วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2563

การคำนวณเชิงตัวเลข (๓๑) การแก้สมการอนุพันธ์ด้วยฟังก์ชันพหุนาม (๖) MO Memoir : Thursday 2 April 2563

ตรงนี้ขอบันทึกไว้นิดนึง เนื้อหาในบทความชุดนี้นับตั้งแต่ตอนที่ ๑ นั้นอิงมาจากตัวอย่างในหนังสือ "Nonlinear Analysis in Chemical Engineering" ที่เขียนโดย Prof. Bruce A. Finlayson เล่มที่ผมมีนั้นเป็นฉบับพิมพ์เมื่อค.ศ. ๑๙๘๐ เหตุผลที่มีเล่มนี้ก็เพราะต้องใช้ในการทำวิทยานิพนธ์ตอนเรียนปริญญาเอก
  
สมัยเรียนปริญญาตรีได้เรียนเรื่องการแก้ปัญหาสมการอนุพันธ์แยกออกมาเป็นวิชาหนึ่งต่างหาก (๓ หน่วยกิต) และเทคนิคหนึ่งในการแก้ปัญหาที่ได้เรียนก็คือการสมมุติว่าคำตอบนั้นประมาณค่าได้ด้วยอนุกรมอนันต์ (Infinite series) สมัยที่เรียนก็ท่องจำกันแต่ว่าถ้าสมการอนุพันธ์มีหน้าตาแบบนี้ ก็ให้ใช้อนุกรมตัวนี้ในการแก้โจทย์ กว่าจะเข้าใจว่าทำไปต้องเป็นเช่นนั้นก็ผ่านไปหลายปีเหมือนกัน กล่าวคืออนุกรมอนันต์แต่ละอนุกรมนั้นมันมีลักษณะเฉพาะตัวของมัน ถ้าเราเลือกอนุกรมอนันต์ที่มีพฤติกรรมใกล้เคียงกับพฤติกรรมของคำตอบของโจทย์ของเรา การลู่เข้าหาคำตอบก็จะรวดเร็วขึ้น กล่าวคือการได้มาซึ่งตัวเลขค่า y หลังจากแทนค่า x เข้าไปในอนุกรมอนันต์ที่เป็นตำตอบนั้นนั้นไม่จำเป็นต้องใช้จำนวนพจน์มาก ลองดูตัวอย่างนี้ได้ใน Memoir ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๘๘๗ วันอาทิตย์ที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เรื่อง "ฟังก์ชันแกมมา (Gamma function) และฟังก์ชันเบสเซล (Bessel function)"
  
คำตอบของสมการที่ใช้ในงานทางวิศวกรรมเคมีนั้นจำนวนไม่น้อยเป็นคำตอบที่มีความสมมาตร กล่าวคือ ณ ตำแหน่ง x ใด ๆ ที่ห่างออกไปจากตำแหน่งจุดสมมาตรไม่ว่าจะเป็นทางซ้ายหรือขวาเป็นระยะที่เท่ากัน จะมีค่า y เท่ากัน ตัวอย่างของโจทย์ประเภทนี้ได้แก่การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและความเข้มข้นในแนวรัศมีของ tubular reactor (ในกรณีของการทำงานแบบ nonisothermal nonadiabatic) ที่มีความสมมาตรรอบแนวแกนกลางของ reactor การเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของสารในอนุภาคตัวเร่งปฏิกิริยาที่เป็นทรงกลมที่มีความสมมาตรรอบจุดศูนย์กลางของทรงกลม เป็นต้น ดังนั้นจะเป็นการดีกว่าถ้าหากเราใช้ฟังก์ชันที่มีความสมมาตรมาเป็นฟังก์ชันที่ใช้ประมาณค่าคำตอบ
  
ฟังก์ชันพหุนามนั้น ถ้ากำลังสูงสุดเป็นเลขคี่ (odd number) ปลายทั้งสองข้าง (คือเมื่อ x เข้าหา ∞ หรือ -∞ ) จะชี้ไปคนละทางกัน แต่ถ้ากำลังสูงสุดเป็นเลขคู่ (even number) ปลายทั้งสองข้างจะชี้ไปคนละทางกัน (คือข้างหนึ่ง y จะเข้าหา ∞ ในขณะที่อีกข้างหนึ่งจะเข้าหา -∞ ) และถ้าเลขยกกำลังนั้นมีแต่เลขคู่ ฟังก์ชันนั้นก็จะมีความสมมาตรรอบแกนสมมาตร (คือห่างจากตำแหน่ง x ที่เป็นจุดสมมาตรไปทางซ้ายและขวาเป็นระยะ x ที่เท่ากัน จะมีค่า y เท่ากัน) และเราก็สามารถใช้ประโยชน์ตรงจุดนี้ในการนำมาสร้าง orthogonal function ที่มีความสมมาตรเพื่อใช้หาคำตอบของปัญหาที่มีความสมมาตร
  
ในหนังสือของ Finlayson หน้า ๙๔ ได้ให้สมการสำหรับคำนวณหา orthogonal function ในช่วง [0, 1] สำหรับฟังก์ชันพนุนามที่เป็นฟังก์ชันคู่ไว้ดังนี้






ไม่มีความคิดเห็น: