วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่น้ำน้อย MO Memoir : Monday 4 November 2556

หลังจากที่โดนพี่สาวคนสวย (ต้องชมแกหน่อย แกจะได้เอาขนมอร่อย ๆ มาแบ่งให้กินเรื่อย ๆ) ทวงถามว่าเมื่อไรจะเขียนโครงการนี้สักที ผมก็ผัดผ่อนมาตลอดเพราะยังไม่เคยเห็นสถานที่จริงและไม่ได้รับรู้ปัญหา จนมีโอกาสเมื่อวันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่แล้ว จึงได้เดินทางไปเยี่ยมชมสถานที่สักที
  
หลังจากเตรียมแผนที่เส้นทางต่าง ๆ เอาไว้เรียบร้อย ก็เริ่มเดินทางออกจากกรุงเทพ เส้นทางที่ใช้ในครั้งนี้ก็คือจากกรุงเทพ มุ่งหน้านครปฐม ไปบ้านโป่ง เพื่อไปยังกาญจนบุรี เส้นทางนี้ไม่ได้วิ่งมานานแล้ว เพราะมีสัญญาณไฟเยอะมากตลอดทาง แถมมีทางข้ามทางรถไฟอีกหลายแห่ง แต่ที่เลือกไปก็เพราะอยากรู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เพราะหลัง ๆ เวลาไปเมืองกาญจนบุรีจะไปใช้เส้น บางบัวทอง-บางเลน-กำแพงแสน-พนมทวน-กาญจนบุรี แทน เส้นหลังนี้แม้จะอ้อมกว่าเล็กน้อยแต่สภาพทางดีมาก (สี่ช่องจราจรตลอดเส้น) รถก็น้อย แถมไม่มีสัญญาณไฟอีก (มีเฉพาะตอนเข้าตัวอำเภอเท่านั้นเอง)
  
ระหว่างรอติดไฟแดงที่แยกบ้านโป่ง หันจะไปเอาแผนที่ที่เตรียมไว้มาตรวจเส้นทาง ปรากฏว่า "ลืม" หยิบแผนที่ใส่เป้ที่ถือขึ้นรถมาด้วย กำลังคิดว่าจะยกเลิกแผนการเดินทางหรือจะไปลุยต่อ แต่พอนึกได้ว่าที่ตัวอำเภอเมืองกาญจนบุรีมีสำนักงานท่องเที่ยวอยู่ น่าจะขอแผนที่ได้ที่นั่น ก็เลยลุยเดินทางต่อไป
  
สถานที่ที่ผมกำลังไปนั้นคือ "โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่น้ำน้อย" ผมรู้อยู่แต่ว่าอยู่ที่อำเภอไทรโยค เลย "ช่องเขาขาด" ออกไป ไปครั้งนี้ก็ไม่ได้ติดต่อทางโรงเรียนเอาไว้ก่อน เพราะไม่รู้ว่าจะไปหาเจอหรือเปล่า เกรงว่านัดเขาเอาไว้แล้วแล้วหาโรงเรียนไม่เจอ จะก่อเรื่องวุ่นเปล่า ๆ โรงเรียนนี้ไม่มีปรากฏในแผนที่ซะด้วย ต้องอาศัยเทียบเคียงกับแผนที่ที่ดูจากทางอินเทอร์เนต ไปถึงสำนักงานการท่องเที่ยวที่กาญจนบุรี ขอให้เจ้าหน้าที่เขาช่วยเหลือเปิดดูแผนที่ทางอินเทอร์เนตให้ ซึ่งเขาก็ให้บริการดีมาก จากนั้นก็เอาโทรศัพท์มือถือถ่ายรูปจากจอคอม ถือติดตัวไป (เพราะไม่คาดว่าที่โรงเรียนจะมีสัญญาณโทรศัพท์ และมันก็แทบจะไม่มีจริง ๆ)
  
โรงเรียนนี้อยู่ที่ไหนผมก็ได้ทำแผนที่ประกอบมาให้ดูในรูปที่ ๑-๔ แล้ว การเดินทางจากกรุงเทพก็ต้องไปจังหวัดกาญจนบุรี และต่อไปยังอำเภอไทรโยค (ตามทางหลวงหมายเลข ๓๒๓) ให้ได้ก่อน จากนั้นก็มุ่งเลยทางเข้าอำเภอไทรโยคออกไปอีก ผ่านพิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด (อยู่ด้านซ้ายของถนน) ประมาณ ๔๐ กิโลเมตร ก็จะถึงทางแยกเข้าโรงเรียน
  
ออกจากถนนใหญ่มาวิ่งทางรองได้สักประมาณ ๕ กิโลเมตร ก็จะเข้าสู่เส้นทางย่อยอีก (รถเล็กพอจะสวนกันได้ในบางช่วง ถ้าเป็นรถใหญ่ก็ขวางถนนหมด) เส้นทางนี้ช่วงแรกเป็นลูกรัง ถัดไปสักพักเป็นคอนกรีต (แบบถนนในหมู่บ้าน) และท้ายสุดเป็นลาดยางอย่างดี แต่ก็เฉพาะช่วง ๗๐๐ เมตรตรงบริเวณหน้าโรงเรียน (มีโอกาสได้ใช้แน่ถ้าฝ่าด่านลูกรังเข้าไปถึงได้) สภาพถนนเข้าโรงเรียนเป็นอย่างไรก็ลองดูรูปต่าง ๆ เอาเองก็แล้วกัน (รูปที่ ๕ ถึง ๑๐)

ผมขับรถเข้าไปจอดในโรงเรียน ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี ก็พอดีมีคนที่นั่งอยู่หน้าอาคารเรียนเดินเข้ามาทักทาย ทราบว่าเป็นครูใหญ่ของโรงเรียน คือ ร.ต.ต. อุรารัตน์ จึงได้อธิบายเหตุผลที่เดินทางมา ทางครูใหญ่ก็ได้นำเยี่ยมชมโรงเรียนและเล่าถึงเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง ต่อจากนี้ไปผมขอเรียกแกว่าครูอุรารัตน์ก็แล้วกัน
  
ช่วงที่ผมไปถึงนั้นโรงเรียนยังไม่เปิดเทอม แต่ก็ยังมีนักเรียนอยู่ในโรงเรียน ครูอุรารัตน์เล่าว่าโรงเรียนแห่งนี้ช่วงเปิดเทอมจะมีพ่อแม่พาลูกมาเรียนหนังสือ และก็ให้ค้างอยู่ที่โรงเรียนเลย ปิดเทอมจึงรับกลับ (แต่ก็ไม่หมดทุกคน) ทางโรงเรียนจึงมีภาระที่ต้องจัดหาที่พักและอาหาร (ตัวสำคัญ) ทั้งสามมื้อให้กับเด็ก ๆ (ไม่เว้นวันหยุด) มีชาวเขาหลายเผ่าที่ส่งลูกมาเรียนที่นี่ พูดกันหลากหลายภาษา เลยต้องให้เรียนภาษาไทยกันก่อน (ส่งเข้าชั้นอนุบาลทั้งหมด) จึงจะคุยกันรู้เรื่อง 
   
โครงการที่จะไปทำนั้น ในส่วนตัวผมเองนั้นไม่อยากให้เป็นเพียงแค่เอาของไปให้ (เพื่อให้ได้ชื่อว่าช่วยเหลือสังคม) เพียงครั้งเดียวแล้วก็ถือว่าเสร็จสิ้น แต่อยากให้ผู้ที่ได้ไปร่วมนั้นเกิดความคิดที่จะช่วยเหลือผู้อื่น (เมื่อใดก็ตามที่มีความพร้อมที่จะช่วย) ฝังอยู่ในจิตใจ ผมทราบก่อนเดินทางว่ามีโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนหลายแห่งที่ยังขาดแคลน แม้แต่ในบริเวณจังหวัดกาญจนบุรีก็มีหลายแห่ง เพียงแต่แห่งนี้เป็นโรงเรียนที่บ้านแม่น้ำน้อยนี้มีเด็กนักเรียนมากและมีนักเรียนมาอยู่กินนอนมากแห่งหนึ่ง ส่วนโรงเรียนอื่นผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตั้งอยู่ที่ไหน
  
ชุมชนบ้านแม่น้ำน้อยนั้นไม่ได้เป็นหมู่บ้านอยู่รวมกัน แต่อยู่กระจัดกระจายกันออกไป ข้ามฟากไปอีกฝั่งแม่น้ำ เลยเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยคใหญ่ก็ยังมีหมู่บ้านแม่น้ำน้อยอยู่อีก (ต้องแลกบัตรกับทางเจ้าหน้าที่อุทยานที่ตั้งด่านเฝ้าอยู่ที่ปากทางเข้า) ฝั่งตรงข้ามโรงเรียน (ข้างวัด) ก็มีร้านชำเล็ก ๆ อยู่ร้านหนึ่งพร้อมร้านก๋วยเตี๋ยว (ไปนั่งกินมาแล้ว ชามละ ๒๐ บาทเอง) สัญญาณโทรศัพท์พอจะหาได้ในบางบริเวณ (ที่เห็นชัดคือบนสะพานข้ามแม่น้ำแควน้อย)

ในความเห็นส่วนตัว สภาพโรงเรียนในส่วนของอาคารนั้นถือว่าใช้การได้ ส่วนที่เป็นปัญหาน่าจะเป็นส่วนของค่าใช้จ่ายรายวันในด้านต่าง ๆ มากกว่า เพราะงบประมาณส่วนนี้ค่อนข้างจำกัดมาก ด้านอาหารนั้นทางโรงเรียนต้องให้นักเรียนช่วยกันปลูกผักสวนครัว (รวมทั้งไม้ผลเช่น ขนุน มะละกอ วันไหนผักไม่พอก็ใช้มะละกอช่วยได้) และเลี้ยงสัตว์ (พวก เป็ด ไก่ ปลา กบ) ไว้เป็นอาหารโปรตีน ที่เป็นปัญหาคือข้าวสารและเครื่องปรุงรสต่าง ๆ ที่ต้องจัดซื้อ ทางครูอุรารัตน์เล่าให้ฟังว่าข้าวสารต้องหุงกันวันละ ๖ หม้อใหญ่เพื่อเลี้ยงนักเรียน การหุงก็ต้องใช้เตาแก๊ส เพราะมันถูกกว่าใช้ไฟฟ้า แต่ทั้งไฟฟ้าและแก๊สก็มีปัญหาเรื่องงบประมาณ ตอนนี้แก๊สก็แพงขึ้นเรื่อย ๆ ทางครูในโรงเรียนเองก็ต้องหาค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ร้านขายแก๊สที่อยู่ใกล้สุดก็ดูเหมือนว่าจะอยู่ห่างออกไปหลายสิบกิโล สำหรับเด็กผู้หญิงก็มีค่าผ้าอนามัยเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเข้ามาอีก
 
นมสำหรับดื่มนั้นเป็นนมผงพระราชทานส่งมาเป็นกระสอบ ทางโรงเรียนเอามาผสมน้ำแจกจ่ายให้กับเด็ก ๆ แต่ก็มีเหมือนกันที่ชาวบ้านข้าง ๆ มาขอนมนี้ให้ลูกเขากิน (เด็กเล็ก) ทางครูของโรงเรียนก็ต้องบอกไปว่านมนี้เป็นนมสำหรับเด็กโต (๔ ขวบขึ้นไป) ไม่ค่อยเหมาะกับเด็กเล็กนะ แต่ก็ต้องแบ่งให้เขาไป เพราะไม่เช่นนั้นชาวบ้านที่ยากจนเหล่านั้นก็จะไปใช้นมข้นหวานละลายน้ำให้ลูกกินแทน ซึ่งมันแย่กว่าอีก
เครื่องซักผ้ามีอยู่สองเครื่อง แยกซักชุดเด็กชายและเด็กหญิง เป็นแบบถังแยกสองถัง ใช้เครื่องอัตโนมัติไม่ได้เพราะไม่ได้มีน้ำประปาใช้เหมือนในเมือง ต้องสูบน้ำจากแม่น้ำขึ้นมาเก็บไว้ใช้ (โรงเรียนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าอีก) ช่วงเดือนสิงหาคมตอนที่พี่สาวคนสวยไปเยี่ยมนั้น เครื่องซักผ้าเขาเสีย แต่ตอนที่ผมไปเยี่ยมนั้น เขาซ่อมกันเองจนใช้ได้แล้ว เวลาจะซื้ออะไหล่ทีก็ต้องเข้าไปซื้อที่ตัวเมืองกาญจนบุรี ห่างออกไปร่วม ๘๐ กิโลเมตร ครูตชด. ที่นีเป็นทั้งตำรวจ ครู และช่างซ่อม ไปพร้อม ๆ กัน ขนาดบ้านพักครูยังต้องหาวัสดุมาปลูกสร้างกันเอง
  
ในด้านอุปกรณ์การสอนนั้น วันที่ไปถึงรับทราบว่าส่วนที่มีปัญหาคือเครื่องฉาย LCD ที่เสีย (ทางโรงเรียนเอาไปให้ช่างดูแล้วช่างตีว่าไม่คุ้มค่าซ่อมใหม่) กับเครื่องถ่ายเอกสารและกระดาษสำหรับถ่ายเอกสาร (สำหรับเตรียมเอกสารให้นักเรียนซึ่งถือเป็นวัสดุสิ้นเปลืองตัวหนึ่ง) ที่ตอนนี้ถ่ายออกมาดำพรืดไปหมดแล้ว เครื่องถ่ายเอกสารนี้ไม่ได้ใช้กันเฉพาะที่โรงเรียน แต่ชาวบ้านรอบโรงเรียนรวมทั้งวัดด้วย เวลาต้องถ่ายเอกสารใด ๆ (เช่นสำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน) ก็ต้องมาขอความช่วยเหลือจากโรงเรียน 
   
การจัดหาอุปกรณ์เช่นพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ใดที่ต้องมีการเปลี่ยนอุปกรณ์สิ้นเปลืองเป็นระยะให้กับโรงเรียนนั้น บางทีก็ต้องคำนึงถึงการบำรุงรักษาและการซ่อมแซมด้วย อย่างเช่นในกรณีนี้แหล่งที่จะพอหาซื้ออะไหล่และมีช่างซ่อมเห็นจะได้แก่ตัวเมืองกาญจนบุรี ดังนั้นโดยส่วนตัวแล้วเห็น่วาถ้าจะจัดหาอุปกรณ์เครื่องใช้ที่ต้องมีการเปลี่ยนวัสดุสิ้นเปลืองเป็นระยะก็ควรที่จะต้องตรวจสอบว่าที่ตัวเมืองกาญจนบุรีสามารถหาได้หรือไม่ และราคานั้นเป็นเท่าใด เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระให้กับบุคคลากรของโรงเรียนในการหาเงินมาใช้กับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ในภายหลัง


รูปที่ ๑ แผนที่เส้นทางจากกรุงเทพ ไปยังโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดนบ้านแม่น้ำน้อย ถ้าไม่อยากเจอรถเยอะตลอดทาง ก็ควรพิจารณาเส้นทาง บางบัวทอง เข้าสาย 340 (ที่บอกว่าไปสุพรรณบุรี) จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสาย 346 ไปยัง อ.บางเลน ตรงต่อไปยัง อ.กำแพงแสน และตรงต่อไปยัง อ.พนมทวน จากนั้นค่อยเลี้ยวซ้ายเข้ากาญจนบุรี แยกที่บางเลนกับกำแพงแสนมันเป็นสามแยกสัญญาณไฟแดงสองแยกที่เหลื่อมกันอยู่ พอมาถึงแล้วต้องเลี้ยวขวาแล้วชิดซ้ายเลย เพราะจะต้องเลี้ยวซ้ายอีกที
   
รูปที่ ๒ แผนที่เส้นทางบนทางหลวงสาย ๓๒๓ ช่วงพิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด ถึงวัดแม่น้ำน้อย (โรงเรียนตั้งอยู่ริมถนนฝั่งตรงข้ามกันวัด)


รูปที่ ๓ เส้นทางเข้าโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่น้ำน้อย รูปนี้เป็นช่วงที่แยกออกจากถนนใหญ่ (สาย 323) ที่หลักกม. 148+500 (ป้ายบอกระยะจะเริ่มนับจากต้นทางถนนที่แยกออกจาก ถ. เพชรเกษม ที่ จ. นครปฐม) หรือหลักกม. 74 (หลักคอนกรีตจะเริ่มนับจากแยกบ้านเก่า จ. กาญจนบุรี ซึ่งเป็นช่วงที่ถนนลดความกว้างเหลือสองช่องทางจราจร) เส้นทางย่อยที่ปรากฏบนแผนที่นี้บางเส้นทางมันไม่ใช่ทางสาธารณะ คือเป็นถนนในที่คนอื่นบ้าง หรือเป็นถนนในสถานที่ราชการบ้าง เช่นที่ตรงโรงเรียนที่มันแสดงถนนวนรอบเป็นวง ถนนนั้นเป็นถนนในโรงเรียน ไม่ใช่เส้นทางสาธารณะ หรือไม่ก็เป็นเพียงแค่เส้นทางที่มีแต่รถขับเคลื่อนสี่ล้อพอวิ่งได้เท่านั้น



รูปที่ ๔ ภาพถ่ายดาวเทียบบริเวณที่ตั้งโรงเรียน อยู่ริมแม่น้ำแควน้อย ส่วนแม่น้ำน้อยคือลำน้ำที่มาบรรจบกับแควน้อยทางด้านซ้ายของรูป ปัจจุบันมีสะพานข้ามแม่น้ำแควน้อยเชื่อมกับถนนฝั่งตรงข้ามแล้ว (เสร็จตั้งแต่มกราคม ๒๕๕๒) แต่ที่มีปรากฏในภาพถ่ายดาวเทียมที่ดูได้ฟรีทางอินเทอร์เนตเห็นอยู่เฉพาะส่วนฝากฝั่งโรงเรียน (คงกำลังก่อสร้างอยู่) แสดงว่าภาพนี้เก่ามาหลายปีแล้ว ส่วนเส้นทางฝั่งตรงข้ามแม่น้ำนั้น ผมลองสำรวจด้วยการขับรถออกถนนใหญ่ทางเส้นทางนั้น ปรากฏว่าย่ำแย่กว่าเส้นทางที่เดินทางเข้ามาอีก แต่ก็ยังพอประคองเอารถเก๋งเครื่อง 1500 CC อายุ ๑๕ ปีผ่านไปได้ (บวกกับฝีมือและประสบการณ์ในการขับรถผ่านสภาพถนนอย่างนี้ร่วมด้วยเล็กน้อย)
  

รูปที่ ๕ ถนนสาย ๓๒๓ นี้มีป้ายบอกหลักกิโลอยู่สองแบบ แบบบนเริ่มนับจากต้นทางที่นครปฐม ทางแยกเข้าโรงเรียนจะอยู่ที่กม. 148 + 500 เมตร ป้ายนี้จะอยู่ทางซ้ายมือของถนน แต่ถ้าเป็นหลักคอนกรีตแบบล่างจะเริ่มนับจากแยกบ้านเก่า (แยกเข้าปราสาทเมืองสิงห์) ซึ่งเป็นช่วงที่ถนนลดขนาดจาก ๔ ช่องจราจรเหลือ ๒ ช่องจราจร หลักคอนกรีตนี้จะอยู่ทางขวามือ (เมื่อขับรถออกจากเมืองกาญจนบุรี) ทางเข้าโรงเรียนจะอยู่ตรงข้ามหลักกม. 74 ที่ถ่ายรูปมาให้ดู


รูปที่ ๖ พอเลยป้ายบอกกม. 148 (รูปที่ ๕) จะเห็นป้ายบอกทางเข้าโรงเรียนอยู่ซ้ายมือ


รูปที่ ๗ พอเลยป้ายในรูปที่ ๖ มาเล็กน้อยก็จะเห็นแยกทางเข้าเพื่อไปโรงเรียน (เส้นทางบ้านแก่งประลอม) หลักกม. 74 ที่เป็นหลักคอนกรีตจะอยู่ทางขวามือตรงข้ามทางเข้า วันที่เดินทางไปนั้นกำลังจะมีกฐินพระราชทานให้กับวัดแม่น้ำน้อยในวันอาทิตย์ที่ ๓ พฤศจิกายนที่กำลังจะถึง เลยโชคดีที่มีการเตรียมปรับสภาพเส้นทางให้ (รถเก๋งวิ่งได้สบาย)


รูปที่ ๘ ขับออกจากถนนหลักมาประมาณ ๕ กิโลเมตร เส้นทางหลักจะเลี้ยวไปทางซ้าย แต่ทางไปโรงเรียนคือถนนเล็ก ๆ ที่มุ่งตรงไปข้างหน้า (รูปที่ ๓ ตรงที่มีลูกศรสีแดง-สีเหลือง) ต้องขับรถตรงไปอีกเกือบ ๒ กิโลเมตรก็ถึงโรงเรียน



รูปที่ ๙ เมื่อแยกเข้าเส้นทางเล็กในรูปที่ ๘ จะเป็นถนนลูกรังพักนึง จากนั้นตามด้วยถนนคอนกรีต (บน) มาจนถึงป้ายบอกทางเข้าหมู่บ้าน (กลาง) ก็จะพบกับถนนลาดยางอย่างดี (ล่าง)
  
รูปที่ ๑๐ มาจนถึงโรงเรียนแล้ว โรงเรียนอยู่ซ้ายมือ ส่วนที่เห็นหลังคาแดง ๆ ขวามือคือวัดแม่น้ำน้อย


 รูปที่ ๑๑ จากจุดที่จอดรถ มองออกไปยังถนนทางเข้าโรงเรียน จะมีอาคารบอกว่าเป็น "สถานีอนามัยบ้านแม่น้ำน้อย" อยู่หน้าโรงเรียน

รูปที่ ๑๒ สภาพของ "สถานีอนามัยบ้านแม่น้ำน้อย" ในวันที่เดินทางไปถึง ทางครูอุรารัตน์เล่าว่าจะค่อย ๆ พยายามปรับปรุง(เท่าที่มีทรัพยากร) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน


รูปที่ ๑๓ มองจากระเบียงที่นั่งคุยกับทางครูใหญ่ของโรงเรียน
 
รูปที่ ๑๔ อีกมุมหนึ่งของโรงเรียนเมื่อมองจากระเบียง

รูปที่ ๑๕ เล้าเป็ดสำหรับเป็นอาหารนักเรียน

รูปที่ ๑๖ เล้าไก่ สำหรับให้นักเรียนมีไข่ไก่กิน

รูปที่ ๑๗ บ่อเลี้ยงกบ เพื่อเป็นอาหารโปรตีนเสริมให้กับนักเรียน อันที่จริงมีบ่อปลาด้วย แต่ไม่ได้ถ่ายรูปเอาไว้


 รูปที่ ๑๘ แปลงปลูกผักเป็นอาหาร

รูปที่ ๑๙ โรงเพาะเห็ด ทางโรงเรียนต้องไปซื้อถุงที่มีเชื้อเห็นมาเพาะให้เป็นต้นเอง

รูปที่ ๒๐ โรงประกอบอาหารและรับประทานอาหาร


รูปที่ ๒๑ สุดทางที่สะพานข้ามแม่น้ำแควน้อย
  
รูปที่ ๒๒ บรรยากาศแม่น้ำแควน้อยมองจากสะพานไปยังทิศเหนือ (ทิศทางต้นน้ำ)

รูปที่ ๒๓ บรรยากาศแม่น้ำแควน้อย มองจากสะพานไปยังทิศใต้





รูปที่ ๒๔ ลงไปถ่ายรูปด้านใต้สะพาน (บน) ด้านทิศใต้ (ล่าง) ด้านทิศเหนือ ที่ถ่ายรูปมุมนี้จะได้เห็นว่าระดับน้ำแม่น้ำที่ทางโรงเรียนต้องสูบขึ้นมานั้นอยู่ต่ำกว่าโรงเรียนแค่ไหน (โรงเรียนอยู่ระดับถนน)

ระหว่างเยี่ยมชมนั้นก็ได้พบกับครูท่านอื่น ๆ อีกหลายท่าน ที่ต่างทำงานต่าง ๆ อยู่ตามมุมต่าง ๆ ของโรงเรียน โรงเรียนนี้เรียกได้ว่าเป็นโรงเรียนประจำของนักเรียนและครูเลยก็ได้ ต้องมีครูผู้หญิงสำหรับดูแลเด็กหญิงที่มาอยู่ประจำด้วย ตัวครูเองก็ไม่ได้มีหน้าที่แค่สอนหนังสือ แต่ต้องทำหมดทุกอย่าง ตั้งแต่นักการภารโรง ช่างซ่อม ครู ผู้ปกครองเด็ก รวมทั้งช่วยเหลือชาวบ้านรอบ ๆ โรงเรียนที่มาขอความช่วยเหลือด้วย
  
ผมเขียนเรื่องนี้เพื่อบันทึกสิ่งที่ได้ไปประสบพบเห็นมาเมื่อวันพฤหัสบดีในสัปดาห์ที่แล้วก่อนที่จะลืมไป ส่วนจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้นก็คงต้องมีการรวบรวมผู้สนใจจัดกิจกรรมว่าควรจะออกมาในรูปแบบใด โดยกิจกรรมที่จะจัดนั้นไม่ควรจะไปสร้างภาระให้กับทางโรงเรียน ตอนนี้ได้แต่คาดหวังว่าอยากให้เกิดกิจกรรมครั้งแรกไม่ควรเกินกลางเดือนมกราคม ๒๕๕๗ ที่จะถึงนี้ ซึ่งยังเป็นช่วงที่โรงเรียนยังมีการเรียนการสอนอยู่

ระหว่างที่นั่งคุยกับครูอุรารัตน์อยู่หน้าโรงเรียนนั้น ก็มีเสียงดัง "ปัง" มาเป็นระยะ ครูอุรารัตน์บอกว่านั่นเป็นเสียง "ปิงปอง" หรือระเบิดปิดปอง ที่ชาวบ้านปาไล่ช้างป่าที่เข้ามาหากินในเรือกสวนชาวบ้าน คือพอพ้นช่วงหน้าฝน ทางฝั่งพม่าจะมีการล่าช้าง ช้างก็จะหนีเข้ามาอาศัยอยู่ทางฝั่งไทย เข้ามาเก็บพืชที่ชาวบ้านปลูกไว้กิน เลยมีการกระทบกระทั่งระหว่างช้างกันคนกันบ้าง ครูอุรารัตน์บอกว่าช้างมันไม่ค่อยกลัวเสียงปิงปองเท่าไรนัก มันกลัวเสียงปืนมากกว่า เพราะเสียงปืนมันมีเสียงหัวกระสุนแหวกอากาศ (ที่ช้างมันได้ยิน) เพิ่มเข้ามาอีก

นับเป็นการเดินทางตะลุยเดี่ยวที่ได้ประสบการณ์ที่ดีมากครั้งหนึ่งของชีวิต

ไม่มีความคิดเห็น: