วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564

สถานีรถไฟศาลาธรรมสพน์ MO Memoir : Saturday 13 March 2564

"เดี๋ยวพอสายสีแดงขยายมา สถานีก็จะย้ายไปอยู่ตรงนั้นแล้วครับ" เจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ที่สถานีบอกกับผม

"แล้วอาคารหลังนี้ล่ะครับ" ผมถามเขา

"ก็คงจะถูกรื้อ" เขาตอบ "มาถ่ายรูปเก็บเอาไว้หรือครับ" เขาถามผมต่อ

"ใช่ครับ เห็นสถานีแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ ตั้งแต่จำความได้ จนเดี๋ยวนี้เห็นมันค่อย ๆ หายไป"

ตอนเด็ก ๆ นั่งรถไฟสายธนบุรี-สุไหงโกลก ออกจากสถานีธนบุรีตอนทุ่มเศษ ผ่านแถวนี้ก็มืดไปหมดแล้ว มองไม่เห็นอะไร จะได้เห็นก็ตอนเที่ยวกลับเข้ากรุงเทพ

ตัวอาคารไม้นี้นอกจากเป็นที่ทำการนายสถานี ที่จำหน่ายตั๋ว และประแจควบคุมการสับราง ก็มักจะมีเครื่องชั่งวางเอาไว้ด้วยเพื่อไว้ชั่งน้ำหนักสินค้า เพราะสมัยก่อนในหลายท้องถิ่น (รวมแถวนี้ด้วย) มีแต่ถนนเล็ก ๆ เข้าถึงและรถยนต์ยังไม่แพร่หลาย (ไม่เหมือนสมัยนี้ที่จัดว่าราคาถูกลงมากเมื่อเทียบกับรายได้) เวลาเกษตรกรจะขนสินค้ามาขายก็ต้องขนมากับขบวนรถไฟ ชื่อถนนสวนผักแถวตลิ่งชันก็เป็นสิ่งที่เตือนให้รู้ว่าแต่ก่อนพื้นที่แถวนี้เขาทำอะไรกัน ขบวนรถเช้ามืดที่เข้าสู่สถานีธนบุรีจะเต็มไปด้วยผู้ปลูกผักที่ขนผักเข้ามาขาย ก็ขายกันตรงชานชลาที่จอดรถไฟนั่นแหละ ก็จะมีคนรอไปกว้านซื้อแล้วค่อยมาขายปลีกในอีกราคาหนึ่งอีกที นั่นคือบรรยากาศ "ศาลาน้ำร้อน" สมัยก่อน

สำหรับวันนี้ ถือว่าเล่าเรื่องไปตามรูปก็แล้วกันครับ

รูปที่ ๑ ป้ายชื่อสถานีที่ติดอยู่ที่ตัวอาคารที่ทำการสถานี ดูแล้วน่าจะเป็นป้ายรุ่นเก่าแต่ทำการซ่อมแซมทาสีใหม่

รูปที่ ๒ สถานีนี้ขับรถเข้าถึงได้ทางถนนศาลาธรรมสพน์ มีลานให้จอดที่เป็นทั้งลานกีฬาของชุมชนและที่สำหรับคนมาขายของกิน ลานนี้อยู่ฝั่งตรงข้ามตัวสถานี วันนั้นจอดรถเสร็จเห็นร้านหนึ่งขายทอดมันกลิ่นหอมดี ก็เลยซื้อมาลองกินดู สรุปว่าทั้งอร่อยและราคาไม่แพง

 
รูปที่ ๓ เดินขึ้นมาตามทางก่อนข้ามทางรถไฟ รูปนี้มองไปทางทิศทางที่มาจากสถานีตลิ่งชัน ชานชลาที่เห็นคือที่ที่จะเป็นที่ตั้งสถานีใหม่ ตอนนี้ตรงนั้นก็มีทางข้ามที่ชาวบ้านสามารถขับรถมอเตอร์ไซค์ข้ามได้
 
รูปที่ ๔ ตัวอาคารเดิมของสถานี ที่ไม่รู้ว่าจะยังคงอยู่ตรงนี้ในสภาพนี้ไปอีกนานเท่าใด เพราะว่าในขณะนี้รถไฟฟ้าสายสีแดงมาสุดสายเพียงแค่ตลิ่งชัน
 
รูปที่ ๕ ข้ามฟากมายังฝั่งอาคารสถานี ภาพนี้มองไปยังทิศทางที่ไปยังสถานีศาลายา พอเป็นรางคู่แล้วนายสถานีก็ไม่ต้องคอยสับหลีกรถไฟ แต่ยังต้องคอยประกาศว่าจะมีรถไฟขบวนไหนจะผ่านมา เพื่อให้คนที่กำลังจะข้ามทางได้ระวัง
 
รูปที่ ๖ มุมหนึ่งของอาคาร

รูปที่ ๗ มองจากฝั่งตรงข้ามของรูปที่ ๖

รูปที่ ๘ ป้ายเตือนให้ระวังอันตราย ป้ายแบบนี้ก็เห็นมาตั้งแต่จำความได้ รูปบนยังเป็นยุคสมัยของรถจักรไอน้ำอยู่เลย

รูปที่ ๙ ถึงจะเป็นป้ายคำเตือน แต่ก็บันทึกบรรยากาศเก่า ๆ ที่พ่อค้าแม่ค้ายังหาบของขายกันอยู่ และบ้านเราจะเดินข้ามทางรถไฟตรงไหนก็ได้ตามสะดวก รูปบนก็ยังเป้นรูปของหัวรถจักรไอน้ำ

รูปที่ ๑๐ สถานีนี้มีป้ายเตือนเก่า ๆ ติดไว้ให้รำลึกความหนังอยู่ ๕ รูป รูปนี้ก็เป็นรูปสุดท้ายแล้ว

รูปที่ ๑๑ จุดทางข้ามทางรถไฟที่ชาวบ้านสามารถขี่มอเตอร์ไซค์ข้ามได้

รูปที่ ๑๒ ชุมชนที่อยู่ฝั่งทางด้านตัวสถานี

รูปที่ ๑๓ วันนั้นมีหัวรถจักรเปล่าวิ่งผ่านมาพอดี

รูปที่ ๑๔ วิ่งไปทางศาลายา ไม่รู้เหมือนกันว่าวิ่งไปไหน

ไม่มีความคิดเห็น: