วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เมื่อท่อไอน้ำแตกตรงรอยเชื่อม MO Memoir : Thursday 10 October 2562

ท่อโลหะที่ใช้กันนั้นมีการขึ้นรูปอยู่ ๒ แบบด้วยกัน แบบแรกใช้การนำเหล็กแผ่นมาม้วนและเชื่อมตรงรอยต่อ ท่อแบบนี้เรียกว่าท่อมีตะเข็บ (weld seam pipe) แบบที่สองขึ้นรูปจากแท่งเหล็กร้อน ๆ โดยตรง โดยนำแท่งเหล็กร้อน ๆ มาทำการทะลวง (pierce) ให้เกิดรู ท่อทั้งสองแบบนี้บางทีพอทำผิวภายนอกแล้วก็ยากที่จะบอกความแตกต่าง ต้องอาศัยดูที่ผนังด้านในท่อ โดยท่อแบบมีตะเข็บจะเห็นแนวตะเข็บรอยเชื่อมได้ชัดเจน (รูปที่ ๑)
           
แน่นอนว่าท่อแบบไม่มีตะเข็บจะมีราคาแพงกว่า แต่ก็มีข้อดีกว่าคือผนังท่อไม่มีจุดอ่อนในการรับแรงและการกัดกร่อน (รอยเชื่อมคือจุดอ่อน) ดังนั้นในงานที่ต้องรับความดันสูงหรือทำงานกับสารอันตราย (ที่เกรงว่าจะเกิดการกัดกร่อนได้ง่ายที่รอยเชื่อม) ก็จะกำหนดให้ใช้ท่อชนิดไม่มีตะเข็บ
          
รูปที่ ๑ ท่อแบบมีตะเข็บจะเห็นแนวตะเข็บรอยเชื่อม (ลูกศรสีเหลือง) ได้ชัดเจนทางด้านใน

ตรงนี้ขออธิบายเพิ่มเติมนิดนึง ในการเชื่อมโลหะนั้นบริเวณรอยเชื่อมจะได้รับความร้อนสูงจนโลหะหลอมละลายและเย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว ทำให้โครงสร้างเนื้อโลหะบริเวณรอยเชื่อมแตกต่างไปจากเนื้อโลหะส่วนอื่น คือมักจะแย่ลงกว่าเดิม ชิ้นงานโลหะที่ขึ้นรูปมาจากผู้ผลิตนั้นจะมีการผ่านกระบวนการทางความร้อน (heat treatment) เพื่อปรับสภาพเนื้อโลหะตรงรอยเชื่อมให้มีสภาพใกล้เคียงกับเนื้อโลหะเดิม แต่รอยเชื่อมเองก็ยังอาจมีความบกพร่องฝังอยู่ภายในได้
          
อีกประเด็นหนึ่งที่อาจมีคนสงสัยก็คือสุดท้ายแล้วเวลาเอาท่อแบบ seamless มาใช้งาน ก็ต้องมีการเชื่อมท่ออยู่ดี (ไม่ว่าะจะเป็นการเชื่อมต่อท่อเข้าด้วยกันโดยตรงหรือต่อเข้ากับข้อต่อต่าง ๆ) แล้วทำไมมันไม่เกิดปัญหาเหมือนกัน คำตอบก็คือในกรณีของงานที่ต้องการความไว้วางใจได้ของรอยเชื่อมสูง รอยเชื่อมต่าง ๆ เหล่านี้ทุกรอยจะต้องได้รับการปรับสภาพ (เช่นเผาให้ร้อนใหม่และทำให้เย็นตัวลงอย่างช้า ๆ) และตรวจสอบความสมบูรณ์ 100% (เช่นด้วยการใช้รังสีเอ็กซ์ตรวจ)
           
อีกเหตุผลหนึ่งได้แก่ความเค้นที่เกิดขึ้นในวัตถุรูปทรงกระบอกที่รับแรงดัน (เช่นท่อหรือถังทรงกระบอก) ในทิศทางแนวเส้นรอบรูป (ที่เรียกว่า hoop stress หรือ circumferential stress) ที่รอยเชื่อมตามแนวความยาวท่อต้องรับแรงนั้นมีค่าเป็นสองเท่าของความเค้นที่เกิดขึ้นในทิศทางความยาว (ที่เรียกว่า axial stress หรือ longitudinal stress) ที่รอยเชื่อมตามแนวเส้นรอบวงต้องรับแรง ด้วยเหตุนี้เวลาที่ท่อพังเนื่องจากความดันเราจึงเห็นท่อเกิดการฉีกขาดด้านข้างตามแนวยาวแทนที่จะเป็นการขาดเป็นสองท่อ
         
รูปที่ ๒ เหตุการณ์ท่อไอน้ำที่เป็นท่อแบบมีตะเข็บเกิดรอยแตกอันเป็นผลจากตำแหน่งรอยเชื่อมนั้นอยู่ทางด้านล่างสุด (นำมาจาก ICI Safety Newsletter no. 105 เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๗๗ (พ.ศ. ๒๕๒๐))

รูปที่ ๒ นำมาจาก ICI Safety Newsletter no. 105 สำหรับผู้ที่ทำงานอยู่ในโรงงานเมื่ออ่านแล้วก็คงจะเข้าใจได้ทันทีว่าเขาพูดถึงเรื่องอะไรอยู่ แต่สำหรับผู้ที่กำลังศึกษาอยู่หรือไม่เคยมีประสบการณ์กับโรงงานจริง เมื่ออ่านแล้วอาจไม่เข้าใจอะไรเลยก็ได้ เพราะไม่รู้ว่าเขากำลังพูดถึงอะไร ดังนั้นจะขอขยายความให้กับกลุ่มหลังเพื่อให้เข้าใจเหตุการณ์
      
ไอน้ำที่ใช้ในโรงงานนั้นมีอยู่ด้วยกันสองแบบ แบบแรกคือไออิ่มตัว (saturated steam) คือไอน้ำที่มีอุณหภูมิ ณ อุณหภูมิจุดเดือดของน้ำที่ความดันนั้น แบบที่สองคือไอร้อนยวดยิ่งหรือบางทีก็เรียกว่าไอดง (superheated steam) คือไอน้ำที่มีอุณหภูมิสูงกว่าจุดเดือดของน้ำที่ความดันนั้น
           
ไออิ่มตัวนั้นเหมาะสำหรับการให้ความร้อน เพราะการที่ไอน้ำอิ่มตัวควบแน่นเป็นของเหลวนั้นมีการคายความร้อนต่อหน่วยน้ำหนักไอน้ำที่สูง ค่าสัมประสิทธิ์การถ่ายเทความร้อนให้กับพื้นผิวถ่ายเทความร้อนมีค่าสูง แต่ไม่ค่อยเหมาะสำหรับการนำไปขับเคลื่อนกังหันไอน้ำ (เพราะหยดน้ำที่เกิดจากการควบแน่นอาจทำให้เครื่องจักรเกิด erosion ได้ง่าย) หรือส่งเป็นระยทางไกล (มีการสูญเสียเนื่องจากการควบแน่นเป็นของเหลวที่จำเป็นต้องมีการระบายออกจากระบบท่อ)
          
ไอร้อนยวดยิ่งเหมาะสมกว่าสำหรับการนำไปขับเคลื่อนกังหันไอน้ำและการส่งเป็นระยะทางไกล เพราะแม้ว่าไอร้อนยวดยิ่งจะเย็นตัวลงก็จะยังไม่มีการควบแน่นเป็นของเหลวออกมา จนกว่ามันจะเย็นตัวลงถึงอุณหภูมิจุดเดือด ณ ความดันนั้น และเมื่อไปถึงปลายทางแล้วต้องการเปลี่ยนไอร้อนยวดยิ่งให้กลายเป็นไออิ่มตัวก็ทำได้ง่ายด้วยการฉีดน้ำเข้าไปผสม อุปกรณ์สำหรับฉีดน้ำเข้าไปผสมนี้เรียกว่า desuperheater ด้วยการฉีดน้ำในปริมาณที่พอเหมาะเข้าไป ก็จะทำให้ไอร้อนยวดยิ่งกลายเป็นไออิ่มตัวได้
           
น้ำที่นำไปต้มเป็นไอน้ำ (boiler feed water - BFR) กับน้ำที่เกิดจากการควบแน่นของไอน้ำ (steam condensate) นั้นมีองค์ประกอบทางเคมีไม่เหมือนกัน (เว้นแต่ว่าจะใช้น้ำบริสุทธิ์สูงที่ไม่มีแร่ธาตละลายปนอยู่มาผลิตไอน้ำ) เพราะแร่ธาตุที่มากับน้ำที่นำมาต้ม ไม่ได้ระเหยไปกับไอน้ำด้วย (อาจมีติดไปบ้างกับหยดน้ำเล็ก ๆ ที่ถูกพัดพาไปในกรณีของการผลิตไออิ่มตัว) ดังนั้นน้ำที่นำมาฉีดเข้าที่ desuperheater จึงควรเป็นน้ำที่มีความบริสุทธิ์ระดับเดียวกับไอน้ำ (คือเป็นน้ำปราศจากแร่ธาตุ (demineralised water) หรือ steam condensate) นี่คือคำอธิบายว่าทำไมในบทความถึงกล่าวว่าใช้ demineralised water ฉีดเข้าไปที่ desuperheater เพราะถ้าเอาน้ำที่มีแร่ธาตุปนอยู่ฉีดเข้าไป พอน้ำระเหยออกไปแร่ธาตุเหล่านั้นก็จะตกผลึกอยู่บนผนังท่อในบริเวณนั้น
           
การเกิดสนิมของเหล็กนั้นต้องมีทั้งความชื้นและออกซิเจน ออกซิเจนสามารถละลายน้ำได้เล็กน้อย แต่ละลายได้น้อยเมื่อน้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น ตรงนี้จะเห็นได้จากการทดลองวิทยาศาสตร์ที่ถ้าเอาตะปูไปแช่ในน้ำอุณหภูมิห้อง (ที่ทิ้งไว้นานพอ) กับน้ำที่ได้จากต้มเดือดใหม่ ๆ (แล้วปล่อยให้เย็นลง) จะเห็นว่าตะปูที่แช่ในน้ำอุณหภูมิห้องจะขึ้นสนิมในขณะที่ตะปูที่แช่ในน้ำต้มเดือดใหม่ ๆ จะไม่ขึ้นสนิม (จนกว่าออกซิเจนจะลายลงไปในน้ำได้มากพอ)
       
ในเหตุการณ์นี้ แม้ว่าน้ำที่นำไปฉีดให้กับ desuperheater จะเป็น demineralised water ก็ตาม แต่ก็ยังมีเกลือแร่ละลายอยู่ในปริมาณเล็กน้อย ประกอบกับการที่มันเป็นน้ำเย็นจึงทำให้มีออกซิเจนจากอากาศละลายผสมอยู่ ทีนี้พอการออกแบบ desuperheater นั้นทำมาไม่ดี ช่วงไหนฉีดน้ำเข้ามากเกินไปก็จะมีน้ำควบแน่นเกิดขึ้น พอช่วงไหนฉีดน้ำน้อยเกินไป น้ำที่ควบแน่นเดิมก็จะระเหยกลายเป็นไอออกมา เกิดการเปียก-แห้งสลับกันไป ประกอบกับแนวรอยเชื่อมนั้นอยู่ในตำแหน่ง ๖ นาฬิกา (คือด้านล่างสุด) รอยเชื่อมจึงได้รับผลกระทบจากการเกิดการควบแน่นของไอน้ำและการระเหยของน้ำที่ควบแน่นโดยตรง และพอรอยเชื่อมมีจุดบกพร่อง รอยแตกก็เริ่มจากตรงจุดนั้น บทความไม่ได้ระบุว่าแร่ธาตุที่ปะปนอยู่นั้นคืออะไร กล่าวแต่เพียงว่าเกิด caustic cracking แสดงว่าเกลือแร่ดังกล่าวน่าจะเป็นสารประกอบเบสของ Na หรือ K
         
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือย่อหน้าสุดท้ายที่บอกว่า การตรวจสอบย้อนหลังพบว่าการเกิดรอยร้าวจากสาเหตุนี้เคยมีเกิดก่อนหน้านี้แล้วหลายครั้ง แต่ไม่ได้ก่อปัญหารุนแรงอะไร และเมื่อตรวจพบก็ทำการซ่อมแซมได้ง่าย แถมยังเกิดกับรอยเชื่อมตามแนวเส้นรอบวง ซึ่งคงเป็นจุดเชื่อมท่อเข้ากับท่อหรือเข้ากับข้อต่อ ทำให้ผู้พบเห็นหลงคิดได้ว่าเกิดจากคุณภาพรอยเชื่อมที่ไม่ดี (คือโทษช่างเชื่อม) จะว่าไปประเด็นนี้ก็น่าเห็นใจตรงที่คนที่ทำงานเป็นโอเปอร์เรเตอร์หรือช่างซ่อมนั้น ไม่ได้เป็นผู้ที่ต้องมีความรู้ทางด้านโลหะวิทยาหรือวิทยาการกัดกร่อน และคนที่มีความรู้ทางด้านโลหะวิทยาหรือวิทยาการกัดกร่อนก็ไม่ได้ไปทำงานเป็นโอเปอร์เรเตอร์หรือช่างซ่อม และพอผู้ที่พบเห็นนั้นเขามีคำตอบที่เขาคิดว่าอธิบายที่มาของปัญหาได้ (แม้ว่าในกรณีนี้มันจะผิดก็ตาม) ก็เลยไม่มีการรายงานต่อ
            
มาตรการหนึ่งที่จะลดโอกาสเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ที่บทความกล่าวไว้ก็คือ เวลาวางท่อก็อย่าให้แนวตะเข็บรอยเชื่อมผนังนั้นอยู่ที่ตำแหน่งล่างสุด แต่จะว่าไปเอาเข้าจริง ๆ ตอนประกอบท่อ ช่างประกอบเขารู้หรือไม่ว่าควรต้องทำอย่างไร และทำไปทำไม

ไม่มีความคิดเห็น: