วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2558

ทางแยกลงแควน้อยที่ท่ากิเลนและลุ่มสุ่ม (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๙๐) MO Memoir : Thursday 5 March 2558

บ่อยครั้งที่สิ่งที่ปรากฏอยู่ในแผนที่เก่า บ่งบอกถึงสิ่งที่เคยมีในอดีตที่ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในเอกสารไหนอีกหรือเปล่า

หลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นสร้างเส้นทางรถไฟจากสถานีหนองปลาดุกเชื่อมเข้ากับเส้นทางรถไฟในประเทศพม่าได้สำเร็จ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ทำให้มีเส้นทางรถไฟจากท่าเรือคลองเตย ผ่านกรุงเทพ เข้าสู่ประเทศพม่าได้ และเส้นทางนี้ก็ได้กลายเป็นเป้าหมายการโจมตีทางอากาศของทางฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อตัดการส่งกำลังบำรุงของกองทัพญี่ปุ่นที่รบกับอังกฤษอยู่ในพม่า โดยจุดที่เป็นเป้าหมายสำคัญในการตัดเส้นทางลำเลียงสายนี้คือสะพานพระราม ๖ ที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและสะพานที่ข้ามแม่น้ำแควน้อย
 
เหตุผลที่ต้องทำลายสะพานพระราม ๖ ด้วยคิดว่าก็คงเป็นเพราะในขณะนั้นท่าเรือที่เรือเดินทะเลขนาดใหญ่เข้าได้ก็มีแต่ท่าเรือคลองเตยที่อยู่ทางด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และยังเป็นท่าเรือที่มีรถไฟเข้าถึง ในขณะที่ทางแม่น้ำท่าจีนหรือแม่น้ำแม่กลองนั้นไม่มีท่าเรือสำหรับให้เรือเดินทะเลขนาดใหญ่เข้าเทียบท่าได้ ส่วนทางใต้ก็มีท่าเรือที่สงขลาที่มีรถไฟเข้าถึง แต่เส้นทางดังกล่าวก็ถูกตัดด้วยการทิ้งระเบิดทำลายสะพานรถไฟที่สุราษฏร์ธานีและที่ชุมพร
 
แต่ในยุคนั้นการเดินทางจากกรุงเทพไปยังกาญจนบุรียังมีอีกเส้นทางหนึ่งคือทางน้ำ จากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่คลองภาษีเจริญ เพื่อออกสู่แม่น้ำท่าจีน จากนั้นก็เข้าสู่คลองดำเนินสะดวกเพื่อเข้าสู่แม่น้ำแม่กลอง ก็จะไปยังจังหวัดกาญจนบุรีและเลยต่อไปยังไทรโยคได้โดยผ่านทางลำน้ำแควน้อย แต่จะว่าไปแล้วก็ยังห่างจากชายแดนพม่าอยู่
 
เส้นทางรถไฟสายนี้จะว่าไปแล้วก็สร้างไปตามแนวเลียบลำน้ำแควน้อย เดาว่าคงเป็นเพราะใกล้แหล่งน้ำและยังสามารถใช้ลำน้ำเป็นเส้นทางการเดินทางไปยังจุดต่าง ๆ ในระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟ
  
จากแผนที่ของกองทัพอังกฤษที่ทำขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดใหม่ ๆ พบว่าพ้นจากสะพานข้ามแม่น้ำแควไปแล้วยังมีอีก ๒ สถานีที่มีการสร้างทางแยกย่อยจากเส้นทางหลักเข้าหาลำน้ำแควน้อย จุดแยกหนึ่งอยู่ที่ "สถานีท่ากิเลน" (ดูรูปที่ ๑ ถึง ๓) ท่าทางจะเป็นจุดแยกหลักจุดหนึ่ง ไม่รู้เหมือนกันว่าทางแยกดังกล่าวสร้างขึ้นก่อนหรือหลังสะพานข้ามแม่น้ำแควจะถูกทำลาย เพราะถ้าสะพานข้ามแม่น้ำแควถูกทำลาย ก็สามารถใช้เรือขนยุทธปัจจัยมาขึ้นรถไฟที่นี้และลำเลียงเข้าสู่พม่าได้
  
อีกทางแยกหนึ่งปรากฏที่ "สถานีลุ่มสุ่ม" (ปัจจุบันเป็นเพียงป้ายหยุดรถ) ที่อยู่เลยท่ากิเลนขึ้นไปหน่อย แต่อยู่ก่อนถึงถ้ำกระแช (รูปที่ ๔ และ ๕)
  
เส้นทางแยกดังกล่าวถูกรื้อทิ้งเมื่อใดก็ไม่อาจทราบได้ และเคยมีกล่าวเอาไว้ในประวัติศาสตร์ที่ไหนบ้างก็ไม่ทราบเหมือนกัน ร่องรอยของทางแยกดังกล่าวที่สถานีท่ากิเลนคิดว่ายังคงมีอยู่ คือแนวถนนตามเส้นประสีเหลืองในรูปที่ ๒ (คาดเดาเอาเองนะ) ส่วนร่องรอยทางแยกที่บ้านลุ่มสุ่มนั้นดูเหมือนว่าจะไม่มีหลงเหลือแล้ว

แผนที่ของบริเวณดังกล่าวนำมาจาก
สถานีท่ากิเลน http://www.nla.gov.au/apps/cdview/?pi=nla.map-vn2018580-s12-v
สถานีลุ่มสุ่ม http://www.nla.gov.au/apps/cdview/?pi=nla.map-vn2018580-s11-v
  
รูปที่ ๑ ภาพขยายทางแยกจากสถานีท่ากิเลนลงสู่แม่น้ำแควน้อย

รูปที่ ๒ ภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณสถานีท่ากิเลนในปัจจุบัน แนวเส้นประสีเหลืองคือแนวถนนที่สงสัยว่าเดิมคือทางรถไฟที่แยกจากสถานีท่ากิเลนลงสู่แม่น้ำแควน้อย
รูปที่ ๓ ภาพบริเวณกว้างของแผนที่ที่ปรากฏตำแหน่งสถานีรถไฟท่ากิเลน

รูปที่ ๔ ทางแยกจากสถานีลุ่มสุ่มสู่ลำน้ำแควน้อย (ในกรอบสีเหลือง)

รูปที่ ๕ ภาพบริเวณกว้างของแผนที่ที่ปรากฏตำแหน่งสถานีรถไฟลุ่มสุ่ม (ในกรอบสีเหลือง)

ไม่มีความคิดเห็น: