วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

สถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน MO Memoir : Monday 1 July 2562

ผมเพิ่งจะรู้ว่าตลิ่งชันอยู่ไม่ไกลจากบางพลัดที่ผมอาศัยอยู่ก็ตอนที่มีการตัดถนนบรมราชชนนีและถนนสิรินธร จำได้แต่ว่าตอนเด็ก ๆ เคยมีรถเมล์สาย ๘๓ วิ่งจากท่ารถไฟที่หน้าสถานีรถไฟธนบุรีไปยังตลิ่งชัน รถเมล์ที่วิ่งมาจากสามแยกไฟฉาย พอข้ามทางรถไฟก็จะวิ่งเลี้ยวซ้ายเข้าถนนชัยพฤกษ์ที่อยู่ก่อนข้ามคลองบางกอกน้อย ตอนนั้นดูเหมือนจะมีเพียงถนนเส้นนี้เส้นเดียวที่เข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าว ตอนเป็นเด็กก็เคยติดรถคุณน้าที่เป็นสัตว์แพทย์เข้าไปดูเขาผ่าวัวครั้งหนึ่ง จำได้แต่ว่าแถวนั้นมีแต่ต้นไม้ขึ้นเต็มไปหมด ช่วงเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว เขตบางพลัดยังไม่อยู่ในแผนที่กรุงเทพด้วยซ้ำ แผนที่กรุงเทพด้านตะวันตกสิ้นสุดเพียงแค่ถนนจรัญสนิทวงศ์ไปจนถึงสามแยกบางพลัด (ตอนนั้น) กับสะพานกรุงธนแค่นั้นเอง

รูปที่ ๑ แผนที่แนบท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๗๘ ตอนที่ ๙๕ หน้า ๒๓๘๓ - ๒๓๘๔ วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ รูปนี้เป็นฟากทิศตะวันตกของแผนที่
 
พื้นที่แถวนี้เดิมเป็นพื้นที่ทำสวนผักและทำนา (รูปที่ ๑ และ ๒) ปัจจุบันก็ยังพอเห็นมีหลงเหลืออยู่ แต่ที่น่าจะเหลือเป็นอนุสรณ์ให้คนรุ่นต่อไปรู้ว่าแถวนี้เดิมนั้นคืออะไรเห็นจะได้แก่ "ถนนสวนผัก" ที่ตัดผ่านพื้นที่แถวนี้ ก่อนนั้นจะมีการขนผักเข้ามาขายที่สถานีรถไฟธนบุรีกับขบวนรถเที่ยวเช้ามืด ก่อนฟ้าสว่าง พอรถไฟจอดสถานีก็ขนผักลงมาขายกันแถวชานชลา เรียกว่าตลาดศาลาน้ำร้อน พวกค้าส่งก็จะไปรอซื้อเหมาจากผู้ปลูกที่ขนมาขายกับรถไฟเที่ยวแรกที่เข้าสถานี เรียกว่าซื้อได้ในราคาถูก ใครไปจ่ายตลาดซื้อช่วงสายก็จะได้อีกราคาหนึ่งที่สูงขึ้นจากผู้ที่เหมามาจากผู้ปลูก
 
ทางรถไฟสายใต้นั้นเดิมเริ่มจากสถานีธนบุรี ใช้รางขนาดกว้าง ๑ เมตร ในขณะที่ทางรถไฟสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือนั้นใช้รางขนาดกว้างมาตรฐานคือ ๑.๔๓๕ เมตร เรียกว่าตอนนั้นก็ต่างคนต่างอยู่ แต่พอมีความต้องการเชื่อมต่อทางรถไฟเข้าด้วยกันทั้งประเทศ ก็มีการปรับความกว้างของรางให้เป็น ๑ เมตรทั้งประเทศ และสร้างเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีตลิ่งชันกับสถานีบางซื่อโดยข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานพระราม ๖ สถานีตลิ่งชันก็เลยกลายเป็น "ชุมทางตลิ่งชัน" (คือมีทางแยก) อันที่จริงสถานีบางบำหรุที่อยู่ระหว่างตลิ่งชันและสะพานพระราม ๖ นั้นก็เคยเป็นชุมทางเช่นกัน มีรางให้รถไฟจอดรอเยอะไปหมด (น่าจะมากกว่าตลิ่งชันด้วยซ้ำ) เพราะเป็นจุดแยกสำหรับรถไฟขนถ่านหินไปป้อนให้กับโรงไฟฟ้ายันฮี (ตอนนั้น) ที่ตั้งอยู่เชิงสะพานพระราม ๖ ที่ปัจจุบันเรียกกันในชื่อโรงจักรพระนครเหนือ

รูปที่ ๒ แผนที่ต่อเนื่องจากรูปที่ ๑ รูปนี้เป็นฟากทิศตะวันออก จะเห็นว่าพื้นที่ตลิ่งชันนี้เดิมมีการทำสวนผักกันมาก
 
อุบัติเหตุทางรถไฟที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในบ้านเราก็เกิดที่ชุมทางตลิ่งชันนี้เมื่อ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๒ (อีกไม่ถึง ๒ เดือนก็ครบรอบ ๔๐ ปีแล้ว) เกิดจากรถไฟบรรทุกสินค้าและรถไฟโดยสารชนประสานงากัน มีผู้เสียชีวิต ๕๑ ราย คำถามที่มีการถามในสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับอุบัติเหตุครั้งนั้น (รูปที่ ๓) ใช้คำว่ารถไฟตกราง แต่ในความเป็นจริงคือชนประสานงา

รูปที่ ๓ คำตอบของกระทู้ถามที่ ๑๓๖ ร. โดยผู้ถามคือนายนิยม วรปัญญา สส. จังหวัดลพบุรี พรรคชาติไทย เกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์รถไฟชนกันที่สถานีชุมทางตลิ่งชันเมื่อปี ๒๕๒๒ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๑๐๖ ตอนที่ ๑๖๖ ฉบับพิเศษหน้า ๕๑ - ๕๘ วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๒ เสียดายที่ไม่มีรายละเอียดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดได้อย่างไร และมีการวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีกหรือไม่อย่างไร

เส้นทางรถไฟฟ้าชานเมืองที่สร้างมาตามแนวทางรถไฟสายใต้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบริเวณสองข้างทางรถไฟขนาดใหญ่ จากเดิมที่เป็นพื้นที่สุดซอยก็กลายเป็นพื้นที่ติดถนนที่เดินทางเข้าเมืองได้สะดวกเพราะมีการสร้างถนนคู่ขนานทางรถไฟ จากนั้นก็ตามด้วยระบบทางด่วน อาคารสถานีรถไฟเดิมที่เป็นอาคารไม้แบบเก่าก็สูญหายไปพร้อมกับบ้านพักพนักงานรถไฟ กลายเป็นอาคารแบบใหม่ สิ่งเดิมที่ยังคงเห็นหลงเหลืออยู่น่าจะได้แก่ป้ายชื่อสถานีที่เป็นป้ายคอนกรีต ส่วนที่สถานีตลิ่งชันนั้นยังมีการเก็บอาคารไม้เอาไว้หนึ่งหลัง สัปดาห์ที่แล้วขับรถผ่านไปก็เลยแวะถ่ายรูปเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึกหน่อย ก่อนมันจะหายไป เพราะดูแล้วสงสัยว่าต่อไปคงจะถูกปล่อยร้างโดยไม่มีการดูแล และช่วงเวลานี้เส้นทางรถไฟสายนี้ยังจัดว่าเงียบสงบ คงเป็นเพราะรถไฟฟ้าชานเมืองยังไม่เปิดให้บริการ แค่เริ่มมีการติดตั้งเสาไฟฟ้า พอเปิดให้บริการเมื่อใดบริเวณเลียบทางรถไฟนี้ก็คงจะไม่สงบเหมือนเดิมแล้ว รวมทั้งตัวสถานีต่าง ๆ ตามรายทางด้วย
 
บันทึกฉบับนี้ถือเสียว่าเป็นการบันทึกสถานที่ริมทางรถไฟแห่งหนึ่งเอาไว้ในช่วงที่มันยังเงียบสงบอีก เอาไว้อีกสัก ๑๐ ปีค่อยกลับมาดูใหม่ก็แล้วกัน ว่ามันจะยังคงเดิมหรือเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหนอย่างไร

รูปที่ ๔ ป้ายชื่อสถานีชุมทางตลิ่งชัน น่าจะเป็นของเก่าสิ่งหนึ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ 

รูปที่ ๕ อาคารไม้ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ในภาพนี้ทางรถไฟจะอยู่ทางด้านขวา

รูปที่ ๖ ภาพอีกมุมหนึ่ง ในภาพนี้ทางรถไฟอยู่ทางด้านขวาเช่นกัน

รูปที่ ๗ เดินมาถ่ายรูปอีกทางด้านหนึ่งของอาคาร เป็นการมองไปยังทางทิศตะวันออก 

รูปที่ ๘ ภาพมุมเดียวกับรูปที่ ๗ แต่ถอยห่างมาหน่อยจะได้มองเห็นภาพกว้างขึ้น 

รูปที่ ๙ บรรยากาศภายใต้ชายคา รูปนี้เป็นการมองไปทางทิศตะวันออก

รูปที่ ๑๐ บรรยากาศภายใต้ชายคาเช่นกัน เป็นการมองไปทางทิศตะวันตก 

รูปที่ ๑๑ ภาพตัวอาคาร รูปนี้เป็นการมองไปทางทิศตะวันตก 

รูปที่ ๑๒ มองไปทางด้านที่มาจากสะพานพระราม ๖ รถไฟที่ไปยังสถานีธนบุรีจะใช้รางทางด้านขวา 

รูปที่ ๑๓ มองจากด้านทิศตะวันออกของสถานีไปยังด้านทิศตะวันตกหรือล่องใต้

ไม่มีความคิดเห็น: