จุดตัดระหว่างถนนกับทางรถไฟในโลกนี้มีไม่รู้กี่ที่ แต่ด้วยการ์ตูนเรื่องเดียวจึงทำให้มีคนจากหลากหลายมุมโลกมาถ่ายรูปที่นี่ (รวมทั้งผมด้วย ในฐานะคุณพ่อที่ไปเที่ยวเป็นเพื่อนลูก)
ตอนแรกเห็นโปรแกรมลูกที่จะไป Kamakura ก็นึกเพียงแค่ว่าจะได้ไปเยี่ยมชมพระพุทธรูปที่นั่นอีกครั้งหลังจากที่ไปมาครั้งสุดท้ายเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๙ (ก็ ๒๗ ปีมาแล้ว) การเดินทางเริ่มจากนั่ง JR จากโตเกียวไปจนถึง Kamakura แล้วเปลี่ยนเป็นรถไฟท้องถิ่นสาย Enoshima เพื่อไปยังสถานี Kamakurakokomae
สถานีนี้มีเพียงชานชาลาเดียว อยู่ติดถนนเลียบชายฝั่งทะเล แต่ทางด้านตะวันออกของสถานีจะมีรางให้รถสับหลีกกัน รถที่มาจากฝั่งตะวันออกต้องรอให้รถที่มาจากฝั่งตะวันตกเข้าเทียบสถานีและส่งผู้โดยสารก่อน พอขบวนนั้นผ่านไปแล้วรถที่มาจากฝั่งตะวันออกจึงจะเข้าสู่สถานีได้ จุดตัดที่เป็นจุดยอดนิยมที่คนมาถ่ายรูปกันก็อยู่ตรงปากทางเข้าสถานีด้านตะวันออก (ที่เป็นทางเข้า-ออกหลัก) วันที่ไปนั้นมีคนมายืนรอเต็มไปหมดจนเจ้าหน้าที่ต้องมาบอกคอยให้ช่วยหลบไปจากผิวการจราจร โดยเฉพาะช่วงที่รถไฟกำลังจะผ่าน จะมีคนออกมายืนรอถ่ายรูปกันกลางถนน เพื่อให้ได้บรรยากาศดังภาพในการ์ตูนข้างล่าง
อันที่จริงที่นี่นอกจากจุดตัดทางรถไฟนี้ก็ยังมีสันกำแพงทางเดินริมทะเลอีกที่หนึ่งที่ใช้เป็นฉากปั่นจักรยานบนสันกำแพง แต่จุดนี้ไม่ใกล้สถานีรถไฟ ต้องเดินเลียบไปไกลหน่อย ก็เลยไม่ค่อยมีคนไปเท่าใดนัก
Memoir ฉบับนี้ก็ถือว่าเป็นบันทึกความทรงจำของตนเอง ว่าไปทำอะไรที่ไหนมาด้วยเหตุผลใด
รูปที่ ๑ รูปจุดตัดทางรถไฟที่เมือง Kamakura ที่ปรากฏในมังงะเรื่อง Slam Dunk ที่ต่อมากลายเป็นจุดถ่ายรูปขวัญใจมหาชน
รูปที่ ๓ เดินมาจนสุดทางเจอถนน ก็คือจุดถ่ายรูปขวัญใจมหาชน ที่ต่างกำลังรอจังหวะรถไฟวิ่งผ่าน
รูปที่ ๔ ส่วนผมเองขอเดินถ่ายรูปเก็บบรรยากาศตัวสถานี รูปนี้พอข้ามทางรถไฟก็เดินไปทางทิศตะวันตกวนกลับไปที่ตัวสถานีใหม่ โดยถนนอยู่อีกฟากของราง
รูปที่ ๕ มองย้อนกลับไปยังจุดถ่ายรูปขวัญใจมหาชน ตรงมุมขวาบนที่มีคนยืนอยู่เยอะ ๆ
รูปที่ ๖ ตัวอาคารสถานีตรงทางเข้าด้านทิศตะวันออก
รูปที่ ๗ เดินมาสุดปลายสถานีด้านทิศตะวันตก ตรงนี้ก็มีทางขึ้น-ลงด้วยสำหรับผู้ใช้บัตร แต่ถ้าจะซื้อตั๋วต้องไปเข้าอีกทางด้านหนึ่ง
รูปที่ ๘ บรรยากาศบริเวณตอนกลางตัวสถานี
รูปที่ ๙ ชายหาดฝั่งตรงข้ามสถานี รูปนี้มองไปยังทิศตะวันตก
รูปที่ ๑๐ หาดทรายเดียวกันเมื่อมองกลับไปยังทิศตะวันออก
รูปที่ ๑๑ กำลังจะข้ามกลับไปยังฝั่งสถานี ก็มีรถไฟออกจากสถานีพอดี
รูปที่ ๑๒ จังหวะรถไฟวิ่งผ่านจุดตัดขวัญใจมหาชน ที่เขาถ่ายรูปกันคืออีกฝั่งหนึ่ง ไม่ใช่ฝั่งนี้
รูปที่ ๑๓ พอขบวนนั้นวิ่งออกไป ขบวนใหม่ที่รอหลีกอยู่ก็วิ่งเข้ามา
รูปที่ ๑๔ ป้ายชื่อสถานีบนชานชาลา ถ่ายเก็บเอาไว้ระหว่างรอรถไฟ
รูปที่ ๑๕ มองจากชานชาลาไปยังทิศตะวันตก
รูปที่ ๑๖ ในที่สุดรถไฟที่รออยู่ก็มาแล้ว (หมายเหตุ : เวลาที่ปรากฏในรูปเป็นเวลาเมืองไทยที่ช้ากว่าท้องถิ่นสองชั่วโมงเศษ เป็นเพราะไม่ได้ตั้งเวลาให้ตรงกับที่เมืองไทยและญี่ปุ่น)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น