วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เรื่องของสุญญากาศกับ XPS MO Memoir : Tuesday 20 October 2552

เครื่อง XPS (X-ray Photoelectron Spectroscopy) เป็นเครื่องมือที่ราคาแพงเครื่องหนึ่งในแลปของเรา ราคาตอนที่ซื้อมานั้นกว่า 200,000 เหรียญสหรัฐ (นี่เป็นราคาของรุ่นต่ำสุดแล้วนะ และเป็นราคาเพื่อสถาบันการศึกษาซะด้วย) แต่ก็เป็นเครื่องที่มีปัญหามากเครื่องหนึ่ง สาเหตุหนึ่ง (หรือเป็นสาเหตุหลักเลยก็ได้) คือคนที่ต้องการใช้เครื่องไม่ได้สนใจที่จะเรียนรู้จักการทำงานของเครื่อง ไม่ได้สนใจที่จะเฝ้าดูการทำงานของเครื่องเพราะเห็นว่าเครื่องมันมีคอมพิวเตอร์ควบคุมตลอดเวลาแล้วคงไม่ต้องนั่งเฝ้าก็ได้ และที่สำคัญคือความเร่งรีบในการวิเคราะห์เพื่อให้มีผลการวิเคราะห์ส่ง (ขืนไม่มีเดี๋ยวโดนด่า) ทำให้เกิดการลัดขั้นตอนการเตรียมตัวอย่าง

มีอยู่ครั้งหนึ่งมีความพยายามที่จะออกกฎให้ทำการวิเคราะห์ตัวอย่าง (ให้ใส่ตัวอย่างเข้าเครื่อง) ได้ทีละ 1 ตัวอย่าง โดยอ้างเหตุผลว่าพอนิสิตใส่ตัวอย่างเข้าไปหลายตัวอย่างแล้ว พอเริ่มวิเคราะห์ตัวอย่างแรกความดันในห้องวิเคราะห์ก็เพิ่มสูงขึ้นกระทันหันเมื่อทำการวิเคราะห์ จนทำให้ระบบป้องกันของเครื่อง XPS หยุดการทำงานของเครื่อง แต่ตัวเครื่องนั้นสามารถรับได้ถึง 10 ตัวอย่าง (แต่จริง ๆ จะใส่เต็มที่ 9 แล้วว่างไว้ตำแหน่งหนึ่งสำหรับวางตัวอย่างมาตรฐาน) และในความเป็นจริงนั้นผมก็สามารถใส่ตัวอย่างเข้าวิเคราะห์ได้เต็มที่ถึง 9 ตัวอย่างและทำการวิเคราะห์ได้ทุกตัวอย่างโดยที่เครื่องไม่มีปัญหาใด ๆ สาเหตุที่ทำได้เป็นเพราะการใส่ตัวอย่างและการเตรียมการวิเคราะห์ได้ทำอย่างเหมาะสมและถูกต้อง เรื่องนี้ได้อธิบายไปหลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่มีใครสนใจที่จะปฏิบัติตาม ได้แต่ฟัง ๆ ไปอย่างงั้น ทั้งนี้ผมคิดว่าอาจเป็นเพราะว่าถ้าทำตามที่ผมบอกไว้ จะทำให้สามารถวิเคราะห์ตัวอย่างได้แค่ประมาณ 30 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ แม้ว่าจะทำการวิเคราะห์ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุดเลยก็ตาม (ตัวเลขนี้มาได้อย่างไรรอดูการคำนวณข้างล่างก็แล้วกัน) แต่ความต้องการผลการวิเคราะห์มาก ๆ โดยเร็วเพื่อ ...... (เติมคำในช่องว่างเอาเอง) ทำให้สิ่งที่ผมเตือนเอาไว้ไม่ได้รับความสนใจ

เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจในการเตรียมการวิเคราะห์คือ "ความสัมพันธ์ระหว่างตัวอย่างที่ต้องการวิเคราะห์กับการทำสุญญากาศของเครื่อง"

เครื่อง XPS นั้นวัดพลังงานจลน์ของอิเล็กตรอนที่หลุดออกมาจะอะตอมด้วยการกระตุ้นของรังสีเอ็กซ์พลังงานต่ำ (เส้น Mg Kα หรือ Al Kα) หรือลำอิเล็กตรอนพลังงานต่ำ เครื่อง XPS ที่ใช้ในแลปเรานั้นจะใช้รังสีเอ็กซ์เป็นตัวกระตุ้น อิเล็กตรอนที่หลุดออกมาซึ่งเรียกว่า photo electron นั้นมีพลังงานจลน์ต่ำ กล่าวคืออยู่ในระดับหลักสิบหรือหลักร้อยอิเล็กตรอนโวลต์ (eV) (เพื่อเป็นการเปรียบเทียบ ขอยกตัวอย่างลำอิเล็กตรอนที่ใช่ส่องดูตัวอย่างในกล้องจุลทรรศอิเล็กตรอน ซึ่งมีพลังงานในระดับหลักพันหรือหลักหมื่น eV) ดังนั้นเพื่อให้ photo electron ที่หลุดออกมาจากตัวอย่างเดินทางไปถึง detector ได้ ความดันในห้องวิเคราะห์จะต้องต่ำมาก โดยอยู่ในระดับที่เรียกว่าสุญญากาศยวดยิ่ง (Ultra High Vacuum - UHV) ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่า 10-10 mmHg หรือ 10-8 Pa (เพื่อเป็นการเปรียบเทียบ ความดันในการส่องตัวอย่างของกล้องจุลทรรศอิเล็กตรอนจะอยู่ที่ประมาณ 10-3 ถึง 10-4 Pa)

อุปกรณ์การทำสุญญากาศนั้นแตกต่างไปจากอุปกรณ์เพิ่มความดันให้เหนือบรรยากาศ ตัวอย่างเช่นในกรณีของการเพิ่มความดันนั้น ถ้าเราใช้ปั๊มหอยโข่ง (centrifugal pump) แล้วพบว่าความดันที่เพิ่มขึ้นนั้นยังสูงไม่พอ เราก็แก้ปัญหาได้โดยการเลือกปั๊มที่มีหลายใบพัดต่อนุกรมกันเพื่อเพิ่มขั้นตอนการอัด (การออกแบบยังเป็น centrifugal pump เหมือนเดิม) หรือเลือกใช้ปั๊มที่มีความเร็วรอบการหมุนสูงกว่าเดิมก็ได้ (ผมเคยปีประสบการณ์กับปั๊มหอยโข่ง single stage ที่สามารถอัดของเหลวจากความดันบรรยากาศขึ้นไปถึงประมาณ 70 bar (เมื่อวาวล์ด้านขาออกปิด) ในขั้นตอนเดียว แต่ว่าใบพัดหมุนที่ความเร็วกว่า 10,000 รอบต่อนาที (ปั๊มหอยโข่งทั่วไปจะหมุนด้วยความเร็วรอบประมาณ 1,500 รอบต่อนาทีหรือต่ำกว่า)) แต่การทำสุญญากาศและอุปกรณ์วัดความดันสุญญากาศนั้นจะขึ้นอยู่กับระดับสุญญากาศที่ต้องการ กล่าวคือปั๊มสุญญากาศที่ทำสุญญากาศได้ในระดับปานกลางหรือระดับต่ำ จะไม่สามารถทำสุญญากาศในระดับต่ำมากได้ (ต้องใช้ปั๊มที่ได้รับการออกแบบต่างระบบกันไปเลย)

ปั๊มสุญญากาศที่ทำสุญญากาศในระดับสุญญากาศยวดยิ่งหรือต่ำมาก จะไม่เหมาะสมหรือใช้งานได้ถ้าเริ่มต้นทำสุญญากาศยวดยิ่งจากความดันบรรยากาศ แต่จะดีกว่าถ้าเริ่มทำสุญญากาศยวดยิ่งจากระบบที่มีความดันต่ำกว่าบรรรยากาศในระดับหนึ่งแล้ว ส่วนอุปกรณ์วัดความดันนั้นก็เช่นกัน อุปกรณที่วัดความดันได้ต่ำจะไม่สามารถวัดความดันสูงได้ (เพราะเกจวัดความดันจะพัง) ในทำนองเดียวกันอุปกรณ์ที่วัดความดันสุญญากาศในระดับสุญญากาศยวดยิ่งหรือต่ำมากก็จะทำงานไม่ได้ถ้าระดับสุญญากาศนั้นยังไม่ต่ำมากพอ เพราะจะทำให้อุปกรณ์วัดความดันเสียหายได้

ต่อไปจะเริ่มกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างการใส่ตัวอย่างและการทำสุญญากาศของเรื่อง XPS ที่ใช้อยู่ในแลปของเราโดยขอให้พิจารณารูปที่ 1 ข้างล่างประกอบที่แสดงแผนผังอย่างง่ายของส่วนประกอบต่าง ๆ ของเครื่อง XPS ที่ใช้อยู่ในแลปของเรา

รูปที่ 1 แผนผังส่วนประกอบของเครื่อง XPS

ในการใส่ตัวอย่างเข้าเครื่องนั้น เราจะใส่ตัวอย่างเข้าในห้อง "ช่องใส่ตัวอย่าง" ก่อนโดยวางบนแขนสำหรับใส่ตัวอย่าง ห้องช่องใส่ตัวอย่างนี้เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างความเป็นสุญญากาศยวดยิ่งและบรรยากาศภายนอก ปริมาตรภายในของห้องช่องใส่ตัวอย่างจะมีขนาดเล็กเพื่อลดการปนเปื้อนของอากาศเข้าไปในห้องวิเคราะห์ นอกจากนี้ยังได้รับการ purge ด้วยแก๊สไนโตรเจนที่แห้ง (เพื่อป้องกันความชื้นและออกซิเจนเข้าไปในระบบ)

โดยทั่วไปเราจะใส่ตัวอย่างเข้าไปในห้องช่องใส่ตัวอย่างก่อน จากนั้นจะทำให้ห้องช่องใส่ตัวอย่างเป็นสุญญากาศในระดับหนึ่ง (ประมาณ 0.01-0.0001 Pa) เมื่อความดันในห้องช่องใส่ตัวอย่างลดต่ำลงถึงระดับความดันสูงสุดที่ยอมรับได้แล้วจะมีไฟสัญญาณแจ้ง จากนั้นจึงทำการเปิดวาล์วเพื่อเลื่อนแขนส่งตัวอย่างเข้าไปในห้องวิเคราะห์ พอตัวอย่างเข้าไปในห้องวิเคราะห์แล้วก็จะทำการเลื่อนแขนส่งตัวอย่างกลับมาอยู่ในห้องช่องใส่ตัวอย่าง และปิดวาวล์ของช่องทางเชื่อมต่อ

ในขณะที่เปิดวาลว์นั้น แก๊สที่ตกค้างอยู่ในห้องช่องใส่ตัวอย่างจะไหลเข้าไปในห้องวิเคราะห์ แม้ว่าปริมาตรของห้องวิเคราะห์จะใหญ่กว่าของห้องช่องใส่ตัวอย่างมาก แต่ห้องวิเคราะห์นั้นทำงานที่ความดันที่ต่ำกว่ามาก (10-8 Pa) ดังนั้นแก๊สที่ไหลจากห้องช่องใส่ตัวอย่างเข้าไปในห้องวิเคราะห์แม้ว่าจะมีความดันเพียง 0.01-0.0001 Pa แต่ก็มากเพียงพอที่อาจทำให้ความดันในห้องวิเคราะห์สูงเกินกว่าที่อุปกรณ์จะทำงานได้

