วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2561

รถไฟเล็กลากไม้สายตะวันออก (ศรีราชา) ภาค ๑๑ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๔๑) MO Memoir : Sunday 16 December 2561

ชั่วดินฟ้า รักเธอ เสมอใจ
ที่ฉัน.. รำพัน
ทุกวัน ฝันไปถึงเธอ
อยากให้เธอ หวานใจ
อยู่ใกล้ พรอดรัก
ร้อยเรียง ร่วมเคล้าเคียง ฉันและเธอ

 
เริ่มต้นเรื่องด้วยเนื้อเพลง "ชั่วฟ้าดินสลาย" ที่เป็นเพลงในภาพยนต์ชื่อเดียวกันที่ออกฉายเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๙๘ ก็เป็นเพราะว่า ฉากเริ่มเรื่องของภาพยนต์เรื่องนี้เป็นภาพรถไฟของบริษัทศรีมหาราชาที่กำลังชักลากไม้ โดยทางชมรมคนรักศรีราชานำมาใช้เปิดการเสวนา "ย้อนอดีตบริษัทศรีมหาราชา" ณ ร้านอาหารเรือนน้ำซีฟู้ด ข้างสวนสาธารณะเกาะลอย เมื่อบ่ายวันวาน และผมก็มีโชคดีที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเสวนาดังกล่าวด้วย


รูปที่ ๑ งานเสวนาในบ่ายวันเสาร์ที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๑ ณ ร้านอาหารเรือนน้ำซีฟู้ด ข้างสวนสาธารณะเกาะลอย คุณธนวิน (วินัย) ประณีตโยธิน ที่เล่าเรื่องรถไฟให้ผมฟังคือท่านผู้นั่งอยู่ทางซ้ายมือของผม (ที่ ๔ จากซ้าย) (ภาพจากเว็บชมรมคนรักศรีราชา http://www.konruksriracha.in.th)
 
ที่สำคัญก็คือในงานนี้มีผู้อาวุโสหลายท่านที่ทำงานอยู่กับบริษัทศรีมหาราชาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนถึงช่วงที่บริษัทปิดกิจการ ที่ได้มาให้ข้อมูลว่าแต่ละฉากที่ปรากฏในภาพยนต์นั้นเป็นบริเวณไหนของเส้นทางรถไฟ และยังได้มาเล่าถึงบรรยากาศการทำงานในสมัยนั้น ผมเองก็ได้มีโอกาสสนทนากับ คุณธนวิน (วินัย) ประณีตโยธิน ที่ท่านได้เห็นและทำงานกับรถไฟดังกล่าวตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ และบิดาของท่านก็ได้ทำงานกับบริษัทศรีมหาราชาด้วย ก็เลยได้มีโอกาสสอบถามบางเรื่องเป็นการส่วนตัว เลยขอนำมาบันทึกไว้ที่นี้กันลืม ที่สำคัญคือทั้งบิดาของท่านและตัวท่านเองได้ถ่ายรูปบรรยากาศการทำงานและเมืองศรีราชาในยุคสมัยนั้นเอาไว้ด้วย และได้มอบให้กับทางชมรมคนรักศรีราชาบันทึกเอาไว้ ตรงนี้ถ้าใครสนใจก็ลองไปดูที่หน้าเว็บของชมรมคนรักศรีราชาดูนะครับที่ URL http://www.konruksriracha.in.th แต่ละรูปมีคำอธิบายและช่วงเวลาที่บันทึกภาพด้วย


รูปที่ ๒ รถไฟลากไม้ศรีราชาขณะกำลังลากซุง ภาพนี้เป็นฉากเปิดเรื่องภาพยนต์เรื่อง "ชั่วฟ้าดินสลาย" ที่ออกฉายเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. ๒๔๙๘ ในฉากนี้หัวรถจักรนั้น "วิ่งไปข้างหน้า" ซึ่งตรงนี้ต้องขอย้ำนิดนึงว่าอาจไม่ใช่สภาพการทำงานจริง

. ไม่มีดับไฟ แค่ราไฟทิ้งเอาไว้ทั้งคืน

"เวลาติดเครื่องใช้เวลานานไหมครับ แล้วเอาน้ำเอาฟืนที่ไหนเติม" นี่คือคำถามหนึ่งที่ผมถามคุณธนวิน
คุณธนวินเล่าว่ารถไฟจะไม่ดับไฟ แต่จะหรี่ไฟเอาไว้ทั้งคืน คือรถไฟจะวิ่งเฉพาะเวลากลางวัน ฟืนที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงเป็นฟืนจากโรงเลื่อยที่ต้องบรรทุกไปให้พอทั้งเที่ยวไปและกลับ (ไม่มีการเติมฟืนหรือหว่างทาง) ฟืนที่ใช้ก็คือเศษไม้ที่เหลือจากการแปรรูปไม้ ส่วนน้ำนั้นจะเติมเต็มไปจากโรงเลื่อย และมีจุดเดิมน้ำเป็นระยะระหว่างทาง
 
เนื่องด้วยรถไฟไม่ได้วิ่งเร็ว ถ้าเดินทางไกลและไปถึงปลายทางตอนเย็นก็จะหยุดพักที่นั่น ระหว่างนั้นก็จะราไฟ คือทำให้ไฟอ่อนลงหรือไหม้ช้าลงเพื่อให้อยู่ได้ทั้งคืน พอเช้าจะเริ่มออกเดินทางก็ค่อยเร่งไฟขึ้นใหม่ ก็ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง หัวรถจักรจะมีพนักงานขับรถ ๑ คน และผู้ช่วยใส่ฟืน (และ "โรยทราย" ที่เดี๋ยวจะเล่าต่อ) อีก ๑ คน

รูปที่ ๓ ท้ายขบวนของรถไฟลากไม้จะมีตู้โดยสารขนาดเล็กสำหรับขนคนออกจากป่าและส่งเสบีงเข้าป่า

รูปที่ ๔ ฉากเมื่อรถไฟมาถึงโรงเลื่อย ในภาพยนต์นั้นมีคนถือปืนลูกซองติดรถมาด้วย คุณธนวิน เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนนั้นในป่าที่ทำไม้อยู่ข้างในยังมีเสืออยู่ บ้านชาวบ้านที่เข้าไปปลูกในป่ายังต้องยกพื้นเรือนสูง กันเสือปีนเข้าบ้าน
 
. ไม้ที่ไม่ใช่ไม้สัก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ (พิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๖) ให้ความหมายของ "กระยาเลย" เอาไว้ไว่า "ว. ต่าง ๆ ปะปนกัน, (ใข้แก่ต้นไม้มีแก่น แต่ไม่รวมไม้สัก)" (ว. คือคำวิเศษณ์) ดังนั้นคำว่า "ไม้กระยาเลย" คือไม้ใด ๆ ที่ไม่ใช่ไม้สัก ตอนแรกผมยังคิดว่า "กระยาเลย" เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งด้วยซ้ำไป เพิ่งจะมาทราบความหมายจากงานเสวนาเมื่อวานเมื่อ อาจารย์ภารดี มหาขันธ์ อธิบายให้ฟัง

รูปที่ ๕ ฉากภายในโรงเลื่อยบริษัทศรีมหาราชาที่ปรากฏในภาพยนต์เรื่อง "ชั่วฟ้าดินสลาย" (พ.ศ. ๒๔๙๘)

. เดินหน้าไป ถอยหลังกลับ

"หัวรถจักร กลับหัวอย่างไรหรือครับ มีการใช้วงเวียนหรือรางสำหรับกลับหัวหรือเปล่า" นี่เป็นอีกคำถามหนึ่งที่ผมถามคุณธนวิน แต่คำตอบและคำอธิบายที่ได้รับก็ทำเอาแปลกใจไปเหมือนกัน คือตอนขาออกจากโรงเลื่อยที่ศรีราชานั้นจะเดินหน้าและลากรถเปล่าไป พอจะลากไม้กลับก็เพียงแค่ปลดหัวรถจักรออกจากทางด้านหัวขบวน แล้วย้ายมาต่อทางด้านท้ายขบวน (เมื่อมองจากทิศโรงเลื่อยออกไป) แล้วก็วิ่งถอยหลังลากไม้กลับมายังโรงเลื่อย ส่วนเหตุผลที่ทำเช่นนี้ก็คือตอนกลับรถจะหนักมากขึ้น ทำให้ต้องการแรงฉุดลากในการออกตัว (คิดว่าความหมายก็คือแรงบิดที่จะทำให้รถเริ่มเคลื่อนที่) เพิ่มมากขึ้น การถอยหลังจะออกตัวได้ง่ายกว่า ทำนองเดียวกับรถ (ที่ใช้เกียร์ธรรมดา) ที่มีปัญหาเวลาขึ้นเนินสูงไม่ไหวก็จะให้ถอยหลังขึ้น (เพราะเกียร์ถอยหลังมีการทดรอบมากว่าเกียร์ ๑)
 
คุณธนวินยังเล่าให้ฟังว่า ทางบริษัทมีการจ้างควาญช้างมาจากสุรินทร์และแรงงานจากเขมร จะใช้ช้างชักลากไม้มายังบริเวณสถานีรถไฟ ก่อนใช้กว้าน (winch) ชักรอกยกขึ้นวางบนแคร่รถ (ดูรูปที่ ๑ นะครับ มันจะรองรับแค่ปลายทั้งสองด้านของท่อนซุง) บางสถานีก็จะมีแค่ที่ใช้กำลังจากไอน้ำช่วยยกขึ้นวาง
 
. โรยทรายกันลื่น

หน้าที่อีกหน้าที่หนึ่งของผู้ช่วยคนขับซึ่งนอกจากการใส่ฟืนแล้วก็คือการต้องมาโหนอยู่ทางด้านหน้าของรถเพื่อโรยทรายบนราง โดยเฉพาะตอนลงเนินและลากไม้ซุงมาด้วย การโรยทรายก็เพื่อให้รางมีความฝืด ช่วยลดความเร็วและหยุดรถ โดยผู้ช่วยคนขับต้องมาโหนอยู่ทางด้านหน้าของขบวน (คือด้านที่รถกำลังเคลื่อนที่ไปดังเช่นในรูปที่ ๖ ข้างล่าง แต่ถ้าดูจากหัวรถจักรก็จะเป็นด้านหลัง เพราะรถจักรวิ่งถอยหลัง
ถ้าพลาดตกลงมาก็มีสิทธิโดยรถไฟทับ แขนขาด ขาขาด ได้ ซึ่งก็มีเกิดขึ้นหลายครั้ง หลังจากรักษาหายแล้วทางบริษัทก็จะรับกลับเข้ามาทำงานต่อโดยมอบตำแหน่งเป็นนายสถานีต่าง ๆ แทน

รูปที่ ๖ ภาพจากปฏิทินพ.ศ. ๒๕๖๒ ที่ทางชมรมคนรักศรีราชาจัดทำ เป็นภาพที่ผู้ช่วยคนขับกำลังโรยทรายบนรางเพื่อช่วยชะลดความเร็วของรถ โดยเฉพาะเวลาที่วิ่งลงเนินและลากไม้มาด้วย

. มาทีต้องระวังไฟไหม้ หยุดทีก็มาเก็บฟืน

ช่วงเวลานั้นบ้านเรือนชาวบ้านที่สร้างอยู่ข้างทางรถไฟก็จะใช้หลังคามุงแฝกซึ่งติดไฟง่าย สำหรับบ้านที่อยู่ใกล้ทางรถไฟ โดยเฉพาะบริเวณช่วงที่ไต่ขึ้นเนิน รถไฟจำเป็นต้องมีการเร่งไฟเพื่อเร่งไอน้ำ ช่วงนี้ก็จะมีลูกไฟปลิวหลุดออกมาทางปล่องได้ และถ้าปลิวไปลงหลังคาบ้านชาวบ้าน ก็จะทำให้ไฟไหม้บ้านได้ ดังนั้นสำหรับชาวบ้านที่อยู่ข้างทางรถไฟ พอรถไฟวิ่งผ่านมาทีก็ต้องออกมาคอยระวังลูกไฟที่อาจปลิวใส่หลังคา แต่ถ้าขบวนรถไฟมาหยุดแถวใกล้ ๆ บ้าน ก็จะออกมาเห็นเศษไม้ตามข้างทางเพื่อเอาไปทำเป็นฟืนหรือเผาถ่าน
 
ในระหว่างงานเสวนา ผู้เข้าร่วมเสวนาหลายท่านได้เล่าถึงอุบัติเหตุที่รถไฟชนกัน มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก จุดที่เกิดอุบัติเหตุนั้นดูเหมือนผู้อาวุโสหลายท่านยังสามารถระบุตำแหน่งได้อยู่ แต่ช่วงเวลาที่เกิดนั้นไม่ชัดเจนว่าเกิดเมื่อใดกันแน่ แต่ถ้าเทียบกับอายุของท่านผู้เข้าฟังรายหนึ่งที่ผู้อาวุโสระบุว่าตอนนั้นผู้เข้าฟังรายนั้น (ที่บ้านอยู่แถวที่เกิดเหตุ) ยังเป็นเด็กอยู่ ยังไม่น่าจะจำความอะไรได้ดี ก็คาดว่าน่าจะราว ๆ ๕๐ ปีที่ผ่านมา

รูปที่ ๗ หน้าหนึ่งของปฏิทินพ.ศ. ๒๕๖๒ ที่จัดทำโดยชมรมคนรักศรีราชา

. หัวรถจักรก็มีชื่อ พอวันหยุดช้างก็พาคนเที่ยว

หัวรถจักรไอน้ำทุกหัวต่างมีชื่อเรียก เช่น เกาะลอย, ศรีราชา, หุบบอน ฯลฯ (รายชื่อเต็มหาอ่านได้ในปฏิทินครับ) แต่พอมีการขายไปบ้างตอนหลังก็เลยเปลี่ยนมาเรียกเป็นหมายเลขแทน
 
ในภาค ๒ ของบทความชุดนี้ (วันจันทร์ที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๕) ผมได้กล่าวถึงนิยายของ เหม เวชกร ที่บรรยายถึงการนั่ง "รถยนต์ราง" ของพวกผู้ตรวจงานบริษัทที่เข้าไปตรวจงานในป่ายุบ (อยู่ทางบ้านบึง) ซึ่งจากการค้นคว้าของทางชมรมคนรักศรีราชาก็พบว่านอกจากทางบริษัทศรีมหาราชาจะมีหัวรถจักรไอน้ำ ๑๓ หัวแล้ว ก็ยังมีรถยนต์รางที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลขับเคลื่อนอีก ๒ คน ดังนั้นรถยนต์รางที่ เหม เวชกร กล่าวถึงในนิยายก็น่าจะเป็น ๑ ใน ๒ คันนี้
 
บริษัทศรีมหาราชานั้นนอกจากทำไม้แล้วยังมีบริการให้กับนักท่องเที่ยวด้วย โดยนักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถไฟเข้าไปในป่าเพื่อไปนั่งช้าง (ที่วันทำงานก็ทำหน้าที่ลากไม้ พอวันหยุดก็มาเป็นพาหนะนำนักท่องเที่ยวชมป่า)

. เส้นทางสะพานขนไม้ลงเรือในทะเล

ทะเลช่วงระหว่างศรีราชากับเกาะลอยนั้นเวลาน้ำลงจะแห้งผาก เรียกว่าลงไปเดินเล่นได้ แต่พอพ้นจากเกาะลอยออกไปจะเป็นบริเวณน้ำลึกที่เรือสามารถเข้า-ออกท่าได้ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องสร้างสะพานรถไฟออกจากโรงเลื่อยไปยังเกาะลอย และต่อเลยเกาะลอยออกไปอีกประมาณ ๒๐๐ เมตร สะพานนี้จะถือว่าเป็นสะพานรถไฟข้ามทะเลแห่งแรกของไทยก็ได้ ก่อนที่จะถูกพายุพัดทำลายไปในปีพ.ศ. ๒๔๙๕ และก็ไม่มีการสร้างสะพานใหม่อีกเลย แนวเส้นสะพานนี้ปรากฏในแผนที่เก่าหลายฉบับ

รูปที่ ๘ หมายเลข 1 ทางด้านซ้ายคือบ้านพักรับรองบริษัทศรีมหาราชาเดิม หมายเลข 2 ทางด้านขวาคือร้านอาหารเรือนน้ำซีฟู้ดส่วนที่เป็นที่นั่งรับประทานอาหาร ส่วนหมายเลข 3 ที่อยู่ตรงกลางระหว่างบ้านพักรับรองและร้านอาหารคือแนวเส้นทางรถไฟไปยังเกาะลอยเดิม (หรืออยู่เลียบทางด้านขวาของสะพานเดินเข้าร้านอาหารในรูป)

งานเสวนาในบ่ายวันวานจัดที่ร้านอาหารเรือนน้ำซีฟู้ด (ทราบมาจากทางผู้จัดว่าท่านเจ้าของร้านให้ใช้สถานที่ฟรี) ร้านนี้อยู่สุดสวนสาธารณะเกาะลอยทางด้านทิศใต่ อยู่ริมคลองเยื้องกับโรงสูบน้ำของเทศบาล ด้านหน้าร้านจะมีหัวรถจักรจอดอยู่หัวหนึ่ง (ดูเพิ่มเติมได้จากภาค ๑๐ ของบทความชุดนี้)
ตำแหน่งที่หัวรถจักรนั้นจอดอยู่ก็คือแนวรางที่เดิมทอดต่อออกไปยังสะพานที่เชื่อมไปยังเกาะลอย แนวสะพานนี้จะผ่านด้านข้างของบ้านพักรับรองบริษัทศรีมหาราชา (เรียกว่าทางรถไฟผ่านหน้าบ้านพอดีก็ได้) ผู้อาวุโสหลายท่านที่ทำงานในช่วงที่สะพานดังกล่าวยังคงมีอยู่ (รวมถึงเจ้าของสถานที่ในปัจจุบัน) ต่างให้ข้อมูลตรงกันว่าแนวเดิมของสะพานก็คือช่วงระหว่างบ้านพักและอาคารที่เป็นร้านอาหารในปัจจุบัน (ดูรูปที่ ๘) ซึ่งตอนนี้ดูเหมือนว่าตรงนั้นจะเป็นสถานที่ประกอบอาหารและที่ทำการของร้านอาหาร
 
ท่านเจ้าของร้านอาหารนอกจากจะใจดี ให้ใช้สถานที่ฟรีในการจัดงานแล้ว ก็ยังได้เปิดบ้านพักรับรองของบริษัทศรีมหาราชาให้เข้าชมด้วย เข้าใจว่าบ้านหลังนี้ก็ถูกนำมาใช้เป็นสภานที่ถ่ายทำภาพยนต์เรื่อง "ชั่วฟ้าดินสลาย" ที่ออกฉายในปีพ.ศ. ๒๔๙๘ ด้วย สภาพในบ้านเมื่อเทียบกับภาพยนต์ นั้นก็เรียกได้ว่ายังคงมีเค้าโครงเดิมอยู่ (ต่างกันก็ตรงที่เครื่องเรือน) อันที่จริงบ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในทะเล แต่พอเอาไปเป็นฉากภาพยนต์ที่เนื้อเรื่องเกี่ยวกับการทำไม้ในสถานที่ที่ไม่ติดทะเล ก็เลยไม่มีโอกาสได้เห็นฉากที่มีทะเลปรากฏ
 
ในฉากหนึ่งของภาพยนต์นั้นมีฉากที่ ยุพดี นางเอกของเรื่อง เล่นเปียนโนและร้องเพลง "ชั่วฟ้าดินสลาย" ให้กับคนรักที่นั่งอยู่ในห้องฟัง ผมเข้าใจว่ามุมที่มีเปียนโนวางในฉากหนัง กับมุมบ้านปัจจุบันที่มีเปียนโนวางอยู่นั้น คือมุมเดียวกัน (คือทางด้านขวาของรูปที่ ๑๐ แต่ผมจงใจไม่ถ่ายรูปให้ติดมุมดังกล่าว)
ภาพยนต์เรื่องนี้มีผู้นำมาเผยแพร่ทาง YouTube แล้ว โดยมีคำบรรยายภาษาอังกฤษประกอบด้วย ใครสนใจก็ลองค้นดูเอาเองแล้วกันนะครับ แต่มันติด rate อยู่นิดนึง

รูปที่ ๙ จากห้องนั่งเล่นในบ้านพักรับรองบริษัทศรีมหาราชาเดิม มองออกไปจะเห็นเกาะลอย ทางด้านขวาของห้องนี้จะมีที่ตั้งเปียนโนอยู่ น่าจะเป็นมุมเดียวกับที่ปรากฏในภาพยนต์ "ชั่วฟ้าดินสลาย (๒๔๙๘)"
  
โดยส่วนตัวไม่ชอบเรื่องการจบเรื่องแบบเศร้า ๆ แต่สำหรับ Memoir ฉบับนี้ขอปิดท้ายบทเพลง "ชั่วฟ้าดินสลาย" ท่อนสุดท้าย และฉากสุดท้ายที่ปรากฏในภาพยนต์เรื่อง "ชั่วฟ้าดินสลาย" ที่ออกฉายในปีพ.ศ. ๒๔๙๘ ครับ

รูปที่ ๑๐ ภาพจากตอนจบของภาพยนต์เรื่อง "ชั่วฟ้าดินสลาย" ปีพ.ศ. ๒๔๙๘ ที่ยังคงเป็นฉากเส้นทางรถไฟลากไม้ศรีราชา



ก่อนเข้านอน ฉันวอน
ฝันไป เพ้อครวญ
ภาพรักหลอน ให้ชวน ละเมอ
อยากให้เป็น ของเธอ
ชั่วฟ้า... ดินได้
อย่ามี อันใดพรากไป ไกลกัน

ไม่มีความคิดเห็น: