พื้นยก (Raised floor) เป็นโครงสร้างพื้นที่ยกขึ้นสูงจากพื้นอาคาร ทำให้มีช่องว่างระหว่างพื้นอาคารเดิมและใต้พื้นยก ห้องทำงานบางแบบจะนิยมทำพื้นแบบนี้เพราะทำให้สามารถเดินสายไฟหรือระบบท่อต่าง ๆ ได้สะดวก (เช่นในห้องศูนย์คอมพิวเตอร์ ห้องควบคุม ห้องที่ต้องมีการวางสายระบบจำนวนมาก (เช่นสายไฟ สายแลน) หรือห้องสะอาด (clean room))
เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้นำมาจากวารสาร NFPA Journal ฉบับเดือน พฤศจิกายน/ธันวาคม ปีค.ศ. ๒๐๑๑ หน้า ๒๒ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ไฟไหม้ใต้ raised floor ของห้อง clean room แห่งหนึ่ง โดยเกิดจากปฏิกิริยาระหว่างไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เข้มข้น 30% รั่วไหลออกจากท่อ และสัมผัสกับกาวที่สะสมอยู่ใต้พื้นยก รายละเอียดต่าง ๆ แสดงไว้ในรูปที่ ๑ ข้างล่าง
รูปที่ ๑ คำบรรยายเหตุการณ์ที่เกิด
ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้นสูงเป็นสารออกซิไดซ์ที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้งานตัวหนึ่ง ปฏิกิริยาการออกซิไดซ์สารนั้นอาจไม่ได้เกิดแบบรุนแรง แต่อาจเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป (ขึ้นอยู่กับโครงสร้างโมเลกุลสารที่มันทำปฏิกิริยาด้วย) และถ้าอยู่ในที่ไม่มีการระบายความร้อนได้ดีพอ ความร้อนที่ปฏิกิริยาคายออกมาก็อาจสะสมมากพอจนทำให้สารนั้นหรือสารอื่นที่ติดไฟได้ที่สัมผัสอยู่ ลุกติดไฟได้ (เช่นในกรณีของพาเลทไม้ในตอนที่แล้ว)
จากข้อมูลนี้วันนี้ก็เลยทดลองเอาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เข้มข้น 50% หยดลงบน ผ้าขี้ริ้ว (ที่ใช้เช็ดโต๊ะในห้องแลป), สำลี และกระดาษทิชชู (ที่ต่างใช้เป็นที่ซับของเหลว) แล้วลองวัดอุณหภูมิดู ผลออกมาก็คือไม่สามารถสังเกตเห็นการเกิดปฏิกิริยาใด ๆ แม้ว่าจะตั้งทิ้งไว้พักหนึ่งก็ตาม (ประมาณ ๑๐ นาที) ที่ทำการทดลองนี้ก็เพราะเกรงว่าหากมีอุบัติเหตุไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์หกในระหว่างการทำลอง และมีการนำเอาวัสดุเหล่านี้มาซับสารเคมีที่หก จะเกิดปฏิกิริยาทันทีหรือไม่
แต่ทางที่ดีถ้าใช้วัสดุเหล่านี้ซับไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่หก ก็ควรละล้างวัสดุเหล่านี้ด้วยน้ำเปล่าในปริมาณมากเพื่อชะเอาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ออกไป เพราะเกรงว่าถ้าหากวางผ้าขี้ริ้วกองทิ้งไว้โดยไม่ได้ล้าง หรือทิ้งกระดาษทิชชูหรือสำลีลงในถังขยะ อาจเกิดไฟลุกไหม้ถ้าหากว่ามันเกิดปฏิกิริยากันจริงและความร้อนที่ปฏิกิริยาคายออกมานั้นสามารถสะสมจนทำให้วัสดุนั้นลุกติดไฟได้
รูปที่ ๒ ทดลองหยดไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เข้มข้น 50% ลงบน (จากซ้ายไปขวา) ผ้าขี้ริ้ว, สำลี และกระดาษทิชชู ผลออกมาคือไม่เห็นการเกิดปฏิกิริยาใด ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ แต่เพื่อความปลอดภัยก็ได้ทำลายตัวอย่างด้วยการล้างด้วยน้ำสะอาดในปริมาณมากก่อนทิ้งไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น