วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

รถไฟสับรางได้อย่างไร MO Memoir : Monday 17 September 2555

เมื่อกว่า ๓๐ ปีที่แล้ว ก่อนที่จะมีการตัดถนนบรมราชชนนีและถนนสิรินธร (ตอนสร้างใหม่ ๆ ยังไม่มีชื่อ ก็เรียกกันว่าถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี หรือซังฮี้-นครชัยศรี) และส่วนของถนนกาญจนาภิเษกส่วนของวงแหวนตะวันตกที่แยกจากถนนบรมราชชนนีไปบางบัวทองต่อไปยังสุพรรณบุรีนั้น (สาย 340) ใครจะเดินทางไปสุพรรณบุรีถ้าไปทางรถทัวร์ก็ต้องไปขึ้นรถที่ขนส่งสายใต้ (เดิมอยู่แถวสามแยกแยกไฟฉาย) เพื่อนั่งรถไปตามถนนเพชรเกษม ผ่านสามพราน เข้านครปฐม เข้าแยกมาลัยแมน (สาย 321) วิ่งมุ่งหน้าต่อไปทางกำแพงแสน อู่ทอง และไปยังสุพรรณบุรี หรือไม่ก็ไปขึ้นรถที่ขนส่งหมอชิต (หมอชิตเก่า) นั่งรถไปทางอยุธยา มุ่งหน้าไปป่าโมก เลี้ยวซ้ายมุ่งตะวันตกไปทางผักไห่ (สาย 329) และต่อไปยังสุพรรณบุรี

แต่ถ้าเป็นยุคสมัยที่เก่ากว่านั้นอีก ก็ต้องไปขึ้นเรือที่ท่าเตียน (หรือปากคลองตลาด) นั่งเรือไปทางคลองบางกอกน้อย เข้าคลองมหาสวัสดิ์ ไปออกแม่น้ำท่าจีน แล้วค่อยล่องต่อไปยังสุพรรณบุรี จำได้ว่าแต่ก่อนเวลานั่งเรือด่วนเจ้าพระยาผ่านตรงปากคลองตลาด จะมีป้ายบอกว่าท่าเรือไปสุพรรณบุรี แต่ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าจะยังเหลืออยู่หรือเปล่า

รูปที่ ๑ แผนที่เส้นทางการเดินทางจากกรุงเทพไปยังสุพรรณบุรีในปีพ.ศ. ๒๕๐๘ เส้นทางรถยนต์ต้องมาจากนครปฐม เส้นจากบางปะหันอยุธยายังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ส่วนเส้นทางรถไฟปรากฏแล้ว

อีกเส้นทางหนึ่งคือทางรถไฟซึ่งแยกออกจากทางรถไฟสายใต้ที่สถานนีชุมทางหนองปลาดุก รถไฟที่มาจากนครปฐมเมื่อวิ่งมาถึงสถานนีนี้จะมีทางแยก ๓ ทาง คือแยกขวาขึ้นเหนือเพื่อไปสุพรรณบุรี แยกเฉียงไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเพื่อไปกาญจนบุรี และแยกซ้ายลงไปทางใต้เพื่อไปภาคใต้

ในเว็บhttp://th.wikipedia.org/wiki/ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่าทางรถไฟสายดังกล่าวเปิดในปีพ.ศ. ๒๕๐๖ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางชุมทางหนองปลาดุก-ชุมทางบ้านภาชี (เชื่อมสายใต้กับสายเหนือเข้าด้วยกันโดยไม่ผ่านกรุงเทพ) แต่สร้างได้เพียงสถานีมาลัยแมนก็หยุดการก่อสร้าง ถ้านับถึงปัจจุบันปีหน้าเส้นทางสายนี้ก็จะมีอายุครบ ๕๐ ปีแล้ว แผนที่จังหวัดสุพรรณบุรีที่ตีพิมพ์ในปีพ.ศ. ๒๕๐๘ (รูปที่ ๑) ก็ปรากฏเส้นทางรถไฟสายนี้แล้ว

เส้นทางนี้ปัจจุบันก็ยังคงมีรถไฟวิ่งอยู่วันละขบวน คือตอนเช้ามืดออกจากสุพรรณเข้ากรุงเทพ และตอนประมาณเที่ยงก็ออกจากกรุงเทพกลับสุพรรณ

รูปที่ ๒ แผนผังบริเวณประแจที่ใช้ในการเปลี่ยนเส้นทางรถไฟ (ภาษาอังกฤษจากภาพที่คัดลอกมาเขาเรียกว่า switch and turnout - รูปจาก http://www.ntsb.gov/investigations/fulltext/RAB0305.html)

ที่ยกเอาเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะเมื่อเดือนที่แล้วได้มีโอกาสแวะไปที่สุพรรณบุรี (จะว่าไปสมาชิกปี ๑ ของเราก็มีสาวเมืองสุพรรณอยู่ด้วย) และได้มีโอกาสไปเดินถ่ายรูปเล่นเก็บบรรยากาศที่สถานีรถไฟสุพรรณบุรีและที่มาลัยแมน ก็เลยถือโอกาสถ่ายรูปบริเวณประแจที่ใช้สับเปลี่ยนรางรถไฟมาให้ดูกันว่ามันทำงานได้อย่างไร

บริเวณที่ใช้สับเปลี่ยนให้รถไฟวิ่งไปทางรางไหนนั้นภาษาไทยเรียก "ประแจ" ส่วนภาษาอังกฤษเรียก "switch" (บางทีก็เรียกว่า "point" แต่ผมเข้าใจว่ามันเป็นสองส่วนที่อยู่ด้วยกันดังแสดงในรูปที่ ๒ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะเข้าใจถูกต้องหรือเปล่า)

รูปที่ ๓ ประแจสับรางที่อยู่ทางด้านเหนือของสถานีรถไฟสุพรรณบุรีมองไปยังสถานีมาลัยแมน

โครงสร้างของบริเวณประแจสับรางนั้นมีอะไรบ้างก็ลองดูเอาในรูปที่ ๒ ที่เป็นรูปเขียนและรูปที่ ๓ ที่เป็นรูปถ่ายที่ผมไปถ่ายมาที่สถานีสุพรรณบุรี

ในรูปที่ ๓ ซ้ายจะเห็นตัวประแจ (ที่เลื่อนไปมาซ้าย-ขวาได้ตามลูกศรสีแดง) เลื่อนมาติดกับรางทางด้านซ้าย ดังนั้นรถไฟที่วิ่งขึ้นไปก็จะเลี้ยวไปทางด้านขวา (ตามเส้นลูกศรสีเหลือง) ส่วนรูปที่ ๓ ขวาเป็นคานที่ใช้ในการโยกเพื่อสับรางรถไฟของรางในรูปซ้าย ตามรูปขวานี้คานดังกล่าวถูกโยกมาทางซ้าย ทำให้ประแจเลื่อนมาติดรางทางด้านซ้ายเพื่อให้รถไฟวิ่งไปทางขวา (มันมีแท่งเหล็กเชื่อมต่อระหว่างตัวคานโยกกับตัวประแจตรงแนวเส้นสีม่วง - ตำแหน่งในรูปซ้ายและขวามันเหลื่อมกันอยู่) เสาที่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมคือตัวบอกว่าขณะนี้รางถูกสับเพื่อให้รถไฟวิ่งไปทางขวา (ตามลูกศรที่ปรากฏ) แต่ถ้าโยกคานดังกล่าวมาทางด้านขวา ตัวประแจก็จะเลื่อนมาชิดทางด้านขวา รถไฟก็จะวิ่งตรงไป สัญญาณที่ปรากฏบนเสาก็จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

ระบบที่แสดงในรูปที่ ๓ นั้นเวลาจะสับรางที เจ้าพนักงานประจำสถานีต้องเดินไปที่ประแจนั้น และทำการสับรางที่นั่น แต่สำหรับสถานีใหญ่ ๆ ที่มีประแจให้สับจำนวนมากจะใช้วิธีการสับรางที่ตัวสถานี โดยมีคันโยกอยู่ที่ตัวอาคารที่ทำการ ระบบเดิมที่เคยเห็นคือระบบลวดสลิง โดยการดึงคันโยกจะไปดึงให้ตัวประแจเกิดการเคลื่อนที่ผ่านทางลวดสลิงที่เชื่อมต่ออยู่ (ตอนเด็ก ๆ สมัยที่ยังใช้สถานีรถไฟเป็นสนามวิ่งเล่นก็เคยไปเดินเล่นบนเส้นลวดเหล่านี้) โดยที่เจ้าพนักงานไม่ต้องเดินไปสับรางที่ประแจ จะมียกเว้นก็แต่ประแจที่ไม่ค่อยได้มีการใช้งาน ก็จะใช้วิธีการเดินไปสับรางที่ตัวประแจ

ถ้าทันสมัยขึ้นมาอีกดูเหมือนจะเปลี่ยนเป็นระบบไฟฟ้าสั่งการแล้ว

รูปที่ ๔ ปลายทางที่สถานีรถไฟมาลัยแมน

ปิดท้าย Memoir ฉบับนี้ด้วยภาพที่ระลึกจากสถานีปลายทางรถไฟสายสุพรรณที่มาลัยแมน (สถานีถัดจากสถานีสุพรรณบุรี) ดูเหมือนว่าตัวชานชลาและอาคารเพิงพักจะสร้างใหม่ได้ไม่นาน แต่รู้สึกว่าตัวสถานีเองจะไม่มีการใช้งาน มีแต่หญ้าขึ้นรกและขยะทิ้งเกลื่อนไปหมด ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะอยู่ไปได้อีกนานเท่าไรก่อนที่จะสูญหายไป