วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เส้นทางรถไฟไปเชียงราย (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๑๗) MO Memoir : Thursday 17 November 2559

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเห็นข่าวราคาที่ดินแถวจังหวัดเชียงรายเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเก็งกำไร อันเป็นผลจากข่าวที่ว่าจะมีการสร้างทางรถไฟแยกออกจาก จ. แพร่ ไปยัง จ. เชียงราย มุ่งไปยังพรมแดนไทย-พม่า และไทย-ลาว
 
อันที่จริงแผนการนี้ไม่ใช่แผนการใหม่ แต่เป็นแผนการณ์ที่มีมานานแล้ว (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ด้วยซ้ำ) แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองก็เลยทำให้มันไม่เกิดซะที
 
คำตอบกระทู้ถามของสมาชิกสภาผู้แทน กระทู้ถามที่ ว. ๗๒/๒๔๙๓ ของนายบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนเชียงราย เรื่องการสร้างทางรถไฟ ที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาตอนที่ ๓๗ เล่ม ๖๗ วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๔๙๓ (รูปที่ ๑)ทำให้ทราบว่ารัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองราว ๆ ปีพ.ศ. ๒๔๘๓ ได้มีโครงการที่จะสร้างทางรถไฟจาก เด่นชัย-แพร่-น่าน ไป เชียงคำ-เทิง-เชียงราย ซึ่งเป็นเส้นทางโฉบไปยังพรมแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส (ในขณะนั้น หรือลาวในปัจจุบัน) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก็ได้ให้คำตอบว่าเส้นทางสายดังกล่าวอยู่ในแผนการณ์แล้ว แต่เส้นทางดังกล่าวก็ไม่เกิดขึ้น
 
ช่วงปีพ.ศ. ๒๕๑๐ ประเทศไทยมีโครงการขยายเส้นทางรถไฟอย่างกว้างขวาง เห็นได้จากการมีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในหลายท้องที่ (เช่นเส้นเชื่อมสายใต้ไปสายเหนือผ่านสุพรรณบุรี เส้นจากสุราษฎร์ธานีไปยังพังงาและภูเก็ต เส้นเชื่อมรถไฟสายมหาชัย-แม่กลอง เข้ากับสายใต้ที่ปากท่อ เส้นเชื่อมสายใต้จากตลิ่งชันเข้ากับเส้นทางสายมหาชัย เส้นทางสายฉะเชิงเทราไปสัตหีบ) และเส้นทางแยกจากสายเหนือที่ อ. เด่นชัย จ. แพร่ ไปยัง จ. เชียงราย ก็เป็นหนึ่งในเส้นทางที่วางแผนจะขยายออกไปด้วย แต่แนวเส้นทางนี้แตกต่างไปจากเส้นทางที่มีการกล่าวถึงในปีพ.ศ. ๒๔๙๓ คือแนวเส้นทางใหม่นี้ไม่ได้โฉบเข้าหาพรมแดน โดยตรงมาทางฝั่ง จ. ลำปาง โฉบทางด้านทิศตะวันออกของ อ. งาว เข้าสู่ อ. พะเยา ก่อนมุ่งสู่ จ. เชียงราย (รูปที่ ๒) แต่สุดท้ายเส้นทางสายนี้ก็ไม่ได้สร้าง ส่วนเส้นทางที่มีการก่อสร้างไปแล้วบางส่วน (เช่นสายสุพรรณบุรี สายคีรีรัฐนิคม) ก็ยุติการก่อสร้างลงแค่นั้น
 
ปีพ.ศ. ๒๕๔๔ โครงการสร้างทางรถไฟไปเชียงรายก็ฟื้นคืนชีพมาใหม่อีกครั้ง แนวเส้นทางยังคงคล้ายแนวที่วางแผนไว้ในปีพ.ศ. ๒๕๑๐ จะมีแตกต่างบ้างบางจุดเช่นแทนที่จะผ่านไปทางด้านตะวันออกของ อ. งาว ก็กลายเป็นวิ่งเข้า อ. งาวเสียเลย (รูปที่ ๓ และรูปที่ ๔) แต่สุดท้ายก็เงียบหายไปเช่นเดิม
 
ภูมิประเทศทางภาคเหนือนั้นแนวเขาวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ จากประสบการณ์ที่เคยขับรถในบริเวณดังกล่าวมาบ้างทำให้ทราบว่าถ้าเป็นการเดินทางในแนวเหนือ-ใต้ไม่ค่อยจะมีปัญหาเท่าใดนัก แต่ถ้าเป็นแนวตะวันออก-ตะวันตกจะใช้เวลามากกว่าเพราะต้องข้ามแนวเขา ภูมิประเทศแบบนี้ยากที่จะสร้างทางรถไฟให้อยู่ในแนวตรงได้ รัศมีความโค้งของเส้นทางก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่กำหนดความร็วสูงสุดของรถไฟที่จะทำได้ ถ้าหากให้รถไฟวิ่งเร็วได้ รัศมีความโค้งก็ต้องมาก ถ้าเป็นพื้นที่ราบก็ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าใด แต่ถ้าภูมิประเทศเป็นภูเขาจะมีปัญหาเรื่องการก่อสร้างมากกว่า
 
ถ้านับจากแผนการณ์สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่จะสร้างทางรถไฟไปเชียงรายในปีพ.ศ. ๒๔๘๓ มาจนวันนี้ ก็เรียกว่าผ่านไปถึง ๗๖ ปีแล้วก็ยังไม่เกิดขึ้น งานนี้ก็ต้องดูกันต่อไปว่าโครงการดังกล่าวจะได้เกิดเสียทีหรือมีอันต้องพับเก็บไปอย่างเช่นที่เคยเกิดมาหลายครั้งแล้วในอดีต

รูปที่ ๑ กระทู้ถามที่ ว. ๗๒/๒๔๙๓ ของนายบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนเชียงราย เรื่องการสร้างทางรถไฟ เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาตอนที่ ๓๗ เล่ม ๖๗ วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๔๙๓
  

รูปที่ ๒ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอเด่นชัย อำเภอสูงเม่น อำเภอเมืองแพร่ อำเภอร้องกวาง อำเภอสอง จังหวัดแพร่ และอำเภอปง อำเภอดอกคำใต้ อำเภอพะเยา อำเภอเทิง อำเภอพาน อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย พ.ศ. ๒๕๑๐ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๔ ตอนที่ ๑๑๙ วันที่ ๕ ธันวามคม ๒๕๑๐ หน้า ๙๙๘-๑๐๐๐


รูปที่ ๓ก แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย พ.ศ. ๒๕๔๔ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๘๖ ก วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๔ หน้า ๖-๗ (แผนที่แผ่นที่ ๑)


รูปที่ ๔ก แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย พ.ศ. ๒๕๔๔ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๘๖ ก วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๔ หน้า ๖-๗ (แผนที่แผ่นที่ ๒)

ไม่มีความคิดเห็น: