วันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

การติดตั้งต้องคำนึงถึงการเข้าไปปฏิบัติงานด้วย MO Memoir : Sunday 18 February 2561

เมื่อผู้ติดตั้งสักแต่ว่าทำให้งานมันเสร็จ ๆ ไป แถมผู้ใช้งานก็ไม่ได้แวะเข้ามาตรวจดูการติดตั้ง อะไรต่อมิอะไรมันก็สามารถเกิดขึ้นได้
 
รูปที่เอามาให้ดูวันนี้ถ่ายเก็บเอาไว้เกือบ ๓ ปีแล้ว หน่วยนี้เข้าใจว่าเป็นถังเก็บรวบรวมไอน้ำที่ควบแน่น (steam condensate) เพื่อนำกลับไปใช้งานใหม่ (จะได้ประหยัดน้ำที่ต้องนำมาเติมชดเชย) ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าหน่วยนี้มีอยู่ในแบบตอนเริ่มต้นหรือคิดทำการติดตั้งเพิ่มเติมภายหลัง แต่ดูเหมือนว่าการติดตั้งนั้นเป็นแบบคิดรูปแบบกันเอาเองที่หน้างาน ลองพิจารณาดูรูปเอาเองก่อนก็แล้วกันนะครับ ตัวหนึ่งเป็นปั๊มใช้งานหลัก อีกตัวเป็นปั๊มสำรอง

รูปที่ ๑ ปั๊มสูบไอน้ำที่ควบแน่นจากถังเก็บเพื่อส่งกลับไปใช้งานใหม่ ดูเผิน ๆ ก็จะเห็นว่าการจัดวางอุปกรณ์นั้นวางได้อย่างสมมาตรดีนะครับ

รูปที่ ๒ เมื่อมองจากฝั่งตรงข้ามของรูปที่ ๑ ลองนึกภาพว่าถ้าต้องเข้าไปเปิดหรือปิดวาล์วในกรอบสี่เหลี่ยม คุณจะทำอย่างไร

รูปที่ ๓ การติดตั้งเกจวัดความดัน ที่ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมไม่ติดตั้งให้อ่านได้ง่าย ๆ ด้วยการพลิกออกมาด้านนี้ กลับต้องใช้การมองเฉียง ๆ จากฝั่งตรงข้าม

การติดตั้งปั๊มหอยโข่ง (centrifugal pump) เพื่อใช้สูบของเหลวที่มีอุณหภูมิที่จุดเดือดหรือใกล้จุดเดือดนั้นต้องระวังการเกิด cavitation มากกว่าปรกติ ดังนั้นเพื่อที่จะลดโอกาสเกิด cavitation ระดับท่อทางเข้าของปั๊มควรที่จะอยู่ต่ำกว่าระดับของเหลวที่ทำการสูบ และจะดียิ่งขึ้นถ้าท่อด้านขาเข้านั้นมีค่าความดันลด (pressure drop) ต่ำด้วย
 
การเริ่มเดินเครื่องปั๊มหอยโข่งนั้น สมมุติว่าเริ่มจากสภาพที่วาล์วทุกตัวปิดอยู่ ก็จะทำการเปิดวาล์วด้านขาเข้าเพื่อทำการเติมของเหลวให้เต็มตัวปั๊ม ถ้าหากมีเส้นทาง minimum flow line (หรือ kick back line) ก็ให้เปิดวาล์วเส้นทางนั้น จากนั้นจึงเริ่มเดินเครื่องปั๊ม (จ่ายไฟเข้ามอเตอร์) แล้วจึงเปิดวาล์วด้านขาออก ส่วนการหยุดเดินเครื่องนั้นเราก็เริ่มจากปิดปั๊ม (ตัดการจ่ายไฟเข้ามอเตอร์) ปิดวาล์วด้านขาออกและปิดวาล์วด้านขาเข้า
 
จากรูปที่ ๑ และ ๒ คงมองเห็นได้ชัดนะครับ ถ้าคุณต้องเข้าไปเริ่มเดินเครื่องปั๊มดังกล่าว คุณมีที่ยืนหรือไม่สำหรับการเปิดและปิดวาล์ว ย้ำนิดนึงนะครับว่าท่อที่เห็นนั้นเป็นท่อร้อน คุณไม่สามารถยืนบนชั้นฉนวนความร้อนได้ และท่อก็ไม่ได้หุ้มฉนวนความร้อนเอาไว้ทุกส่วน นอกจากนี้ลองพิจารณาดูรูปที่ ๓ นะครับที่ตัดมาเฉพาะส่วนเกจวัดความดัน ติดตั้งแบบนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า
 
รูปที่ ๔ เป็นภาพมุมมองจากทางด้านบน รูปซ้ายนั้นเป็นรูปแบบที่เป็นอย่างตามรูปที่ ๑ และ ๒ ส่วนรูปขวานั้นเป็นรูปแบบที่ผมเห็นว่ามันเหมาะสมมากกว่า เพราะทำให้มีช่องว่างระหว่างปั๊มสองตัว ทำให้สะดวกกว่าที่จะเข้าไปทำงานกับวาล์วของปั๊มตัวที่อยู่ด้านใน

รูปที่ ๔ ภาพเมื่อมองจากด้านบน รูปซ้ายเป็นรูปแบบที่เป็นอยู่ ส่วนรูปขวาน่าจะเหมาะสมกว่าเพราะสะดวกในการเข้าไปทำงานกับวาล์วและยังลดโอกาสเกิด cavitation ด้วย
 
ในการสร้างโรงงานนั้น ผู้ออกแบบมักจะไม่ใช่ผู้ก่อสร้าง และผู้ก่อสร้างและควบคุมการก่อสร้างก็มักจะไม่ผู้ที่ต้องเข้ามาเดินเครื่อง และผู้ที่ต้องทำหน้าที่เดินเครื่องนั้นก็มักจะไม่ได้เป็นผู้ออกแบบ แต่สิ่งสำคัญสิ่งแรกก็คือผู้ออกแบบจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับการทำงานของเครื่องจักรว่า ในขั้นตอนการติดตั้ง การเริ่มเดินเครื่อง การหยุดเดินเครื่อง และการซ่อมบำรุงนั้น ต้องมีการปฏิบัติงานอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้ทำการติดตั้งท่อระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่จำเป็น (อาจต้องคำนึงถึงระบบระบายน้ำทิ้งด้วย) และเว้นพื้นที่ทำงาน (ทั้งสำหรับผู้เข้าไปทำงานและอุปกรณ์ช่วยยก) แต่ทั้งนี้ในระหว่างการก่อสร้างเอง ตัวผู้ที่ต้องเดินเครื่องเองก็ควรที่จะหาโอกาสเข้าไปตรวจสอบการติดตั้งอุปกรณ์ (เช่นพวกวาวล์ต่าง ๆ) ว่าอยู่ในตำแหน่งที่เข้าไปทำงานได้หรือไม่ เพราะการแก้ไขในขณะที่กำลังก่อสร้างอยู่นั้นมันง่ายกว่าหลังจากที่โรงงานสร้างเสร็จและพร้อมจะเดินเครื่องแล้ว
 
แต่สำหรับโรงงานที่เริ่มจากศูนย์ (คือไม่มีผู้มีประสบการณ์ช่วยกำกับดูแล) เรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจอยู่เหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น: