วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555

๔ ปีที่ผ่านมา (สำหรับนิสิตป.ตรีรหัส ๕๑) MO Memoir : Saturday 24 March 2555


กระดาษแผ่นเล็ก ๆ แผ่นนั้นอยู่ไหนแล้วก็ไม่รู้ ที่พวกคุณเอามาเหน็บไว้หน้าห้องผมก่อนน้ำท่วม เพื่อให้ผมเขียนอะไรก็ได้เป็นที่ระลึกก่อนจบการศึกษา แต่จวบจนป่านนี้ผมก็ยังไม่ได้เขียนสักที

แต่จะว่าไปก็ไม่ได้คิดจะเขียนลงกระดาษแผ่นนั้นอยู่แล้ว เพราะคิดว่าที่มันไม่พอ

ในช่วงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาหลายคนจะโดนผมทักว่า "เป็นไง ชีวิตนิสิตใช้คุ้มค่าหรือยัง สิทธิพิเศษที่เขามีให้เฉพาะนิสิตก็รีบ ๆ ใช้ซะนะ" หรือถ้าผมเห็นนิสิตหญิงที่แต่งชุดธรรมดามามหาวิทยาลัย ผมก็จะถามว่า "ไม่แต่งชุดนิสิตมาเหรอ เวลาที่จะแต่งได้เหลือน้อยแล้วนะ พอหมดโอกาสแล้วจะรู้สึกคิดถึงขึ้นมา"

ตอนเรียนมัธยมปลายนั้นพวกคุณก็คงเน้นไปที่การเรียนเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ได้เข้าเรียนในคณะที่ได้เลือกเอาไว้ แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้วผมคิดว่าช่วงชีวิต ๔ ปีในมหาวิทยาลัยเป็นช่วงเวลาที่ดีมากที่พวกคุณมีได้โอกาสมองเห็นและได้ทำในสิ่งอื่นนอกเหนือไปจากการเรียน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลถึงความคิดและการดำรงชีวิตของพวกคุณเมื่อจบการศึกษาไปแล้ว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมในช่วงที่คุณเรียนด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ถ้าเป็นช่วงหลังพ.ศ. ๒๕๐๐ ผมคิดว่ามีนิสิต-นักศึกษาในมหาวิทาลัยอยู่ ๒ รุ่นที่มีโอกาสได้เห็นและ/หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในช่วง ๔ ปีที่ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย

รุ่นแรกคือรุ่นปีการศึกษา ๒๕๑๖ ที่เริ่มจากได้เห็นเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ตอนเข้าเรียนปี ๑ การสิ้นสุดของสงครามในเวียดนาม ลาว และกัมพูชาในปีพ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งนำมาสู่ความหวาดหวั่นว่าประเทศไทยจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีโดมิโน ซึ่งต่อเนื่องและเกี่ยวพันกับการเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ตอนอยู่ปี ๔

นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในยุคนั้น หลายหลาย (ที่เรียกกันว่าคนเดือนตุลา) ต่างมามีบทบาททางการเมืองในปัจจุบันนี้

รุ่นที่สองคือรุ่นปีการศึกษา ๒๕๕๑

ตอนเกิดรัฐประหารปีพ.ศ. ๒๕๓๕ นั้นพวกคุณคงยังเป็นเด็กเล็กอยู่ และเมื่อเริ่มรู้ความก็เป็นช่วงที่เหตุการณ์ทางการเมืองสงบเงียบต่อเนื่อง

จนกระทั่งเกิดการชุมนุมในช่วงปีพ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งในปีพ.ศ. ๒๕๔๙ และการลงประชามติรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกและฉบับเดียวของประเทศไทยที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด เพราะประชาชนทุกคนที่อายุถึงเกณฑ์เลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงยอมรับหรือคัดค้าน แต่ตอนนั้นคิดว่าพวกคุณคงจะเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยกันอยู่ และอายุคงยังไม่ถึงเกณฑ์เลือกตั้ง

พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เริ่มจากการได้เห็นเหตุการณ์การชุมนุมประท้วง ยึดทำเนียบรัฐบาล สนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ในปีพ.ศ. ๒๕๕๑

การชุมนุมปิดถนนราชดำเนินในปีพ.ศ. ๒๕๕๒

เหตุการณ์ยึดถนนราชดำเนินและแยกราชประสงค์ในปีพ.ศ. ๒๕๕๓ รวมทั้งการบุกโรงพยาบาลจุฬา ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองเปลี่ยนสถานที่เกิดเหตุจาก สนามหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถนนราชดำเนิน ลานพระบรมรูปทรงม้า มาเป็นบริเวณใกล้มหาวิทยาลัยของเรา และเป็นครั้งแรกที่รอบ ๆ มหาวิทยาลัยของเราอยู่ในเขตใช้กระสุนจริง

และปิดท้ายด้วยเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปีพ.ศ. ๒๕๕๔ ที่ทำให้พวกคุณมีการปิดเทอมกลางยาวถึง ๓ เดือน และยังต้องมานั่งเรียนหนังสือกันจนถึงวันนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พวกคุณหมดโอกาสที่จะได้ร่วมงานลอยกระทงของมหาวิทยาลัยเป็นปีสุดท้าย และที่สำคัญคืองานวิชาการที่พวกคุณได้เตรียมการณ์กันมาต้องเลื่อนออกไปอีก ๑ ปี นั่นหมายถึงการที่ต้องส่งมอบงานให้รุ่นน้องทำแทน (หรือว่าพวกคุณคิดจะอยู่ทำกันต่อล่ะ)

มหาวิทยาลัยของเราโชคดีที่ไม่โดนน้ำเหลือหลากเข้ามาท่วม แต่เราโชคดีที่มี "น้ำใจ" ของพวกคุณทั้งหลายที่หลากเข้ามาท่วมมหาวิทยาลัยของเรา เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ต้องประสบอุทกภัย ซึ่งผมเห็นว่าการได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยได้จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยนั้น เป็นประสบการณ์ชีวิตที่มีคุณค่ากว่าการได้จัดงานวิชาการเสียอีก

และยังมีอีกหลายคนที่ได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครตามที่ต่าง ๆ ในการช่วยเหลือสังคม ไม่ว่าจะเป็นการไปช่วยกรอกและเรียงกระสอบทราย หรือการไปช่วยบรรจุและแจกสิ่งของบรรเทาทุกข์ต่าง ๆ
งานช่วยเหลือสังคมที่พวกคุณทำไปนั้นมันไม่มีใบประกาศให้เอาไปใส่แฟ้มเอาไว้ไปโชว์ตอนไปสอบสัมภาษณ์ต่าง ๆ หรือเอาไปขอรางวัลเยาวชนดีเด่น ไม่ได้มีเงินหรือเหรียญรางวัลตอบแทน ไม่ได้ทำให้คุณได้เป็นดาราได้ออกรายการโทรทัศน์ ไม่ได้ทำให้คุณเป็นนิสิตดีเด่นของมหาวิทยาลัย

แต่มันทำให้คุณได้มีความทรงจำดี ๆ เล็ก ๆ ซุกเอาไว้ในก้นบึ้งของหัวใจ ว่าในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตการเรียน คุณได้สละแรงกายเพื่อทำประโยชน์อะไรไว้ให้กับผู้อื่นโดยไม่หวังผลอะไรตอบแทน มากไปกว่าแววตาที่สดใสและรอยยิ้มของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ เปรียบเสมือนการปิดทองหลังพระ

ที่สำคัญคือพวกคุณได้ทำตามพระบรมราโชวาท ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ตรัสไว้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ความว่า

การทำงานด้วยน้ำใจรักต้องหวังผลงานนั้นเป็นสำคัญ แม้จะไม่มีใครรู้ใครเห็นก็ไม่น่าวิตก เพราะผลสำเร็จนั้นจะเป็นประจักพยานที่มั่นคง ที่พูดเช่นนี้เหมือนกับสอนให้ปิดทองหลังพระ การปิดทองหลังพระนั้นเมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้…

หวังว่าความทรงจำดังกล่าวจะเป็นกำลังใจให้พวกคุณ ยามที่พวกคุณรู้สึกเหน็ดเหนื่อยและท้อแท้ ว่าตัวคุณเองนั้นยังสามารถทำคุณประโยชน์ให้กับผู้อื่นและสังคมได้

จำได้ไหมเมื่อตอนที่คุณเข้ามาเรียนที่ภาคและแรกเจอกับผมนั้น ผมได้บอกกับพวกคุณว่า "หน้าที่ของผมคือบอกให้พวกคุณทราบว่า chem eng นั้นต้องเรียนรู้อะไรบ้าง เพื่อนำไปใช้ทำอะไรบ้าง ในแง่มุมต่าง ๆ ที่ผมรู้ และเมื่อคุณรับรู้ไปหมดแล้ว คุณจะเลือกดำเนินชีวิตเป็น chem eng หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณเอง" โดยฝากคำถามที่ถามย้ำเป็นประจำเพื่อให้ไปหาคำตอบหลังจากที่ได้เข้ามาเรียนที่ภาคนี้คือ "ตอบตัวเองให้ได้ว่าต้องการอะไร"

และเมื่อพวกคุณใกล้เรียนจบ หลายคนที่ผมพบก็จะโดนผมถามว่า "ตอบตัวเองได้หรือยังว่าต้องการอะไร"

หลายคนเมื่อใกล้จบก็มักมาถามผมว่า "จะเรียนต่อด้านไหนดี"

ผมก็จะตอบกลับไปว่า "อยากเรียนอะไรก็เรียนไปซิ"

บางรายก็ตอบกลับมาว่า "ไม่อยากเรียนต่อด้านวิศว แต่ถ้าไม่เรียนต่อด้านนี้ก็เสียดายเวลาที่เรียนมาตั้ง ๔ ปี"

ผมก็ถามกลับไปว่า "แล้วคุณไม่เสียดายเวลาของชีวิตที่เหลือเหรอ ถ้าต้องทนอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบ"

ที่สำคัญคือก่อนที่จะตอบตัวเองว่า "ชอบ"อะไรนั้น คุณได้มี "ตัวเลือก" มากพอหรือยัง

คำพูดหนึ่งที่เรามักจะได้ยินกันอยู่เป็นประจำก็คือ "ส่วนใหญ่ที่เรียนไป ไม่ได้ใช้" ซึ่งผู้พูดมักจะให้ความหมายในแง่ลบ

แต่ผมกลับมองว่านั่นเป็นโชคดีของชีวิต เพราะนั่นแสดงว่าคุณมีโอกาสได้เรียนรู้ มีโอกาสได้ทำความรู้จักกับสิ่งต่าง ๆ มากมาย คุณจะรู้ว่าคุณชอบสิ่งใดและไม่ชอบสิ่งใด

แต่เนื่องจากคุณไม่มีโอกาสที่จะทำในสิ่งที่ชอบได้ทุกอย่าง คุณจึงต้องเลือกทำได้แค่เฉพาะบางอย่าง นั่นแสดงว่า "ส่วนใหญ่ที่เรียนไป ไม่ได้ใช้" แต่ไม่ได้หมายความว่า "ไม่มีโอกาสได้ใช้"

บางสิ่งคุณอาจเรียนโดยที่คุณไม่รู้ตัว อย่างเช่นการทำแลป พวกคุณส่วนใหญ่เมื่อจบไปแล้วคงไม่ได้ไปอยู่ห้องแลปหรือทำแลปที่อื่น ดังนั้นเนื้อหาในวิชาแลปที่พวกคุณเรียนไปนั้นมันไม่ถูกเอาไปใช้ แต่จำได้ไหมตอนที่เข้าภาค เทอมแรกผมทำการแบ่งกลุ่มให้พวกคุณ ไม่ให้พวกคุณมีโอกาสได้เลือกเพื่อนร่วมกลุ่ม พร้อมทั้งบอกว่าพอเทอมที่สองจะให้จับกลุ่มกันเอง เพื่อที่จะได้รู้ว่าใครเป็น "บุคคลพิเศษ" ที่เพื่อนไม่อยากให้ร่วมกลุ่ม

สิ่งสำคัญที่ผมต้องการให้พวกคุณเรียนรู้จากการทำแลปก็คือ "การทำงานร่วมกับผู้อื่น" และ "การทำตัวให้ผู้อื่นยอมรับ" นั่นเป็นสิ่งสำคัญที่ผมอยากให้คุณได้เรียนรู้ในการทำแลปมากกว่าผลแลป เพราะประสบการณ์สอนผมว่า ให้พวกคุณทำการทดลองเดียวกัน ๑๘ กลุ่มก็ได้ผลมา ๑๘ ผลที่ไม่ซ้ำกันเลย (บวกของผมอีก ๑ ก็เป็น ๑๙) ก็เลยบอกไม่ได้ว่าผลแลปใครถูกผลแลปใครผิด

หลายปีมาแล้วก่อนเริ่มสอนแลปเคมีวิเคราะห์ มีนิสิตหญิงคนหนึ่งมานั่งคุยและนั่งร้องไห้อยู่ที่โต๊ะทำงานในห้องแลป ช่วงนั้นเป็นช่วงจัดกิจกรรมรับน้อง เขาได้เข้ามาปรึกษาผมเรื่องการที่ไม่ค่อย ๆ มีเพื่อน ๆ เข้าช่วยทำงาน 
 
ผมก็ตอบเขาไปว่า งานกิจกรรมนั้นเป็นงานอาสา ไม่มีการบังคับว่าใครต้องมาทำ และคนที่ทำก็ต้องไม่คิดว่าฉันดีกว่าคนที่ไม่มาทำ การที่เขาไม่มาร่วมงานกับเรานั้น เราก็ต้องกลับไปพิจารณาด้วยว่าสิ่งที่เราทำนั้นเขาเห็นชอบหรือไม่ การที่เขาไม่มาร่วมงานนั้นอาจเป็นเพราะว่าเขาคิดว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นมันไม่เหมาะสม เขาอยากเปลี่ยนแปลง แต่ทำไม่ได้ก็เลยไม่เข้ามาร่วม อย่าด่วนคิดว่าคนที่ไม่มาร่วมทำนั้นเป็นคนเห็นแก่ตัว

การที่คนส่วนใหญ่ไม่มาร่วมงานก็ต้องกลับมาพิจารณาแล้วว่าเป็นเพราะว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นมันไม่เหมาะสมหรือไม่ ทำไปเพื่อจุดประสงค์อะไร แล้วเขาเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นมีจุดประสงค์ที่ดี แต่คนส่วนใหญ่ไม่มาร่วม เราก็ต้องหาทางชักชวนให้เขามาร่วม นั่นหมายถึงการเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน รูปแบบเดิมนั้นอาจใช้ได้ดีในสมัยหนึ่ง ในสภาพสังคมหนึ่ง แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนไปเราก็ควรที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบ โดยที่ยังคงสามารถบรรจุจุดประสงค์ที่ตั้งเอาไว้

แต่ถ้าสิ่งที่เราทำนั้นมีจุดประสงค์ที่เลื่อนลอย ก็ควรพิจารณาว่าจะจัดต่อไปหรือไม่

ผมบอกเขาต่อว่า ถ้าคุณเหนื่อยมากก็ถอนตัวออกไปซิ งานจะล้มก็ช่างหัวมัน ดูจากการที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้ามาร่วมก็แปลได้ว่าคนส่วนใหญ่เขาไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณทำอยู่แล้วนี่ ดังนั้นถ้างานนี้มันไม่เกิดขึ้นพวกเขาก็ไม่มีสิทธิจะว่าอะไรอยู่แล้ว

ก่อนจบการสนทนาผมถามเขากลับไปว่า "ตอนนี้รู้หรือยังว่าเพื่อนคนไหนพึ่งได้"

เขาตอบกลับมาว่า "รู้แล้ว"

ผมก็ตอบกลับไปว่า "คุณได้ไปเยอะแล้วนี่ แล้วจะเอาอะไรอีกล่ะ"

แล้วผมก็บอกต่อว่า "สมัยที่ผมเรียนหนังสือน่ะ เพื่อนคนหนึ่งมันกล่าวเลยว่า "ถ้าไม่เคยเจออะไรเหี้ย ๆ มาด้วยกัน มันไม่รู้หรอกว่าใครคนไหนพึ่งได้" โทษทีนะที่ต้องใช้คำอย่างนี้ เพราะมันตรงความหมายตามคำพูดมากที่สุด ผมเห็นมาหลายรายแล้ว แม้ว่าจะเรียนโรงเรียนเดียวกันมาหลายปี เที่ยวเล่นมาด้วยกันก็มาก แต่มารู้น้ำใจกันตอนที่ทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยนี่แหละ เพิ่งจะเจอหน้ากันในมหาวิทยาลัยได้แค่ปีสองปี ก็รู้แล้วว่าเป็นคนที่พึ่งพากันได้ในยามเดือดร้อนมากกว่าเพื่อนสมัยโรงเรียนที่คบกันมานานเสียอีก"

ยังจำได้ไหมตอนที่พวกคุณเข้ามาเรียนแลปกันในสัปดาห์แรก ๆ ผมเอากล้องมาถ่ายรูปพวกคุณแต่ละกลุ่มเอาไว้ และก็บอกด้วยว่า "พอเรียนจบปี ๔ เมื่อไรค่อยมาดูรูปเหล่านี้นะ จะได้เห็นว่าภาควิชาได้ทำอะไรกับพวกคุณเอาไว้"

ใครที่ยังไม่เคยดูหรือเคยดูแล้วแต่ก็ลืมไปแล้วก็ไปดูได้ใน facebook ของผม ในอัลบัมแลปเคมีอินทรีย์ ๕๒

ดูแล้วก็ลองเปรียบเทียบหน้าตาตัวเองในปัจจุบันนี้กับตอนเข้าภาควิชามาใหม่ ๆ ซิ แล้วจะเห็นว่าตอนที่พวกคุณถามผมเล่น ๆ ว่าทำไมไม่ไปสอนวิชาปี ๔ บ้าง แล้วผมตอบกลับไปว่า "ไม่อยากไปสอนคนแก่หน้าตาทรุดโทรม" น่ะมันจริงไหม :-)

ขอให้โชคดีและมีความสุขในชีวิตทุกคน

สวัสดี

อาจารย์