วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2565

สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) ตอนที่ ๑๐ MO Memoir : Tuesday 30 August 2565

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมามีโอกาสได้ไปเป็นผู้สังเกตการณ์การอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องเกี่ยวกับการจัดทำระบบงานการควบคุมสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items หรือที่เรียกย่อว่า DUI) ภายในองค์กรของไทย (Internal Compliance Programme หรือที่เรียกย่อว่า ICP) ที่จัดโดยกรมการค้าต่างประเทศ ณ จังหวัดตราด ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมโครงการต่างก็เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการ "ส่งสินค้าออก" ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหรือธนาคาร และทราบมาว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ได้มีการส่งหนังสือไปยังมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อรณรงค์ให้มหาวิทยาลัยจัดทำระบบ ICP ในองค์กร

ประเด็นที่น่าจะนำมาคุยกันในวันนี้คือ ตอนนี้มีการรณรงค์ให้ผู้ส่งออกสินค้าและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ให้จัดวางระบบ ICP ภายในองค์กรเพื่อควบคุมการส่งออกสินค้าและติดตามสินค้าที่ได้ส่งออกไป และด้วยการใช้คำ "ควบคุมการส่งออก" จึงอาจทำให้คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าการจัดทำ ICP นั้นเป็นเรื่องของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการ "ส่งออก" เท่านั้น แล้วภาคธุรกิจที่ไม่ได้ทำการส่งออกสินค้าที่เป็น DUI (เช่นตัวแทน "นำเข้า" สินค้ามาจำหน่าย) หรือภาคการศึกษานั้นจำเป็นต้องจัดวางระบบ ICP ด้วยหรือ

จากการที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมการพิจารณาสินค้าว่าเป็น DUI หรือไม่จากวิทยากรทั้งอเมริกาและญี่ปุ่น โดยความรู้สึกส่วนตัวแล้วพบว่าในแง่ของการพิจารณาสินค้ามีความแตกต่างกันอยู่ โดยทางฝ่ายอเมริกานั้นจะเน้นการพิจารณาสินค้า "ตามตัวอักษร" และเน้นไปที่การพิจารณา "ผู้รับ" สินค้าว่ามีตัวตนที่น่าเชื่อถือหรือไม่ ในขณะที่ทางฝ่ายญี่ปุ่นนั้นจะมีความยืดหยุ่นในการพิจารณามากกว่าคือแม้ว่าสินค้าจะมีคุณลักษณะไม่เป็นไปตามข้อกำหนด DUI แต่ถ้าสามารถทำการดัดแปลงเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้สินค้านั้นเป็น DUI ได้ ก็จะพิจารณาควบคุมการส่งออกด้วย

และการอบรมที่ทางญึ่ปุ่นจัดให้นั้นยังครอบคลุมถึงการเป็น "ผู้รับ" หรือ "ผู้ร่วมงาน" ที่น่าเชื่อถือ ซี่งตรงนี้เกี่ยวข้องกับผู้ที่ทำหน้าที่ "นำเข้า" สินค้าที่เป็น DUI เพื่อมาจำหน่ายในประเทศหรือเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต เพราะเขาต้องการความมั่นใจว่าสินค้า DUI ต่าง ๆ ที่ส่งมาให้ประเทศไทยนั้น จะถูกส่งต่อไปยังผู้รับที่ไม่เหมาะสมโดยใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน เช่นส่งออกในรูป ชิ้นส่วน อุปกรณ์ หรือเครื่องจักรเก่า ที่ใช้งานแล้วและต้องการโละทิ้ง เป็นต้น หรือในรูปของการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้เรียน/นักวิจัยที่มาจากประเทศที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการผลิต DUI

ตัวอย่างเช่นบริษัท A ทำหน้าที่เป็นตัวแทน นำเข้า, จำหน่าย และซ่อมบำรุงสินค้าที่เข้าข่าย DUI ที่เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์วิเคราะห์ เพื่อขายต่อให้กับ บริษัท สถาบันวิจัย หรือสถาบันการศึกษาภายในประเทศ ที่ต้องการสินค้าดังกล่าวเพื่อใช้ในงานวิจัยหรือกับกระบวนการผลิต การที่ผู้นำเข้าสินค้ามีระบบ ICP และการที่ผู้ซื้อสินค้าจากผู้แทนจำหน่ายนี้มีระบบ ICP ก็จะช่วยเสริมความมั่นใจให้กับประเทศต้นทางที่เป็นผู้ส่งออกสินค้ามาให้ ว่าสินค้าของเขาที่ส่งให้กับผู้ใช้งานในประเทศแล้ว จะไม่ถูกส่งต่อไปยังผู้รับที่ไม่เหมาะสมในประเทศอื่น

ในส่วนของสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยเอง ทางญี่ปุ่นยังได้ยกประเด็นเรื่องความร่วมมือทางวิชาการ เช่นหัวข้องานวิจัย และการให้สิทธิเข้าถึงการใช้งานอุปกรณ์บางชนิด เช่น คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงและซอร์ฟแวร์ ในกรณีที่มีการเดินทางไปทำงานวิจัยยังประเทศญี่ปุ่น คือเขามีการตรวจสอบใบสมัครผู้ที่สมัครเรียนโท-เอกด้วยว่าภูมิหลังมีความเกี่ยวข้องกับการผลิต DUI หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นคนธรรมดาที่พึ่งจะเรียนก็ไม่มีปัญหาเท่าใด (เว้นแต่อาจจะไม่ให้สิทธิในการทำวิจัยในบางเรื่อง) แต่ถ้ามียศทางทหารด้วยก็จะโดนเพ่งเล็งหน่อย หรือในกรณีที่เป็นความร่วมมือการทำวิจัย ซึ่งอาจมีการตรวจสอบประวัติการทำงานของอาจารย์ที่เขาจะทำวิจัยร่วมด้วยว่า เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหรือทำวิจัยร่วมกับคณะวิจัยจากประเทศที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการผลิต DUI ด้วยหรือไม่

ในบางครั้งการ "ส่งออก" ก็อาจไม่ใช่การส่งบางสิ่งบางอย่างออกไปนอกประเทศ แต่เป็นการยอมให้ผู้ที่อยู่ในต่างประเทศเข้ามาใช้สิ่งที่เป็น DUI ที่อยู่ในประเทศได้ ตัวอย่างหนึ่งได้แก่การใช้ซอร์ฟแวร์และคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ที่เทคโนโลยีปัจจุบันนั้นยอมให้ผู้ใช้ที่อยู่ในอีกประเทศหนึ่ง เข้าไปใช้คอมพิวเตอร์และซอร์ฟแวร์ที่อยู่ในอีกประเทศหนึ่งได้ หรือในกรณีของชิ้นส่วนที่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรที่มีความสามารถหรือมีองค์ประกอบที่เป็น DUI เป็นส่วนประกอบของเครื่องจักร การรับงานดังกล่าวจากประเทศหนึ่งเพื่อผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปส่งออกไป โดยที่สินค้านั้นไม่ปรากฏอยู่ในรายการ DUI กรณีแบบนี้ถ้าดูตามตัวอักษรก็จะเห็นว่าไม่เข้าข่ายการส่งออก DUI

ผมเคยลองตั้งคำถามขึ้นมาเล่น ๆ (ซึ่งยังไม่มีคำตอบ) เกี่ยวกับประเด็นในกรณีหลัง โดยได้ยกตัวอย่างกรณีเครื่องจักรสำหรับขัดใบพัดเรือให้เรียบ (ดูเรื่อง "การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๖ Toshiba-Kongsberg Incident" ใน Memoir ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๔) คือถ้ามีบริษัทหนึ่งรับจ้างขัดผิวโลหะให้เรียบ และมีลูกค้าจากต่างประเทศส่งใบจักรเรือมาให้ขัดผิว หรือจ้างผลิตใบจักรเรือที่ผิวต้องมีความเรียบมาก ในกรณีเช่นนี้จะถือว่าใบจักรเรือที่ส่งออกไปนั้นเข้าข่ายการส่งออก DUI ด้วยหรือไม่ เพราะมันไม่มีปรากฏในรายชื่อ DUI และใบจักรเรือ (ที่ผู้รับงานอาจรู้เพียงแค่ว่าเป็นเรือใช้งานธรรมดาลำหนึ่ง) ก็ไม่ใช่อาวุธสงคราม

ด้วยเหตุนี้แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะไม่ได้มีการผลิตสินค้าที่จับต้องได้ แต่มหาวิทยาลัยก็จำเป็นต้องมีระบบควบคุมการครอบครอง DUI เพื่อให้ผู้ขายสินค้าและผู้ที่จะมาร่วมงานวิจัย ไว้วางใจได้ว่าเทคโนโลยีที่เขามอบให้มาหรือให้สิทธิเข้าถึงนั้น จะไม่ถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม

สำหรับวันนี้ก็คงสั้น ๆ เพียงแค่นี้ และปิดท้ายด้วยรูปถ่ายในวันงานที่ตราดหน่อย :) :) :)

 



ไม่มีความคิดเห็น: