ดีที่ไม่เกิดเรื่องตอนขับกลับจากตรวจฝึกงานที่ระยองเมื่อคืนวันพุธ
แต่มาเกิดตอนกำลังขับรถกลับบ้านในถนนกรุงเทพตอนเย็นวันพฤหัสบดีแทน
ไม่เช่นนั้นคงได้นอนชมดาวคู่กับไฟจาก
flare
โรงงานบนถนนสาย
๓๖
รถที่ขับมันก็ดันไม่มีเข็มวัดอุณหภูมิเครื่องยนต์ซะด้วย
มีแต่ไฟเตือนซึ่งจะแดงเมื่อเครื่องยนต์ร้อนเกินไปแล้ว
นั่นก็หมายความว่าเครื่องยนต์ขาดน้ำเข้าไปหล่อเลี้ยง
นึกถึงรถรุ่นเก่าที่ยังใช้ระบบเข็มอยู่
ยังจะพอเห็นว่าระบบหล่อเย็น
"เริ่ม"
มีปัญหาจากการที่อุณหภูมิการทำงานของเครื่องยนต์เริ่มสูงผิดปรกติ
แต่รถรุ่นใหม่ไม่มีเข็มเตือนดังกล่าว
ทำให้ไม่รู้ว่าระบบหล่อเย็นเริ่มมีปัญหา
แต่จะไปรู้เอาเลยตอนที่ปัญหามัน
"เกิด"
ขึ้นแล้ว
และต้องหยุดการทำงานของเครื่องยนต์ทันที
โชคดีนิดที่มันเกิดเรื่องตอนที่อยู่บนถนนที่มีช่องเว้าขอบทางให้จอดรถหลบได้
และรถก็อยู่ทางเลนซ้ายด้วย
ก็เลยไม่ก่อปัญหาใด ๆ
ให้กับชาวบ้านเขาแม้ว่าจะเป็นช่วงชั่วโมงเร่งด่วน
เปิดฝากระโปรงหน้าออกมาก็เห็นปัญหาเลยว่ามันอยู่ตรงไหน
มันไม่ได้รั่วแบบรั่วซึม
มันรั่วแบบน้ำข้างในมันฉีดพ่นออกมาเป็นไอน้ำให้เห็นต่อหน้าต่อตาเลย
จุดที่รั่วคือรอยต่อระหว่างฝาครอบด้านบนกับตัวรังผึ้ง
งานนี้บอกได้อย่างเดียวเลยว่าต้องเปลี่ยนหม้อน้ำใหม่ทั้งลูก
(ฟังมาหลายร้านแล้ว
ลักษณะนามของหม้อน้ำรถยนต์เขาเรียกเป็น
"ลูก")
รูปที่
๑ หม้อน้ำตัวเก่าที่ต้องถอดเปลี่ยน
หม้อน้ำตัวนี้เป็นตัวที่ติดมากับรถ
ชิ้นส่วนฝาครอบรังผึ้งตัวบนและตัวล่างเป็นพลาสติก
(ลูกศรเขียว)
ส่วนตัวรังผึ้งเป็นอะลูมิเนียม
ผนึกกันน้ำรั่วด้วยการใช้ประเก็นและบีบของอะลูมิเนียมของรังผึ้งให้จับตัวฝาครอบเอาไว้
(ตรงแนวลูกศรประสีเหลือง)
อาศัยว่าต้องขับรถออกต่างเมืองเป็นประจำ
เลยได้อาศัยน้ำประปาที่มักจะติดท้ายรถเอาไว้
๒ ลิตรเสมอ
พอระบบเครื่องยนต์เย็นตัวลงก็เปิดฝาปิดหม้อน้ำและเติมน้ำเข้าไป
ปรากฏว่าต้องไปเอาน้ำกิน
(ที่เขาแถมมาตอนเติมน้ำมัน)
เติมลงไปอีกครึ่งขวดใหญ่
ก็ทำให้ขับรถเข้าไปที่บ้านก่อนได้
(ขับจวนจะถึงบ้านอยู่แล้ว
แต่รถมันติดมาก)
เช้าวันเสาร์ก็รีบเอารถไปที่ร้านซ่อมหม้อน้ำก่อนที่เขาจะมีลูกค้ารายอื่น
ใช้เวลาเปลี่ยนหม้อน้ำไปสองชั่วโมงเศษเพราะช่างต้องเริ่มจากการถอดชิ้นส่วนต่าง
ๆ ที่มันเกะกะการถอดตัวหม้อน้ำ
และต้องไปเอาชิ้นส่วนหม้อน้ำตัวใหม่มาประกอบเข้าด้วยกัน
สุดท้ายก็ได้หม้อน้ำตัวใหม่ดังรูปข้างล่าง
รูปที่
๒ หม้อน้ำตัวใหม่หลังจากช่างเพิ่งจะประกอบเสร็จ
ตัวนี้ฝาครอบด้านบนและด้านล่างเป็นทองเหลือง
ส่วนตัวรังผึ้งเป็นทองแดง
ใช้วิธีบัดกรียึดติดกัน
(ที่เห็นเป็นคราบสีเทา
ๆ)
หม้อน้ำแบบนี้ถ้ารั่วซึ่งก็ยังใช้วิธีบัดกรีอุดรูรั่วหรืออุดรูรังผึ้งที่รั่วได้
ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งลูก
พอประกอบคืนเสร็จก็ตรวจสอบความเรียบร้อย
ปรากฏว่าไฟเตือนเครื่องยนต์ที่หน้าปัทม์ขึ้นแทน
ตอนแรกช่างเขาบอกว่ามีการถอดเซนเซอร์ออกตอนรื้อเอาหม้อน้ำเก่าออก
พอประกอบคืนใหม่กล่อง ECU
โปรแกรมคงต้องใช้เวลาตรวจสอบสักพักก็จะหายไปเอง
ขับอยู่หนึ่งวันปรากฏว่ามันก็ไฟเตือนก็ยังไม่หายสักที
แถมรู้สึกมีปัญหาตอนรอบเดินเบา
โดยเฉพาะตอนเข้าเกียร์ถอยหลัง
เลยตัดสิตใจตรวจเองใหม่
พบว่าช่างไม่ได้เสียบสายสัญญาณที่อยู่ที่กรองอากาศกลับคืนเข้าที่เดิม
พอเสียบกลับคืนไฟเตือนก็หายไป
ที่เอาเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังก็เพราะเห็นว่าสมัยนี้ขับรถก็ขับกันอย่างเดียว
ไม่ได้สนใจอะไรเกี่ยวกับระบบของรถยนต์เลย
อาจเป็นเพราะว่ารถสมัยนี้ปัญหามันน้อยลงไปเยอะมาก
อยู่ได้ทนจนถึงเวลาที่ต้องเข้าตรวจเช็คในศูนย์
แม้แต่แบตเตอรี่ก็ยังมีแบบไม่ต้องตรวจเติมน้ำกลั่น
อยู่ได้จนถึงหมดอายุการใช้งาน
น้ำหม้อน้ำเองถ้าไม่มีการรั่วซึมใด
ๆ ก็แทบไม่ต้องเติมเลย
ทีนี้พอมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางก็ทำอะไรไม่เป็น
หรือไม่รู้ว่ามันน่าจะเกิดจากอะไร
พอตามช่างมาดูถ้าเจอช่างที่นิสัยดีก็แล้วไป
แต่ถ้าเจอช่างนิสัยไม่ดีก็แย่ไป