วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2565

สถานีรถไฟนครชุมน์ MO Memoir : Saturday 16 April 2565

ถนนเลียบแม่น้ำแม่กลองฝั่งตะวันออกจากโพธารามไปยังบ้านโป่งเป็นถนนเส้นเล็ก ๆ ไม่กว้างมากพอที่รถยนต์สองคันจะวิ่งสวนกันได้สบาย เรียกว่าแต่ละคันต้องเบียดลงข้างทางนิดนึง ฝั่งด้านแม่น้ำมีบ้านเรือนและร้านค้าอยู่เป็นระยะ แต่ดูทำเลแล้วก็ไม่ค่อยเหมาะกับการสร้างบ้านเท่าไรนัก เพราะเป็นขอบตลิ่งที่สูงชัน (ประมาณว่าราว ๆ 10 เมตร) ทำให้คิดว่าเดิมเวลาหน้าน้ำหลากระดับน้ำคงสูงมากน่าดู แต่ตอนนี้ก็เห็นย่านโพธารามไปจนถึงบ้านโป่งก็มีการเปิดรีสอร์ทและร้านกาแฟริมน้ำแม่กลองกันหลายร้าน เรียกว่าถ้าไม่อยากขับรถไกลไปถึงกาญจนบุรี ก็ไปหาที่พักเงียบสงบริมแม่น้ำแถวนี้ได้ (ขาดเพียงแค่ไม่มีภูเขาให้เห็น) บ่ายวันศุกร์ที่ผ่านมาแวะไปหาอะไรกินแถวนั้น ก่อนกลับบ้านก็เลยถือโอกาสแวะไปถ่ายรูปสถานีรถไฟนครชุมน์ที่อยู่ใกล้เคียง

รูปที่ ๑ ภาพสถานีรถไฟจาก google street view บอกว่าบันทึกภาพไว้เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๐ ในภาพนี้ยังเห็นตัวอาคารเดิมอยู่ที่ตอนนี้ไม่เหลือร่องรอยให้เห็นแล้ว และระดับทางรถไฟและตัวอาคารก็ไม่ได้สูงจากพื้นถนนมากนัก ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่ระดับรางรถไฟนั้นอยู่สูงกว่าถนนมาก

ตอนแรกคิดว่าสถานีนี้คงเป็นเพียงแค่สถานีเล็ก ๆ ระหว่างสถานีบ้านโป่งกับสถานีคลองตาคต (สถานีก่อนโพธาราม) แต่พอค้นดูแผนที่เก่าและอินเทอร์เน็ตก็พบว่า แต่เดิมนั้นสถานีนี้ก็คงจะเป็นชุมทางสำหรับการขนถ่ายของระหว่างกแม่น้ำแม่กลองกับรถไฟ เพราะปรากฏว่ามีทางแยกจากสถานีไปยังแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งตรงนี้สามารถอ่านรายละเอียดและดูรูปเก่า ๆ เพิ่มเติมได้จากเว็บ http://portal.rotfaithai.com ในหัวข้อ "นครชุมน์ กับการค้นหาเรื่องราวในวันวาน" ดังนั้นวันนี้ก็คงเป็นการบันทึกภาพสถานีรถไฟเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับทางรถไฟรางคู่ (และอาจรวมถึงชานชลายกสูงด้วย)+

รูปที่ ๒ ภาพจากแผนที่ British-India จัดทำในปีพ.ศ. ๒๔๘๘ จะเห็นทางแยกจากสถานีนครชุมน์ไปยังแม่น้ำแม่กลอง

รูปที่ ๓ แผนที่ทหาร L509 จัดทำโดยกองทัพสหรัฐอเมริกาบอกว่าใช้ข้อมูลปีพ.ศ. ๒๔๙๖ จะเห็นติ่งทางแยกเล็ก ๆ ตรงกับที่ตั้งของสถานีนครชุมน์ในวงเส้นประสีเขียว

รูปที่ ๔ เทียบกับ google map ปัจจุบันก็น่าจะเป็นแนวเส้นถนนสีแดง

รูปที่ ๕ จากจุดจอดรถทางด้านทิศเหนือของตัวสถานี มองไปยังเส้นทางที่มาจากบ้านโป่ง

รูปที่ ๖ จากด้านทิศเหนือ มองไปยังตัวสถานี

รูปที่ ๗ ตัวสถานีที่เป็นอาคารชั่วคราวและอาคารที่กำลังก่อสร้าง ตัวอาคารเก่าไม่เหลือร่องรอยแล้ว

รูปที่ ๘ ป้ายชื่อสถานีที่อยู่หน้าที่ทำการชั่วคราวของนายสถานี

รูปที่ ๙ เสาสำหรับรับ-ส่งห่วงทางสะดวก แต่ตอนนี้คงไม่ต้องใช้แล้ว เพราะเป็นระบบรางคู่แล้ว

รูปที่ ๑๐ จากหน้าอาคารที่ทำการชั่วคราว มองไปทางทิศใต้ (มุ่งไปยังสถานีคลองคต)

รูปที่ ๑๑ ปลายชานชลาด้านทิศใต้ เส้นกลางคือเส้นทางหลักเดิม เส้นซ้ายคือรางหลีก และขวาสุดคงเป็นเส้นที่วางใหม่

รูปที่ ๑๒ จากสุดชานชลาด้านทิศใต้ มองกลับไปยังด้านทิศเหนือ

ไม่มีความคิดเห็น: