วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

รถยนต์รางหุ้มเกราะกับการปล้นรถไฟสายใต้ที่อุโมงค์ช่องเขา (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๔๘) MO Memoir : Thursday 26 September 2556

เช้า ๆ เวลาขับรถผ่านมาตามถนนกรุงเกษม ผ่านหน้าโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ พอถึงแยกนพวงศ์เลี้ยวซ้ายข้ามคลองผดุงกรุงเกษมตรงสะพานนพวงษ์เพื่อจะเลี้ยวขวาต่อไปยังหัวลำโพง จะเห็นตู้รถไฟคันหนึ่งจอดอยู่ ตู้รถไฟคันนี้รูปทรงมันสั้นเหมือนรถหุ้มเกาะ ข้างบนมีป้อมปืนหมุนไปมาได้ ที่รู้ว่ามันหมุนไปมาได้เพราะผ่านไปแต่ละครั้งมักเห็นปืนบนป้อมหันไปทิศต่าง ๆ (ผมไม่ได้สะกดผิดนะ ป้ายชื่อแยกสะกดว่า "นพวงศ์" ส่วนป้ายชื่อที่ติดอยู่ที่สะพานมันสะกดว่า "นพวงษ์" พ.ศ. ๒๕๐๓)
  
ผมขับผ่านมันอยู่หลายปี จนในที่สุดในวันอังคารที่ผ่านมาก็ถือโอกาสแวะเข้าไปทักทายมันสักที จะได้รู้ว่ามันคืออะไร ทำให้รู้ว่ามันคือ "รถยนต์รางหุ้มเกราะ" ที่ใช้ในการป้องกันขบวนรถไฟ
  
ในยุคที่ประเทศยังมีภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์นั้น เส้นทางคมนาคมที่เสี่ยงภัยที่สุดจากการปล้นเห็นจะเป็นเส้นทางสายใต้ ไม่ว่าจะเป็นทางรถยนต์หรือรถไฟ เส้นทางรถไฟช่วงจากนครศรีธรรมราชไปพัทลุงก็เป็นจุดเสี่ยงจุดหนึ่ง เพราะเป็นช่วงที่เส้นทางต้องผ่านภูเขา เหตุการณ์ปิดถนนปล้นนั้นมีบ่อยจนกระทั่งมีคนเอาเพลงของวงแฮมเมอร์ที่ชื่อ "ปักษ์ใต้บ้านเรา" ที่เนื้อเพลงเขาร้องว่า "โอ่ โอ ปักษ์ใต้บ้านเรา โอ่ โอ ปักษ์ใต้บ้านเรา แม่น้ำ ภูเขา ทะเลกว้างไกล อย่าไปไหน กลับใต้บ้านเรา ..." ไปแปลงเป็น "โอ่ โอ ปักษ์ใต้บ้านเรา โอ่ โอ ปักษ์ใต้บ้านเรา มีปล้นรถทัวร์ วางระเบิดรถไฟ จะไปไหม ปักษ์ใต้บ้านเรา ..." หรือไม่ก็ "โอ่ โอ ปักษ์ใต้บ้านเรา โอ่ โอ ปักษ์ใต้บ้านเรา มีปล้นรถทัวร์ วางระเบิดศาลากลาง จะไปไหม ปักษ์ใต้บ้านเรา ..." หรืออะไรต่อมิอะไรทำนองนี้
  
รูปที่ ๑ รถยนต์รางหุ้มเกราะคันนี้จอดอยู่บริเวณห้องสมุดรถไฟเยาวชน ถนนเลียบคลองผดุงกรุงเกษม ด้านทิศเหนือของสถานีรถไฟหัวลำโพง ป้ายที่ติดตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของตัวรถเป็นป้ายบอกประวัติของรถ (รูปที่ ๒)
  
ข้างตัวรถนั้นมีป้ายบอกประวัติของรถ แสดงให้เห็นว่ารถคันนี้ได้มีการผ่านสมรภูมิมาอย่างโชกโชน ป้ายดังกล่าวสดุดีวีรกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟและเจ้าหน้าที่ของการรถไฟจำนวนทั้งสิ้น ๗ นายที่เสียชีวิตจากการลอบโจมตีเพื่อปล้นรถไฟขบวนพิเศษจ่ายเงินเดือนพนักงานรถไฟสายใต้เมื่อวันอังคารที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ หรือเมื่อ ๓๔ ปีที่แล้ว ผมสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจท่านที่ประจำอยู่ที่ห้องสมุดรถไฟว่ารถคันนี้เป็นคันที่อยู่ในเหตุการณ์หรือเปล่า ก็ได้รับคำตอบว่าใช่
  
เส้นทางรถไฟสายใต้นั้นมีอุโมงค์อยู่เพียงอุโมงค์เดียว อยู่ระหว่างสถานีช่องเขา (ทางด้านเหนือ) และสถานีร่อนพิบูลย์ (ทางด้านใต้) ตอนเด็ก ๆ นั่งรถไฟลงใต้จำได้ดีว่ารถไฟต้องไปหยุดพักยาวที่ชุมทางทุ่งสงก่อน พอรถออกจากทุ่งสงก็รู้ว่าอีกไม่นานรถไฟจะเข้าอุโมงค์ ก็จะคอยโผล่หน้าออกมาดูทางหน้าต่างว่าเมื่อไรจะถึงอุโมงค์สักที
  
ป้ายนี้ (รูปที่ ๒) ระบุสถานที่เกิดเหตุว่าเกิดบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 771/13 (กิโลเมตรที่ 771 นับจากกรุงเทพ ส่วนเลข 13 ไม่รู้เหมือนกันว่าหมายถึงอะไร) พอตรวจสอบกับตำแหน่งที่ตั้งของอุโมงค์ช่องเขาซึ่งอยู่ระหว่างกิโลเมตรที่ 769.822 ถึง 770.058 (จาก http://th.wikipedia.org/wiki/อุโมงค์ช่องเขา) แสดงว่าจุดเกิดเหตุอยู่บริเวณปากอุโมงค์ด้านสถานีรถไฟร่อนพิบูลย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำอยู่ที่ห้องสมุดรถไฟท่านเล่าว่าผู้ก่อการร้ายใช้วิธีดักซุ่มอยู่เหนือปากอุโมงค์ แล้วใช้วิธีหย่อนระเบิดลงมายังขบวนรถ ผลจากการปะทะครั้งนั้นสามารถป้องกันทรัพย์สินของทางราชการเอาไว้ได้ แต่ก็ต้องสูญเสียเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟและเจ้าหน้าที่ของการรถไฟจำนวนทั้งสิ้น ๗ นาย คือ

๑) พ.ต.ท. บุญโกย อุ่นวัฒนะ ๒) จ.ส.ต. ละเอียด มากมี
๓) จ.ส.ต. ลพ ท้าวทอง ๔) จ.ส.ต. ศรีศักดิ์ สีน้ำเงิน
๕) ส.ต.อ. ชูศิลป์ สรรค์ประศาสน์ ๖) พลฯ สุวรรณ ไชยยะ
๗) นายปรีชา จิตต์เจริญ (เจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย)


รูปที่ ๒ ป้ายสดุดดีวีรกรรมของนายตำรวจและเจ้าหน้าที่การรถไฟที่เสียชีวิตจากการปะทะในวันอังคารที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ เหตุการณ์เป็นอย่างไรก็ลองอ่านเอาเองนะครับ


รูปที่ ๓ อีกมุมหนึ่งของรถยนต์รางหุ้มเกราะ


รูปที่ ๔ ส่วนของป้อมปืน ตรงที่วงเอาไว้เดาว่าเป็นศูนย์ปืน ผู้ยิงคงมองออกมาจากรูตามแนวที่ลูกศรชี้

รูปที่ ๕ อีกด้านหนึ่งของป้อมปืน แสงไม่ค่อยเป็นใจ ทำให้ดูมืดไปมาก


รูปที่ ๖ รูปถ่ายรถยนต์รางหุ้มเกราะคันดังกล่าว แขวนเอาไว้ในตู้โบกี้ของห้องสมุดรถไฟ เสียดายที่ไม่ได้ระบุว่าถ่ายที่ไหนเมื่อปีใด แต่คงเป็นสถานีค่อนข้างใหญ่ เพราะเห็นมีหลายราง รู้แต่ว่าตำรวจคนที่ยืนอยู่ข้างรถถือปืน M-16


รูปที่ ๗ รูปนี้เห็นชัดว่าถ่ายที่ชุมทางหาดใหญ่ แต่ไม่ระบุเวลา แขวนเอาไว้ในตู้โบกี้ของห้องสมุดรถไฟเช่นเดียวกัน เจ้าหน้าที่ที่คนที่ ๑ และ ๓ จากซ้ายระบุได้ว่าถือปืน HK-33

ดูจากโครงสร้างตู้รถแล้วคิดว่าไม่น่าจะมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ แถมไม่มีหน้าต่างให้เปิดระบายอากาศอีก (ขืนมีมันก็คงไม่ได้เป็นรถหุ้มเกราะ) รถหุ้มเกราะที่เป็นเหล็กทั้งคันวิ่งตากแดดกลางวันนี่คงจะร้อนน่าดู แสดงว่าผู้ที่เข้าไปประจำในตัวรถต้องมีความอดทนอย่างมาก เห็นป้ายสดุดีวีรกรรมแล้วทำให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านั้นท่านมีจิตวิญญาณพร้อมที่จะเข้าเผชิญเหตุเพื่อป้องกันความเสียหาย แทนที่จะหลีกทางให้คนร้ายปฏิบัติการ รอให้ความเสียหายเกิดขึ้นก่อน (เช่นกรณีเผาห้างและศาลากลางจังหวัด ปล้นร้านสะดวกซื้อ หรือปล่อยให้ยิงกันตายไม่รู้กี่ศพรอบ ๆ สำนักงานใหญ่แต่หาตำรวจเห็นเหตุการณ์ไม่ได้สักคน เช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้) แล้วค่อยตามจับภายหลัง
  
ผมลองเอาชื่อผู้เสียชีวิตสืบค้นจาก google และในราชกิจจานุเบกษาดูก็พบแต่ชื่อ พ.ต.ท. บุญโกย อุ่นวัฒนะเท่านั้น เพราะมีประกาศออกมาเฉพาะราย (รูปที่ ๘) ท่านอื่นก็เชื่อว่าน่าจะมีประกาศพระราชทานยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์เช่นเดียวกัน แต่อาจมีหลายชื่ออยู่ในประกาศเดียวกัน ทำให้คอมพิวเตอร์หาไม่เจอ

คนไทยที่อายุไม่เกิน ๓๐ ในปัจจุบันอาจถือได้ว่าเกิดไม่ทันหรือเกิดแล้วแต่ยังไม่โตพอ ที่จะรับรู้เหตุการณ์การสู้รบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างคนในประเทศได้ หลาย ๆ ที่ที่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวในปัจจุบันเดิมเป็นสมรภูมิการสู้รบนองเลือด ทั้งสองฝ่ายตายกันไม่รู้กี่ศพ ผมเคยบอกกับนิสิตหลาย ๆ คนว่า รู้ไหมว่าที่ ๆ พวกคุณไปเที่ยวกัน ไปถ่ายรูปกันนั้น สมัยผมเรียนมหาวิทยาลัยเขายังสู้รบกัน ยังยิงปืนใหญ่ใส่กัน ยังทิ้งระเบิดใส่กันอยู่เลย เพิ่งจะมาสงบให้พวกคุณเข้าไปเที่ยวได้เมื่อไม่นานนี้เอง 
   
ครั้งต่อไปถ้ามีโอกาสเดินทางไปยังที่เหล่านั้น ผ่านอนุสรณ์สถานต่าง ๆ ก็ขอเชิญแวะไปแสดงความเคารพต่อดวงวิญญาณผู้เสียสละเหล่านั้นด้วยนะครับ



รูปที่ ๘ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี (บน) เรื่องพระราชทานยศตำรวจให้แก่ พ.ต.ท. บุญโกย อุ่นวัฒนะ ให้เป็นพลตำรวจตรี และแจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี (ล่าง) เรื่องพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แต่พลตำรวจตรี บุญโกย อุ่นวัฒนะ (โปรดสังเกตนะว่าในประกาศแรกทำการเลื่อนยศก่อน พอประกาศที่สองก็ใช้ยศใหม่ได้ทันที) แต่ก็หลังจากที่เสียชีวิตไปแล้วเกือบ ๓ ปี (ขาดไม่กี่วัน)

ไม่มีความคิดเห็น: