วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ขยะไม่ได้เป็นศูนย์ แค่เปลี่ยนหน้าตา และผลักภาระให้ผู้อื่นรับแทน MO Memoir : Sunday 27 June 2564

เมื่อมีบริษัทจัดประกวดโครงการจัดการกับขยะที่เป็นขวด PET (ที่บริษัทเขาเองก็มีส่วนในการผลิตและทำรายได้ให้กับบริษัทด้วย) เมื่อมีนิสิตมาขอความรู้และความเห็นเรื่องเกี่ยวกับการผลิตและการกำจัดผลิตภัณฑ์พลาสติก ก็เลยเล่าเรื่องที่การจัดการขยะในอดีตของโรงอาหารให้ฟัง เพื่อให้เขาเห็นภาพเทียบกับปัจจุบัน (ที่มีการเอาไปโฆษณาว่าเป็นหน่วยงานสีเขียว) กับมุมมองอีกด้านหนึ่งของผมที่ฝากให้เขานำไปพิจารณา

สิ่งหนึ่งที่ผมได้ฝากพวกเขาไว้ก็คือ อย่ามองเห็นแต่เฉพาะสิ่งดีกับสิ่งที่เราเลือก แต่เราต้องพิจารณาและให้คำตอบด้วยว่ายังมีทางเลือกอื่นอีกไหม และทำไมเราจึงไม่เลือกทางเลือกนั้น (เพราะถ้ามีการถามขึ้นก็จะได้โต้แย้งได้) และต้องรู้ด้วยว่าสิ่งที่เราเลือกนั้นมันใช้ได้กับทุกสภาพการณ์หรือไม่ หรือว่ามันจะดีก็ต่อเมื่อมันเป็นไปตามเงื่อนไขหนึ่ง แต่ถ้าเงื่อนไขมันเปลี่ยนไป สิ่งที่เราเลือกนั้นอาจไม่เหมาะสม และจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวทางการแก้ปัญหาใหม่ก็ได้ เพราะในการทำงานจริงนั้นมันไม่มีสูตรสำเร็จเพียงสูตรเดียวที่ใช้ได้กับทุกกรณี เราจำเป็นต้องรู้ว่าเพื่อให้บรรจุเป้าหมายนั้นมีวิธีการใดบ้าง และแต่ละวิธีนั้นเหมาะสมกับสภาพการณ์ใด

พวกน้ำอัดลมและน้ำดื่มบรรจุขวดนั้น แต่เดิมจะบรรจุขวดแก้วกัน เวลากินอาหารที่โรงอาหาร กินหมดก็คืนขวดไว้ที่โรงอาหาร ขยะที่เกิดก็จะมีแต่ฝาขวดและหลอดดูด ตัวขวดเองผู้ผลิตก็รับขวดกลับไปล้างเพื่อนำมาใช้ใหม่ สำหรับร้านน้ำที่ขายน้ำตัก (พวกน้ำผลไม้ น้ำหวานต่าง ๆ) และการขายน้ำแข็งเปล่า ก็จะใช้แก้วพลาสติกที่ล้างและใช้ซ้ำได้ กินเสร็จก็คืนแก้วไว้ที่โรงอาหาร เขาก็เก็บมาล้างเพื่อนำมาใช้ใหม่ ของเสียที่เกิดก็คือน้ำที่เกิดจากการล้าง ซึ่งมันก็ไหลลงบ่อบำบัดร่วมกับน้ำล้างจานอยู่แล้ว น้ำผ่านการบำบัดก็สามารถนำไปใช้งานอื่นได้ เช่นล้างพื้น รดน้ำต้นไม้ ปัจจุบันศูนย์อาหารในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่บางแห่งก็ยังใช้แก้วน้ำดื่มแบบล้างทำความสะอาดใหม่ได้ ซึ่งไม่ทำให้เกิดขยะแก้วน้ำใช้ครั้งเดียวทิ้ง

รูปที่ ๑ แผนผังการเกิดขยะและการจัดการขยะจากโรงอาหารในอดีตจากมุมมองที่เห็น

รูปที่ ๑ เป็นแผนผังการเกิดขยะและการจัดการขยะจากโรงอาหารในอดีตจากมุมมองที่เคยเห็นมา รูปแบบนี้ทางผู้ขายเครื่องดื่มบรรจุขวดจะเป็นผู้รับภาระค่ามัดจำขวด ซึ่งเงินจำนวนนี้ทางผู้ผลิตเครื่องดื่มจะเก็บเอาไว้ เลิกขายเมื่อใดก็ค่อยมารับเงินคืนเมื่อคืนขวด แต่จะว่าไปแล้วร้านขายน้ำเขาก็ขายกันต่อเนื่องยาว ๆ ไป ดังนั้นเงินส่วนนี้จึงเป็นเสมือนเงินที่เขาต้องเสียไปโดยไม่สามารถใช้ประโยชน์อะไรได้ ในขณะที่ทางผู้ผลิตเครื่องดื่มสามารถเอาเงินจำนวนนี้ไปฝากธนาคารเพื่อกินดอกเบี้ยได้ แต่ในขณะเดียวกันผู้ผลิตเครื่องดื่มก็ต้องแบกรับภาระการล้างและการบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากการล้าง แต่ถ้าถามว่าถ้าเช่นนั้นต้นทุนจะสูงกว่าการใช้ขวดพลาสติกหรือบรรจุกระป๋องโลหะไหม คำตอบตรงนี้หาได้ในร้านค้า เพราะเราสามารถเทียบดูได้ว่าสำหรับเครื่องดื่มที่มีปริมาตรเท่ากัน (หรือคิดราคาต่อซีซี) เครื่องดื่มที่บรรจุใน ขวดแก้ว (ชนิดขายขาด) ขวดพลาสติก และกระป๋องโลหะนั้น แบบไหนมีราคาแพงกว่ากัน

คนที่สบายหน่อยในงานนี้คือผู้เก็บขยะ เพราะไม่ได้มีขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้งจำนวนมากที่ต้องหาทางกำจัด ไม่ว่าด้วยการแยกออกไปหาทาง recycle, เผา, หรือหาที่ฝัง

รูปที่ ๒ แผนผังการเกิดขยะและการจัดการขยะจากโรงอาหารในปัจจุบันจากมุมมองที่เห็น

ทีนี้พอพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไป การนั่งดื่มกินนอกโรงอาหารมีมากขึ้น ก็เลยเกิดการขายของกินและเครื่องดื่มที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์แบบขายขาดไปเลยมากขึ้น ทำให้ราคาเครื่องดื่ม (คิดต่อซีซี) แพงมากขึ้น ผู้บริโภคที่เลือกจากซื้อของกินออกไปกินนอกโรงอาหารก็ต้องแบบรับภาระนี้ แต่ว่าสำหรับผู้บริโภคที่เลือกที่จะบริโภคในโรงอาหาร กลับโดนบังคับให้ต้องซื้อของกินที่บรรจุในผลิตภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้งไปโดยปริยายด้วย นอกจากนี้โรงอาหารบางแห่งยังยกเลิกการใช้แก้วที่สามารถล้างและใช้ซ้ำได้ โดยบังคับให้ไปใช้แก้วที่เขาบอกว่าย่อยสลายได้แทน และคิดเงินค่าแก้วนี้เพิ่ม รูปบบนี้ผู้ผลิตเครื่องดื่มและคนขายเครื่องดื่มนั้นไม่ต้องรับภาระการล้าง (หรือลดลง) ส่วนคนผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุของกิน (ที่บอกว่าย่อยสลายได้) ก็มีรายได้เพิ่มพูนมากขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคต้องรับภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อผลิตขยะมากขึ้น และผู้เก็บขยะก็ต้องแบกรับการจัดการกับขยะที่มีปริมาณมากขึ้นเช่นกัน

การลดปริมาณขยะควรเน้นไปที่การลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นโดยรวม โดยไม่ต้องสนว่าขยะนั้นจะสามารถ recycle หรือย่อยสลายได้หรือไม่ การเพิ่มปริมาณขยะที่เกิดขึ้นด้วยการลดการใช้ซ้ำ (reuse) และไปเพิ่มปริมาณขยะที่อ้างว่าสามารถ recycle ได้หรือย่อยสลายได้นั้น ไม่ควรถือว่าเป็นการลดปริมาณขยะ

ประเด็นหนึ่งที่น่าลองนำมาพิจารณาก็คือ การจัดการกับขยะที่เกิดจากการบังคับให้ใช้บรรจุภัณฑ์ที่อ้างว่า "ย่อยสลายได้และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม" ของหน่วยงานนั้น ถ้าหน่วยงานนั้นเลือกที่จะบังคับให้ใช้บรรจุภัณฑ์ที่อ้างว่า "ย่อยสลายได้และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม" แทนที่การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ "สามารถล้างและใช้ซ้ำได้" หน่วยงานดังกล่าวนั้นจัดการกับขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ที่อ้างว่า "ย่อยสลายได้และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม" นั้นอย่างไร ถ้าการจัดการนั้นเป็นการจัดการภายในหน่วยงานเอง คือมีการเก็บรวบรวมมาทำปุ๋ยใช้เอง (แบบเดียวกับการบำบัดน้ำเสียที่ต้องกระทำที่ตัวอาหารที่เป็นแหล่งกำเนิดน้ำเสีย) โดยไม่มีการส่งออกไปให้ผู้อื่นกำจัดแทน (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าวิธีการกำจัดนั้นทำให้บรรจุภัณฑ์ดังกล่าวย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้หรือไม่) ก็คิดว่ายังเรียกได้ว่ามีการรับผิดชอบต่อสังคมภายนอกอยู่ แต่ถ้าใช้วิธีการผลิตขยะที่สามารถ recycle และ/หรือย่อยสลายได้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะลดภาระการ reuse สิ่งของต่าง ๆ ที่เคยใช้กันอยู่ในองค์กร แล้วส่งให้ผู้อื่นต้องแบกรับภาระการจัดการขยะที่ผลิตขึ้นมากนั้นแทน เราควรที่จะเรียกองค์กรนั้นว่าเป็นองค์กรที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่

เนื่องจากการแข่งขันนี้ทางผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นผู้สนับสนุนรายการ โดยให้ผู้แข่งขันหาทางนำเอาขยะที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของเขานั้นไปใช้ประโยชน์อื่น เพื่อที่จะสร้างภาพลักษณ์องค์กรว่ามีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่อีกทางเลือกหนึ่งนั้นคือย้อนกลับไปเป็นรูปแบบเดิม คือเปลี่ยนกลับไปใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถ reuse ได้เหมือนเดิม อาจเป็นทางเลือกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมกว่า แต่มันก็จะไปกระเทือนการทำธุรกิจของผู้สนับสนุนรายการ (คือไปรณรงค์ให้ลดการใช้ผลิตภัณฑ์ของผู้สนับสนุนรายการ) ก็คงต้องแล้วแต่ผู้เข้าแข่งขันว่า จะนำเสนออย่างไร เพื่อให้ได้วิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงและไม่ผลักภาระให้ผู้เก็บขยะต้องมีภาระมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: