วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2558

จาก Hexane ไปเป็น Nylon MO Memoir 2558 Oct 28 Wed

ในขณะที่ตำราเคมีอินทรีย์มักจะกล่าวเพียงแค่สารตั้งต้นตัวหนึ่งเมื่อทำปฏิกิริยาแล้วจะได้ผลิตภัณฑ์อะไร แต่สำหรับวิศวกรเคมีผู้ทำหน้าที่ออกแบบกระบวนการผลิตแล้ว จำเป็นต้องพิจารณาด้วยว่าสารตั้งต้นนั้นจะได้มาอย่างไร โดยจะพิจารณาไปจนถึงแหล่งที่มาต้นทาง ซึ่งมักจะเป็นจากน้ำมันหรือแก๊สธรรมชาติ ถ่านหิน หรือผลผลิตทางการเกษตรต่าง ๆ
  
ไนลอน (Nylon) เป็นเส้นใยสังเคราะห์ชนิดหนึ่งในตระกูลพอลิเอไมด์ (polyamide) มีคุณสมบัติเด่นคือรับแรงดึงได้สูง ให้ความรู้สึกเมื่อสัมผัสที่ดี และมีความลื่น ด้วยเหตุนี้มันจึงถูกนำมาใช้งานที่ต้องการคุณสมบัติดังกล่าว เช่น เส้นใยเพื่อผลิตเป็นถุงน่องของสุภาพสตรี เชือก ลูกล้อและลูกรอก เป็นต้น
  
ไนลอนมีหลายประเภท การเรียกชื่อนั้นมักจะเรียกเป็น ไนลอนและมีตัวเลขต่อท้าย ซึ่งหมายถึงจำนวนอะตอม C ของโมโนเมอร์ที่ใช้เป็นสารตั้งต้น เช่น Nylon 6 คือไนลอนที่สังเคราะห์ขึ้นจากโนโมเนอร์เพียงชนิดเดียว ที่มีจำนวนอะตอม C 6 อะตอม (Caprolactam) Nylon 6,6 คือไนลอนที่สังเคราะห์ขึ้นจากโมโนเมอร์สองชนิด โดยโมโนเมอร์แต่ละชนิดมีจำนวนอะตอม C 6 อะตอม (Adipic acid กับ 1,6 Hexanediamine)
  
รูปที่ ๑ เส้นทางจาก Hexane ไปเป็น Nylon
  
แผนผังในรูปที่ ๑ เป็นรูปที่ผมวาดขึ้น (ใช้โปรแกรม ACD/ChemSketch) เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่ากว่าจะมาเป็นไนลอนนั้น สารตั้งต้นแต่ละตัวถ้าเราสืบที่มาที่ไปของมันย้อนหลังไปเรื่อย ๆ มันจะไปสิ้นสุดที่ไหน ในกรณีของ Nylon 6 และ Nylon 6,6 นั้นพบว่าจะไปสิ้นสุดที่สารเริ่มต้นเดียวกันคือ Hexane (C6H14)
  
ขอให้พิจารณารูปที่ ๑ ที่เริ่มต้นจากการนำเอา hexane ผ่านเข้าสู่กระบวนการ Platforming (ย่อมาจาก Platinum reforming ซึ่งเป็นปฏิกิริยา dehydrogenation (ดึงอะตอม H ออก) ที่หลายตำแหน่ง จนในที่สุดปลายทั้งสองข้างของสายโซ่ก็บิดงอจนอะตอม C ที่ปลายแต่ละด้านสามารถสร้างพันธะเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน กลายเป็น benzene ซึ่งเมื่อนำ benzene ไปเข้ากระบวนการเติมไฮโดรเจน (hydrogenation) ก็จะได้ cyclohexane
  
เมื่อทำการออกซิไดซ์ cyclohexane ด้วย O2 จากอากาศและมีตัวเร่งปฏิกิริยาช่วย (เป็นการออกซิไดซ์ในเฟสของเหลวโดยมีการพ่นฟองอากาศให้ลอยผ่าน cyclohexane ที่เป็นของเหลวในถังปฏิกรณ์) จะได้ cyclohexanol (แอลกอฮอล์ที่โครงสร้างหมู่อัลคิลมีลักษณะเป็นวงแหวน) ที่ถูกออกซิไดซ์ต่อไปกลายเป็น cyclohexanone (คีโตนที่มีโครงสร้างเป็นวงแหวนเช่นกัน) และเมื่อได้ cyclohexanone มาแล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเอาสารตัวนี้ทำปฏิกิริยาอะไรต่อไป ซึ่งนำไปสู่สารตั้งต้นที่แตกต่างกันสำหรับการผลิตไนลอน

การออกซิไดซ์ cyclohexanone ที่แรงพอจะทำให้วงแหวนถูกตัดตรงตำแหน่งอะตอม C ของหมู่คาร์บอนิล (C=O) กับอะตอม C ของหมู่เมทิลีน (-CH2) ที่อยู่ข้างเคียง เกิดเป็นหมู่คาร์บอกซิลที่ปลายสายโซ่ทั้งสองข้าง ผลิตภัณฑ์ที่ได้คือ adipic acid
  
ถ้านำเอา adipic acid ไปทำปฏิกิริยากับ NH3 โดยมีตัวเร่งปฏิกิริยาช่วยในการกำจัดน้ำ (เพื่อดึงเอาอะตอม O ออกจากหมู่ -COOH ที่ปลายสายโซ่ทั้งสองข้าง) จะได้สารประกอบ adiponitrile และเมื่อนำเอา adiponitril นี้ไปทำการเติมไฮโดรเจนเข้าไปที่พันธะ 3 ระหว่างอะตอม C และ N ก็จะได้สารประกอบ 1,6 Hexanediamine
  
หมู่ -COOH และ -NH2 สามารถทำปฏิกิริยาเชื่อมต่อกันเป็นพันธะ -C(O)-NH- โดยมีการคายโมเลกุล H2O ออกมา ดังนั้นถ้านำเอา adipic acid มาทำปฏิกิริยากับ 1,6 Hexanediamine ก็จะได้สายโซ่พอลิเมอร์ที่มีชื่อเรียกว่า Nylon 6,6 โดยเลข 6,6 หมายถึงมีโมโนเมอร์ 2 ตัว ที่ต่างมีจำนวนอะตอม C 6 อะตอม

ในอีกเส้นทางหนึ่งนั้นถ้านำเอา cyclohexanone ไปทำปฏิกิริยากับ NH2OH ตามด้วยปฏิกิริยากับ H2SO4 ก็จะได้สารประกอบที่เรียกว่า caprolactam ตัว caprolactam นี้ถ้านำไปทำปฏิกิริยา hydrolysis (ใช้น้ำทำให้โมเลกุลแตกออก) ก็จะได้สารประกอบ 6-aminohexanoic acid ที่ตัวโมเลกุลนั้นมีหมู่ -COOH อยู่ที่ปลายสายโซ่ด้านหนึ่ง และหมู่ -NH2 อยู่ที่ปลายสายโซ่อีกด้านหนึ่ง ดังนั้นตัวโมเลกุล 6-aminohexanoic acid เองสามารถเกิดการเชื่อมต่อโมเลกุลเข้าด้วยกันกลายเป็นสายโซ่พอลิเมอร์ได้ด้วยการที่มันเอาหมู่ -COOH ของโมเลกุลหนึ่งไปเชื่อมต่อกับหมู่ -NH2 ของอีกโมเลกุลหนึ่งโดยมีการคายโมเลกุล H2O ออกมา ได้พอลิเมอร์ที่มีชื่อว่า Nylon 6 โดยเลข 6 เพียงตัวเดียวในที่นี้หมายถึงมีการใช้โมโนเมอร์เพียงตัวเดียวที่มีจำนวนอะตอม C 6 อะตอม
  
แต่ในทางปฏิบัตินั้นเขาไม่ได้สังเคราะห์ Nylon 6 จาก 6-aminohexanoic acid แต่สังเคราะห์จาก caprolactam โดยตรง โดยทำให้วง caprolactam แตกออกตรงพันธะระหว่างหมู่ C=O กับ NH เกิดการเชื่อมต่อระหว่างโมเลกุลเข้าด้วยกันกลายเป็น Nylon 6 ข้อดีของวิธีการนี้คือไม่มีการคายน้ำออกมาจากปฏิกิริยา
  
ปัญหาหนึ่งของการผลิต Nylon 6 นั้นไปอยู่ที่การสังเคราะห์ caprolactam ที่เกิด (NH4)2SO4 เป็นผลิตภัณฑ์ร่วมที่ต้องหาทางจัดการ ซึ่งปัญหานี้ก็ทำให้ในขณะนี้จึงยังมีการมองหาเส้นทางการสังเคราะห์ใหม่ที่ ไม่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ร่วม หรือเกิดน้อยที่สุด หรือมีปัญหาในการจัดการน้อยที่สุด โดยอาจเป็นการสังเคราะห์จาก cyclohexanone โดยตรงหรือสารตั้งต้นตัวอื่นก็ได้
  
รูปที่ ๒ ข้างล่างไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับเนื้อหา เพียงแค่เมื่อวานพบว่ามีการเข้ามาอ่านบนความเรื่อง "ทำความรู้จัก Piping and Instrumentation Diagram (P&ID)" มากเป็นพิเศษ จำนวนกว่าหนึ่งพันครั้งในช่วงเช้า ซึ่งก็ไม่ทราบว่ามาจากไหนเหมือนกัน ก็เลยขอบันทึกเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึกซะหน่อยเท่านั้นเอง :) :) :)
  
รูปที่ ๒ สถิติผู้เข้าเยี่ยมชม blog ของเมื่อวาน

ไม่มีความคิดเห็น: