วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2561

รถไฟสายแม่กลอง ตอนเยือนถิ่นกินปลาทู MO Memoir : Thursday 9 August 2561

"รถไฟสายแม่กลองตอนนั้นก็เหลือกำลังจริง ๆ ฝนตกหนัก ๆ พ่อไม่แล่นเสียเฉย ๆ หัวรถจักรนั้นวิ่งเต็มสตีมแต่ล้อขบวนไม่เคลื่อนเพราะความลื่น แต่เดี๋ยวนี้การรถไฟแก้ไขเรียบร้อยรถวิ่งได้รวดเร็วดีมาก ..."
จากเรื่อง "เจ้าที่ในโรงหนังที่บ้านแหลม" โดย สง่า อารัมภีร ในหนังสือ "ผีกระสือที่บางกระสอ" พิมพ์ครั้งที่ ๓ สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พ.ศ. ๒๕๓๙
 
ถ้าจะซื้ออาหารทะเลสดก็คงต้องเป็นที่มหาชัย แต่ถ้าจะกินปลาทูก็คงต้องเป็นที่แม่กลอง ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมจึงต้องเป็นปลาทูแม่กลอง แต่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ (และคนไทยไม่น้อยในปัจจุบัน) ถ้ากล่าวถึงสถานีรถไฟแม่กลองก็คงนึกถึงแต่เพียงแค่ตลาดหุบร่มหรือตลาดร่มหุบ (แล้วแต่จะเรียก)
 
Memoir ฉบับนี้เป็นฉบับปิดการเดินทางด้วยรถไฟไปยังแม่กลองในเดือนที่แล้ว แต่ก็มีภาพบางส่วนที่ถ่ายเก็บเอาไว้ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม ๒๕๕๖ ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่เขาจะมีการปิดปรับปรุงเส้นทาง (ตอนนั้นเดินทางด้วยรถยนต์ตรงไปยังแม่กลอง) ก็เลยนำเอาภาพบางส่วนจากช่วงเวลานั้นมาลงไว้ด้วยเพื่อให้เห็นว่าหลังการปรับปรุงแล้วมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง และก็เช่นเคย ถือว่าวันนี้ก็ยังคงเป็นการเล่าเรื่องด้วยรูปเหมือนเดิม


รูปที่ ๑ แผนที่สมุทรสงคราม จัดทำโดยกองทัพอังกฤษในเดือนกันยายนปีค.ศ. ๑๙๔๕ (พ.ศ. ๒๔๘๘) หรือหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพิ่งสิ้นสุด (ภาพจาก National Library of Australia http://www.nla.gov.au) ภาพนี้ตัดมาเฉพาะส่วนเส้นทางรถไฟจากบางโทรัดไปจนถึงแม่กลอง พึงสังเกตแอ่งน้ำขนาดใหญ่อยู่เหนือทางรถไฟบริเวณลาดใหญ่ ซึ่งถ้าดูจาก google map ในปัจจุบันจะไม่เห็นแอ่งน้ำนั้นแล้ว
  
รูปที่ ๒ รถไฟกำลังจะข้ามคลองลาดใหญ่ก่อนเข้าจอดที่สถานีลาดใหญ่ 

รูปที่ ๓ สถานีลาดใหญ่เป็นสถานีสุดท้ายที่รถไฟจอด ก่อนถึงสถานีแม่กลอง สถานีนี้เลยมีทัวร์นำนักท่องเที่ยวมารอขึ้นรถไฟเต็มไปหมด เพื่อนั่งรถไฟไปชมตลาดหุบร่มหรือตลาดร่มหุบที่สถานีแม่กลอง (เรียกว่าใช้บริการเพียงสถานีเดียว) รูปที่ ๓-๕ ถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือ (กล้องแบตหมด เปลี่ยนแบตไม่ทัน) เลยไม่มีวันที่บันทึกไว้ แต่เป็นการถ่ายรูปต่อเนื่องจากรูปที่ ๒

รูปที่ ๔ มองไปทางด้านหัวขบวน แถวนักท่องเที่ยวกำลังขึ้นรถไฟ

รูปที่ ๕ มองไปทางด้านท้ายขบวน ปรากฏกองขยะกองใหญ่อยู่ข้างหลังชานชลา ถ้ารักษาความสะอาดเสียหน่อยคงจะดูดีกว่านี้มาก เพราะสถานีที่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการมากอย่างนี้ควรจะถือว่าเป็นหน้าตาของประเทศที่ควรต้องจัดการให้อยู่ในสภาพที่ดูดีด้วย 

รูปที่ ๖ รูปนี้ถ่ายไว้ตอนต้นเดือน สุดทางรถไฟที่แม่น้ำแม่กลองมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่วนสภาพเดิมเป็นยังไงนั้นไปดูได้ที่ Memoir ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๘๒๖ วันพุธที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เรื่อง "ประวัติศาสตร์บนเหล็กรางรถไฟ"

รูปที่ ๗ สภาพภายในสถานีแม่กลองปัจจุบัน ถ่ายจากตู้รถไฟมองไปยังสุดทางที่แม่น้ำแม่กลอง จะเห็นว่ามีการจัดทำรางเพิ่มอีกราง และจะเห็นว่าระดับรางนั้นอยู่สูงจากระดับพื้นสถานีเดิม จนต้องมีการนำแผ่นคอนกรีตมาวางซ้อนเป็นขั้นบันได้เพื่อให้สามารถเดินจากระดับชานชลาขึ้นบันไดรถไฟได้

รูปที่ ๘ รูปนี้ถ่ายเอาไว้เมื่อธันวาคม ๒๕๕๖ เป็นสถานีแม่กลองก่อนการปรับปรุง เป็นการมองออกไปยังสุดทางที่แม่น้ำ จะเห็นว่าตอนนี้มีรางให้ใช้แค่รางเดียว ระดับรางอยู่ระดับเดียวกับพื้นชานชลาโดยแทบจะจมลงไปในพื้นดินแบบมองไม่เห็นไม้หมอนแล้ว รางหลีกด้านข้างเป็นที่ตั้งของร้านค้าต่าง ๆ

รูปที่ ๙ รูปนี้ถ่ายเอาไว้เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๖ เช่นกัน เป็นมองจากด้านปลายสถานีไปยังตัวสถานี จากพื้นชานชลาจะสามารถเดินขึ้นบันได้รถได้เลย

รูปที่ ๑๐ สภาพเส้นทางในตลาดร่มหุบ ตอนนั้นเรียกว่าระดับพื้นร้านค้ากับระดับรางรถไฟอยู่ในระดับเดียวกัน ปลาทูทางด้านขวาเข่งหนึ่งมี ๒ ตัว ราคา ๑๐ บาท


รูปที่ ๑๑ ลวดลายบนตู้รถไฟก่อนการปรับปรุง 

รูปที่ ๑๒ ตัวตู้รถไฟในปัจจุบันเป็นแบบสีเรียบ ๆ สดใสแบบธรรมดา ไม่มีลวดลายอะไร รูปนี้ถ่ายตอนต้นเดือนกรกฎาคม ตอนไปสำรวจเส้นทางครั้งแรก


รูปที่ ๑๓  แผนที่ทหาร L509 ที่ใช้ข้อมูลปีค.ศ. ๑๙๕๘ หรือพ.ศ. ๒๕๐๑ ในการประมวลผล จะเห็นว่าถ้าจะเดินทางด้วยรถยนต์มายังสมุทรสงครามนั้น ต้องใช้เส้นทางถนนเพชรเกษม (เส้นสีแดงทางด้านซ้าย) มาจนถึงราชบุรีและปากท่อ จากนั้นจึงเลี้ยวซ้ายมุ่งตะวันออกมายังสมุทรสงคราม ถ้าเทียบกับการโดยสารรถไฟที่ต้องมาเปลี่ยนขบวนที่บ้านแหลม ก็เรียกว่าเส้นทางรถไฟนั้นเดินทางสั้นกว่า

ส่วนคลิปที่แนบมาก็เป็นขณะขบวนรถไฟเข้าจอดที่สถานีเขตเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: