วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2564

การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๑๐ ฟังก์ชันเข้ารหัสรีโมทเครื่องปรับอากาศ MO Memoir : Sunday 22 August 2564

เมื่อเรานำการควบคุมผ่านระบบไร้สายมาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งก็คือทำอย่างไรจึงจะไม่ทำให้สัญญาณควบคุมนั้นรบกวนกัน สิ่งหนึ่งที่ทำได้คือการใช้รหัสที่มีความซับซ้อนมากขึ้น (มีจำนวนบิตการเข้ารหัสมากขึ้น) เพื่อลดโอกาสที่สัญญาณควบคุมของอุปกรณ์ที่อยู่ในบริเวณเดียวกันมีโอกาสที่จะซ้ำกัน

ตัวอย่างนี้คล้ายกับตัวอย่างที่ ๔ เพียงแค่เปลี่ยนจากรีโมทโทรทัศน์เป็นรีโมทเครื่องปรับอากาศ (ตัวอย่างที่ ๔ อุปกรณ์เข้ารหัส (Encoding Device) เขียนไว้ในฉบับวันเสาร์ที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔) โดยในกรณีของรีโมทโทรทัศน์ในตัวอย่างที่ ๔ นั้น เป็น "ฮาร์ดแวร์" ส่วนในกรณีนี้เป็น "ซอฟต์แวร์" เข้ารหัสสัญญาณควบคุมผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต (เช่นด้วยการใช้โทรศัพท์มือถือ) เข้าสู่อุปกรณ์ WiFi Router ในบ้านไปยังเครื่องควบคุมเครื่องปรับอากาศ ด้วยการที่ไม่ได้ใช้ส่งข้อมูลเพื่อการอื่น ดังนั้นอุปกรณ์ตัวนี้จึงไม่เข้าข่ายสินค้าสื่อสารหมวด 5A001 (รูปที่ ๑)

แต่ด้วยการที่ระบบควบคุมดังกล่าวยังเป็นสินค้าต้นแบบ (ที่อาจขายเป็นตัวเลือกเพิ่มเติม) ยังไม่ได้มีการวางจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไป จึงไม่เข้าข่ายเป็นสินค้ายกเว้น (รูปที่ ๒)

รูปที่ ๑ โปรแกรมเข้ารหัสลับที่ใช้ป้องกันการสื่อสารระหว่าง WiFi router (ที่ติดตั้งในบ้าน) กับรีโมทควบคุมเครื่องปรับอากาศ (ตัวโปรแกรมติดตั้งอยู่ในตัวรีโมทควบคุมเครื่องปรับอากาศ) ตัวฟังก์ชันเข้ารหัสลับเป็นฟังก์ชันที่ไม่มีจำหน่ายในท้องตลาด

ใน EU List รายการ Category 5 - Telecommunications and "Information Security" แยกเป็นสองส่วน คือ Part 1 - Telecommunication และ Part 2 - Information Security ถ้าไล่ลำดับตัวเลขรายการ ใน Part 1 จะเริ่มจากรายการ 5A001 แล้วตามด้วย 5A101 ไปเรื่อย ๆ จนจบ Part 1 จากนั้นจึงเริ่มส่วน Part 2 ที่เริ่มจากรายการ 5A002

รูปที่ ๒ เนื่องจากโปรแกรมนี้มีฟังก์ชันเข้ารหัส จึงต้องได้รับการวินิจฉัยตาม Category 5 - Part 2 และด้วยการที่ไม่ได้เป็นโปรแกรมที่มีการจำหน่ายออกสู่ท้องตลาดและเป็นอุปกรณ์ต้นแบบ จึงไม่ได้รับการยกเว้น


รายละเอียดใน EU List หัวข้อ 5A002.a ที่ทางบริษัทยกมาในรูปที่ ๓ จะแตกต่างไปจากรายละเอียดใน EU List ฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๐ (ที่มีการปรับปรุงหลังการอบรม) โดยใน EU List ฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๐ นั้นไม่ได้ระบุความยาวบิตไว้ในข้อ a. แต่ไประบุไว้ใน Technical Notes ข้อ 2.a ที่ระบุความยาวคีย์ว่ามีความยาวเกิน 56 บิต (ไม่รวม parity bitsที่เป็นบิตที่ใช้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล)

หัวข้อ 5A002.a.1 ให้พิจารณาว่าฟังก์ชันเข้ารหัสลับเป็นฟังก์ชันหลักของการทำงานหรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้ไม่ใช่เพราะฟังก์ชันหลักของรีโมทควบคุมตัวนี้คือสั่งการทำงานของเครื่องปรับอากาศ (ให้เปิด-ปิดและปรับอุณหภูมิ)

แต่หัวช้อ 5A002.a.2 มันครอบคลุมมากกว่า คืออุปกรณ์ใด ๆ ที่ไม่เข้าข่ายตามข้อ 5A002.a.1 ดังนั้นรีโมทเครื่องปรับอากาศตัวนี้ แม้ว่าฟังก์ชันเข้ารหัสลับจะไม่ใช่ฟังก์ชันหลักในการทำงาน แต่มันก็ตกอยู่ในหมวด 5A002.a.2 ที่ต้องมีการพิจารณาว่าฟังก์ชันเข้ารหัสลับดังกล่าวเป็นสินค้าควบคุมหรือไม่ ซึ่งก็พบว่าเป็นสินค้าควบคุม เพราะมีความยาวบิตถึง 128 บิตซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ว่าความยาวคีย์นั้นยาวเกิน 56 บิต

เงื่อนไขเรื่องความยาวบิตนี้ ใน EU List ฉบับเก่าจะระบุไว้ที่หัวข้อ 5A002.a.1 ในส่วน Technical Notes ของหัวข้อ 5A002.a.1 แต่ใน EU List ฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๐ (ที่น่าจะเป็นฉบับล่าสุดในขณะนี้) ย้ายไประบุไว้ใน Technical Notes -ของหัวข้อ 5A002.a แทน (แถมเพิ่มเติมรายละเอียดมากขึ้นด้วย)

รูปที่ ๓ ผลการวินิจฉัยพบว่าตัวโปรแกรมนั้นเข้าข่ายสินค้าควบคุมในหมวด 5A002.a

จากตัวอย่างที่ ๔ (กรณีของโทรทัศน์) และตัวอย่างที่ ๑๐ นี้ (รีโมทควบคุมเครื่องปรับอากาศ) จะเห็นว่าการส่งข้อมูลการเข้ารหัสอาจทำได้ด้วยการใช้ฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ ในกรณีของ "ฮาร์ดแวร์" นั้น แม้ว่าจะเป็นสินค้าที่มีวางจำหน่ายทั่วไป ก็ต้องมีการพิจารณาว่าสามารถทำการ "ถอด" ฮาร์ดแวร์ตัวนั้นไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นได้หรือไม่ ในทำนองเดียวกันในกรณีของ "ซอฟต์แวร์" ที่คุณสมบัติเข้าข่ายเป็นเทคโนโลยี แต่ถ้าไปมีอยู่ในสินค้าที่วางขายทั่วไปก็ทำให้สินค้านั้นไม่เป็นสินค้าควบคุม แต่ประเด็นที่อยากจะฝากไว้ให้คิดกันก็คือ หลังจากที่ได้ทำการบรรจุตัวซอฟต์แวร์เข้าไปในชิปหน่วยความจำแล้ว จะสามารถดึงเอาซอฟต์แวร์นั้นออกมาเพื่อนำไปใช้ในงานอื่นได้หรือไม่นั้น ตรงนี้คงไม่สามารถตอบได้เพราะไม่ได้มีความรู้ทางด้านนี้ คงต้องฝากให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้เป็นผู้พิจารณา

ไม่มีความคิดเห็น: