วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ภาษาอังกฤษสำหรับวิศวกรเคมี (๑) MO Memoir : Wednesday 8 May 2562


เรื่องมันเริ่มจากผมลองให้นิสิตไปอ่านรายงานการสอบสวนอุบัติเหตุที่จัดทำโดยหน่วยงานของประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา สิ่งหนึ่งที่ผมบอกพวกเขาไปก็คือรายงานเหล่านี้ไม่ได้เขียนด้วยไวยากรณ์ที่ซับซ้อนให้อ่านแล้วเข้าใจยากแบบบทความวิชาการ เขาเขียนด้วยไวยากรณ์ธรรมดา ๆ และใช้ศัพท์ธรรมดา ๆ ที่ใช้กันใน "งานภาคปฏิบัติ" และนี่คือตัวปัญหา เพราะบางทีแม้ใช้ google ค้นหาก็อาจไม่ได้ความหมายที่ถูกต้องก็ได้
  
ผมเคยกล่าวไว้ในสภาวิชาการของสถาบันแห่งหนึ่งว่า มุมมองของผมนั้นแบ่งภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับการเรียนวิศวกรรมออกเป็น ๓ รูปแบบ รูปแบบแรกคือภาษาอังกฤษเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน รูปแบบที่สองคือภาษาอังกฤษที่ใช้สำหรับการเขียนบทความวิชาการตีพิมพ์ และรูปแบบที่สามคือภาษาอังกฤษสำหรับการ "งานภาคปฏิบัติ" ซึ่งตัวหลังสุดนี้เป็นตัวที่มีปัญหา เพราะที่เคยเจอมาแม้ว่าจะเป็นผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษรูปแบบแรกได้ดี และมีบทความจำนวนมากที่ตีพิมพ์ด้วยภาษาอังกฤษรูปแบบที่สอง แต่พอมาอ่านภาษาอังกฤษในรูปแบบที่สามกลับอ่านไม่รู้เรื่อง และนี่ก็คือเรื่องที่จะมาแบ่งปันกันในวันนี้ โดยลองดูรูปและตอบคำถามเล่น ๆ สัก ๓ ข้อ ส่วนคำตอบก็เก็บเอาไว้ในใจก็แล้วกันนะครับ

ข้อ ๑. คำว่า "car" แปลเป็นไทยได้ว่าคือ "รถยนต์" และคำว่า "seal" สามารถแปลเป็นไทยได้ว่าเป็น "แมวน้ำ" แล้วคำว่า "car seal" จะแปลว่าอะไรดี (ดูรูปประกอบ) ระหว่าง (A) แมวน้ำกับรถยนต์ (ฺB) รถยนต์ของหน่วยซีล (หน่วยปฏิบัติการพิเศษหน่วยหนึ่ง) หรือ (C) โซ่ (หรือลวดสลิง) และกุญแจสำหรับล็อค



อุปกรณ์บางอย่างนั้น เราต้องการให้มันค้างอยู่ที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง การเปลี่ยนตำแหน่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตให้ทำ (เรียกว่ามี work permit) ตัวอย่างเช่นเราต้องการให้วาล์วตัวหนึ่งเปิดค้างอยู่เสมอในระหว่างการเดินเครื่องปรกติ ไม่อยากให้ใครไปปิดมันโดยไม่ได้รับอนุญาต จะด้วยความไม่ตั้งใจหรือตั้งใจก็ตาม เราก็ต้องหาทางล็อคตัววาล์วเอาไว้ไม่ให้ใครสามารถหมุนปิดวาล์วได้ วิธีการที่ใช้กันก็คือการใช้โซ่ร้อยและใช้กุญแจล็อกเอาไว้ หรือใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า car seal (ข้อ C) คล้องรัดเอาไว้ ในแบบ P&ID (Piping and Instrumentation Diagram) ก็จะมีการระบุเอาไว้ว่า LO (lock open) หรือ CSO (car seal open) และในทางกลับกันถ้าในการทำงานปรกติจะต้องอยู่ในตำแหน่งปิด ในแบบ P&ID ก็จะระบุเอาไว้ว่า LC (lock close) หรือ CSC (car seal close)

ข้อ ๒ เมื่อความหมายขึ้นอยู่กับบริบท

คำบางคำมีได้หลายความหมาย หรือบางทีก็ใช้ประกอบกับคำอื่นเพื่อระบุเฉพาะเจาะจงว่าต้องการกล่าวถึงอะไร แต่ก็บ่อยครั้งที่คำนั้นถูกกล่าวถึงในรูปชื่อย่อ แทนที่จะพูดเป็นชื่อเต็ม ดังนั้นการแปลความหมายของคำนั้นจึงต้องดูภาพรวมของเนื้อหาประกอบด้วยว่ากำลังกล่าวถึงอะไรอยู่
    
อย่างเช่นคำว่า condensate ที่ถ้าแปลตรงตัวก็คือของเหลวที่เกิดจากการควบแน่นของไอ แต่ถ้ามีการกล่าวถึงคำว่า condensate ในขณะที่กำลังคุยเรื่องไอน้ำกันอยู่ คำนี้ก็จะหมายถึงไอน้ำที่ควบแน่นที่ย่อมาจาก steam condensate แต่ถ้าเป็นพูกคุยเรื่องการขุดเจาะแก๊สธรรมชาติกันอยู่ คำนี้ก็จะหมายถึงไฮโดรคาร์บอนที่ควบแน่นเป็นของเหลวแยกออกมาจากส่วนที่เป็นแก๊สที่ย่อมาจาก natural gas condensate
     
สิ่งของในรูปข้างล่าง ๓ สิ่งมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษเหมือนกัน ดังนั้นการแปลความหมายถึงต้องพิจารณาด้วยว่ากำลังพูดถึงเรื่องอะไรอยู่ แต่มีสิ่งหนึ่งที่มีชื่อเรียกแตกต่างออกไป สิ่งนั้นคืออะไร ระหว่าง (A) เครื่องชั่งน้ำหนัก (B) ไม้บรรทัด (C) กระบอกตวง หรือ (D) ตะกรัน
 

คำว่า "scale" มีได้หลายความหมาย ถ้ากำลังคุยเรื่องน้ำหนักก็จะหมายถึงเครื่องชั่งน้ำหนัก (weight sacle ข้อ A) ถ้ากำลังคุยกันเรื่องการวัดความยาวก็จะหมายถึงไม้บรรทัด (หรือ ruler ข้อ B) ถ้าคุยกันเรื่องผิวหนังของสัตว์ก็จะหมายถึงเกล็ด (เช่นเกล็ดปลา) ถ้าคุยกันเรื่องระบบไอน้ำหรือสิ่งสกปรกในระบบท่อหรืออุปกรณ์ก็จะหมายถึงตะกรัน (ข้อ D)

ข้อ ๓. สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล

แต่เดิมนั้นการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในบ้านเราจะแบ่งออกเป็นสองค่ายใหญ่ คือกลุ่มที่ใช้ภาษาอังกฤษแบบอังกฤษที่เรียกว่า British English กับกลุ่มที่ใช้ภาษาอังกฤษแบบอเมริกันหรือ American English ซึ่งมีการแตกต่างกันอยู่บ้างในแง่ของการออกเสียง การสะกดคำ และรูปแบบไวยากรณ์
อย่างเช่นรถไฟใต้ดินกับทางเดินใต้ดิน (เช่นอุโมงค์ลอดใต้ถนน) อังกฤษจะเรียกรถไฟใต้ดินว่า underground (หรือ tube) และทางเดินใต้ดินว่า subway ในขณะที่อเมริกาจะเรียกรถไฟใต้ดินว่า subway (ญี่ปุ่นก็เช่นกัน) และเรียกทางเดินใต้ดินว่า underground
      
เราเรียกผงซักฟอกว่า "แฟ๊บ" โดยเอาชื่อนี้มาจากผงซักฟอกยี่ห้อแรกที่ขายได้ติดตลาด (แม้ว่าตอนนี้จะไม่ใช่ก็ตาม) ในทำนองเดียวกันเราเรียกกาวไซยาโนอะคลิเลตว่ากาวตราช้างเพราะยี่ห้อแรกนั้นมันใช้ฉลากโฆษณาที่มีรูปช้าง เทปพลาสติกใส (sellotape) ที่เราเรียกว่า "สก็อตเทป" นั้นเราเอาชื่อเรียกนี้มาจากยี่ห้อของเทปที่มีขายเป็นพวกแรกในท้องตลาด แต่สำหรับประเทศออสเตรเลียนั้น sellotape ยี่ห้อแรกที่ขายติดตลาดจนคนเรียกชื่อยี่ห้อเป็นชื่อสามัญของเทปแทนก็คือ "Durex" ทำให้คนออสเตรเลียรุ่นก่อนนั้นเวลาต้องการใช้เทปพลาสติกใสก็จะถามหาดูเร็กซ์ แต่สำหรับคนในประเทศอื่นถ้าเอ่ยคำว่าดูเร็กซ์ก็คงจะรู้กันดีว่าหมายถึงอะไร
    
สิ่งของสองสิ่งในรูปข้างล่างมีชื่อภาษาอังกฤษเหมือนกัน แต่มีตัวหนึ่งที่มีชื่อไม่เหมือนตัวอื่นเขา สิ่งนั้นคืออะไร



ถ้าลองใช้ google ค้นหารูปของคำว่า "lute" ก็จะพบว่ามันหมายถึงเครื่องดนตรีคล้ายกีตาร์ชนิดหนึ่ง (รูป B) แต่ถ้าเป็นทาง piping ของทางอังกฤษแล้วจะหมายถึงท่อที่มีลักษณะเป็นรูปตัวยู (U-tube หรือ U-loop) หรือที่เราเรียกรูปร่างนี้ว่า "คอห่าน" (ข้อ C) ที่ใช้ของเหลวที่ค้างอยู่ในส่วนท่อรูปตัวยูนี้เป็นตัวป้องกันไม่ให้แก๊สไหลผ่านจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่งได้ ส่วนจะกันแรงดันแก๊สได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าความสูงของรูปตัวยูนั้นมีมากแค่ไหนและมีของเหลวสะสมอยู่มากแค่ไหน
    
สำหรับวันนี้ก็ขอจบเพียงแค่ ๓ คำนี้ก่อน หวังว่าคงจะได้รับความเพลิดเพลินจากการอ่านบ้างไม่มากก็น้อย

ไม่มีความคิดเห็น: