึงการต้องมีความรู้เกี่ยวกับการทำงาน
ซึ่งอาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่
(หรือเกือบทั้งหมด)
ไม่มีความรู้และประสบการณ์ทางด้านนี้
จะมีก็แต่ความรู้ด้านการออกแบบ
Process
Flow Diagram แต่การออกแบบที่ทำให้สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยนั้น
มันเกี่ยวข้องกับงาน Detailed
Engineering ที่ต้องมีการลงรายละเอียดทุกรายการลงไปลึก
และยังต้องการความรู้จากศาสตร์ต่าง
ๆ ร่วมมือกันในการทำงาน
เมื่อภาคการศึกษาที่แล้ว
ระหว่างนั่งสนทนากับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลด้านบัณฑิตศึกษาของภาควิชา
ก็ทราบมาว่าวิชาเลือกสำหรับนิสิตปริญญาโท
(ภาคนอกเวลาราชการ)
ที่จะให้นิสิตเลือกเรียนในภาคการศึกษาปลายนั้นนั้นยังเปิดสอนไม่ครบ
ผมก็เลยลองทำเรื่องของเปิดสอนวิชานี้ขึ้นมา
ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ในใจว่ามันยากที่จะสอน
และก็ยังไม่รู้ว่าจะวัดผลการเรียนยังไงด้วย
แต่ด้วยความที่ยากจะถ่ายทอด
ความรู้ มุมมอง และประสบการณ์ส่วนตัว
ที่มีทางด้านนี้ให้กับผู้อื่นโดยตรง
(แทนการให้มานั่งอ่านทาง
blog
ที่เรื่องมันกระจัดกระจายและไม่เรียงลำดับ)
ก็เลยตัดสินใจขอเปิดสอน
แถมยังสอนเพียงคนเดียวอีก
(เพราะยังไม่มีคนอื่นสนใจร่วมสอนด้วย)
ในชั่วโมงแรกที่ผมสอน
ผมบอกกับนิสิตที่เข้าเรียนวิชานี้ว่า
ในมุมมองส่วนตัวของผมนั้น
การสอนวิชานี้มีปัญหา
(ที่นำมาสู่ความยากลำบาก)
ในการสอนตรงที่
๑.
ผู้เรียนมีพื้นฐานและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน
๒.
Design เรียนได้จากทฤษฎี
Operation
ได้จากประสบการณ์ตรง
๓.
ผู้สอนขาดประสบการณ์
Operation
๔.
บริบทของสังคมกับพฤติกรรมของคน
นิสิตที่เรียนวิชานี้มีอยู่ด้วยกัน
๒ กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นนิสิตภาคปรกติ
(หรือภาคในเวลาราชการ)
นิสิตกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้เรียนมาทางด้านวิศวกรรมเคมี
มีสายวิทยาศาสตร์ปนบ้างเล็กน้อย
ประสบการณ์เกี่ยวกับโรงงานที่มีอยู่บ้างก็จะเป็นตอนฝึกงาน
(แถมหลายรายยังไม่ได้ฝึกงานแบบได้เข้าไปสัมผัสกับตัวโรงงานอีก)
คือจะเรียกว่าประสบการณ์จริงเป็นศูนย์ก็ได้
ส่วนนิสิตกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มภาคนอกเวลาราชการ
นิสิตกลุ่มนี้มีทั้งผู้ที่มีพื้นฐานทางด้านวิศวกรรมเคมี
วิศวกรรมสาขาอื่น และวิทยาศาสตร์
และมีอายุการทำงานและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน
ทั้งในส่วนของห้องปฏิบัติการ
การก่อสร้าง การออกแบบ
และการเดินเครื่อง
ในหลักสูตรวิศวกรรมเคมีของบ้านเรานั้น
เรามีการสอนเรื่องการออกแบบกระบวนการหรือ
Process
Design ซึ่งจะว่าไปแล้วก็จำกัดอยู่เพียงแค่
Process
Flow Diagram ที่วาดบนคอมพิวเตอร์
ในส่วนของตัวอุปกรณ์นั้นก็สอนกันตรงที่การเลือกขนาดหรือ
Equipment
sizing โดยอาจมีการสอนในเรื่องการเลือกชนิดอุปกรณ์บ้าง
ส่วนเรื่องการออกแบบอุปกรณ์หรือ
Equipment
design ที่ต้องใช้ความรู้ทางด้านวิศวกรรมเครื่องกลประกอบนั้น
แทบจะไม่มี (หรือไม่มีเลย)
แม้แต่ในส่วนของการออกแบบกระบวนการเองก็ตาม
ก็ทำกันเพียงแค่ที่สภาวะคงตัวหรือ
Steady
state ไม่ได้มีการคำนึงถึงการเริ่มต้นเดินระบบหรือหยุดเดินระบบ
เพราะการที่จะทำอย่างนั้นได้จำเป็นต้องมีความรู้ลึกลงไปอีกถึงการทำงานของอุปกรณ์แต่ละตัว
ตัวอย่างง่าย ๆ
ตัวอย่างหนึ่งเห็นจะได้แก่เรื่องปั๊ม
ที่เราสอนกันแต่เรื่องการหาขนาดและกำลังที่ต้องใช้
(ซึ่งก็เพียงพอสำหรับการออกแบบกระบวนการ)
แต่ไม่มีการสอนว่าการติดตั้งปั๊มนั้นมีข้อควรคำนึงอย่างไรและควรประกอบด้วยอะไรบ้าง
(เช่น
วาล์ว เกจวัด strainer
ฯลฯ)
ในส่วนของท่อด้านขาเข้าและขาออก
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่สัมพันธ์กับการเริ่มต้นเดินเครื่องและหยุดเดินเครื่องปั๊ม
ผมเองในฐานะผู้สอนก็ไม่ได้มีประสบการณ์การเดินเครื่องอะไร
มีเพียงแค่ตอนจบมาใหม่ ๆ
แล้วถูกส่งไปอบรมการเดินเครื่องโรงงานที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อช่วงกลางปีพ.ศ.
๒๕๓๑
ที่ต้องเข้าไปทำงานร่วมกะกับโอเปอร์เรเตอร์ของทางญี่ปุ่น
ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้น
ๆ เพียงแค่ ๖ สัปดาห์
แต่ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์อันมีค่ายิ่ง
นอกจากนี้หลังจากกลับมาแล้วก็ได้กลับมาช่วงทำงานด้านการก่อสร้างโรงงานต่อ
ก็เลยพอมีความรู้ที่จะเข้าใจการทำงานด้านต่าง
ๆ อยู่บ้าง แม้ว่าความรู้ด้านนี้จะมีไม่มาก
แต่ด้วยความที่ไม่อยากให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาใหม่
ๆ ไม่มีความรู้อะไรเลยทางด้านนี้
(เหมือนอย่างที่ผมเคยประสบกับตัวเองมาเมื่อกว่า
๓๐ ปีที่แล้ว)
ก็เลยอยากถ่ายทอดเอาไว้เพื่อให้เขาพอมีความรู้ทางด้านนี้ติดตัวบ้าง
จะได้ไม่ต้องไปเริ่มต้นจากศูนย์เหมือนอย่างที่ผมเคยเจอมา
อีกความยากหนึ่งคือการหาข้อสรุปว่าต้องทำอย่างไรจึงจะ
"ปลอดภัย"
นั้น
เพราะตรงนี้มันขึ้นกับบริบทของแต่ละสังคม
บางสังคมนั้นใช้การกำหนด
"วิธีการที่ชัดเจน"
ซึ่งมันทำให้ง่ายในการตรวจสอบ
แต่ก็ทำให้ขาดความยืดหยุ่นในการปรับให้เข้ากับสถานการณ์
ในขณะที่บางสังคมนั้นใช้การกำหนด
"วัตถุประสงค์ที่ต้องบรรลุ"
ซึ่งวิธีการนี้มันให้ความยืดหยุ่นในการเลือกวิธีการให้เหมาะกับสภาพการณ์
แต่มันจะไปยากตรงที่ต้องสามารถพิสูจน์วิธีการที่เลือกใช้ให้คนอื่นยอมรับได้ว่ามันสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดนั้นได้
ตัวอย่างหนึ่งของการเลือกใช้
"วิธีการที่ชัดเจน"
หรือ
"วัตถุประสงค์ที่ต้องบรรลุ"
ได้แก่การป้องกันภาชนะรับแรงดัน
(Pressure
vessel) ไม่ได้เสียหายจากความดันที่สูงเกิน
ฝ่ายที่เลือกใช้ "วิธีการที่ชัดเจน"
ก็จะกำหนดเลยว่าภาชนะรับความดันทุกตัว
"ต้อง"
มีการติดตั้งวาล์วระบายความดัน
ในขณะที่ฝ่ายที่เลือกใช้
"วัตถุประสงค์ที่ต้องบรรลุ"
(คือการป้องกันภาชนะรับความดันไม่ให้เสียหายจากความดันสูงเกิน)
นั้นอาจจะเลือกใช้
การติดตั้งวาล์วระบายความดัน
การออกแบบอุปกรณ์ให้สามารถรองรับความดันสูงสุดที่อาจเกิดได้
(ซึ่งความดันสูงสุดนี้อาจถูกกำหนดโดยความดันสูงสัดที่ปั๊มจ่ายของเหลวให้กับภาชนะความดันนั้นสามารถทำได้
หรืออุณหภูมิที่สูงที่สุดที่เป็นไปได้ที่ทำให้ของเหลวภายในภาชนะความดันมีความดันไอสูงสุด)
การใช้การออกแบบที่สามารถป้องกันไม่ให้มีสารไหลเข้าในปริมาณที่เกินกว่าจะสามารถระบายออกไปได้
(เช่นด้วยการติดตั้ง
restriction
orifice ที่ท่อทางด้านขาเข้า)
เป็นต้น
"ความเสี่ยงที่ยอมรับได้"
ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คงยากจะหาข้อสรุปว่าวิธีการไหนดีกว่ากัน
ตัวอย่างเช่นการออกแบบเส้นทางสำหรับให้ผู้เดินเท้านั้นเดินข้ามถนนในบริเวณที่ไม่ใช่ทางร่วมทางแยก
ซึ่งมีได้ตั้งแต่ การมีทางม้าลาย
การมีทางม้าลายร่วมกับสัญญาณไฟ
การใช้สะพานลอย
และการสร้างอุโมงค์ลอดใต้ถนน
ในหลายประเทศนั้นเมื่อมีคนเดินเท้าก้าวลงมาบนทางข้าม
ผู้ขับขี่ก็จะหยุดรถให้ทันที
และก็เป็นอย่างนี้ทุกที่กับผู้ขับขี่ส่วนใหญ่
เพราะเขาทำการฝึกผู้ขับขี่และบังคับใช้กฎหมายเรื่องการหยุดรถให้คนข้ามที่ทางข้ามจนเป็นเรื่องทำให้ผู้ขับขี่ยวดยานปฏิบัติกันทั่วไปเป็นปรกติ
แต่วิธีการนี้ก็เหมาะสำหรับถนนที่ไม่กว้างมากหรือมีคนเดินข้ามไม่มาก
(เช่น
2
เลน)
ในกรณีที่เป็นถนนที่กว้างมาก
(เช่น
6
เลน)
หรือมีคนเดินข้ามมาก
(เช่นบริเวณย่านศูนย์การค้า)
ก็จะมีสัญญาณไฟหยุดรถช่วย
ทั้งนี้เพื่อไม่ให้รถยนต์ต้องหยุดถี่เกินไปทุกครั้งที่มีคนจะเดินข้าม
และยังให้เวลาผู้ขับขี่รู้ก่อนถึงทางข้ามว่ากำลังจะมีคนข้ามถนน
(ดูสัญญาณไฟที่ติดสูงอยู่ข้างหน้ามันง่ายกว่าการมองว่าจะมีคนที่อยู่ข้างถนนจะเดินข้ามหรือไม่
แถมยังอาจถูกบดบังทัศนวิสัยจากรถที่อยู่ทางด้านข้างอีก)
แต่ในบ้านเรานั้นที่เห็นกันก็คือขนาดมีสัญญาณไฟให้รถหยุด
รถก็ยังไม่หยุด หรือไม่ก็รถยนต์หยุด
แต่มอเตอร์ไซค์วิ่งแซงออกไป
การสร้างสะพานลอยก็ดูเหมือนจะแก้ปัญหาเรื่องรถไม่ยอมหยุดได้
แต่ไปเจอปัญหาคนไม่อยากจะใช้
เพราะต้องเดินขึ้นสูง
(อย่างต่ำก็
5
เมตรและไม่เหมาะกับผู้มีปัญหาเรื่องการเดิน)
แถมบางทีผู้หญิงที่นุ่งกระโปรงก็ไม่สะดวกที่จะใช้อีก
เพราะราวสะพานมันโปร่ง
มองจากข้างล่างขึ้นไปก็เห็นได้ชัดเจน
แถมบางที่ยังมีวินมอเตอร์ไซค์ไปปักหลักอยู่ใต้สะพานลอยอีก
นอกจากนี้วิธีการนี้ก็ยังไม่เหมาะกับทางเท้าที่ไม่กว้าง
หลายที่ที่เคยเห็นก็คือพอสร้างสะพานลอยให้คนข้าม
คนเดินเท้าที่ไม่ต้องการข้ามสะพานลอยต้องมาเดินบนถนนแทน
เพราะบันไดขึ้นลงสะพานลอยมันปิดทางเดินเอาไว้เกือบหมด
การสร้างอุโมงค์มันมีการเดินขึ้นลงน้อยกว่า
แต่ก็ต้องระวังเรื่องน้ำท่วมขังเวลาฝนตกหนักซึ่งทำให้ต้องมีระบบระบายน้ำ
นอกจากนี้ยังต้องมีไฟแสงสว่างแม้ว่าจะเป็นช่วงเวลากลางวัน
(เรียกว่า
operating
cost สูงกว่าสะพานลอย)
ตกเวลากลางคืนก็อาจกลายเป็นที่ลับตาคนที่อาจเกิดอาชญากรรมได้ง่าย
(ทำให้คนไม่อยากใช้)
ที่ใช้ตัวอย่างการข้ามถนนนี้มาเล่าก็เพราะเห็นว่ามันเป็นตัวอย่างที่ไม่ขึ้นกับพื้นความรู้ของผู้เรียนว่าจบอะไรมา
แต่ก็แสดงให้เห็นได้ว่าบ่อยครั้งที่วิธีการแก้ปัญหานั้นมันมีหลากหลาย
แต่การจะเลือกใช้วิธีการใดนั้นมันต้องพิจารณาสภาพการณ์ด้วย
และวิธีการที่ใช้ได้ดีหรือเหมาะสมที่สุดในช่วงเวลาหนึ่ง
แต่เมื่อสภาพการณ์เปลี่ยนไปก็อาจจะพบว่ามันไม่เหมาะสมแล้วก็ได้
ผมได้เกริ่นเอาไว้ในตอนแรกว่าเรื่องของความปลอดภัยในการทำงานนั้นมันเกี่ยวข้องกับความรู้ที่หลากหลาย
ลองพิจารณาดูรูปที่ ๑
ข้างล่างดูก่อนนะครับว่าคุณเห็นอะไรบ้าง
และรู้สึกอย่างไร
รูปที่
๑ ลองดูรูปท่อที่ต่อกันอยู่ตรงนี้นะครับ
คุณเห็นแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง
(เรื่องนี้เคยเล่าไว้ใน
Memoir
ปีที่
๖ ฉบับที่ ๘๐๔ วันอังคารที่
๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.
๒๕๕๗
เรื่อง "หามาตรฐานไม่ได้จริง ๆ")
ผมเปิดสไลด์นี้ให้นิสิตปริญญาโทภาคปรกติดู
เขาก็นั่งเงียบกันทั้งห้อง
(เพราะไม่เข้าใจความหมาย)
พอเอามาเปิดให้กับนิสิตปริญญาโทภาคนอกเวลาราชการดู
ก็มีอยู่เพียงแค่รายเดียวที่ยิ้มและส่ายหน้า
(ถ้าจำไม่ผิดดูเหมือนจะเป็นรายเดียวที่มีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับการออกแบบหรือก่อสร้าง)
คงเป็นเพราะเห็นความ
"มักง่าย"
ของช่างและความไม่เอาไหนของผู้ควบคุมงาน
ว่าแต่คุณมองเห็นหรือเปล่าครับที่ว่า
"มักง่าย"
นั้นคือตรงไหน
ท่อพลาสติกสีดำที่เห็นก็คือท่อพีอี
(อันที่จริงคือ
HDPE
ที่ย่อมาจาก
Hight
Density Polyethylene หรือพอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง)
ท่อนี้จะมีความอ่อนและดัดโค้งได้ง่าย
ไม่แข็งเกร็งเหมือนท่อพีวีซี
พักหลัง ๆ
จึงมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายกับงานวางท่อที่ฝังใต้ดิน
ไม่ว่าจะเป็น "ท่อน้ำ"
หรือ
"ท่อร้อยสายไฟ"
เพื่อเป็นการระบุการใช้งานของท่อ
จึงมีการคาดสี (หรือจะเรียกว่าแถบสีได้ได้)
ได้ตามความยาวท่อ
ถ้าต้องการใช้เป็นท่อน้ำก็ควรใช้ท่อที่มีแถบสีฟ้า
ถ้าต้องการใช้เป็นท่อร้อยสายไฟก็ควรใช้ท่อที่มีแถบสีส้ม
(หรือสีส้ม)
เพื่อที่ผู้ที่มาทีหลังจะได้รู้และพึงระวังว่ามีอะไรอยู่ในท่อ
แต่ในรูปที่เอามาให้ดูนี้
(ถ่ายมาแถว
ๆ ทางเดินเข้าตึกที่ทำงานผมเอง)
เอาท่อคาดฟ้ามาต่อกับท่อคาดส้ม
แล้วจะให้แปลว่าสิ่งที่อยู่ในท่อนั้นเป็นน้ำหรือสายไฟ
อันที่จริงถ้าดูจากลักษณะการต่อแล้วก็ไม่น่าจะเป็นท่อน้ำ
เพราะท่อน้ำจะมีแรงดันภายใน
และท่อพีอีก็ต่อด้วยการติดกาวไม่ได้เหมือนท่อพีวีซีซะด้วย
การสอดแบบนี้จะทำให้น้ำรั่วออกจากข้างในได้ง่าย
แต่ยังพอป้องกันไม่ให้น้ำฝนรั่วไหลเข้าไปข้างในได้
และถ้าได้ดูสถานที่จริงก็จะพบว่ามันคือท่อร้อยสายไฟ
โดยท่อคาดฟ้าจะถูกฝังอยู่ใต้พื้นถนนคอนกรีต
มันโผล่ขึ้นมาตรงนี้เพื่อทำการต่อท่อ
ที่เขาเอาท่อคาดส้มมาต่อ
ก่อนที่จะฝังดินกลับลงไปใหม่
ถ้าใครมาทำการขุดดินฝั่งท่อคาดส้ม
เมื่อเขาขุดลงไปเจอท่อนี้
เขาก็จะแปลความหมายตามสีท่อว่าเป็นท่อร้อยสายไฟ
ดังนั้นก็จะใช้ความระมัดระวังในการทำงาน
(ถ้าเขารู้ความหมายของสีที่คาดท่อนะ)
คือพยายามอย่าไปยุ่งอะไรกับท่อหรือทำให้ท่อเสียหาย
เพราะผู้เข้าไปยุ่งอาจถึงตายได้
แต่ถ้าเขามาทำงานฝั่งที่ท่อคาดฟ้าฝังดินเอาไว้
เมื่อเขาขุดลงไปเจอท่อนี้เขาก็จะแปลความหมายว่าเป็นท่อน้ำประปา
ดังนั้นถ้าระหว่างการทำงานเขาพบว่าท่อคาดฟ้าที่เห็นนั้นกีดขวางการทำงานอยู่
เขาอาจพิจารณาตัดท่อช่วงดังกล่าวออกเพื่อเดินท่อใหม่อ้อมไปชั่วคราว
ถึงจุดนี้ก็ขอให้ลองคิดเอาเองก็แล้วกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ที่ทำการตัดท่อที่ตัวเองคิดว่าเป็นท่อน้ำประปา
(ตามสีฟ้าคาดท่อที่เห็น)
ทั้ง
ๆ ที่ข้างในคือสายไฟฟ้าแรงสูง
เหตุการณ์นี้เคยเกิดที่ภาควิชาของเรามาแล้ว
ที่โชคดีที่สายไฟข้างในเป็นสายโทรศัพท์
ไม่ใช่สายไฟฟ้าแรงสูง
ไม่เช่นนั้นนิสิตคนที่ไปตัดท่อดังกล่าว
(เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นท่อน้ำทิ้งที่ตัน)
คงเสียชีวิตคาที่ตรงนั้นไปแล้ว
เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดจากการที่เอาท่อพีวีซีสีฟ้า
(ที่ควรใช้เป็นท่อน้ำ)
มาใช้เป็นท่อร้อยสายโทรศัพท์และระบายสีเหลืองทับเอาไว้
แถมยังติดตั้งไว้ใกล้กับตำแหน่งรูระบายน้ำทิ้งที่พื้นห้องด้านในอีก
รูปที่
๒ ท่อที่เห็นนี้คือท่อร้อยสายโทรศัพท์
เดิมท่อนี้ใช้ท่อพีวีซีสีฟ้ามาทาสีเหลือง
พอเวลาผ่านไป ๒๐ ปี
สีที่ทาไว้ก็ล่อนหมด
แถมบังเอิญอยู่ใกล้กับตำแหน่งรูระบายน้ำทางด้านในอาคาร
(ภาพนี้ถ่ายหลังการซ่อมแซมแล้ว)
เรื่องมันเริ่มจากการที่คือรูระบายของรางระบายน้ำที่พื้นในห้องปฏิบัติการมันตัน
โดยทางระบายน้ำนี้มันไหลไปทางผนังอาคาร
พอไปตรวจสอบด้านนอกก็เห็นมีท่อพีวีซีสีฟ้าอยู่
ก็เลยเข้าใจว่าท่อที่เห็นนั้นเป็นท่อน้ำทิ้งและคงอุดตัน
อาจารย์ผู้คุมแลปก็เลยตัดสินใจที่จะตัดท่อโดยให้นิสิตผู้ช่วยสอนเป็นผู้ไปตัด
พอตัดรอยตัดแรกก็ไม่เห็นมีน้ำไหลออกมา
ก็เลยมั่นใจว่าท่อคงจะตัดแน่
พอตัดรอยตัดที่สองเพื่อที่จะถอดชิ้นท่อออกมา
ก็พบว่าที่อยู่ในท่อนั้นเป็นสายโทรศัพท์
งานนี้กลายเป็นว่าโทรศัพท์ใช้งานไม่ได้ทั้งอาคาร
พอตรวจสอบท่อส่วนที่เหลือก็พบว่ามีคราบสีเหลืองหลงเหลืออยู่
นั่นแสดงว่ามีการนำเอาท่อสีฟ้า
(ที่ควรใช้กับระบบน้ำ)
มาใช้กับสายโทรศัพท์
และทาสีเหลืองทับ
พอเวลาผ่านไปสีเหลืองที่ทาไว้ก็ล่อนเกือบหมด
คนมาดูทีหลังก็เห็นเป็นเพียงแค่ท่อฟ้าที่เลอะเทอะ
(ไม่ได้สนใจว่าบนท่อที่คราบอะไรอยู่บ้าง)
ประกอบกับตำแหน่งที่ดูจากภายนอกแล้วใกล้เคียงกับช่องทางระบายน้ำด้านใน
(พื้นด้านนอกและในอาคารต่างระดับกันอยู่)
เหตุการณ์นี้คงไม่เกิดขึ้นถ้าหากใช้ท่อถูกสี
และแทนที่จะให้ท่อร้อยสายโทรศัพท์นี้มุดจากด้านนอกเข้าไปในอาคาร
ณ ตำแหน่งติดพื้น
ก็ให้มุดเข้ายังตำแหน่งที่อยู่สูงขึ้นไปที่ตรงกับตู้ชุมสายข้างใน
(การแก้ปัญหาด้วยการออกแบบ)
เรื่องนี้เคยเล่าไว้ในMemoir
ปีที่
๔ ฉบับที่ ๔๕๙ วันจันทร์ที่
๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ เรื่อง
"ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๙ ท่อร้อยสายโทรศัพท์"
ท่อพีวีซีที่เห็นทั่วไปก็มีสีฟ้าที่ใช้กับงานน้ำประปา
สีเหลืองใช้กับงานไฟฟ้า
และก็ยังมีสีขาวที่ใช้กับงานไฟฟ้าสำหรับการเดินลอย
(คือไม่ฝังในผนัง)
เพราะสีขาวมันทาสีทับให้กลมกลืนไปกับสีผนังได้ง่าย
การเอาท่อสีฟ้ามาใช้ร้อยสายไฟมันไม่ได้มีปัญหาอะไรใน
"การก่อสร้างและการใช้งาน"
แต่มันจะเกิดปัญหากับ
"การซ่อมบำรุง"
ที่จะตามมาภายหลัง
ซึ่งจะมีเมื่อไรก็ไม่รู้
ดังนั้นทางที่ดีแล้วจึงควรทำให้ถูกต้องเสียตั้งแต่ต้น
ที่เล่ามานี้เป็นการเกริ่นนำในชั่วโมงแรกที่สอน
วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้เข้าใจว่าเรื่องความปลอดภัยในการทำงานและการออกแบบนั้นจำเป็นต้องใช้ศาสตร์หลายด้านรวมกัน
ซึ่งยากที่จะหาได้ในคนเพียงคนเดียว
และหลายเรื่องก็ไม่มีการสอนกันทุกหลักสูตร
มีเพียงบางหลักสูตรเท่านั้นที่มีการสอนกัน
ผลที่ตามมาก็คือแล้วจะให้วัดผลการเรียนอย่างไร
ซึ่งผมเองก็ยังนึกไม่ออก
แต่อย่างน้อยก็น่าจะทำให้เห็นภาพได้ว่า
การแก้ปัญหาหนึ่งให้ลุล่วงไปได้นั้นอาจทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมาที่ต้องตามแก้กันต่อ
(เช่นกรณีของทางข้ามถนน)
และสิ่งที่คิดว่าไม่น่าจะเป็นอะไรเมื่อลงมือทำนั้น
อาจจะเป็นอะไรขึ้นมาก็ได้เมื่อเวลาล่วงเลยไป
(เช่นกรณีของท่อร้อยสายโทรศัพท์ที่ยกมา)
สำหรับ
Memoir
ฉบับนี้ก็คงต้องขอจบลงตรงนี้ก่อน
สวัสดีครับ
(หมายเหตุ
:
เอกสารฉบับนี้
(และที่จะมีตามมาอีก)
จัดทำขึ้นเพื่อขยายความสไลด์ประกอบการสอนวิชา
"2105689
การออกแบบและดำเนินการกระบวนการอย่างปลอดภัย
(Safe
Process Operation and Desing)"
ที่เปิดสอนให้กับนิสิตระดับปริญญาโท
ภาควิชาวิศวกรรมเคมี
คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นครั้งแรกในภาคการศึกษาปลาย
ปีการศึกษา ๒๕๖๑)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น