ปัญหาแรกเกิดขึ้นตอนใส่ตัวอย่าง นิสิตส่วนใหญ่พอเห็นไฟสัญญาณบอกว่าความดันลดลงได้ที่แล้ว ก็ทำการป้อนตัวอย่างจากห้องช่องใส่ตัวอย่างเข้าไปในห้องวิเคราะห์ทันที ซึ่งวิธีการดังกล่าวนั้นไม่เหมาะสมเท่าใดนั้น เพราะไฟนั้นจะติดขึ้นเมื่อความดันในห้องช่องใส่ตัวอย่างลดลงถึงระดับความดันสูงสุดที่ยอมรับได้ (สมมุติว่าเป็น 0.01 Pa) แต่ถ้าเรารอต่อไปอีกแม้ว่าไฟสัญญาณจะติดแล้ว ความดันในห้องช่องใส่ตัวอย่างก็จะลดลงไปอีก (อาจลงไปเป็น 0.0001 Pa) ซึ่งทำให้ปริมาตรแก๊สที่รั่วเข้าไปในห้องวิเคราะห์นั้นแตกต่างกัน

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการปล่อยให้ตัวอย่างอยู่ในห้องช่องใส่ตัวอย่างเป็นเวลา 30 นาที จะทำให้แก๊สรั่วเข้าไปในห้องวิเคราะห์น้อยกว่าการปล่อยให้ตัวอย่างอยู่ในห้องช่องใส่ตัวอย่างเพียง 15 นาที

ถ้าเราวิเคราะห์ตัวอย่างเพียงตัวอย่างเดียว ปัญหาที่เกิดจากการรีบใส่ตัวอย่างเข้าไปในห้องวิเคราะห์อาจจะไม่เห็นผลเสมอไป แต่ถ้าเราทำการวิเคราะห์หลายตัวอย่างมักจะเกิดปัญหาขึ้นเสมอ ปั๊มสุญญากาศที่ดึงแก๊สออกจากห้องวิเคราะห์นั้นออกแบบมาทำงานที่ความดันที่ต่ำมาก และไม่เหมาะกับการปั๊มแก๊สในปริมาณมากออก และอุปกรณ์วัดความดันที่วัดความดันต่ำมากนั้น (ion gauge) ถ้าทำงานในภาวะที่มีความดันสูงเกินไปก็จะเกิดการเสียหายได้

สิ่งที่เกิดจากการใส่ตัวอย่างหลายตัวอย่างติดต่อกันโดยไม่ทิ้งตัวอย่างให้อยู่ในห้องช่องใส่ตัวอย่างนานพอคือ หลังจากป้อนตัวอย่างแรกเข้าไป จะทำให้ความดันในห้องวิเคราะห์สูงขึ้น (สมมุติว่าเป็น P1) ปั๊มสุญญากาศของห้องวิเคราะห์จะพยายามระบายแก๊สออกเพื่อให้ความดันลดต่ำลงเหมือนเดิม (สมมุติว่าค่าเดิมเป็น P0 โดย P1 > P0) แต่ถ้าเราป้อนตัวอย่างที่สองเข้ามาก่อนที่ความดันในห้องวิเคราะห์ (P) ยังไม่ลดลงต่ำเท่าเดิม (P1 > P > P0) จะทำให้ความดันในห้องวิเคราะห์หลังการป้อนตัวอย่างที่สองสูง (P2) กว่าความดันหลังการป้อนตัวอย่างแรก (ความดัน P + ความดันที่เกิดจากแก๊สที่ไหลเข้ามาเพิ่มเติม กลายเป็นความดัน P2 ซึ่งมากกว่า P1) และถ้าทำเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จะทำให้ความดันในห้องวิเคราะห์สูงจนระบบป้องกันความเสียหายทำงานและหยุดการทำงานของอุปกรณ์ได้

จากประสบการณ์นั้นผมพบว่าในการใส่ตัวอย่างแรกควรปล่อยให้ตัวอย่างแรกที่จะใส่อยู่ในห้องช่องใส่ตัวอย่างอย่างน้อย 15-20 นาทีก่อน จากนั้นจึงค่อยใส่ตัวอย่างที่สอง แต่ทั้งนี้มีข้อแม้ว่าถ้าความดันในห้องวิเคราะห์ยังไม่ลดต่ำลงกลับมาอยู่ที่ระดับประมาณ 10-6 Pa ก็ควรรอต่อไปอีก ซึ่งกว่าจะใส่ตัวอย่างสุดท้าย (ตัวอย่างที่ 9) ได้ ก็ต้องให้ตัวอย่างที่ 9 รออยู่ในห้องช่องใส่ตัวอย่างเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง และเมื่อใส่ตัวอย่างสุดท้ายเข้าไปแล้วก็ต้องทำสุญญากาศในห้องวิเคราะห์ต่อไปอีกอย่างน้อย 12 ชั่วโมง เพื่อให้ความดันในห้องวิเคราะห์ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 10-8 Pa จึงค่อยทำการวิเคราะห์ (ปรกติใส่ตัวอย่างแต่เช้าตรู่ ซึ่งตัวอย่างสุดท้ายจะใส่ได้ราวตอนเย็น และปล่อยให้ทำสุญญากาศต่อข้ามคืน แล้วค่อยมาเดินเครื่องวิเคราะห์ในเช้าวันถัดมา กล่าวคือใช้เวลา 2 วันวิคราะห์ได้ 9 ตัวอย่าง 6 วันก็จะวิเคราะห์ได้เต็มที่ 27 ตัวอย่าง)


ปัญหาที่สองคือความไม่พยายามหรือความไม่คิดที่จะทำความเข้าใจในพฤติกรรมของตัวอย่าง และการใช้สูตรสำเร็จในการใส่ตัวอย่าง ประเภทรุ่นพี่บอกว่าใส่ตัวอย่างเข้าไปรอในห้องช่องใส่ตัวอย่าง xxx นาที พอไฟติดก็เลื่อนตัวอย่างเข้าห้องวิเคราะห์ทันที ซึ่งนิสิตชอบทำกันแต่มันไม่ถูกต้อง โดยคิดว่าทำตามรุ่นพี่บอกก็เพียงพอแล้ว เพราะถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นก็จะได้รอดตัว เพราะอ้างได้ว่าก็รุ่นพี่ที่สอนเขาทำอย่างนี้เขาก็วิเคราะห์ได้ ผมก็ทำเหมือนเขาเช่นเดียวกัน

เพราะถ้าจะว่าไปแล้วระยะเวลาที่ควรปล่อยให้ตัวอย่างอยู่ในห้องช่องใส่ตัวอย่างก่อนที่จะใส่เข้าไปในห้องวิเคราะห์นั้น "ขึ้นอยู่กับชนิดตัวอย่าง" ด้วย ตัวอย่างบางชนิดนั้นไม่ต้องรอนาน แต่ตัวอย่างบางชนิดนั้นอาจต้องรอสักอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ตัวอย่างของแข็งแต่ละชนิดนั้นสามารถดูดซับแก๊สได้ในปริมาณหนึ่ง ปริมาณแก๊สที่ถูกดูดซับไว้บนพื้นผิวจะอยู่ในภาวะสมดุลกับความดันของระบบ ถ้าระบบมีความดันที่ต่ำลง พื้นผิวของแข็งก็จะคายแก๊สที่ถูกดูดซับไว้ออกมา ตัวอย่างที่มีพื้นที่ผิวสูงและมีรูพรุนขนาดเล็กจะใช้เวลาทำสุญญากาศนานกว่าตัวอย่างที่มีพื้นที่ผิวต่ำกว่าและมีรูพรุนขนาดใหญ่กว่า ใครที่วิเคราะห์ BET กับตัวอย่างที่เป็นซีโอไลต์ก็คงจะเห็นปัญหานี้ (คงเห็นนะถ้ามีการสังเกต แต่ถ้าไม่สังเกตก็จะไม่เห็น) เพราะตัวอย่างที่เป็นซีโอไลต์จะใช้เวลาทำสุญญากาศนานกว่าตัวอย่างที่มีพื้นที่ผิวต่ำกว่าและรูพรุนใหญ่กว่าเช่นไททาเนีย เช่นในกรณีของตัวอย่างที่เป็นซีโอไลต์ กว่าจะทำสุญญากาศได้ระดับก็ต้องทำกันข้ามคืน แต่ถ้าเป็นไททาเนียจะใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง ดังนั้นวิธีการใส่ตัวอย่างที่ใช้ได้ดีกับไททาเนียอาจใช้ไม่ได้เมื่อนำมาใช้กับซีโอไลต์ เพราะแก๊สที่อยู่บนพื้นผิวไททาเนียนั้นน้อยกว่า ทำให้เวลาการทำสุญญากาศสั้นกว่า

ดังนั้นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมเสมอในการกำหนดว่าเมื่อใดเราจึงจะสามารถย้ายตัวอย่างจากห้องช่องใส่ตัวอย่างเข้าไปในห้องวิเคราะห์ได้คือ "ความดันของห้องวิเคราะห์" ไม่ใช่ใช้แต่ "ความดันในห้องช่องใส่ตัวอย่าง" หรือ "เวลาที่อยู่ในห้องช่องใส่ตัวอย่าง" เพียงอย่างเดียว

ปัญหาที่สามคือการไม่คอยเฝ้าดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเริ่มฉายรังสีเอ็กซ์ลงไปบนตัวอย่าง ถ้าเราสังเกตดูในระหว่างที่รังสีเริ่มฉายรังสีเอ็กซ์ลงไปบนตัวอย่าง เราจะเห็นว่าความดันในห้องวิเคราะห์เพิ่มสูงขึ้น เหตุที่ความดันในห้องวิเคราะห์เพิ่มสูงขึ้นเป็นเพราะรังสีเอ็กซ์ทำให้ตัวอย่างร้อนขึ้น แก๊สที่ถูกดูดซับไว้อย่างแน่นหนาและยากที่จะหลุดออกมาด้วยการทำสุญญากาศจึงหลุดออกมาในขณะที่ตัวอย่างได้รับรังสีเอ็กซ์ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าตัวอย่างบางชนิดนั้น ถ้าไม่ทิ้งให้ตัวอย่างอยู่ในห้องวิเคราะห์นานเพียงพอ พอเริ่มวิเคราะห์ตัวอย่างแรกเท่านั้น แก๊สที่หลุดออกมาก็เพิ่มความดันในห้องวิเคราะห์ให้สูงจนเครื่องตัดการทำงานของระบบ ในกรณีเช่นนี้แม้ว่าความดันในห้องวิเคราะห์ลดลงถึง 10-8 Pa แล้ว แต่ก็ยังไม่ควรรีบวิเคราะห์ทันที ควรปล่อยให้ระบบสุญญากาศทำงานต่อเนื่องต่อไปอีกเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีหลายตัวอย่างอยู่ในห้องวิเคราะห์ก็ต้องปล่อยให้อยู่นานขึ้น

ตัวห้องวิเคราะห์นั้นเมื่อใช้งานไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง (แม้ว่าจะใช้งานอย่างถูกต้องก็ตาม) จะพบว่าระบบจะไม่สามารถลดความดันลงให้ต่ำมากได้ สาเหตุเป็นเพราะแก๊สที่ไหลเข้าไปในระบบจากการใส่ตัวอย่างแต่ละครั้ง และแก๊สที่ติดเข้าไปพร้อมกับตัวอย่างหลุดออกมาในขณะทำสุญญากาศหรือได้รับรังสีเอ็กซ์ ไปดูดซับอยู่บนพื้นผิวชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องวิเคราะห์ การแก้ปัญหาดังกล่าวทำได้โดยการให้ความร้อนแก่ห้องวิเคราะห์และปั๊มเอาแก๊สเหล่านั้นออกไป วิธีการนี้เรียกว่า "Baking" ซึ่งตัวเครื่องนั้นจะมีเทปให้ความร้อนพันอยู่รอบตัวเครื่องอยู่แล้ว ซึ่งการ baking นี้อาจกินเวลาหลายวันกว่าระบบจะกลับมาดีเหมือนเดิม

กล่าวโดยภาพรวมคือปัญหาที่ประสบไม่ว่ากับเครื่องมือใด ๆ คือ ผู้มีความต้องการใช้ไม่ยอมศึกษาวิธีการใช้งานเครื่องและปรับรูปแบบการทำงานให้เหมาะสมกับตัวอย่างของตนเอง คอยแต่ถามว่าคนอื่นทำอย่างไรและก็ทำตามนั้น ทั้ง ๆ ที่แต่ละคนวิเคราะห์ตัวอย่างที่แตกต่างกัน หรือไม่ก็หาทางหาคนอื่นมาทำการวิเคราะห์ให้แทน ซึ่งวิธีการที่เหมาะกับตัวอย่างหนึ่งไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้กับตัวอย่างอื่น ๆ ทุกตัวอย่าง พอมีปัญหาเกิดขึ้นทีไรก็บอกแต่เพียงว่าทำตามรุ่นพี่สอน จะว่าไปแล้วตัวรุ่นพี่เองก็จะบอกว่าทำตามรุ่นพี่ก่อนหน้าสอนมา เป็นอย่างนี้ย้อนหลังไปเรื่อย ๆ แต่ละคนไม่ยอมเสียเวลาที่จะหาวิธีการที่เหมาะสมกับตัวอย่างของตัวเอง เพราะเกรงว่าจะเหนื่อยอยู่คนเดียวและเสียเวลาทำการทดลองและคนอื่นจะได้ประโยชน์โดยที่ไม่ต้องเหนื่อย

เหตุการณ์ประเภทนี้ขณะนี้กำลังเกิดขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ตัวหนึ่งของแลปเรา มีคนอยากใช้งานอุปกรณ์ตัวนี้มาก แต่ไม่มีใครยอมมาจัดการปรับตั้งเครื่องมือ ใช้วิธีการไปทำงานอย่างอื่นก่อน โดยคาดหวังว่าจะต้องมีใครสักคนที่ไม่สามารถเลี่ยงไปทำงานอย่าอื่นได้แล้วก่อนตัวเองมาเป็นคนปรับตั้งเครื่องมือ แล้วตัวเองก็จะได้มาใช้งานต่อสบาย ๆ งานนี้เรียกว่าแข่งกันว่าใครดำน้ำได้อึดกว่ากัน มีการกล่าวโทษเครื่องมือว่าใช้งานไม่ดี ใช้งานไม่ได้ พอมาปรึกษาผม ผมก็บอกไปว่าการใช้งานเครื่องนี้มันเป็นศิลป ไม่ใช่ศาสตร์ เปรียบเสมือนกับการสอนวาดรูปคนนั่นแหละ เทคนิคการลากเส้นการลงแสงนั้นเป็นอย่างไร อาจารย์ผู้สอนบอกให้รู้ได้ แต่ผู้เรียนจะทำได้หรือเปล่าหรือทำได้แค่ไหนนั้นต้องมาจากการฝึกหัดทำของแต่ละคน ไม่ใช่ว่าพอวาดรูปไม่ได้แล้วโทษว่าดินสอกับกระดาษมันไม่ดี (ทั้ง ๆ ที่คนอื่นใช้ดินสอและกระดาษแบบเดียวกันกลับทำได้) แล้ววันหลังจะเล่าเรื่องใครดำน้ำได้อึดกว่ากันนี้ให้ฟัง

ไม่มีความคิดเห็น: