จากการไปถ่ายรูปตามสถานีรถไฟเล็ก ๆ หลายแห่ง ทำให้รู้ว่าเดี๋ยวนี้มีคู่หนุ่มสาวหลายรายมาใช้บรรกาศที่สถานีรถไฟเล็ก ๆ เพื่อถ่ายรูปพรีเวดดิ้งกันไม่น้อยเหมือนกัน เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าถ้าไม่พิจารณาที่ตัวรางและหมอนรองรางที่เปลี่ยนตามอายุการใช้งาน ตัวอาคารสถานีและบริเวณโดยรอบยังคงบรรยากาศแบบดั้งเดิมในอดีตอยู่ สิ่งที่หายไปคือความพลุกพล่านของผู้คนที่เปลี่ยนไปใช้การเดินทางทางรถยนต์แทน
รูปที่ ๑ สถานีนี้อยู่ระหว่างวัดงิ้วราย (ไปกรุงเทพ) และท่าแฉลบ (ไปนครปฐม)
"ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวสวย" คือคำขวัญประจำอำเภอนครชัยศรีนี้ ยี่สิบกว่าปีที่แล้วเวลาขับรถเข้ากรุงเทพเพื่อเลี่ยงรถติดบนถนนบรมราชชนนี ก็จะใช้เส้นทางเข้านครชัยศรี และวิ่งมาตามถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ มาจนถึงพุทธมณฑลสาย ๔ ตอนนั้นถนนเส้นนี้เป็นเพียงถนนเล็ก ๆ สองช่องทางจราจร ข้างทางเป็นคูน้ำไม่ก็นาข้าว ไม่มีไฟส่องสว่าง ถ้าขับกลางคืนก็จะได้ยินเสียงเปาะแป๊ะบนกระจกหน้ารถตลอดทาง เป็นเสียงรถวิ่งชนแมลงที่มาเล่นแสงไฟหน้ารถ เรียกว่าวันรุ่งขึ้นก็ต้องทำการล้างกระจกหน้า ไฟหน้า และฝากระโปรงหน้ากัน เพราะเศษซากแมลงเต็มไปหมด
อีกเหตุผลหนึ่งที่ไปนครชัยศรีคือ เปลี่ยนบรรยากาศทานอาหาร คือไปกินข้าวกันที่ร้านอาหารริมแม่น้ำท่าจีน ที่กินเป็นประจำคือปลาแรดทอด ตอนนั้นร้านที่ไปกินประจำคือร้านที่อยู่เชิงสะพานข้ามแม่น้ำ ใกล้กับสถานีตำรวจ ปัจจุบันร้านนี้ก็ยังคงอยู่ ตอนนั้นยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้คนไปเที่ยวตลาดท่านา ตลาดน้ำวัดลำพญาก็ยังไม่เกิด
เย็นวันที่ไปถึงสถานีนั้น เห็นชาวบ้านท่านหนึ่งกำลังเข็นรถเข็นบรรทุกผักบรรจุถุงพลาสติกใสใบใหญ่ ๆ หลายใบอยู่ที่สถานี เขาก็ถามผมว่ามาถ่ายรูปงานพรีเวดดิ้งหรือ ผมก็ตอบกลับไปว่าไม่ใช่ เพียงแค่ต้องการมาบันทึกภาพตัวอาคารสถานีเก่า ๆ ที่ปัจจุบันค่อย ๆ ถูกรื้อถอนหายไป (เช่นสถานีถูกปิด) หรือเพื่อก่อสร้างใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ผมก็บอกกับเขาว่าดูจากตัวอาคารสถานีที่มีขนาดใหญ่ แสดงว่าแต่ก่อนแถวนี้คงพลุกพล่านน่าดู ชาวบ้านท่านนั้นก็บอกว่าใช่ พร้อมกับชี้ไปยังคลองที่อยู่ทางด้านทิศใต้ของทางรถไฟ ที่คู่ขนานไปกับทางรถไฟ คือคลองเจดีย์บูชา พร้อมกับเล่าว่าแต่ก่อนตรงบริเวณนี้จะเป็นจุดที่เขาเอาผักที่ขนมาทางเรือมาขึ้นบกกันที่นี่ (แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว)
"เจ้าพระยา - คลองมหาสวัสดิ์ - ท่าจีน - คลองเจดีย์บูชา" คงเป็นเส้นทางหลักทางน้ำสำหรับการเดินทางระหว่างกรุงเทพกับนครปฐม แต่การมาของเส้นทางรถไฟสายใต้ที่วิ่งคู่ขนานไปกับคลองมหาสวัสดิ์และคลองเจดีย์บูชา ทำให้การเดินทางระหว่างกรุงเทพกับสุพรรณบุรีนั้นสะดวกขึ้น คือใช้สถานีวัดงิ้วรายเป็นจุดเปลี่ยนระหว่างรถไฟกับเรือ ในช่วงที่ยังไม่มีถนนบรมราชชนนี ทางรถไฟเองยังช่วยให้การเดินทางจากนครชัยศรีเข้าสู่กรุงเทพสะดวกขึ้น เพราะถ้าเดินทางด้วยรถยนต์ ก็ต้องออกไปยังถนนเพชรเกษมก่อน จากนั้นจึงวิ่งเข้าสามพราน หนองแขม บางแค มายังสถานีขนส่งสายใต้ที่อยู่ที่สามแยกไฟฉาย (ที่ตอนนี้เป็นสี่แยกไปแล้ว) ในขณะที่เส้นทางรถไฟจะมุ่งไปยังหัวลำโพงไม่ก็สถานีธนบุรี ที่สามารถนั่งเรือข้ามฟากต่อมายังท่าพระจันทร์ได้เลย (แต่ก่อนท่าเรือ "ท่ารถไฟ" จะมีเรือข้ามฟากไปท่าพระจันทร์ แต่ตอนนี้ดูเหมือนจะเหลือแค่เรือด่วนเจ้าพระยา และยังเป็นต้นทางรถเมล์สาย ๘๓ วิ่งไปตลิ่งชัน (ที่วิ่งเส้นทางไม่เหมือนกับสาย ๘๓ ในปัจจุบัน)
ข้อเสียของเส้นทางรถไฟสายใต้ช่วงสะพานพระราม ๖ - ชุมทางหนองปลาดุกเห็นจะได้แก่การที่มันวางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก ทำให้บริเวณชานชาลาสถานีโดนแดดทั้งวัน เพราะจะว่าไปจากที่ได้แวะไปถ่ายรูปมาหลายสถานี บางสถานีก็มีบรรยากาศที่เงียบสงบดี เหมาะแก่การนั่งจิบกาแฟตากสายลมพัดผ่านเพื่อคอยดูรถไฟที่จะวิ่งผ่านไปมาให้ดู
ขึ้นรถแล้ว กำลังจะติดเครื่องเพื่อขับรถกลับ ก็ได้ยินเสียงประกาศของทางสถานีว่ากำลังมีรถไฟมา วิ่งจากสถานีน้ำตกปลายทางธนบุรี ก็เลยกลับไปรอถ่ายวิดิโอรถไฟวิ่งเข้าสถานีและวิ่งออก มีผู้โดยสารขึ้นที่สถานีนี้ ๒-๓ คน หนึ่งในนั้นก็คือชาวบ้านที่ผมได้สนทนาด้วยเมื่อมาถึง ท่านขึ้นรถตู้หัวขบวน พร้อมกับผักถุงใหญ่ ๆ หลายถุงที่นำมาด้วย
รูปที่ ๒ แผนที่กองทัพอังกฤษจัดทำช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ สถานีนครชัยศรีอยู่ในกรอบสีเหลืองในรูป จะเห็นว่าตัวอำเภออยู่ตรงส่วนแม่น้ำที่มีการโค้งวน สำหรับเรือที่ไม่ต้องการเสียเวลาก็สามารถใช้คลองลัดงิ้วรายเดินทางในแนวเหนือ-ใต้ได้โดยไม่ต้องวนเข้าอำเภอนครชัยศรี
รูปที่ ๕ ตัวอาคารสถานี มองจากฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตก
รูปที่ ๖ บริเวณที่พักนั่งรอรถไฟ
รูปที่ ๗ ภาพบรรยากาศเก่า ๆ ของช่องจำหน่ายตั๋วแบบเดิมที่ผนังเป็นไม้ระแนง
รูปที่ ๘ อาคารหลังเล็ก ๆ ที่อยู่ข้างอาคารสถานีหลัก เส้นทางรถไฟถูกยกสูงกว่าเดิมมาก จนตัวอาคารเดิมอยู่ต่ำลงไปจากระดับรางปัจจุบันมาก
รูปที่ ๙ มองจากหน้าตัวอาคารสถานีไปทางทิศตะวันออก (มุ่งไปตลิ่งชัน)
รูปที่ ๑๐ มองจากหน้าตัวอาคารสถานีไปทางทิศตะวันตก (มุ่งไปนครปฐม)
รูปที่ ๑๑ โรงเก็บรถซ่อมบำรุงราง
รูปที่ ๑๒ สุดชานชาลาด้านทิศตะวันตก มองไปยังเส้นทางที่มาจากทางนครปฐม
รูปที่ ๑๓ บรรยากาศถนนเลียบทางรถไฟฝั่งด้านทิศใต้ของตัวสถานี
รูปที่ ๑๔ มองจากชานชาลาฝั่งทิศใต้ไปยังตัวอาคารสถานีฝั่งตรงข้าม
รูปที่ ๑๕ อีกมุมหนึ่งของตัวอาคารสถานี มองจากฝั่งตะวันตกไปฝั่งตะวันออก
รูปที่ ๑๖ พอกำลังจะกลับ ก็มีขบวนรถ น้ำตก-ธนบุรี กำลังจะเข้ามาสถานี ก็เลยขอถ่ายรูปบรรยากาศรถไฟกำลังเข้าจอดที่สถานีเสียหน่อย
รูปที่ ๑๗ กำลังรอให้คนขนผักขึ้นที่ตู้แรกอยู่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น