วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558

รถไฟสายบางบัวทองกับถนนจรัญสนิทวงศ์ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๘๔) MO Memoir : Tuesday 27 January 2558

บ่อยครั้งที่ผมขับรถกลับบ้านโดยใช้เส้นทางผ่านถนนจรัญสนิทวงศ์ ไปกลับรถใต้สะพานต่างระดับสิรินธร วกเข้าถนนสิรินธร จากนั้นเลี้ยวเข้า "ซอยสิรินธร ๔" ซึ่งเป็นซอยสั้น ๆ แคบ ๆ พอแค่รถเก๋งวิ่งสวนทางกันได้ เพื่อออกถนนคู่ขนานทางรถไฟในการเดินทางกลับบ้าน ถนนเส้นนี้ปัจจุบันเริ่มมีรถมาใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงเช้า เนื่องจากเป็นทางลัดไปออกสะพานพระราม ๗ โดยไม่ต้องไปออกถนนจรัญสนิทวงศ์ (ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างรถไฟลอยฟ้า) ก่อนมีการก่อนสร้างถนนเลียบทางรถไฟ (ช่วงปีพ.ศ. ๒๕๕๔) ซอยนี้ก็แทบไม่มีใครใช้ เพราะมันเป็นแค่ซอยเล็ก ๆ เชื่อมสถานีรถไฟบางบำหรุกับถนนสิรินธร ส่วนผู้เดินทางไปบางกรวยก็จะไปใช้ถนนเทอดพระเกียรติที่ตัดทางรถไฟสายใต้อยู่ใกล้ ๆ เพราะถนนนั้นมันกว้างกว่าและดีกว่า

แต่จะว่าไปแล้ว ซอยเล็ก ๆ ดูธรรมดา ๆ เส้นนี้มันก็มีประวัติความเป็นมาของมันเหมือนกัน

อีกฟากของทางรถไฟที่อยู่ตรงข้ามกับซอยสิรินธร ๔ คือ "ถนนเทอดพระเกียรติ" ที่มุ่งหน้าสู่ อ. บางกรวย ส่วนอีกฟากของถนนสิรินธรที่อยู่ตรงข้ามกับซอยสิรินธร ๔ คือ "ซอยสิรินธร ๗" เมื่อเทียบกับแผนที่แนวเส้นทางรถไฟสายบางบัวทองแล้วทำให้เชื่อได้ว่าซอยสิรินธร ๔ นี้ในอดีตคงเป็นส่วนหนึ่งของแนวเส้นทางรถไฟสายบางบัวทองที่เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์เคยสร้างเอาไว้ (ดูแผนที่ในรูปที่ ๑ ที่เป็นรูปเดียวกันกับที่เคยนำมาลงใน Memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๙๘ วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๖ เรื่อง "รถไฟสายบางบัวทอง(ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำตอนที่ ๓๘)"
  
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วไปได้หนังสือลดราคา 70% จากร้านหนังสือส่งเสริมการอ่านที่ตั้งอยู่บนชั้น ๓ อาคารจัตุรัสจามจุรีเรื่อง “ธนบุรีมีอดีต” เขียนโดย ป. บุนนาค จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Than Books เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๓ ในหนังสือดังกล่าวมีเรื่องเกี่ยวกับรถไฟสายบางบัวทอง เขียนไว้สั้น ๆ ไม่กี่หน้า (หน้า ๓๑๗-๓๒๔) แต่ที่สำคัญคือมีการอ้างอิงไปยังหนังสืออีก ๒ เล่มคือ "ประวัติเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ พระยาภิรมย์ภักดี และประวัติโรงเบียร์ โชคชาตาในชีวิตที่พอใจ" และหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงเยี่ยม จรัญสนิทวงศ์ (ม.ล. เยี่ยม สนิทวงศ์) ทำให้อดไม่ได้ว่าต้องไปค้นดูว่าหนังสือต้นฉบับนั้นเขียนอะไรไว้บ้าง และก็โชคดีที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยมีหนังสือดังกล่าวทั้ง ๒ เล่ม คือ "หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงเยี่ยม จรัญสนิทวงศ์ (ม.ล. เยี่ยม สนิทวงศ์)" ที่จัดพิมพ์เพื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑ และหนังสือ "ประวัติเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ พระยาภิรมย์ภักดี และประวัติโรงเบียร์ โชคชาตาในชีวิตที่พอใจ" ที่เป็นฉบับจัดพิมพ์ในปีพ.ศ. ๒๕๐๖ (รูปที่ ๒)
  
ในหนังสือ "ประวัติเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ พระยาภิรมย์ภักดี และประวัติโรงเบียร์ โชคชาตาในชีวิตที่พอใจ" นั้น ม.ล. ยิ่งศักดิ์ อิศรเสนา ซึ่งเป็นบุตรชายของเจ้าพระยาวงพงษ์พิพัฒน์ เป็นผู้เขียนประวัติของเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ ซึ่งเขียนไว้ยาวถึง ๑๑๙ หน้า (เอาไว้วันหลังจะคัดมาให้ดูเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับรถไฟสายบางบัวทอง) ในส่วนของประวัติพระยาภิรมย์ภักดีและประวัติโรงเบียร์นั้นเขียนโดยตัวพระยาภิรมย์ภักดีเอง และเรื่องสุดท้ายคือโชคชาตาในชีวิตที่พอใจนั้นเขียนโดย ม.ร.ว. ถัด สีหศักดิ์สนิทวงศ์ ชุมสาย (พระยาสีหศักดิ์สนิทวงศ์)
  
รูปที่ ๑ รูปนี้จากแผนที่ในหน้า ๒๓ ของเอกสาร Air objective folder Thailand ซอยสิรินธร ๔ อยู่ใกล้จุดตัดทางรถไฟสายใต้ที่สถานีรถไฟบางบำหรุ แนวทางรถไฟคือตามเส้นประเขียว
  
รูปที่ ๒ เล่มซ้ายคือ "หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงเยี่ยม จรัญสนิทวงศ์ (ม.ล. เยี่ยม สนิทวงศ์)" เล่มกลางคือปกด้านในของหนังสือ "ประวัติเจ้าพระยาวงพงษ์พิพัฒน์ พระยาภิรมย์ภักดี และประวัติโรงเบียร์ โชคชาตาในชีวิตที่พอใจ” และเล่มขวาคือหนังสือ "ธนบุรีมีอดีต"

ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงเยี่ยม จรัญสนิทวงศ์ (ม.ล. เยี่ยม สนิทวงศ์) มีการนำเรื่อง "ประวัติเจ้าคุณพ่อ" ที่เขียนโดย ม.ล. ยิ่งศักดิ์ อิศรเสนา ผู้บุตร ซึ่งมีการระบุว่าบุตรและธิดาร่วมกันพิมพ์แจก ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว. เย็น อิศรเสนา) ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งเมื่อตรวจสอบดูแล้วเป็นเนื้อหาเดียวกันกับที่ปรากฏในหนังสือ "ประวัติเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ ฯลฯ" ที่ตีพิมพ์ในปีพ.ศ. ๒๕๐๖ แต่มีความแตกต่างกันตรงการสะกดชื่อตรงคำว่า “พงษ์” โดยในหนังสือฉบับพิมพ์ปีพ.ศ. ๒๕๐๖ ใช้คำว่า “พงษ์” (รูปที่ ๒) แต่ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพปี ๒๕๔๑ ใช้ “พงศ” (รูปที่ ๔ และ ๕)
  
ท่านผู้หญิงเยี่ยม จรัญสนิทวงศ์ (ม.ล. เยี่ยม สนิทวงศ์) เป็นธิดาองค์ใหญ่ของเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ ซึ่งต่อมาท่านได้แต่งานออกเรือนไปกับหลวงจรัญสนิทวงศ์ (ม.ล. จรัญ สนิทวงศ์) ที่ต่อมาได้รับราชการจนดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งต่อมาชื่อของท่านได้ถูกนำมาตั้งชื่อถนนสายหนึ่งทางฝั่งธนบุรี ที่ตัดจากแยกท่าพระขึ้นเหนือมายังสะพานพระราม ๖ (พอสร้างสะพานพระราม ๗ ถนนนี้ก็เชื่อมเข้ากับสะพานพระราม ๗ แทน) ถนนนี้เดิมมีการสะกดเป็น "จรัลสนิทวงศ์" คือใช้ "ล" แทน "ญ" ในคำว่าจรัญ (ตอนผมเด็ก ๆ ก็ยังสะกดโดยใช้ "ล") ต่อมาภายหลังมีการแก้ไขให้ถูกต้องโดยสะกดด้วย "ญ" แทน "ล" เพื่อให้ตรงกับชื่อของผู้ที่นำมาตั้งเป็นเกียรติ แต่ก็ยังเห็นป้ายเก่า ๆ ตามสถานที่ต่าง ๆ (เช่นป้ายสาขาธนาคาร) ที่ยังใช้ "ล" สะกดคำจรัล อยู่

ถ้ารถไฟสายบางบัวทองเกี่ยวข้องกับเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ก่อสร้าง ถนนจรัญสนิทวงศ์ก็คงเกี่ยวข้องกับท่านในฐานะที่เป็นชื่อของบุตรเขยของท่าน
  


รูปที่ ๓ เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าหมื่นเสมอใจราช
  
รูปที่ ๔ รูปท่านผู้หญิงวรพงศพิพัฒน์ ภริยาของเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์
  
รูปที่ ๕ เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์
  

รูปที่ ๖ ท่านผู้หญิงเยี่ยม จรัญสนิทวงศ์ บุตรีคนโตของเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์

ไม่มีความคิดเห็น: