วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ความเป็นกรดของหมู่ไฮดรอกซิล (Hydroxyl group) ตอนที่ ๒ MO Memoir : Saturday 3 July 2559

ใน Memoir ฉบับวันอังคารที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๙ ผมได้กล่าวเอาไว้ว่าความเป็นกรดของหมู่ไฮดรอกซิล (-OH) นั้นจะแรงแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าเมื่อหมู่ไฮดรอกซิลจ่าย H+ ออกไปแล้ว (จาก R-OH กลายเป็น R-O- + H+) โครงสร้างโมเลกุลส่วนที่เหลือสามารถจัดการกับประจุลบที่ค้างอยู่บนอะตอม O นั้นได้อย่างไร ถ้าโครงสร้างโมเลกุลส่วนที่เหลือสามารถที่จะดึงและ/หรือเคลื่อนย้ายประจุลบที่อะตอม O นั้นออกไปได้ จะทำให้ความหนาแน่นประจุที่อะตอม O นั้นลดลง ส่งผลให้ความสามารถของประจุลบที่อะตอม O ดึงไอออน H+ กลับคืนเข้าหาตัวก็ลดลงตามไปด้วย ทำให้ความเป็นกรดของหมู่ไฮดรอกซิลนั้นเพิ่มขึ้น 
  
และในทางกลับกัน ถ้าโครงสร้างโมเลกุลส่วนที่เหลือนั้นเป็นตัวจ่ายอิเล็กตรอน ประจุลบที่ค้างอยู่ที่อะตอม O จะเคลื่อนย้ายไปไหนไม่ได้ ทำให้ความหนาแน่นประจุลบ ณ อะตอม O ยังคงสูงอยู่ อะตอม O ก็จะมีแนวโน้มที่จะดึงเอา H+ กลับคืนเข้าหาตัว การแตกตัวจะลดต่ำลง หรือความเป็นกรดของหมู่ -OH จะลดต่ำลงนั่นเอง
 
ถ้าลองพิจารณากรณีของสารประกอบที่มีหมู่ -OH ที่มีโครงสร้างที่ง่ายสุดซึ่งก็คือแอลกอฮอล์ ในกรณีนี้หมู่ -OH เกาะกับอะตอม C ที่เป็นหมู่อัลคิล อะตอม C ของหมู่อัลคิลนั้นไม่มึความสามารถในการดึงอิเล็กตรอน และมีแนวโน้มที่จะเป็นตัวจ่ายอิเล็กตรอนด้วย โดยความสามารถในการจ่ายอิเล็กตรอนของหมู่อัลคิลนี้เพิ่มขึ้นตามขนาดของหมู่อัลคิล ด้วยเหตุนี้เราจึงพบว่าในบรรดาอัลคิลแอลกอฮอล์ เมทาทอลจึงเป็นแอลกอฮอล์ที่มีความเป็นกรดที่แรงที่สุด (เพราะหมู่เมทิลเป็นหมู่อัลคิลที่มีขนาดเล็กสุด - รูปที่ ๑) แต่อะตอม C ที่อยู่ห่างออกไปจากอะตอม C ที่มีหมู่ -OH เกาะนั้นให้ผลในการจ่ายอิเล็กตรอนที่ลดลงตามความห่างที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นถ้าเปรียบเทียบในกรณีของ n-alcohol ด้วยกันแล้วจะพบว่าผลของขนาดของหมู่อัลคิลที่มีต่อความแรงของความเป็นกรดของแอลกอฮอล์นั้น จะเด่นชัดในกรณีของหมู่อัลคิลขนาดเล็ก

รูปที่ ๑ หมู่อัลคิลเป็นหมู่จ่ายอิเล็กตรอน ดังนั้นความเป็นกรดของหมู่ -OH ของแอลกอฮอล์จะลดลงเมื่อหมู่อัลคิลมีขนาดใหญ่ขึ้นและ/หรืออะตอม C ที่หมู่ -OH เกาะอยู่นั้นมีหมู่อัลคิลมาเกาะหลายหมู่

นอกจากนี้ความสามารถในการจ่ายอิเล็กตรอนของหมู่อัลคิลยังขึ้นอยู่กับจำนวนของอะตอม C ที่สร้างพันธะเชื่อมต่อกับอะตอม C ที่มีหมู่ -OH เกาะอยู่นั้น ดังเช่นในกรณีของ butanol ที่เป็นแอลกอฮอล์ C4 ที่มีอยู่ด้วยกันสามโครงสร้าง (รูปที่ ๒) ในกรณีนี้พบว่า 1-butanol มีความเป็นกรดที่แรงที่สุด ทั้งนี้เพราะอะตอม C ที่มีบทบาทมากที่สุดในการจ่ายอิเล็กตรอน (2) ให้กับอะตอม C ที่มีหมู่ -OH เกาะ (1) มีเพียงอะตอมเดียว อะตอม C ตัวที่อยู่ห่างออกไป (3 และ4) นั้นมีบทบาทลดลงไปเรื่อย ๆ พอเป็น 2-butanol อะตอม C ที่มีบทบาทมากที่สุดในการจ่ายอิเล็กตรอน (2) ให้กับอะตอม C ที่มีหมู่ -OH เกาะ (1) มีเพิ่มเป็น 2 อะตอม และเพิ่มขึ้นเป็น 3 อะตอมในกรณีของ tert-butanol


รูปที่ ๒ ความเป็นกรดของบิวทานอล (แอลกอฮอล์ C4) ที่ความเป็นกรดลดลงเมื่ออะตอม C ที่หมู่ -OH เกาะอยู่นั้นมีอะตอม C ตัวอื่นมาเกาะเพิ่มขึ้น (ข้อมูลจาก https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/)

การแทนที่อะตอม H ของหมู่อัลคิลด้วยหมู่อื่นที่ดึงอิเล็กตรอนออกจากอะตอม C ก็ส่งผลให้ความเป็นกรดของแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เช่นถ้าทำการแทนที่อะตอม H บางอะตอมด้วยอะตอมฮาโลเจนเช่น Cl ในรูปที่ ๓ ความแรงของความเป็นกรดของแอลกอฮอล์จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนอะตอม Cl ที่เพิ่มขึ้น


รูปที่ ๓ ความเป็นกรดของเอทานอลจะเพิ่มขึ้นถ้าอะตอม H ถูกแทนที่ด้วยอะตอมอื่นที่มีความสามารถในการดึงอิเล็กตรอนออกจากอะตอม C และจะเพิ่มมากขึ้น

ผลของความแรงที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกับแอลกอฮอล์ ในกรณีของกรดอินทรีย์ก็เช่นกัน เช่นในกรณีของกรดอะซีติก (acetic acid) นั้นถ้าทำการแทนที่อะตอม H บางอะตอมของหมู่เมทิลด้วย Cl กลายเป็นกรดคลอโรอะซีติก (chloroacetic acid) กรดนั้นจะมีความแรงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอะตอม Cl ที่เข้าไปแทนที่อะตอม H นั้น จะดึงอิเล็กตรอนออกจากอะตอม C ของหมู่เมทิลเดิม ส่งผลให้มีการดึงอิเล็กตรอนออกจากอะตอม C ของหมู่คาร์บอนิล (-CO-) ตามมา ทำให้อะตอม C ของหมู่คาร์บอนิลมีความเป็นบวกที่แรงมากขึ้นไปอีก ทำให้ความสามารถในการดึงประจุลบออกจากอะตอม O เพิ่มมากตามไปด้วย (รูปที่ ๔)


รูปที่ ๔ ลำด้บความแรงของกรดอะซีติกเมื่อเทียบกับกรดคลอโรอะซีติก

ในทำนองเดียวกันระยะห่างของหมู่ที่ทำหน้าที่ดึง/จ่ายอิเล็กตรอนกับตำแหน่งของหมู่ -OH ก็ส่งผลต่อความเป็นกรดของหมู่ -OH ด้วย ตัวอย่างเช่น chlorobutanoic acid ที่มีการแทนที่อะตอม H ด้วยอะตอม Cl เพียงอะตอมเดียว (Cl เป็นหมู่ดึงอิเล็กตรอน) ยิ่งอะตอม Cl นั้นอยู่ใกล้กับหมู่คาร์บอนนิล ผลของอะตอม Cl ที่มีต่อความแรงของ chlorobutanoic acid ก็จะเพิ่มมากขึ้น ลำดับความแรงของ chlorobutanoic acid จึงเป็น 2-butanoic acid > 3-butanoic acid > 4- butanoic acid
 
รูปที่ ๕ ลำดับความแรงของ Chlorobutanoic acid

ที่เล่ามาทั้งหมดนั้นเป็นไปตามที่ "ตำราเคมีอินทรีย์" กล่าวเอาไว้นะครับ และมันก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นเช่นนั้น

แต่มันมีบางสิ่งที่ตำราเคมีอินทรีย์ไม่ได้เขียนกำกับไว้ จะด้วยถือว่าเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่ทั่วไป หรือเป็นเรื่องปรกติของผู้ที่ทำงานทางด้านอินทรีย์เคมีก็ตามแต่ นั่นคือเวลาที่ตำราอินทรีย์เคมีกล่าวถึง "เสถียรภาพ" ของโครงสร้างใดก็ตามนั้น เขามักหมายถึงที่สภาวะ "อุณหภูมิไม่สูงและความดันไม่สูง" นะครับ และอาจเป็นสภาวะการทำปฏิกิริยาที่มี "ตัวทำละลายที่เฉื่อย" ร่วมด้วย ซึ่งสภาวะนี้เป็นสภาวะการทำปฏิกิริยาตามปรกติของ "นักเคมี" ส่วนใหญ่ทั่วไป ซึ่งมันแตกต่างไปจากสภาวะที่ใช้ในการทำปฏิกิริยาในงานทางด้าน "วิศวกรรมเคมี" อยู่มาก ทำให้บางครั้งมันดูเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนั้นมันขัดแย้งความรู้ที่มีการกล่าวเอาไว้ในตำราเคมีอินทรีย์ แต่ถ้าเราเข้าใจพื้นฐานและหลักการของมันดี เราจะพบว่าในความเป็นจริงนั้นมันไม่ขัดแย้งกันเลย

ถ้ายังงงอยู่ว่าในย่อหน้าข้างบนนั้นผมกล่าวถึงอะไร ลองตอบคำถามง่าย ๆ นี้ดูนะครับ คำถามดังกล่าวก็คือ "เฟสที่มีเสถียรภาพมากที่สุดของ "น้ำ" คือเฟสอะไร"

ถ้าคุณเอาน้ำใส่จานใบหนึ่งไปวางไว้ในภูมิอากาศร้อนชื้น (เช่นในป่าดงดิบแถบเส้นศูนย์สูตร) คุณก็คงจะเห็นว่าน้ำในจานนั้นเป็นเฟส "ของเหลว" แต่ถ้าคุณเอาจานใบดังกล่าวไปวางไว้ในแถบขั้วโลกหรือบนยอดเขาสูงที่มีหิมะปกคลุม คุณก็คงจะเห็นว่าน้ำในจานกลายเป็น "น้ำแข็ง" แต่ถ้าคุณเอาจานใบดังกล่าวไปวางไว้ในทะเลทรายที่ร้อนและแห้ง คุณจะเห็นน้ำระเหยหมดไปจากจานอย่างรวดเร็ว กลายเป็น "ไอน้ำ" ในอากาศ 
  
ทำนองเดียวกันครับ เสถียรภาพของ โมเลกุล อนุมูลอิสระ หรือไอออนที่มีประจุใด ๆ ของสารอินทรีย์ มันขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมด้วย ซึ่งก็เป็นไปตามหลักของเลอชาเตอลิเย (Le Chatelier's principle) เรื่องสมดุลเคมี ในสภาพแวดล้อมที่มีพลังงานต่ำ รูปแบบโครงสร้างที่มีพลังงานต่ำจะเป็นรูปแบบที่มีเสถียรภาพ แต่พอสภาพแวดล้อมมีพลังงานสูงขึ้น สสารก็จะพยายามลดพลังงานที่สูงขึ้นของสิ่งแวดล้อมนั้นด้วยการดูดซับพลังงานของสภาพแวดล้อมเข้าไป และปรับตัวเป็นโครงสร้างที่มีพลังงานในตัวสูงขึ้น

ในปีค.ศ. ๑๙๖๘ และ ๑๙๗๐ John I. Brauman และ Larry K. Blair ได้เปิดเผยผลการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าในสภาวะที่เป็น "แก๊ส" นั้น ความเป็นกรดของแอลกอฮอล์จะแปรผันตามขนาดของหมู่อัลคิล กล่าวคือยิ่งหมู่อัลคิลยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น ความเป็นกรดของแอลกอฮอล์ก็จะเพิ่มมากขึ้น (รูปที่ ๖ และ ๗) ซึ่งรายงานการค้นพบตรงนี้มันตรงข้ามกับสิ่งที่เขียนไว้ในตำราเคมีอินทรีย์ทั่วไป ที่กล่าวว่าแอลกอฮอล์ที่มีหมู่อัลคิลเล็กนั้นจะเป็นกรดที่แรงกว่า สิ่งที่ไม่ได้มีการกล่าวเอาไว้ในตำราเคมีอินทรีย์ก็คือการเปรียบเทียบที่เขากระทำนั้นมักเป็นการเปรียบเทียบในสถานะ "ของเหลว" ที่มีตัวทำละลายที่ "เฉื่อย" หรือไม่เข้าร่วมในการทำปฏิกิริยาร่วมอยู่ด้วย แต่ในความเป็นจริงนั้นพบว่าโมเลกุลของตัวทำละลายส่งผลต่อเสถียรภาพของไอออนที่เกิดขึ้น และเมื่อทำการทดลองในเฟสแก๊สที่ไม่มีตัวทำละลาย ผลที่ได้รับจึงแตกต่างออกไป


รูปที่ ๖ บทความของ John I. Brauman และ Larry K. Blair ใน Communications to the Editor, Journal of rhe American Chemical Society, 90:23, November 6, 1968 ที่รายงานความเป็นกรดของแอลกอฮอล์ในสภาวะแก๊ส และพบว่าแอลกอฮอล์ที่มีหมู่อัลคิลที่ใหญ่ จะมีความเป็นกรดที่แรงกว่า


รูปที่ ๗ บทความของ John I. Brauman และ Larry K. Blair ใน Journal of rhe American Chemical Society, 92:20, October 7, 1970.
 
เฟสแก๊สเป็นเฟสที่มีสภาพแวดล้อมมีพลังงานสูงกว่าเฟสของเหลว ดังนั้นโครงสร้างที่มีพลังงานสูงจะมีเสถียรภาพที่สูงกว่า รายละเอียดทั้งหมดเป็นอย่างไรก็ลองอ่านในไฟล์บทความต้นฉบับที่แนบไปพร้อมกับ Memoir ฉบับนี้ก็แล้วกัน 
  
เรื่องลำดับเสภียรภาพที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อพลังงานของระบบสูงขึ้นนี้ก็เกิดขึ้นกับกรณีของ free radical ด้วย และใช้เป็นตัวอธิบายว่าทำไปการสังเคราะห์พอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (LLDPE) ที่ต่อโมเลกุลเอทิลีนเข้าด้วยกันได้โดยไม่ต้องใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา จึงต้องใช้อุณหภูมิและความดันที่สูง ทั้งนี้เพื่อทำให้ตำแหน่งของอิเล็กตรอนอิสระนั้นอยู่ที่ปลายโซ่ (ทำให้ primary free radical มีเสถียรภาพที่สูงกว่า secondary และ tertiary free radical)

ท้ายสุดนี้เนื่องจากหน้ากระดาษยังมีที่ว่างเหลืออยู่ ก็เลยขอเอารูปบรรยากาศการเตรียมการสอบวิทยานิพนธ์ที่ถ่ายเอาไว้ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาเอามาให้ดูกันก็แล้วกัน
 
ตอนนี้ก็เหลือเพียงแค่นับถอยหลังรอวันจริง :) :) :)


ไม่มีความคิดเห็น: