วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

ข้ามบางปะกงที่ท่าข้าม (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๖๐) MO Memoir 2557 Mar 31 Mon

ในประเทศไทยคงไม่มีแม่น้ำช่วงไหนที่จะมีสะพานข้ามหนาแน่นถึง ๕ สะพานเท่ากับถนนสายบางนา-ตราดช่วงกิโลเมตรที่ ๕๐ ที่เป็นจุดข้ามแม่น้ำบางปะกงที่ ต. ท่าข้าม อ. บางปะกง จ. ฉะเชิงเทรา ที่เป็นสะพานของถนนพื้นราบซะ ๔ สะพาน และของทางด่วนบูรพาวิถีอีก ๑ สะพาน (อันที่จริงทางด่วนนี้มันก็เหมือนกับเป็นสะพานทั้งเส้นอยู่แล้ว)
   
รูปที่ ๑ แผนที่ประเทศไทยจัดทำโดยกองทัพอังกฤษ เป็นแผนที่ในปีพ.ศ. ๒๔๘๘ ให้รายละเอียดไว้ว่า Great Britain. Army. Indian Field Survey Company. Siam 1 inch to 1 mile [cartographic material] 1945 - 9999. MAP G8025 s63. Part 43. นำมาจาก http://www.nla.gov.au/apps/cdview/?pi=nla.map-vn2018580
    
แผนที่ทหารของกองทัพอังกฤษ (รูปที่ ๑) ที่จัดทำในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ และจัดพิมพ์ในปีพ.ศ. ๒๔๘๘ (นำมาจาก http://www.nla.gov.au) ระบุว่าตรงบ้านท่าข้ามนั้นใช้เรือเฟอรี่ (หรือแพขนานยนต์) ข้ามฟากมายังอีกฝั่งหนึ่ง แต่ในหน้าเว็บของต.ท่าข้าม บอกว่ามีการสร้างสะพานตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๘๔ (http://www.thakam.go.th/data.php?menu_id=1 หน้าเว็บ ณ วันจันทร์ที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๗) แต่จากวารสารทางหลวงออนไลน์ที่นำเอาข้อมูลจากวารสารทางหลวงปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๑ มกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ระบุไว้ว่าสะพานดังกล่าวเริ่มสร้างเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2492 แล้วเสร็จบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 12เมษายน 2494 บริษัทสง่าพาณิชย์เป็นผู้รับจ้าง รวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 6,124,000.00 บาท ความยาวทั้งสิ้น 340 เมตร ทางจราจรกว้าง 6.00 เมตร มีทางเท้า 2 ข้าง กว้างข้างละ 0.040 เมตร มีเสาตอม่อรองรับสะพาน 25 ตัน (ในหน้าเว็บใช้ " ั " ไม่ได้ใช้ " ้ " (จาก http://it-programmer.doh.go.th:8080/Highways_Journal/index.php?option=com_content&task=view&id=29&Itemid=93 หน้าเว็บ ณ วันจันทร์ที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๗) และให้ชื่อสะพานดังกล่าวว่า "สะพานเทพหัสดิน"
   
ในอดีตนั้นการเดินทางจากกรุงเทพไปยังจังหวัดชลบุรีด้วยรถยนต์นั้นต้องเดินทางอ้อมเป็นทางไกล รถยนต์ต้องเดินทางมาตามถนนสุขุมวิทปัจจุบันมายังบ้านท่าข้าม แล้วต้องมุ่งไปยังจังหวัดฉะเชิงเทราก่อน แล้วจึงค่อยเข้าชลบุรีทางอำเภอพนัสนิคม ประวัติการสร้างทางเชื่อมจากบ้านท่าข้ามไปยังตัวเมืองชลบุรีนั้นมีปรากฏในบันทึกของพลตรีพระยาอานุภาพไตรภพ (จำรัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ที่พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ (รูปที่ ๒ และ ๓) ซึ่งได้กล่าวถึงปัญหาการตัดถนนในบริเวณดังกล่าวเนื่องจากสภาพพื้นดิน ซึ่งในแผนที่ทหารฉบับปีพ.ศ. ๒๔๘๘ (รูปที่ ๑) หรือฉบับปีพ.ศ. ๒๕๐๓ ก็แสดงให้เห็นพื้นที่บริเวณบ้านท่าข้ามยาวมาถึงคลองตำหรุดังกล่าวเป็นพื้นที่ของป่าชายเลน

ภายหลังจากมีการตัดถนนสายบางนา-ตราดเพิ่มขึ้นและมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงเพิ่มเติมขนานไปกับสะพานเทพหัสดิน ก็ได้มีการรื้อสะพานเทพหัสดินช่วงกลางสะพานเดิมออก จำได้ว่าเมื่อช่วงปีพ.ศ. ๒๕๓๑ ที่ขับรถผ่านเส้นทางสายนี้ไปยังจังหวัดระยอง สมัยนั้นถนนสายบางนา-ตราดจะมีด่านเก็บเงินค่าผ่านทาง ๓ บาทที่บางสมัคร (ประมาณกิโลเมตรที่ ๔๐ หรือ ๔๑ ในปัจจุบัน) ถนนสายนี้เป็นถนน ๔ ช่องทางจราจร (ไปสองกลับสอง) เวลาขับรถข้ามแม่น้ำบางปะกง (กิโลเมตรที่ ๕๐) ก็จะเห็นสะพานเทพหัสดินส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่โดยมีคนมายืนตกปลาอยู่ที่ปลายสะพาน เช้าวันวานระหว่างขับรถเข้ากรุงเทพก็เพิ่งจะมีโอกาสหยุดรถแวะถ่ายรูปเอาไว้ไปที่ระลึกหน่อย (รูปที่ ๕ และ ๖) หลังจากที่ใช้เส้นทางสายนี้เป็นประจำมาร่วม ๓๐ ปีแล้ว
  
ถนนสายนี้ตอนที่เขาขยายช่องจราจรมันก็แปลกดี คือฝั่งด้านขาออก (กรุงเทพ-ชลบุรี) นั้น ด้านช่องทางด่วนมี ๒ ช่องจราจรตามแนวถนนเดิมที่วางเอาไว้ และสะพานข้ามแม่น้ำของช่องทางด่วนก็เป็นสะพานเดิมที่มี ๒ ช่องจราจร แต่สะพานของช่องทางคู่ขนานที่มี ๒ ช่องทางจราจรนั้นเป็นสะพานที่สร้างขึ้นมาใหม่ มี ๓ ช่องจราจร แต่พอมาเป็นด้านฝั่งขาเข้า (ชลบุรี-กรุงเทพ) แนวถนนเดิมช่วงข้ามแม่น้ำนั้นกลายเป็นช่องทางคู่ขนาน ส่วนช่องทางด่วนนั้นเป็นแนวถนนที่ตัดขึ้นมาใหม่มี ๓ ช่องทางจราจร ทำให้สะพานที่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ก็มี ๓ ช่องทางจราจรด้วย

ถ้าอยากทราบว่าบรรยากาศถนนสายนี้ในอดีตเป็นอย่างไร ขอแนะนำให้ไปดูคลิป "บางละมุง-ศรีราชา-ชลบุรี ปี 2495" ที่มีผู้ใจดีเอามาลงเผยแพร่ไว้ใน youtube ที่ http://www.youtube.com/watch?v=2C2sRjwYXBc ในคลิปนี้ไม่เพียงแต่จะมีภาพของสะพานเทพหัสดินในอดีต (ดังภาพที่จับจากคลิปในรูปที่ ๗-๙) แต่ยังมีภาพรถไฟเล็กลากไม้ของบริษัททำไม้ที่ศรีราชา ที่มีเส้นทางรถไฟไปลงทะเลที่เกาะลอย และภาพของบ่อน้ำร้อนที่บางพระ ที่ปัจจุบันจมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำไปแล้ว
   
รูปที่ ๒ หน้า ๘๖ ของหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลตรีพระยาอานุภาพไตรภพ (จำรัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา) (๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๔)
     
รูปที่ ๓ หน้า ๘๗ ของหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลตรีพระยาอานุภาพไตรภพ (จำรัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา) (๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๔)
    
รูปที่ ๔ แผนที่รหัส L509 จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกองทัพสหรัฐกับกรมแผนที่ทหารของไทย มีการระบุว่ามุมระหว่างทิศเหนือจริงกับทิศเหนือแม่เหล็กเป็นมุมในปีค.ศ. ๑๙๖๐ (พ.ศ. ๒๕๐๓) (พิมพ์ครั้งที่ ๒) ดังนั้นข้อมูลในแผนที่จึงควรเป็นข้อมูลก่อนปีพ.ศ. ๒๕๐๓ รายละเอียดของแผนที่ดังกล่าวระบุว่าจัดพิมพ์ปีค.ศ. ๑๙๕๗ (พ.ศ. ๒๕๐๐) (สงสัยว่าเป็นการพิมพ์ครั้งแรก) จะเห็นว่าถ้าไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงที่ท่าข้าม การเดินทางโดยรถยนต์ถ้าต้องไปฉะเชิงเทราก่อน จากนั้นลงมาพนัสนิมคม แล้วค่อยเข้าชลบุรีอีกครั้ง จะเป็นระยะทางที่อ้อมมาก และบริเวณท่าข้ามยังเป็นป่าชายเลนทั้งหมด
    
รูปที่ ๕ สะพานเทพหัสดินเดิม ฝั่งด้านทิศใต้ (ต.ท่าข้าม) เหลือซากแค่นี้
   
รูปที่ ๖ ถ่ายรูปจากแพตกปลาใต้สะพาน มองออกไปทางปากน้ำบางปะกง ที่โผล่ออกมาทางด้านซ้ายคือสะพานเทพหัสดินเดิม
    
รูปที่ ๗ ป้ายชื่อสะพานเทพหัสดินในอดีต คลิปต้นฉบับดูที่ http://www.youtube.com/watch?v=2C2sRjwYXBc
  
รูปที่ ๘ รถวิ่งข้ามสะพานเทพหัสดิน จากรูปนี้ที่พอรถวิ่งพ้นสะพานแล้วต้องเลี้ยวขวาแสดงว่าเป็นการข้ามจากฝั่งด้านทิศเหนือไปทิศใต้ (มุ่งหน้าไปยังชลบุรี) คลิปต้นฉบับดูที่ http://www.youtube.com/watch?v=2C2sRjwYXBc
 
รูปที่ ๙ รถวิ่งข้ามสะพานเทพหัสดินเช่นกัน รูปนี้รถมาจากทางด้านซ้ายก่อนวิ่งขึ้นสะพานแสดงว่าเป็นการข้ามจากฝั่งด้านทิศเหนือไปทิศใต้ (ในรูปเป็นการมองไปยังเส้นทางกลับกรุงเทพ) คลิปต้นฉบับดูที่ http://www.youtube.com/watch?v=2C2sRjwYXBc

แต่ก่อนเคยได้ยินคนเล่าว่าเวลานั่งรถข้ามแม่น้ำบางปะกงถ้าจะอธิฐานขออะไรก็ให้กลั้นหายใจก่อนที่รถจะขึ้นสะพาน และต้องกลั้นหายใจให้ตลอดจนกว่ารถจะวิ่งพ้นสะพาน ถ้าทำได้คำอธิฐานก็จะเป็นจริง ถ้าใครอยากรู้ว่าจริงเท็จหรือไม่อย่างไร ผ่านไปทางนั้นเมื่อไร ก็เชิญทดลองเอาเอง

วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2557

วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ ภาค ๒ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๕๙) MO Memoir 2557 Mar 27 Thu

ผมเคยเล่าเรื่องคนไทยที่มีการกล่าวถึงโดยเชลยศึกชาวอังกฤษที่กองทัพญี่ปุ่นนำเข้ามาสร้างทางรถไฟในประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ คือ "คุณ บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์" ไว้ใน Memoirปีที่ ๕ ฉบับที่ ๖๒๒ วันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เรื่อง "บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๔๖)" ซึ่งเป็นเรื่องราวของคุณบุญผ่องที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ "The colonel of Tamarkan : Philip Toosey and the bridge on the river Kwai" ที่เขียนโดยJulie Summers ผู้เป็นหลานของพันเอก Toosey หนึ่งในเชลยศึกในค่ายกักกันดังกล่าว
  
ละครโทรทัศน์ที่สร้างจากเรื่องจริงของคุณบุญผ่องที่ฉายไปเมื่อหน้าร้อนของปีที่แล้วดูเหมือนจะไม่ได้รับความสนใจเท่าใดนัก เพราะขณะนั้นกระแสไปอยู่ที่หน้าตาของนักแสดงในละครที่สร้างจากเรื่องแต่งหมด
  
รูปที่ ๑ จาก http://www.awm.gov.au/view/collection/item/P00779.002/
KANCHANABURI, THAILAND. 1943-04. BOONPONG SIRIVEJCHAPAN SITTING AT A TABLE IN HIS GENERAL STORE IN PARKPRAG ROAD. PRISONERS OF WAR AT THE NEARBY CAMP, INCLUDING COLONEL PHILLIP TOOSEY, ENCOURAGED THEIR JAPANESE GUARDS TO DRINK AT THE SHOP SO THE POWS COULD MAKE ARRANGEMENTS FOR MEDICAL DRUGS AND MONEY SUPPLIED BY BOONPONG TO BE DELIVERED TO THE CAMP.
  
ระหว่างค้นคว้าข้อมูลประวัติศาสตร์ประเทศไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ทางฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นผู้บันทึกไว้ ก็บังเอิญไปเจอภาพครอบครัวคุณบุญผ่องในช่วงสงครามที่มีการบันทึกเอาไว้ในปีค.ศ. ๑๙๔๓ (พ.ศ. ๒๔๘๖) ที่เว็บของ Australian war memorial ส่วนใครเป็นผู้บันทึกเอาไว้นั้นก็ไม่มีรายละเอียดให้ไว้
  
ภาพชุดนี้มี ๘ ภาพเป็นภาพขาวดำถ่ายในบ้าน ภาพค่อนข้างจะมืดและไม่คมชัดเท่าใด เลยไม่แน่ใจว่าเป็นการแอบถ่ายหรือไม่ เพราะเป็นการถ่ายภาพเดี่ยวบุคคลต่าง ๆ ในครอบครัวคุณบุญผ่องทีละคน

รูปที่ ๑ และ ๒ นั้นเป็นรูปของคุณบุญผ่อง ส่วนรูปที่ ๓ ในหน้าถัดไปเป็นรูปของคุณผณี บุตรสาวของคุณบุญผ่อง ในภาพระบุว่าขณะนั้นคุณผณีมีอายุ ๑๓ ปี
  
รูปที่ ๔ ระบุว่าเป็นรูปสาวใช้ ส่วนรูปที่ ๕-๗ นั้นเป็นรูปคุณสุรัตน์ ภรรยาของคุณบุญผ่อง
  
ส่วนรูปที่ ๘ นั้นระบุว่าเป็นรูปคุณสุรัตน์และเพื่อชาวญี่ปุ่นชื่อมิชิโกะ
  
KANCHANABURI, THAILAND. 1943-03. BOONPONG SIRIVEJCHAPAN SITTING AT A TABLE IN HIS GENERAL STORE IN PARKPRAG ROAD. PRISONERS OF WAR AT THE NEARBY CAMP, INCLUDING COLONEL PHILLIP TOOSEY, ENCOURAGED THEIR JAPANESE GUARDS TO DRINK AT THE SHOP SO THE POWS COULD MAKE ARRANGEMENTS FOR MEDICAL DRUGS AND MONEY SUPPLIED BY BOONPONG TO BE DELIVERED TO THE CAMP.
  
รูปที่ ๓ จาก http://www.awm.gov.au/view/collection/item/P00779.003/
KANCHANABURI, THAILAND. 1943. PANEE SIRIVEJCHAPAN (AGED THIRTEEN) SITTING AT A TABLE IN THE GENERAL STORE IN PARKPRAG ROAD OWNED BY HER FATHER, BOONPONG. PRISONERS OF WAR AT THE NEARBY CAMP, INCLUDING COLONEL PHILLIP TOOSEY, ENCOURAGED THEIR JAPANESE GUARDS TO DRINK AT THE SHOP SO THE POWS COULD MAKE ARRANGEMENTS FOR MEDICAL DRUGS AND MONEY SUPPLIED BY BOONPONG TO BE DELIVERED TO THE CAMP.
  
รูปที่ ๔ จาก http://www.awm.gov.au/view/collection/item/P00779.004/
KANCHANABURI, THAILAND. 1943. A HOUSE MAID WITH THE SIRIVEJCHAPAH FAMILY SITTING AT A TABLE IN THE GENERAL STORE IN PARKPRAG ROAD OWNED BY BOONPONG SIRIVEJCHAPAH. PRISONERS OF WAR AT THE NEARBY CAMP, INCLUDING COLONEL PHILLIP TOOSEY, ENCOURAGED THEIR JAPANESE GUARDS TO DRINK AT THE SHOP SO THE POWS COULD MAKE ARRANGEMENTS FOR MEDICAL DRUGS AND MONEY SUPPLIED BY BOONPONG TO BE DELIVERED TO THE CAMP.
  
รูปที่ ๕ จาก http://www.awm.gov.au/view/collection/item/P00779.005/
KANCHANABURI, THAILAND. 1943. MRS SURAT SIRIVEJCHAPAH SITTING AT A TABLE IN THE GENERAL STORE IN PARKPRAG ROAD OWNED BY BOONPONG SIRIVEJCHAPAH. MRS SURAT RAN THE STORE WHILE MR BOONPONG DID THE ERRANDS AND DELIVERIES. PRISONERS OF WAR AT THE NEARBY CAMP, INCLUDING COLONEL PHILLIP TOOSEY, ENCOURAGED THEIR JAPANESE GUARDS TO DRINK AT THE SHOP SO THE POWS COULD ARRANGEMENTS FOR MEDICAL DRUGS AND MONEY SUPPLIED BY BOONPONG TO BE DELIVERED TO THE CAMP.
  
รูปที่ ๖ จากhttp://www.awm.gov.au/view/collection/item/P00779.006/
KANCHANABURI, THAILAND. 1943. MRS SURAT SIRIVEJCHAPAH SITTING AT A TABLE IN THE GENERAL STORE IN PARKPRAG ROAD OWNED BY BOONPONG SIRIVEJCHAPAH. MRS SURAT RAN THE STORE WHILE MR BOONPONG DID THE ERRANDS AND DELIVERIES. PRISONERS OF WAR AT THE NEARBY CAMP, INCLUDING COLONEL PHILLIP TOOSEY, ENCOURAGED THEIR JAPANESE GUARDS TO DRINK AT THE SHOP SO THE POWS COULD ARRANGEMENTS FOR MEDICAL DRUGS AND MONEY SUPPLIED BY BOONPONG TO BE DELIVERED TO THE CAMP.
 
รูปที่ ๗ จาก http://www.awm.gov.au/view/collection/item/P00779.007/
KANCHANABURI, THAILAND. 1943. MRS SURAT SIRIVEJCHAPAH SITTING AT A TABLE IN THE GENERAL STORE IN PARKPRAG ROAD OWNED BY BOONPONG SIRIVEJCHAPAH. NOTE THE ROWS OF CANNED FOOD ON THE SHELVES BEHIND HER. MRS SURAT RAN THE STORE WHILE MR BOONPONG DID THE ERRANDS AND DELIVERIES. PRISONERS OF WAR AT THE NEARBY CAMP, INCLUDING COLONEL PHILLIP TOOSEY, ENCOURAGED THEIR JAPANESE GUARDS TO DRINK AT THE SHOP SO THE POWS COULD MAKE ARRANGEMENTS FOR MEDICAL DRUGS AND MONEY SUPPLIED BY BOONPONG TO BE DELIVERED TO THE CAMP.
  
รูปที่ ๘ จาก http://www.awm.gov.au/view/collection/item/P00779.008/
KANCHANABURI, THAILAND. 1943. MRS SURAT SIRIVEJCHAPAH AND HER JAPANESE NEIGHBOUR, MICHIKO, SITTING AT A TABLE IN THE GENERAL STORE IN PARKPRAG ROAD OWNED BY BOONPONG SIRIVEJCHAPAH. MRS SURAT RAN THE STORE WHILE MR BOONPONG DID THE ERRANDS AND DELIVERIES. SHE PRACTISED HER JAPANESE WITH MICHIKO SO SHE COULD DISTRACT THE JAPANESE GUARDS WHILE THE POWS PASSED NOTES TO BOONPONG. PRISONERS OF WAR AT THE NEARBY CAMP, INCLUDING COLONEL PHILLIP TOOSEY, ENCOURAGED THEIR JAPANESE GUARDS TO DRINK AT THE SHOP SO THE POWS COULD MAKE ARRANGEMENTS FOR MEDICAL DRUGS AND MONEY SUPPLIED BY BOONPONG TO BE DELIVERED TO THE CAMP.

รูปที่ ๙ และ ๑๐ ในหน้าถัดไปนั้นผมนำมาจากหนังสือ "Prisoner of war : Voices from behind the wire" โดย Charles Rollings หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมบันทึกความทรงจำของทหารอังกฤษที่ตกเป็นเชลยศึกในสมรภูมิต่าง ๆ ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ และมีบันทึกความทรงจำของ Corporal Charles Kinahan จากหน่วย Straits Settlement Volunteer Force ที่ตกเป็นเชลยศึกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๒ (พ.ศ. ๒๔๘๕) จนสงครามสิ้นสุด นายทหารผู้นี้เป็นหนึ่งในผู้ที่มีโอกาสได้ติดต่อกับคุณบุญผ่องในช่วงระหว่างสงคราม เขากล่าวถึงคุณบุญผ่องเอาไว้อย่างไรบ้างก็ขอเชิญอ่านเอาเองก็แล้วกัน
  
รูปที่ ๙ (บน) หนังสือ "Prisoner of war : Voices from behind the wire" (ล่าง) ข้อความที่คัดลอกมาจากหน้า ๒๐๕-๒๐๖ ของหนังสือดังกล่าว
  
รูปที่ ๑๐ ข้อความที่คัดมาจากหน้า ๓๒๕-๓๒๖ ของหนังสือเล่มเดียวกัน

วันพุธที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2557

ปลั๊กและเต้ารับชนิด Explosion proof MO Memoir 2557 Mar 26 Wed

สัปดาห์ที่แล้วไปรื้อตู้เก็บอุปกรณ์ไฟฟ้า เห็นมีปลั๊กไฟและเต้ารับชนิด Explosion proof แอบหลบซ่อนอยู่ในตู้ ก็เลยถือโอกาสเอามาแกะเล่นดูว่าข้างในมันประกอบด้วยอะไรบ้าง ปลั๊กและเต้ารับชนิดนี้เป็นชนิดที่ติดตั้งมากับตัวอาคารเมื่อสร้างอาคารเสร็จ (รวมทั้งโคมไฟแสงสว่างด้วย) ส่วนที่ว่ามันมาได้อย่างไรนั้นตอนที่ได้รับฟังเหตุผลเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วผมถึงกับส่ายหัว
  
อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เรียกว่า "Explosion proof" นั้นคืออะไร ใช้เมื่อใดนั้น เคยเล่าเอาไว้เมื่อ ๔ ปีที่แล้วใน Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๔๐ วันพุธที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เรื่อง "Electricalsafety for chemical processes
   
คำว่า "Explosion proof" ที่เราแปลออกมาว่า "กันระเบิด" นั้นทำให้คนจำนวนไม่น้อย (ไม่เว้นแม้แต่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเอง) เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของอุปกรณ์ประเภทนี้ เพราะว่าไปแล้วคำว่า "proof" นั้นแปลเป็นไทยได้เป็น "ผ่านการตรวจสอบ" หรือ "ซึ่งต้านทานได้" มันไม่ได้แปลว่า "ไม่"
  
ปลั๊กและเต้ารับชนิด Explosion proof จะมีหน้าตาอย่างไรนั้นมันขึ้นอยู่กับแต่ละยี่ห้อ ที่เอามาให้ดูเป็นยี่ห้อที่ติดตั้งมากับอาคารที่เราใช้เป็นห้องปฏิบัติการ การใช้งานปลั๊กพวกนี้มันมีความแตกต่างไปจากปลั๊กทั่วไปที่เราใช้กันอยู่เล็กน้อย เพราะเคยมีคนเอาปลั๊กสามขาแบบธรรมดา (สายดินที่เป็นขากลม ส่วนอีกสองขาเป็นชนิดขาแบน) ไปเสียบมันก็เสียบได้ เพราะรูขาด้านหนึ่งนั้นมันออกแบบให้รับได้ทั้งขาแบนที่วางนอนและขาแบนที่วางตั้ง (รูปที่ ๒) แต่ไม่มีการจ่ายกระแสไฟฟ้าเพราะเมื่อเสียบปลั๊กตัวผู้แล้วต้องมีการบิดเล็กน้อย (ดูรูปที่ ๑)
   
รูปที่ ๑ ซ้ายคือตัวเต้ารับ ส่วนตัวกลางและขวาคือตัวปลั๊ก เวลาใช้งานเมื่อเสียบปลั๊กเข้าไปแล้วก็ต้องมีการบิดตัวปลั๊กไปตามทิศทางที่ลูกศรชี้ด้วย ไม่งั้นมันไม่จ่ายไฟฟ้า และเวลาจะถอดปลั๊กก็ต้องบิดกลับด้วย ไม่งั้นมันดึงไม่ออก พึงสังเกตนะว่าทั้งเต้ารับและปลั๊กต่างมีหมายเลขประจำเฉพาะแต่ละอัน
   
รูปที่ ๒ รูปร่างของรูของเต้ารับและขาของปลั๊ก จะเห็นว่ามีการใช้รูปร่างที่แตกต่างกัน
     
รูปที่ ๓ ขา ground ไม่ได้ต่อกับสายดิน แต่ต่อเข้ากับลำตัวเต้ารับ ซึ่งต้องต่อลงดินผ่านระบบท่อร้อยสายไฟ

รูปที่ ๔ รื้อปลั๊กออกมาดูเล่น ว่าข้างในมีอะไรพิเศษไหม ก็ไม่เห็นมีอะไร
  
รูปที่ ๕ รูปขณะใช้งาน

ปลั๊กตัวผู้ภาษาอังกฤษเรียกว่า "Plug" ส่วนปลั๊กตัวเมียเรียกว่า "Socket" หรือ "Receptacle" ของบ้านเราเองมันไม่มีมาตรฐานอยู่นานว่าปลั๊กตัวผู้และปลั๊กตัวเมียควรจะเป็นรูปแบบไหน ผลก็คืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่จำหน่ายในบ้านเราและนำเข้าจากต่างประเทศเต็มไปด้วยปลั๊กตัวผู้หน้าตาต่าง ๆ เต็มไปหมด แถมเราก็มีปลั๊กตัวเมียแบบมีรูที่ปลั๊กตัวผู้ไม่ว่าจะมีรูปทางไหนเสียบได้เกือบหมด (จะยกเว้นก็พวกขาแบนแบบเฉียง) ประเทศเราเองเพิ่งจะมีมาตรฐานกำหนดรูปร่างหน้าตาปลั๊กตัวผู้ได้ไม่นานนี้เอง

วันนี้นำเสนอเรื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงต่ำก่อน คราวถัดไปจะนำเสนอเรื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูงบ้าง

วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2557

หิ่งห้อย ณ บางพลัด MO Memoir 2557 Mar 23 Sun


คลิปหิ่งห้อยกระพริบแสง

ผมย้ายกลับมาอยู่ที่นี่ในปี ๒๕๒๑ ที่บอกว่าย้ายกลับมาก็เพราะตอนผมเกิดนั้นคุณพ่อคุณแม่บอกว่ามาเช่าบ้านอยู่แถวนี้พักหนึ่ง ก่อนย้ายออกไปอยู่ท้องที่อื่น และกลับมาอยู่ที่นี่อีกครั้ง ตอนนั้นชุมชนที่อยู่ในซอยแถวนี้เป็นอย่างไร ปัจจุบันก็ไม่ค่อยแตกต่างไปเท่าไรนัก จะมีเปลี่ยนไปบ้างก็แถวริมถนนจรัญสนิทวงศ์ ที่มีห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้น มีโรงแรมเกิดขึ้น มีโรงพยาบาลเอกชนเกิดขึ้น และกำลังจะมีรถไฟลอยฟ้า ส่วนด้านหลังที่โดนล้อมไว้ด้วยทางรถไฟสายใต้นั้นก็กำลังจะมีระบบรถไฟขนส่งมวลชน และทางด่วนสำหรับรถยนต์
   
แต่ชุมชนที่อยู่ในซอยนั้น ในขณะนี้ก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม มีเปลี่ยนไปบ้างก็มีการรื้อบ้านเก่าเพื่อสร้างหลังใหม่
  
บ้านที่อยู่นั้นเป็นบ้านจัดสรร ซอยที่มาอยู่เป็นซอยตันมีบ้านอยู่ ๘ หลัง (แถวละ ๔ หลัง) เป็นบ้านชั้นเดียวกันทั้งหมด บ้านที่มาอยู่ก็เป็นบ้านสุดซอย ด้านหลังบ้านเป็นสวนผลไม้ที่ไม่ค่อยมีใครมาดูแลเท่าใดนัก เหมือนกับเป็นสวนรก ๆ มากกว่า มาอยู่ใหม่ ๆ ยังได้เห็นนกหัวขวานมาบินมาเจาะต้นหมากในสวนหลังบ้าน แต่ก็ไม่เห็นนานแล้ว ปัจจุบันที่พอจะมีแวะมาเยี่ยมเยียนบ้างบางครั้งเห็นจะได้แก่นกแซงแซว ส่วนดุเหว่านี่ไม่เห็นตัวถนัดสักที แต่ได้ยินเสียงร้องตอนเช้ามืดเป็นประจำ เรียกว่าไม่ต้องพึ่งนาฬิกาปลุกก็ได้ ฟังเสียงดุเหว่าร้องบอกเวลาแทน


ธรรมชาติไม่ได้มีเพียงต้นไม้ และความงดงามของธรรมชาติก็ไม่ได้แปลว่าต้นไม้ต้องขึ้นเรียงเป็นแถวเป็นระเบียบเรียบร้อย แยกกันตามชนิด ผมเชื่อว่าชาวสวนทางฝั่งธนเข้าใจในข้อนี้ดี การทำสวนของเขาจึงเต็มไปด้วยการปลูกต้นไม้หลายหลายสายพันธุ์ผสมกัน บรรยากาศจึงมีทั้งต้นไม้หลายหลายชนิดขึ้นรวมกัน ทั้งไม้ดอกและไม้ผล ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สวนดั้งเดิมนั้นมีทั้งแมลงและนกหลากหลายสายพันธุ์อยู่รวมกันเต็มไปหมด
    
ถ้ากลางวันเป็นความงดงามของสีสัน กลางคือก็เป็นความงดงามของเสียงแสง ช่วงเย็นใกล้ค่ำจนถึงหัวค่ำนั้นมักจะเป็นช่วงเวลาที่สัตว์อีกกลุ่มหนึ่งออกมาใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสัตว์หากินตอนกลางคืน หรือแมลงที่ออกมาส่งเสียงร้องเรียกเพื่อนฝูง หรือบินออกมาเล่นลม 
   
และสิ่งหนึ่งที่ทำให้ชอบและผูกพันกับที่นี่เป็นพิเศษ รู้สึกตื่นเต้นตั้งแต่ย้ายมาอยู่ตอนเด็ก ๆ และปัจจุบันก็ยังมีให้เห็นแทบทุกคืนที่โผล่มองออกไปนอกหน้าต่างก็คือ "หิ่งห้อย" ที่บินล่องลอยอยู่ในสวนหลังบ้านตอนกลางคืน
   
หิ่งห้อยเป็นแมลงที่ส่องแสงออกมาได้จากบริเวณส่วนท้องของมัน สำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองแล้ว เพื่อจะได้เห็นหิ่งห้อยสักครั้งอาจหมายถึงการต้องเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่เขาโฆษณาว่ามีการนั่งเรือชมหิ่งห้อย แต่สำหรับคนที่มีบ้านอยู่ในซอยแถวบางพลัดแล้ว การมีหิ่งห้อยให้ชมก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร ก็เพียงแค่พยายามอย่าให้มีแสงจากตัวบ้านออกไปรบกวนการใช้ชีวิตในเวลากลางคืนของหิ่งห้อยเท่านั้นเอง
   
ผมสร้างบ้านใหม่เป็นบ้านสองชั้น ชั้นบนของบ้านนั้นจะสูงกว่ารั้ว ทำให้มองเห็นบรรยากาศในสวนหลังบ้านตอนกลางคืนได้ชัด แต่ก็จะพยายามไม่เปิดไฟในห้องทิ้งไว้ เพราะแสงจากหน้าต่างจะส่องสว่างเข้าไปในสวน แต่ถ้าต้องเปิดก็มักจะปิดม่านเพื่อไม่ให้แสงจากห้องออกไปส่องออกไป เพราะถ้ามีแสงส่องสว่างในสวนเมื่อใด หิ่งห้อยมักจะหลบซ่อนตัวด้วยการไม่กระพริบแสง หรือไม่ก็บินหนีไป และปรกติมันก็จะบินอยู่ในสวน ไม่บินข้ามรั้วเข้ามาในบริเวณบ้าน เว้นแต่ว่าจะปิดไฟบริเวณรอบบ้านโดยเฉพาะด้านที่ติดสวนเพื่อให้บริเวณดังกล่าวมืด ก็อาจจะมีหิ่งห้อยบินเล่นเข้ามาในบ้าน รูปที่เอามาให้ดูในหน้าที่แล้วเป็นรูปที่ถ่ายเมื่อกว่าสองปีที่แล้ว ส่วนคลิปวิดิโอนั้นถ่ายเอาไว้เมื่อคืนด้วยกล้องมือถือ คือมันมาส่งแสงกระพริบอยู่ตัวเดียวข้างหน้าต่างห้องครัว ก็เลยออกไปยืนถ่ายคลิปหิ่งห้อยกระพริบแสง แต่พอเปลี่ยนเป็นจะถ่ายรูป พอแสงแฟลชกระพริบขึ้น หิ่งห้อยก็บินหนีทันที
   
สวนหลังบ้านนี้ไม่ได้มีหิ่งห้อยเกาะเต็มต้นไม้ มีแต่บินไปมาให้ดูเล่นในตอนกลางคืน นับได้มากที่สุดในเวลาเดียวกันก็เกือบสิบตัว ตอนลูกเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนพอคุณครูถามว่ามีเด็กคนไหนเคยเห็นหิ่งห้อยบ้าง ก็มีเด็กนักเรียนยกมือกันไม่กี่คน ลูกผมก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่พอถามต่อว่าได้ไปเป็นกันที่ไหน เด็กคนอื่น ๆ ก็จะบอกว่าไปเห็นตามแหล่งท่องเที่ยว จะมีลูกผมก็นี่แหละที่บอกว่าเห็นที่บ้าน เพราะที่บ้านมีหิ่งห้อยให้ดู
    
สวนที่ผมเล่าถึงอยู่ตรงไหนก็ดูในภาพถ่ายดาวเทียมข้างล่างเองก็แล้วกัน กากบาทแดงในรูปคือตำแหน่งที่มองออกมาจากหน้าต่างห้องนอนลูกสาวเพื่อถ่ายรูปสวนที่มีหิ่งห้อยบินไปมาตอนกลางคืน มีกระรอกกระโดดตามต้นไม้ในตอนกลางวัน มีงูเขียวกับงูเหลือมเลื้อยไปมา และตัวเงินตัวทองวิ่งเล่นเป็นบางเวลา รูปถ่ายที่ถ่ายมาให้ดู ๓ รูปก็ถือว่าเป็นการบันทึกบรรยากาศรอบ ๆ ตัวบ้านว่าในขณะนี้มันเป็นอย่างไร ส่วนอนาคตมันจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะแต่ก่อนบ้านที่อยู่นี้ก็ถือว่าอยู่ในซอยลึกห่างถนนใหญ่ ใกล้ทางรถไฟสายใต้ แต่ตอนนี้มันกำลังจะมีทั้งทางด่วน ถนนเลียบทางรถไฟ และรถไฟขนส่งมวลชน ทำให้สุดซอยกลายเป็นปากซอยไปแล้ว




     
     
ฝากท้ายด้วยรูปแขกผู้มาเยือนเมื่อคืนที่ผ่านมา เขามาตะโกนร้องทักแต่พอโผล่ออกไปดูก็ไม่เห็น มาเช้าวันนี้เขามาตะโกนร้องทักอีกทีก็เลยโผล่ออกไปดูใหม่ ปรากฏว่าเล่นไปแอบอยู่ตรงซอกชายคา ซอกนี้ตอนเช้าวันก็ร่มดีหรอก แต่พอตกบ่ายมันรับแดดตรง ๆ หลังคาที่เป็น metal sheet มันจะร้อนจัดนะครับ

 

วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557

Electron Spin Resonance (ESR) MO Memoir : Saturday 22 March 2557

Electron spin resonance (ESR) หรือ Electron paramagnetic resonance (EPR) เป็นเทคนิคหนึ่งที่ใช้ศึกษาการมีอยู่ของ "unpaired electron"
   
ตรงนี้ต้องขอทบทวนนิดนึง เพราะมีจำนวนไม่น้อยที่ไปสับสน "unpaired electron" กับ "lone pair electrons"
   
การจัดเรียงตัวของอิเล็กตรอนในวงโคจรที่เราเรียนกันนั้น เริ่มจากระดับชั้นพลังงานหลักต่าง ๆ (เช่น K, L, M) ก่อน และในแต่ละระดับชั้นพลังงานหลักก็ยังมีการแบ่งออกเป็นระดับชั้นพลังงานย่อย (s, p, d, f) อีก โดยในแต่ละระดับชั้นพลังงานย่อยอิเล็กตรอนจะมีจำนวน orbital ที่แตกต่างกันไปอีก โดยแต่ละ orbital นั้นจะมีอิเล็กตรอนได้แค่ 2 ตัว
   
สำหรับอิเล็กตรอนชั้นวงโคจรนอกสุด orbital ที่มีอิเล็กตรอนครบ 2 ตัว แต่ orbital นั้นไม่ได้สร้างพันธะกับอะตอมอื่น อิเล็กตรอนใน orbital นั้นคือ lone pair electron เช่นโมเลกุล NH3 อะตอม N จะมี lone pair electrons อยู่ 1 คู่ ส่วนโมเลกุล H2O อะตอม O จะมี lone pair electrons อยู่ 2 คู่
   
ส่วน unpaired electron คืออิเล็กตรอนที่อยู่ใน orbital ที่มีอิเล็กตรอนเพียงตัวเดียว (ยังมีที่ว่างอีกที่) ในกรณีของสารประกอบโควาเลนซ์ การเกิด unpaired electron จะแสดงให้เห็นถึงการเกิดอนุมูลอิสระ (free radical) ส่วนในกรณีของไอออนของโลหะทรานซิชันนั้น unpaired electron มีได้กับบางธาตุ ที่เลขออกซิเดชันบางค่า (คือธาตุที่มีเลขออกซิเดชันได้หลายค่า เลขออกซิเดชันบางค่านั้นอาจจะมี unpaired electron ได้)
   
จาก "Pauli exclusion principle" หรือที่แปลเป็นไทยว่า "หลักการกีดกันของเพาลี" ที่ว่าอิเล็กตรอนสองตัวในอะตอมเดียวกันจะมีเลขควอนตัมเหมือนกันทั้ง 4 ค่าไม่ได้ ดังนั้นสำหรับ orbital ที่มีอิเล็กตรอนอยู่ 2 ตัว อิเล็กตรอน 2 ตัวนั้นจะมีเลขควอนตันที่เหมือนกันแล้ว 3 ค่าคือ เลขที่บ่งบอกระดับชั้นพลังงานหลัก (คือมันอยู่ในวงโครจร K, L, M, ...) เลขที่บ่งบอกระดับชั้นพลังงานย่อย (คือมันอยู่ในระดับ s, p, d หรือ f) และ orbital ที่มันอยู่ ดังนั้นเลขควอนตัมตัวที่ 4 ที่ต้องแตกต่างกันคือเลขควอนตัมแม่เหล็ก (magnetic quantum number) หรืออิเล็กตรอนที่อยู่ใน orbital เดียวกันจะต้องมี "spin" ในทิศทางที่ตรงข้ามกัน
ความแตกต่างระดับพลังงานของ spin นี้จะเห็นได้เมื่ออิเล็กตรอนดังกล่าวอยู่ในสนามแม่เหล็ก


รูปที่ ๑ แผนผังแสดงการแยกตัวของระดับพลังงาน (E) ของ orbital เมื่ออยู่ในสนามแม่เหล็กที่มีความหนาแน่นฟลักซ์แม่เหล็ก (B)แตกต่างกัน
   
ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ (แต่อาจไม่ถูกต้องนักก็ได้) ถ้า orbital หนึ่งมีอิเล็กตรอนอยู่สองตัว และ orbital นั้นไม่อยู่ในสนามแม่เหล็ก (B = 0) อิเล็กตรอนทั้งสองตัวนั้นก็จะอยู่ที่ระดับพลังงานเดียวกัน แต่ถ้าเรานำเอา orbital ดังกล่าวไปไว้ในสนามแม่เหล็ก (ความเข้ม B > 0) จะเห็นว่าอิเล็กตรอนสองตัวนั้นอยู่ที่ระดับพลังงานที่แตกต่างกัน โดยตัวหนึ่งจะอยู่ที่ระดับพลังงานที่สูงกว่า และอีกตัวหนึ่งจะอยู่ที่ระดับพลังงานที่ต่ำกว่า ความแตกต่างระหว่างระดับพลังงานสูงและระดับพลังงานต่ำ (ΔE) ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของฟลักซ์แม่เหล็ก (B) ยิ่งความเข้มสนามแม่เหล็กมาก ความแตกต่างก็มากขึ้น

   
ในกรณีของ unpaired electron นั้น เมื่อเรานำเอา orbital ที่มีอิเล็กตรอนอยู่ตัวเดียวไปไว้ในสนามแม่เหล็ก อิเล็กตรอนตัวดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะอยู่ที่ระดับพลังงานที่ต่ำกว่า (เส้นสีน้ำเงินในรูปที่ ๑) แต่ถ้าอิเล็กตรอนที่อยู่ที่ระดับพลังงานต่ำนั้นได้รับพลังงานที่สูงมากพอ มันก็จะเคลื่อนตัวไปยังระดับพลังงานที่สูงกว่าได้ ส่วนที่ว่าต้องใช้พลังงานเท่าใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า unpaired electron นั้นอยู่ในสนามแม่เหล็กที่มีความหนาแน่นฟลักซ์แม่เหล็กมากน้อยเท่าใด ยิ่งอยู่ในสนามแม่เหล็กที่มีความหนาแน่นฟลักซ์แม่เหล็กสูง พลังงานที่ต้องใช้ก็จะเพิ่มมากขึ้น
   
โดยทั่วไปพลังงานที่ต้องใช้ในการทำให้ unpaired electron กระโดดจากระดับพลังงานต่ำไปยังระดับพลังงานสูงนั้นจะอยู่ในช่วงระดับพลังงานของคลื่นไมโครเวฟ (ความถี่ระดับ GHz) ในทางทฤษฎีนั้นเราอาจนำตัวอย่างที่ต้องการตรวจสอบการมีอยู่ของ unpaired electron นั้นไปวางในสนามแม่เหล็กที่มีความหนาแน่นฟลักซ์แม่เหล็กคงที่ แล้วปรับเปลี่ยนความถี่ของคลื่นไมโครเวฟที่จ่ายให้กับตัวอย่าง ถ้าความถี่ของคลื่นไมโครนั้นนั้นพอดีกับความแตกต่างของระดับพลังงาน ตัวอย่างก็จะเกิดการดูดกลืนคลื่นไมโครเวฟที่ความถี่นั้น ในกรณีนี้ถ้าเปลี่ยนความหนาแน่นฟลักซ์แม่เหล็ก ความถี่ที่จะถูกดูดกลืนก็จะเปลี่ยนไปด้วย
   
หรือในอีกทางเลือกหนึ่งก็คือจ่ายคลื่นไมโครเวฟที่ความถี่คงที่ความถี่หนึ่งให้กับตัวอย่าง จากนั้นทำการปรับเปลี่ยนความหนาแน่นฟลักซ์แม่เหล็กที่จ่ายให้กับตัวอย่าง ถ้าความหนาแน่นฟลักซ์แม่เหล็กเหมาะสมก็จะทำให้ความแตกต่างของระดับพลังงานนั้นพอดีกับพลังงานของคลื่นไมโครเวฟที่จ่ายให้กับตัวอย่าง ตัวอย่างนั้นก็จะเกิดการดูดกลืนคลื่นไมโครเวฟ ในกรณีนี้ความหนาแน่นฟลักซ์แม่เหล็กที่จะทำให้เกิดการดูดกลืนคลื่นไมโครเวฟจะขึ้นอยู่กับความถี่ของคลื่นไมโครเวฟที่ใช้ ถ้าเปลี่ยนความถี่คลื่นไมโครเวฟที่ใช้ก็จะทำให้ค่าความหนาแน่นฟลักซ์แม่เหล็กที่จะทำให้เกิดการดูดกลืนคลื่นไมโครเวฟนั้นเปลี่ยนตามไปด้วย ในทางปฏิบัติแล้วจะนิยมใช้วิธีการหลังนี้มากกว่าวิธีการแรก
   
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าตัวอย่างจะดูดกลืนคลื่นไมโครเวฟที่ความถี่ใดหรือที่ค่าความหนาแน่นฟลักซ์แม่เหล็กมีค่าเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับค่าความหนาแน่นฟลักซ์แม่เหล็กและความถี่คลื่นไมโครเวฟที่ใช้ แต่สำหรับตัวอย่างเดียวกันนั้นควรจะมีค่า ge เดียวกัน (ไม่ควรขึ้นอยู่กับความถี่คลื่นไมโครเวฟและความหนาแน่นฟลักซ์แม่เหล็กที่ใช้ในการวิเคราะห์) ด้วยเหตุนี้การรายงานผลการวิเคราะห์ ESR จึงนิยมรายงานในรูปของค่า ge โดยคำนวณค่า ge ได้จากสมการ


อย่างเช่นตัวอย่างในรูปที่ ๒ ข้างล่าง ถ้าเรานำเอาตัวอย่างที่ต้องการวิเคราะห์นั้นไปวางในคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่ 9388.2 MHz (หรือ 9.3882 GHz ซึ่งอยู่ในช่วงคลื่นไมโครเวฟ) แล้วค่อย ๆ เพิ่มความหนาแน่นฟลักซ์แม่เหล็กให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนมีความหนาแน่นฟลักซ์แม่เหล็กใกล้เคียง 3350 G ก็จะเห็นการดูดกลืนพลังงานคลื่นไมโครเวฟเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีค่าสูงสุดที่ประมาณ 3350 G (กราฟเส้นบน) และถ้าเพิ่มความหนาแน่นฟลักซ์แม่เหล็กให้สูงขึ้นไปอีกก็จะเห็นการดูดกลืนพลังงานคลื่นไมโครเวฟลดลง


รูปที่ ๒ เส้นบนคือสัญญาณการปริมาณการดูดกลื่นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ค่าความหนาแน่นฟลักซ์แม่เหล็กต่าง ๆ ส่วนเส้นล่างคือค่าอนุพันธ์อันดับ 1 (ความชัน) ของกราฟเส้นบน (รูปจาก http://en.wikipedia.org/wiki/File:EPR_lines.png) ค่าความหนาแน่นฟลักซ์แม่เหล็กในรูปคือหน่วย Gauss - G ซึ่ง 1 Tesla (T) = 104 Gauss
    
กราฟเส้นบนที่เป็นกราฟการดูดกลืนนั้น อาจจะมองหาตำแหน่งสูงสุดของกราฟได้ไม่ชัดเจน วิธีการหนึ่งที่นิยมทำกันมากกว่าในการแสดงผลคือการแสดงในรูปของอนุพันธ์อันดับ 1 ของกราฟการดูดกลืน โดยในช่วงที่ค่าการดูดกลืนเพิ่มขึ้นจนมีค่าสูงสุดและลดลงมานั้น ค่าอนุพันธ์อันดัน 1 จะเพิ่มสูงขึ้นและกลับเครื่องหมาย (เช่นจาก + เป็น - ดังในรูป) จุดสูงสุดของกราฟการดูดกลืนจะตรงกับจุดที่กราฟอนุพันธ์อันดับ 1 ตัดแกน x (ค่าอนุพันธ์อันดับ 1 เป็นศูนย์)
   
ESR จัดว่าเป็นเทคนิคที่มีความว่องไวสูง ในหนังสือของ Anderson นั้นกล่าวไว้ว่าเทคนิคนี้สามารถตรวจวัดการมีอยู่ของ unpaired electron ที่มีอยู่ในระดับ part per million (ppm) ได้
   
การปรากฏของ unpaired electron นี้ ถ้าเป็นการปรากฏเนื่องจากการทำปฏิกิริยา (เช่นปฏิกิริยาเกิดขึ้นใน cell บรรจุตัวอย่างที่วางอยู่ในเครื่อง ESR และปฏิกิริยาก็เกิดขึ้นในขณะที่ทำการตรวจวัด) ก็สามารถกล่าวได้ว่าการเกิดปฏิกิริยานั้นเกิดผ่านกลไกที่ทำให้เกิดสารมัธยันต์ที่มี unpaired electron (เช่นเกิดผ่านอนุมูลอิสระ)
   
แต่ถ้าเป็นการนำเอาตัวอย่างตัวเร่งปฏิกิริยาซึ่งเป็นรูปที่ไม่ควรให้สัญญาณ ESR มาวิเคราะห์ (เช่น TiO2 ซึ่ง Ti4+ ไม่ให้สัญญาณ ESR) และมีการตรวจพบไอออนที่ให้สัญญาณ ESR (เช่นไอออนที่คาดว่าเป็น Ti3+) ก็สามารถแปลผลได้ว่าในตัวอย่างของเรานั้นมีไอออนที่ให้สัญญาณ ESR ปะปนอยู่
   
แต่การจะไปสรุปว่าไอออนที่ให้สัญญาณ ESR นี้ส่งผลต่อโครงสร้างของตัวเร่งปฏิกิริยาหรือความสามารถในการทำปฏิกิริยาของตัวเร่งปฏิกิริยานั้น ก็เป็นการด่วนสรุปไปหน่อย เพราะถ้าจะสรุปว่าไอออนที่ให้สัญญาณ ESR นี้ส่งผลต่อโครงสร้างของตัวเร่งปฏิกิริยาหรือความสามารถในการทำปฏิกิริยา ก็ควรต้องหาผลการวิเคราะห์อื่นมายืนยันว่าไอออนดังกล่าวมีอยู่ในปริมาณที่มี "นัยสำคัญ" ต่อการทำปฏิกิริยา (เช่นอยู่บนพื้นผิว) และสามารถส่งผลต่อโครงสร้างของตัวเร่งปฏิกิริยานั้นได้ (เช่นมีจำนวนมากพอ) เพราะอย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่าเทคนิค ESR นี้เป็นเทคนิคมีความว่องไวสูง ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่เทคนิคนี้จะตรวจพบไอออนที่ให้สัญญาณ ESR ทั้ง ๆ ที่มีไอออนดังกล่าวปริมาณในปริมาณที่น้อยมากจนไม่ส่งผลใด ๆ ต่อความว่องไวในการทำปฏิกิริยาและโครงสร้างของตัวเร่งปฏิกิริยานั้น
  
อีกประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจคือเทคนิค ESR นี้ "ไม่ใช่" surface technique เทคนิคนี้วัดได้ทั้งตัวอย่างที่เป็นของแข็ง ของเหลว และแก๊ส ตัวอย่างต้องบรรจุอยู่ใน cell บรรจุตัวอย่าง ซึ่งก็เป็นการบ่งบอกให้เห็นชัดแล้วว่าการวัดนั้นมันวัดผ่าน cell บรรจุตัวอย่างได้ เว้นแต่ว่าเป็นการศึกษาการเกิดปฏิกิริยาบนพื้นผิวของแข็งในระหว่างการทำปฏิกิริยา ซึ่งในกรณีนี้ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่ทำให้เกิด species ที่ให้สัญญาณ ESR (เช่นเกิดสารมัธยันต์ หรือไอออนบนพื้นผิวของตัวเร่งปฏิกิริยาเปลี่ยนเลขออกซิเดชันในระหว่างการทำปฏิกิริยา) การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นควรที่จะเกิดบนพื้นผิวตัวเร่งปฏิกิริยานั้น ในกรณีนี้เราจึงสามารถบอกได้ว่าสัญญาณ ESR ที่ตรวจพบนั้นมาจาก species ที่อยู่บนพื้นผิว แต่ถ้าเป็นกรณีอื่นนอกจากนี้ก็ต้องใช้ความระมัดระวังในการแปลผล เช่นการรีดิวซ์สารประกอบโลหะออกไซด์นั้น การรีดิวซ์ไม่จำเป็นต้องเกิดเฉพาะกับไอออนโลหะที่อยู่บนอะตอมชั้นบนสุด แต่สามารถเป็นการรีดิวซ์โลหะออกไซด์นั้นทั้งก้อนได้ (ดู Memoir ฉบับที่ ๕๖๓ และ ๗๖๔)
   
Memoir ที่เกี่ยวข้อง
ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๖๓ วันอาทิตย์ที่ ๑๓ มกราคม พ.. ๒๕๕๖ เรื่อง "ความเห็นที่ไม่ลงรอยกับโดเรมี่"
ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๗๖๔ วันพุธที่ ๕ มีนาคม พ.. ๒๕๕๗ เรื่อง "แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๕๕ (ตอนที่ ๓๒)" (เอกสารแจกจ่ายเป็นการภายใน)

แหล่งที่มาข้อมูลประกอบการเขียน

Anderson, J.R. and Pratt, K.C., "Introduction to characterization and testing of catalysts", Academic Press, pp 398-405, 1985.