วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559

ทำความรู้จัก Fired process heater (ตอนที่ ๑) MO Memoir : Friday 29 January 2559

อุปกรณ์นี้ในวงการบางทีเขาก็เรียกว่า Heater บ้างก็เรียกว่า Furnace เรียกยาวขึ้นมาหน่อยก็คือ Fired heater แต่พอเอาคำเหล่านี้ไปค้นหารูปภาพใน google ปรากฏว่าภาพเกือบทั้งหมดที่มันค้นเจอมันไม่ใช่สิ่งที่ต้องการจะกล่าวถึงในวันนี้ ต้องใช้คำว่า "Fired process heater" จึงได้ในสิ่งที่ต้องการ

Fired process heater ในที่นี้เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เพิ่มอุณหภูมิให้กับของไหล (ซึ่งอาจเป็นของเหลวหรือแก๊ส) โดยให้ของไหลนั้นไหลอยู่ในท่อ และมีเปลวไฟให้ความร้อนอยู่ภายนอกท่อนั้น ซึ่งต่อไปจะขอเรียกสั้น ๆ ว่า Fired heater 
  
ของไหลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้มากที่สุดเห็นจะได้แก่ "ไอน้ำ" ที่มีการนำเอาไออิ่มตัว (saturated steam คือไอน้ำที่มีอุณหภูมิเดียวกับจุดเดือดของน้ำที่ความดันที่ทำการต้มน้ำนั้น) มาให้ความร้อนต่อเพื่อให้กลายเป็นไอร้อนยิ่งยวดหรือไอดง (superheated steam คือไอน้ำที่มีอุณหภูมิสูงกว่าจุดเดือดของน้ำ) เพื่อใช้สำหรับส่งไปตามระบบท่อหรือนำไปขับเคลื่อนกังหันไอน้ำ
 
กระบวนการผลิตจำนวนไม่น้อยในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีต้องมีการเพิ่มอุณหภูมิให้กับของไหลเพื่อให้ของไหลนั้นมีอุณหภูมิสูงพอที่จะเกิดปฏิกิริยา เช่นการทำให้โมเลกุลไฮโดรคาร์บอนหรือสารอินทรีย์แตกตัวเป็นโมเลกุลที่เล็กลง (เพื่อลดความหนืด หรือการผลิตโอเลฟินส์จากไฮโดรคาร์บอน) หรือในปฏิกิริยา steam reforming ที่ใช้ในการผลิตแก๊สไฮโดรเจนจากมีเทน ในกระบวนการเหล่านี้ทำการเพิ่มอุณหภูมิของสารตั้งต้นด้วยการใช้ Fired heater
 
Memoir ฉบับนี้เป็นการแนะนำให้รู้จักกับพัฒนาการของ Process fired heater โดยนำข้อมูลมาจากเอกสารการฝึกอบรมเมื่อประมาณ ๓๐ ปีที่แล้ว แม้ว่าอายุของเอกสารห่างจากช่วงเวลาปัจจุบันมาก แต่ก็เชื่อว่ายังสามารถใช้เพื่อปูพื้นความรู้ให้กับวิศวกรจบใหม่หรือยังไม่มีประสบการณ์ได้

ในหลักสูตรวิศวกรรมเคมีนั้น การออกแบบอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน (heat exchanger) ต่าง ๆ มักจะเกี่ยวข้องกับการถ่ายเทความร้อนด้วยการนำความร้อน (conduction) และการพาความร้อน (convection) เป็นหลัก จะมีพิเศษก็ตรง Fired heater ตัวนี้นี่แหละที่เกี่ยวข้องกับการแผ่รังสีความร้อน (radiation)
 
ก่อนอื่นของทบทวนความรู้เกี่ยวกับการแผ่รังสีความร้อนกันเล็กน้อย ในช่วงอุณหภูมิต่ำนั้น (เช่นระดับไม่กี่ร้อยองศาเซลเซียส) ปริมาณความร้อนที่ถ่ายทอดกันระหว่างวัตถุด้วยกลไกการแผ่รังสีความร้อนนั้นเรียกได้ว่า "ไม่มีนัยสำคัญ" แต่การทำให้ของไหลในกระบวนการมีอุณหภูมิขึ้นไปถึงระดับใกล้ 1000ºC หรือมากกว่านั้น เราจำเป็นต้องมีแหล่งให้พลังงานความร้อนที่มีอุณหภูมิที่สูงกว่า แหล่งให้ความร้อนดังกล่าวที่มักจะใช้กันก็คือ "เปลวไฟ" และการถ่ายเทความร้อนจากเปลวไฟไปยังวัตถุที่อยู่รอบ ๆ จะผ่านทางกระบวนการหลัก ๒ กระบวนการคือ การแผ่รังสีความร้อนจากเปลวไฟ และการพาความร้อนด้วยแก๊สร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดเปลวไฟ
 
พลังงานจากการแผ่รังสีความร้อนนั้นจะแปรผันตามอุณหภูมิยกกำลัง "4" ดังนั้นสำหรับเปลวไฟที่มีอุณหภูมิสูง การส่งผ่านพลังงานด้วยการแผ่รังสีความร้อนนั้นจะโดดเด่นกว่าการพาความร้อนอยู่มาก รูปที่ ๑ ในหน้าถัดไปแสดงพลังงานของรังสีความยาวคลื่นต่าง ๆ ที่แผ่ออกมาจากวัตถุดำที่มีอุณหภูมิในช่วง 1000-2000ºC จะเห็นว่าเมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น พลังงานการแผ่รังสีความร้อนในช่วงคลื่นอินฟราเรดจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่พลังงานการแผ่รังสีในช่วงแสงที่ตา มองเห็นและอัลตร้าไวโอเล็ตนั้นไม่ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างโดดเด่นตามไปด้วย
 


การส่งผ่านพลังงานความร้อนด้วยการแผ่รังสีความร้อนนั้นแตกต่างไปจากการพาความร้อนตรงที่ แหล่งที่จะรับพลังงานความร้อนจากการแผ่รังสีความร้อนได้นั้นจะต้อง "มองเห็น" แหล่งให้พลังงานความร้อน เพราะรังสีอินฟราเรด (ที่เป็นตัวให้พลังงานความร้อน) นั้นมันเดินทางเป็นเส้นตรง ดังนั้นพื้นผิวใด ๆ ที่มองเห็นแหล่งให้พลังงานความร้อนก็จะรับพลังงานความร้อนจากการแผ่รังสีได้ ในขณะที่พื้นผิวที่มองไม่เห็นแหล่งกำเนิดรังสีความร้อนจะไม่สามารถรับความร้อนจากการแผ่รังสีความร้อนของแหล่งกำเนิดความร้อนหลักได้โดยตรง แต่อาจได้รับการแผ่รังสีความร้อนจากพื้นผิวอื่นที่ดูดซับรังสีความร้อนจากแหล่งกำเนิดความร้อนหลักเอาไว้ แล้วแผ่ออกมาอีกที (รูปที่ ๒)

รูปที่ ๒ พื้นผิวท่อในช่วงมุมมองของลูกศรสีน้ำเงินจะรับรังสีความร้อนจากแหล่งกำเนิดรังสีความร้อนโดยตรง ส่วนพื้นผิวท่อที่มองไม่เห็นแหล่งกำเนิดรังสีความร้อนนั้น จะสามารถรับรังสีความร้อนที่ผนังเตาด้านหลังแผ่ออกมา โดยผนังเตาด้านหลังนี้จะดูดซับรังสีความร้อนจากแหล่งกำเนิดรังสีความร้อนเอาไว้ และเปล่งรังสีความร้อนออกมาอีกที แต่เนื่องจากผนังเตามีอุณหภูมิต่ำกว่าแหล่งกำเนิดรังสีความร้อน ดังนั้นพลังงานรังสีความร้อนที่ผนังเตาเปล่งออกมาจึงมีระดับที่ต่ำกว่าพลังงานรังสีความร้อนที่เปล่งออกมาจากแหล่งกำเนิดรังสีความร้อน ทำให้ผิวท่อด้านหลังนั้นมีอุณหภูมิต่ำกว่าผิวท่อด้านหน้า

สิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาในการออกแบบรูปแบบการวางท่อคือเฟสของของไหลที่ไหลอยู่ในท่อว่าเป็นของเหลว แก๊ส และมีการเปลี่ยนเฟสจากของเหลวไปเป็นแก๊สด้วยหรือไม่ เฟสของของไหลจะเป็นตัวกำหนดวิธีการเลือกรูปแบบการวางท่อว่าจะวางในแนวราบ (พอถึงปลายด้านหนึ่งก็ใช้ข้องอเพื่อไหลเข้าสู่ท่อที่อยู่ในระดับความสูงเหนือขึ้นไป หรือเป็นแบบขดท่อ) หรือวางในแนวดิ่ง (พอไหลลง (หรือขึ้น) ถึงปลายท่อด้านหนึ่งก็จะเข้าสู่ข้องอเพื่อให้ไหลวกกลับขึ้น (หรือลง) ในท่ออีกท่อหนึ่งที่อยู่เคียงข้าง (รูปที่ ๓)
 
ในกรณีของของเหลวนั้น การไหลในท่อแนวราบ (ที่ค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้น) จะเหมาะสมกว่า (ตรงนี้ลองพิจารณาในแง่การเติมของเหลวให้เต็มท่อ โดยเริ่มจากท่อเปล่าที่มีแก๊สอยู่ข้างไหน แล้วเราต้องการเติมของเหลวให้เต็มท่อโดยไม่ให้มีแก๊สเหลือตกค้างในท่อ การเติมของเหลวเข้าทางด้านล่างขึ้นบนในทิศทางเดียวจะไล่แก๊สออกทางด้านบน) แต่การวางท่อยาวในแนวราบนั้นจะมีปัญหาตรงที่ต้องมีจุดรองรับท่อหลายตำแหน่งตลอดความยาวท่อ และเมื่อท่อโลหะร้อนจะเกิดการขยายตัว ทำให้เกิดการตกท้องช้าง (sagging) ตรงบริเวณระหว่างจุดรองรับสองตำแหน่งได้ ซึ่งปัญหาเรื่องการตกท้องช้างนี้จะไม่เกิดขึ้นกับการวางท่อในแนวดิ่ง (คือจับท่อด้านบนเอาไว้แล้วปล่อยให้ขยายตัวอย่างอิสระลงล่างได้ หรือจับยึดปลายท่อด้านล่างแล้วปล่อยให้ขยายตัวขึ้นด้านบน) แต่การป้อนของเหลวให้ไหลในท่อแบบนี้จะมีปัญหาเรื่องการเติมของเหลวให้เต็มท่อ


รูปที่ ๓ (ซ้าย) การวางท่อในแนวนอน ของเหลวจะไหลจากล่างขึ้นบนได้ง่าย (ไหลเต็มท่อ) แต่จะมีปัญหาเรื่องท่อตกท้องช้างเมื่อขยายตัว (ขวา) การวางท่อในแนวดิ่งจะไม่มีปัญหาเรื่องท่อตกท้องช้าง เพราะปล่อยให้ท่อยืดตัวอย่างอิสระลงล่างได้ แต่จะยากกว่าในการไล่แก๊สที่ค้างอยู่ในท่อออกให้หมด โดยเฉพาะเมื่อของเหลวไหลจากบนลงล่างและตรงตำแหน่งสูงสุดด้านบนของข้องอ

ส่วนการเปลี่ยนเฟสนั้นก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องการระบายความร้อนของผนังท่อ ของเหลวนั้นรับความร้อนได้ดีกว่าแก๊ส ดังนั้นเมื่อให้ความร้อนเท่ากัน ผิวโลหะของท่อส่วนที่มีของเหลวไหลผ่านจะไม่ร้อนจัดมากเหมือนผิวโลหะของท่อส่วนที่เป็นแก๊สไหลผ่าน ดังนั้นถ้าออกแบบให้ท่อส่วนใดรับความร้อนโดยมีของเหลวไหลอยู่ข้างใน ก็ต้องระวังไม่ให้ท่อส่วนนั้นรับความร้อนโดยมีแก๊สไหลอยู่ข้างใน (เช่นของเหลวเกิดการเดือดกลายเป็นไอก่อนไหลมาถึงท่อส่วนนั้น)
 
รูปที่ ๔ เป็น Fired heater ชนิด Helical heater โครงสร้างของ Fired heater ชนิดนี้ถ้ามองจากด้านบนจะเห็นเป็นวงกลมโดยมีขดท่ออยู่ใกล้กับผนังด้านในขดจากล่างขึ้นบนและมีหัวเตา (burner) จุดเปลวไฟอยู่ตรงกลาง ข้อดีของ Fired heater รูปแบบนี้คือมีโครงสร้างที่เรียบง่าย ราคาถูก แต่มีประสิทธิภาพต่ำ เหมาะสมสำหรับงานที่ทำเป็นครั้งคราวโดยไม่ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการเดินเครื่องเท่าใดนัก และเนื่องจากไม่สามารถทำความสะอาดภายในท่อได้ จึงเหมาะสมสำหรับกระบวนการที่สะอาดเท่านั้น (กล่าวคือของไหลนั้นไม่สกปรก หรือไม่ทำให้เกิดคราบสกปรกจากปฏิกิริยาข้างเคียงที่เกิดขึ้น)
 
รูปที่ ๕ เป็นชนิด Vertical cylindrical heater Fired heater ชนิดนี้คล้ายคลึงกับ Helical heater ในรูปที่ ๔ แต่สามารถสร้างให้ใหญ่กว่าได้ เหมาะสำหรับการเดินเครื่องทำงานเป็นครั้งคราว รูปแบบที่แสดงในรูปวางท่อตั้งในแนวดิ่งและไม่มีท่อรับความร้อนในส่วน convection (คือท่อที่อยู่ทางด้านปล่องระบายแก๊สร้อนออก เพื่อดึงความร้อนออกจากจากแก๊สร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน)
 
รูปที่ ๖ เป็น Fired heater ชนิด Vertical cylindrical heater with convection ที่มีการวางท่อในแนวดิ่งในทำนองเดียวกับรูปที่ ๕ แต่มีส่วนรับความร้อนจากแก๊สร้อน (ส่วน convection) เพิ่มเติมเข้ามา ทำให้ประสิทธิภาพการใช้พลังงานดีขึ้น ท่อในส่วน convection นั้น ท่อสองแถวล่างสุดจะเป็นส่วนที่มองเห็นเปลวไฟ ดังนั้นท่อส่วนนี้จะได้รับความร้อนจากการแผ่รังสีความร้อนด้วย (เรียกว่า "shock tube") เป็นท่อผิวนอกเรียบไม่มีครีบ ส่วนท่อที่อยู่เหนือขึ้นไปนั้นจะได้รับความร้อนจากแก๊สร้อนที่ไหลผ่านเพียงอย่างเดียว สามารถใช้ท่อที่ผิวนอกมีครีบได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดึงความร้อนออกจากแก๊สร้อนที่ไหลผ่านภายนอกท่อ
 
Fired heater ในรูปที่ ๕ และ ๖ นั้นสามารถมีท่อรับของเหลวเข้าได้มากกว่า ๑ เส้นทาง (เรียกว่า pass) ดังเช่นในรูปที่ ๕ นั้นเป็นชนิด 2 pass (ส่วนหนึ่งเข้าทางซ้ายอีกส่วนหนึ่งเข้าทางขวา) ส่วนในรูปที่ ๖ นั้นเป็นชนิด 4 pass คือมีท่อที่เข้าที่ตำแหน่ง ๓ นาฬิกาจำนวน ๒ ท่อ โดยไหลออกที่ตำแหน่ง ๑๒ นาฬิกา ๑ ท่อและ ๖ นาฬิกา ๑ ท่อ ท่อทางเข้าอีกสองท่ออยู่ที่ตำแหน่ง ๑๒ นาฬิกาและไหลออกที่ตำแหน่ง ๑๒ นาฬิกา ๑ ท่อและ ๖ นาฬิกา ๑ ท่อเช่นกัน

รูปที่ ๔ Helical heater ในรูปนี้ process fluid จะเข้าทางด้านล่างเข้าสู่ขดท่อ (ที่ขดเป็นวงแบบขดสปริงไปรอบ ๆ ผนังด้านในและไหลออกทางด้านบน เปลวไฟจะอยู่ทางด้านล่าง (พร้อมช่องให้อากาศเข้า) โดยมี damper (บานปิด-เปิด) ทำหน้าที่ควบคุมปริมาณอากาศที่ไหลเข้า-ออก
 
รูปที่ ๗ เป็น Fired heater ชนิด Cabin heater Fired heater ชนิดนี้ถ้ามองจากทางด้านบนจะเห็นพื้นที่หน้าตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าโดยมีหัวเตาวางเรียงอยู่ตรงกลางที่พื้น รูปแบบที่แสดงในรูปนั้นวางท่อในแนวนอนซึ่งเหมาะสำหรับกรณีที่ของไหลนั้นมีการเปลี่ยนเฟส (กล่าวคือมีการเดือดและเปลี่ยนเฟสจากของเหลวกลายเป็นไอ) โดยทั่วไปนั้นบริเวณใกล้เปลวไฟซึ่งเป็นส่วนที่รับความร้อนจากการแผ่รังสีความร้อน จะมีอุณหภูมิสูงกว่าในส่วน convection ดังนั้นของเหลวที่ป้อนเข้ามาจึงสามารถป้อนเข้าทางด้านบนเพื่อรับความร้อนที่ส่วน convection ให้มีอุณหภูมิสูงขึ้นก่อน จากนั้นจึงค่อยเข้าสู่ส่วน radiation (รับความร้อนจากการแผ่รังสี) ที่อยู่ทางด้านล่างเพื่อรับความร้อนเพิ่มขึ้นไปอีกจนเกิดการเปลี่ยนเฟสหรือเกิดปฏิกิริยาเคมี ในรูปที่นำมาแสดงนั้นของเหลวไหลเข้าทางด้านบนและไหลออกทางด้านล่าง (ถ้าเป็นแก๊ส จะไหลขึ้นหรือไหลลงก็ไม่แตกต่างกัน)
 
พลังงานความร้อนที่ได้รับจากการแผ่รังสีความร้อนนั้นยังขึ้นอยู่กับระยะทางจากแหล่งกำเนิดรังสีความร้อนด้วย ในกรณีของ Fired heater ทั้ง ๔ แบบที่ยกตัวอย่างมานี้มีหัวเตาอยู่ที่ระดับพื้น ดังนั้นส่วนของท่อที่อยู่ใกล้กับระดับพื้น (คืออยู่ใกล้กับเปลวไฟมากกว่า) จะได้รับพลังงานความร้อนจากการแผ่รังสีสูงกว่าส่วนของท่อที่อยู่เหนือขึ้นไป แต่ในการทำงานนั้นต้องระวังไม่ให้เปลวไฟนั้นลนไปบนผิวท่อโดยตรงเพราะจะทำให้ท่อเกิดความเสียหายได้ (ตรงที่โดนไฟลนจะร้อนจัดเป็นพิเศษ)
 
การใช้งานโลหะที่อุณหภูมิสูงนั้นต้องระวังเรื่องไม่ให้อุณหภูมิใช้งานนั้นสูงเกินกว่าอุณหภูมิสูงสุดที่โลหะชนิดทนได้ เพราะถ้าโลหะนั้นมีอุณหภูมิสูงเกินกว่าอุณหภูมิที่มันทนได้เมื่อใด และแม้ว่าอุณหภูมิจะลดต่ำลงแล้ว แต่เนื้อโลหะจะเกิดการเปลี่ยนแปลง (ในทิศทางที่ไม่ดีขึ้น) อย่างถาวร ทำนองเดียวกับเวลาเชื่อมโลหะด้วยไฟฟ้าที่ทำให้เนื้อโลหะเกิดการหลอมเหลว และเมื่อโลหะที่หลอมเหลวตรงรอยเชื่อมนั้นเย็นตัวลงจนแข็งตัวใหม่ เนื้อโลหะตรงนั้นจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างไปจากเนื้อโลหะเดิมโดยมีความแข็งแรงลดลง
 
ในกรณีของการเกิดปฏิกิริยาขึ้นในท่อที่ทำให้เกิดคราบสกปรกเกาะสะสมในท่อได้ เช่นปฏิกิริยา cracking ของไฮโดรคาร์บอนที่มักจะเกิด coke (สารประกอบคาร์บอนที่เป็นของแข็ง) ร่วมด้วยเสมอ coke นี้จะเกาะบนผิวท่อทำให้การถ่ายเทความร้อนจากผนังท่อที่ร้อนไปยังของไหลที่ไหลอยู่ในท่อนั้นลดลง (ถ้าเกิดสะสมมากอาจจะทำให้ผนังท่อร้อนจัดเกินไปได้) ในการนี้ต้องคำนึงถึงตำแหน่งที่จะยอมให้เกิดปฏิกิริยาได้ กล่าวคือต้องเป็นส่วนของท่อที่สามารถให้ความร้อนจนมีอุณหภูมิสูงพอที่จะเผาไล่ coke ที่เกิดขึ้นได้ (คือส่วนที่รับความร้อนจากการแผ่รังสี และเผาไล่ได้ด้วยการเติมออกซิเจนเข้าไปในระบบ)

มาถึงตอนนี้ก็หวังว่าผู้อ่านคงจะพอมองเห็นภาพ Fired process heater กันบ้างแล้ว

รูปที่ ๕ Vertical cylindrical heater

รูปที่ ๖ Vertical cylindrical heater with convection

รูปที่ ๗ Cabin heater

วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๗ (ตอนที่ ๒๖) MO Memoir 2559 Jan 26 Tue


Memoir ฉบับนี้เป็นบันทึกโครมาโทแกรมของการทดสอบปฏิกิริยา SCR (Selective catalytic reduction) ของ NO และปฏิกิริยา NH3 oxidation ของ TiO2 (P-25) ตัวเร่งปฏิกิริยา MoO3/TiO2 และตัวเร่งปฏิกิริยา 3V6W/TiO2 ที่ได้ทำการทดลองไปในช่วงวันจันทร์ที่ ๑๘ - วันศุกร์ที่ ๒๒ มกราคมของสัปดาห์ที่แล้ว โดยผมเข้าไปบันทึกข้อมูลเอาไว้ในช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๔ ที่ผ่านมา ที่นำมารวบรวมเอาไว้ก็เพื่อให้สมาชิกของกลุ่มได้เห็นผลการทดลองของเพื่อนร่วมงานว่าผลออกมาเป็นอย่างไรกันบ้าง

เริ่มจากรูปที่ ๑ ที่เป็นภาพรวมของปฏิกิริยา NH3 oxidation ของตัวเร่งปฏิกิริยา 3V6W/TiO2 ที่ทำการทดลองในวันศุกร์ที่ ๒๒ ตามด้วยผลการทดสอบความว่องไวในการทำปฏิกิริยาของ NH3 oxidation และ SCR ของ TiO2 (P-25) ในรูปที่ ๒-๕ ที่ทำการทดลองในช่วงวันที่ ๑๙-๒๑ และผลการทดสอบความว่องไวในการทำปฏิกิริยาของ NH3 oxidation และ SCR ของตัวเร่งปฏิกิริยา MoO3/TiO2 ในรูปที่ ๖-๑๓ ที่ทำการทดลองในช่วงวันที่ ๑๘-๑๙ โดยในกรณีของตัวเร่งปฏิกิริยา MoO3/TiO2 นั้นมีการทดสอบปฏิกิริยา SCR สองครั้งโดยไม่มีการเปลี่ยนตัวเร่งปฏิกิริยา ทั้งนี้เพื่อทดสอบเสถียรภาพของตัวเร่งปฏิกิริยาหลังผ่านการใช้งานแล้วครั้งหนึ่ง


รูปที่ ๑ ปฏิกิริยา NH3 oxidation ของตัวเร่งปฏิกิริยา 3V6W/TiO2
 
รูปที่ ๒ ปฏิกิริยา NH3 oxidation ของ TiO2 (P-25)


รูปที่ ๓ ภาพรวมปฏิกิริยา SCR ของ TiO2 (P-25)


รูปที่ ๔ ปฏิกิริยา SCR ของ TiO2 (P-25) ในช่วงอุณหภูมิ 120-250ºC (เปรียบเทียบผลการวัดซ้ำ)


รูปที่ ๕ ปฏิกิริยา SCR ของ TiO2 (P-25) ในช่วงอุณหภูมิ 300-450ºC (เปรียบเทียบผลการวัดซ้ำ)


รูปที่ ๖ ภาพรวมปฏิกิริยา SCR ของ MoO3/TiO2 (การทดลองรอบที่ ๑)
รูปที่ ๗ ปฏิกิริยา SCR ของ MoO3/TiO2 ในช่วงอุณหภูมิห้องถึง 150ºC (เปรียบเทียบผลการวัดซ้ำของการทดลองรอบที่ ๑)


รูปที่ ๘ ปฏิกิริยา SCR ของ MoO3/TiO2 ในช่วงอุณหภูมิ 200-300ºC (เปรียบเทียบผลการวัดซ้ำของการทดลองรอบที่ ๑)


รูปที่ ๙ ปฏิกิริยา SCR ของ MoO3/TiO2 ในช่วงอุณหภูมิ 350-450ºC (เปรียบเทียบผลการวัดซ้ำของการทดลองรอบที่ ๑)


รูปที่ ๑๐ ภาพรวมปฏิกิริยา SCR ของ MoO3/TiO2 (การทดลองรอบที่ ๒)


รูปที่ ๑๑ ปฏิกิริยา SCR ของ MoO3/TiO2 ในช่วงอุณหภูมิห้องถึง 150ºC (เปรียบเทียบผลการวัดซ้ำของการทดลองรอบที่ ๒)


รูปที่ ๑๒ ปฏิกิริยา SCR ของ MoO3/TiO2 ในช่วงอุณหภูมิ 200-300ºC (เปรียบเทียบผลการวัดซ้ำของการทดลองรอบที่ ๒)


รูปที่ ๑๓ ปฏิกิริยา SCR ของ MoO3/TiO2 ในช่วงอุณหภูมิ 350-450ºC (เปรียบเทียบผลการวัดซ้ำของการทดลองรอบที่ ๒)


รูปที่ ๑๔ ปฏิกิริยา NH3 oxidation ของตัวเร่งปฏิกิริยา MoO3/TiO2 

วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๗ (ตอนที่ ๒๕) MO Memoir 2559 Jan 25 Mon

เอกสารฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน ไม่นำเนื้อหาลง blog 

เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้เป็นเอกสารประกอบการประชุมเมื่อวันพุธที่ ๒๐ มกราคม ที่ผ่านมา


วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2559

แนวทางห้วข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๗ (ตอนที่ ๒๔) MO Memoir 2559 Jan 22 Fri

เอกสารฉบับนี้แจกจ่ายเป็นการภายใน เนื้อหาไม่นำลง blog
เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้เกี่ยวกับการเคลือบ TiO2 ลงบนพื้นผิวโมโนลิท



ปิดท้ายด้วยรูป "พระพุทธรูปสวมลองจอห์น" ซะหน่อย เช้าวันวานตอนขับรถมาทำงานเห็นตั้งอยู่ริมถนนบำรุงเมืองย่านเสาชิงช้า ได้จังหวะรถติดพอดีก็เลยถ่ายรูปเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึก คงเดากันได้นะครับว่าพระพุทธรูปทรงนี้เป็นของวัดไหน


วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559

เมื่อฆราวาสเข้าไปยุ่งกิจของสงฆ์ (คิดสักนิดก่อนกด Share เรื่องที่ ๗) MO Memoir 2559 Jan 20 Wed

เห็นช่วงนี้เห็นมีกระแสแปลก ๆ เกี่ยวกับเรื่องทางศาสนาพุทธกด share กันทาง facebook แต่ที่ทำให้ผมติดใจมันมีอยู่ ๓ เรื่องที่ทางกลุ่มที่อ้างว่าตนเองเป็นผู้พิทักษ์ศาสนาพุทธนั้นออกมากล่าวอ้าง เรื่องแรกคือเรื่องที่เขาอ้างว่า "พระพุทธเจ้า" ทรงบัญญัติไว้ว่าไม่ให้พระสงฆ์ฝ่าย "มหานิกาย" มายุ่งเรื่องการปกครองของพระสงฆ์ฝ่าย "ธรรมยุติ" และไม่ให้พระสงฆ์ฝ่าย "ธรรมยุติ" มายุ่งเรื่องการปกครองของฝ่าย "มหานิกาย"
 
ที่ผมแปลกใจก็ตรงที่เขาอ้างว่าเป็นข้อบัญญัติของ "พระพุทธเจ้า" เพราะจะว่าไปแล้วการที่ศาสนาใดศาสนาหนึ่งนั้นแตกออกเป็นนิกายต่าง ๆ เป็นเพราะตีความคำสอนขององค์ศาสดานั้นแตกต่างกันออกไป และเรื่องเหล่านี้มันก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังการตายขององค์ศาสดาทั้งนั้น ทำให้ไม่มีคนชี้ขาดว่าอันไหนถูก อันไหนผิด และจะว่าไปแล้วประวัติของพระภิกษุสาย "ธรรมยุติ" ของประเทศไทยมันก็เริ่มจากตอนที่รัชกาลที่ ๔ สมัยที่ท่านยังทรงผนวกอยู่ ไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่


รูปที่ ๑ หนังสือ (ซ้าย) พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. ๒๕๔๖ และ (ขวา) พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ โดยเจ้าพระยาทิพกรวงศมหาโกษาธิบดี ทั้งสองเล่มเป็นหนังสือที่กรมศิลปากรจัดพิมพ์ ฉบับพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. ๒๕๔๗

เรื่องที่สองคือตรงที่มีการอ้างว่า "ปัญหาของวงการสงฆ์ต้องให้วงการสงฆ์แก้ไขกันเอง ฆราวาสไม่มีสิทธิ์เข้าไปยุ่งเกี่ยว และมันก็เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว" ซึ่งประเด็นนี้ผมก็เห็นว่าไม่น่าจะจริง
 
ผมลองค้นดูในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ (รูปที่ ๑) ที่มีอยู่ (ซื้อเก็บเอาไว้จากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ) ก็พบว่ามีบันทึกว่าในสมัยรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ นั้นก็มีการดำเนินการกับพระสงฆ์ที่ประพฤติมิชอบ (รูปที่ ๒ และ ๓ ข้างล่าง) ถึงขึ้นจำคุกและจับสึกหลายร้อยราย และปัญหาเรื่องนี้ก็ยังคงมีต่อเนื่องมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ จนทำให้ในช่วงที่ท่านทรงผนวกอยู่นั้นเกิดเป็นพระภิกษุสายธรรมยุติขึ้นมา


รูปที่ ๒ จากหน้า ๑๑๖ ของหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ แสดงให้เห็นถึงปัญหาของวงการสงฆ์ที่มีการลงโทษจนถึงขั้นจำคุก และทำให้ต้องมีการกวดขันเข้มงวดและชำระวงการ

ในฐานะชาวพุทธคนหนึ่งผมไม่ได้เลือกเคารพพระภิกษุสงฆ์ด้วยการยึดหลักว่าท่านเป็นภิกษุสาย "มหานิกาย" หรือสาย "ธรรมยุติ" แต่เลือกเคารพโดยพิจารณาจากการกระทำของท่านเป็นหลัก และผมก็เห็นว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยก็เป็นเช่นนี้ ที่น่าแปลกก็คือในขณะนี้มีความพยายามที่จะสร้างความแตกแยกโดยอ้างว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนั้นเกิดจากการที่พระสงฆ์ในนิกายหนึ่งนั้นต้องการดำรงตำแหน่งผู้ปกครองสูงสุดนั้นเอง และมีการสร้างเรื่องนำนิกายนั้นไปอิงกับสถาบันอื่นมั่วไปหมด (คือเหมือนกับว่ามีความพยายามที่จะเบี่ยงประเด็นที่เป็นปัญหาเพื่อให้สังคมเข้าใจผิด)

ที่เขียนเรื่องนี้มาก็ไม่มีอะไรนอกจากต้องการสื่อว่าก่อนที่จะกด like หรือ share ข้อความใด ๆ บน facebook นั้น ควรจะต้องมีการใช้สติไตร่ตรองข้อความเหล่านั้น และถ้าทำได้ก็ควรสอบข้อเท็จจริงก่อนด้วย ก็แค่นั้นเองครับ

รูปที่ ๓ จากหน้า ๑๑๑ ของหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ กล่าวถึง (ผมว่าพอจะเรียกได้ว่าเป็น) การล้างบางวงการสงฆ์ทั่วประเทศ เพราะมีการจับพระสึกไปกว่า ๕๐๐ (ไม่รวมที่หลบหนี) ขนาดพระราชาคณะก็โดนกันไปหลายรูปด้วย

ฝากทิ้งท้ายด้วยรูปบรรยากาศการทำการทดลองในเช้าวันนี้ครับ 
:) :) :)