"What
a fabulous place! Coffee in the morning, lunch in the afternoon, tea
in the afternoon, I wondered how does anyone get any science done,"
he recalled about his first day at Cambridge University in 1967.
"It's because they are talking to each other and they are
learning what experiments they should do."
Thomas A. Steitz, Nobel prize in chemistry, 2009.
Thomas A. Steitz, Nobel prize in chemistry, 2009.
ข้อความในย่อหน้าแรกเป็นคำกล่าวของนักเคมีที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปีค.ศ.
๒๐๐๙
(พ.ศ.
๒๕๕๒)
ที่เล่าถึงประสบการการณ์ทำวิจัยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างนักวิจัยในระหว่างการพักกินกาแฟหรือน้ำชาในช่วงเช้าและบ่ายของแต่ละวัน
ในช่วงเวลาที่เขาทำวิจัยอยู่
ณ ประเทศอังกฤษ
เรื่องนี้ผมเคยเล่าไว้ครั้งหนึ่งเมื่อ
๘ ปีที่แล้วในหัวข้อเรื่อง
"ไม่มีสัมมนา มีแต่พักกินกาแฟ"
(วันพฤหัสบดีที่
๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๒)
การสอนของเรานั้น
นิยม "ลอก"
เพียง
"ขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง"
ที่ต่างประเทศเขาบอกว่าดี
ใช้ได้ผลดีในประเทศเขา
แล้วนำมา "ใช้โดยไม่มีการปรับแต่ง"
กับสังคมของบ้านเรา
เท่านั้นยังไม่พอ
ยังคิดเลยไปด้วยว่าสามารถบังคับใช้ได้ทันที
และต้องได้ผลในเวลาเพียงภาคการศึกษาเดียว
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือพยายามให้มีผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียน
อย่างเช่นระบบ "Child
centre" ที่บอกว่าให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียน
ภาควิชาผมก็เคยมีคนพยายามนำมาใช้กับบางวิชา
เป็นแบบว่าให้นิสิตไปอ่านเนื้อหามาเอง
แล้วนำมาสอนในเพื่อนในห้องเรียน
ส่วนเพื่อนในห้องเรียนก็ต้องมีส่วนร่วมด้วยการซักถาม
โดยมีอาจารย์ (ที่ไม่ต้องสอนอะไร)
คอยจดชื่อว่ามีใครถามคำถามไปแล้วบ้าง
ใครไม่ถามก็จะถูกหักคะแนน
สุดท้ายก็กลับมาสอนกันอย่างเดิมมาจนถึงปัจจุบัน
กระบวนการสอนที่ให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย
มีการถกเถียงกันนั้น
ใช่ว่าบ้านเราจะไม่มี
เพียงแต่ว่ามันมีกันเพียงไม่กี่โรงเรียน
และที่สำคัญคือกระบวนการเช่นนี้จะมาเริ่มฝึกกันตอนมัธยมหรือมหาวิทยาลัยไม่ได้
มันต้องปลูกฝังกันตั้งแต่ตอนเป็นเด็กที่เริ่มเข้าโรงเรียน
ให้เขาเห็นว่าเป็นเรื่องปรกติในการเรียนหนังสือ
และต้องต่อเนื่องจนจบมัธยมปลาย
จากมหาวิทยาลัยก็ต้องรับลูกต่อ
แต่ในสภาพความเป็นจริงมันไม่เป็นเช่นนั้นเลย
สภาพการเรียนของบ้านเราทำให้คนไม่ค่อยจะแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมเท่าใดนัก
แต่ถ้าเป็นนอกห้องประชุมและในบรรยากาศที่ผ่อนคลายและไม่เป็นทางการ
ที่เป็นการจับกลุ่มย่อยคุยกัน
จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ข้อมูลและความเห็นหลายอย่างเราอาจจะไม่ได้จากการถามตรง
ๆ ในที่ประชุม
แต่สามารถรับทราบได้จากการพบปะกันในสถานที่และสภาพแวดล้อมที่ไม่ใช่ห้องทำงาน
หลายหน่วยงานมักจะจัดกิจกรรมที่เรียกว่า
"สลายพฤติกรรม"
ผู้เข้าร่วมงาน
(โดยเฉพาะผู้มาใหม่)
แต่จะว่าไปแล้วที่เห็นมันก็เป็นลักษณะแบบสูตรสำเร็จ
คือไม่มีการสนใจเลยว่าภูมิหลังของผู้เข้าร่วมแต่ละคนนั้นเป็นอย่างไร
มีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน
ใช้วิธีการเดียวกับคนทุกคนและกับคนทุกรุ่น
แต่ละคนก็ต้องทำท่าเสมือนว่าสนุกกับการเข้าร่วมทำกิจกรรม
เพราะขืนทำหน้าไม่พอใจก็จะโดนมองว่าไม่ให้ความร่วมมือกับส่วนรวม
(ทั้ง
ๆ ที่คนอื่นก็ฝืนใจฉีกยิ้มหรือทำท่าทางสนุกสนานอยู่เหมือนกัน)
อีกประเด็นหนึ่งที่ปัจจุบันเห็นให้ความสำคัญกันน้อยลงทุกที
ก็คือการพบปะพูดคุยกันตรง
ๆ แทนที่จะเป็นการสื่อสารผ่านข้อความทางโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์
สังคมบ้านเราก็ยังให้ความสำคัญกับการพบปะเจอหน้ากันอยู่
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการ์ดเชิญงานแต่งงาน
ที่คู่บ่าวสาวมักจะต้องพิมพ์เป็นบัตรเชิญและนำไปแจกด้วยตนเอง
และก็มักจะพิมพ์ไว้บนการ์ดด้วยว่า
ต้องขออภัยถ้าไม่สามารถมาเชิญได้ด้วยตนเอง
การพบปะพูดคุยกันตรง
ๆ
นี้ในเวทีระดับประเทศถือว่ามีนัยสำคัญยิ่งกว่าการออกแถลงการณ์หรือส่งข้อความถึงกัน
เราจะเห็นในข่าวอยู่เสมอว่าถ้ามีเหตุการณ์สำคัญระหว่างประเทศเกิดขึ้น
ผู้นำประเทศมหาอำนาจมักจะโทรศัพท์ถึงกัน
และเมื่อโทรศัพท์ถึงกันทีไรก็มักจะเป็นข่าวทุกที
อย่างเช่นกรณีที่เพิ่งจะเกิดเมื่อต้นสัปดาห์นี้
ที่ผู้นำรัสเซียโทรศัพท์สายตรงถึงผู้นำสหรัฐอเมริกา
บางครั้ง
การทำงานตามคู่มือนั้นมันใช้ไม่ได้
ทำให้ผู้ปฏิบัติงานต้องพัฒนาเทคนิคการทำงานขึ้นมาเองเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
ในเมื่อเขาพัฒนาขึ้นมาเอง
และทางหน่วยงานมองว่าเป็นความรับผิดชอบของเขาที่ต้องทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้งานมันเดิน
และไม่เห็นความสำคัญใด ๆ
กับสิ่งที่เขาทำ
(จนกว่าเขาคนนั้นจะหายตัวไป)
ดังนั้นความรู้ที่เขาสร้างขึ้นมานั้นมันก็ติดอยู่กับตัวเขาโดยไม่มีการส่งทอดสืบไป
คนที่มาทีหลังก็ต้องเริ่มต้นใหม่
ห้องปฏิบัติการรับทดสอบบางห้องในสถาบันที่ผมทำงานอยู่ก็เกิดปัญหานี้แล้วเมื่อผู้ปฏิบัติงานเดิมเกษียณอายุงาน
ตอนนี้การแก้ปัญหาก็ทำแบบชั่วคราวคือต้องขอร้องให้คนเกษียณอยู่ช่วยงานต่อเพราะไม่มีคนอื่นทำแทนได้
แต่ที่น่าตลกก็คือ
กลับไม่มีการวางแผนที่จะหาคนอื่นมาทำแทน
มองกันว่า "ช่าง"
ก็คือ
"ช่าง"
ถ้าคนปัจจุบันพ้นหน้าที่ไป
คนที่รับเขามาใหม่ก็สามารถมาทำงานแทนได้ทันที
ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงมันไม่เป็นเช่นนั้น
ส่วนตัวผมเองเห็นว่าการที่เราจะให้ใครสักคนนั้นยอมถ่ายทอดความรู้ที่เขามีอยู่นั้นให้กับผู้อื่น
เราก็ต้องให้ความสำคัญกับบุคคลผู้นั้นก่อน
และต้องเป็นการแสดงให้เห็นด้วยว่าการให้ความสำคัญนั้นเป็นการกระทำที่จริงใจ
ไม่ใช่ทำเพียงแค่ให้ได้ชื่อว่าได้ทำหรือทำพอเป็นพิธี
(ผมว่าแบบนี้จะยิ่งหนักเข้าไปใหญ่)
และการถ่ายทอดนั้นไม่จำเป็นต้องให้ผู้ที่มีความรู้นั้นเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรออกมา
เขาอาจเป็นเพียงแค่ผู้เล่าให้ฟังเพื่อให้ผู้อื่นไปเตรียมเอกสาร
จากนั้นจึงค่อยนำมาให้ให้เขาตรวจสอบความถูกต้องอีกทีก็ได้
เพราะในความเป็นจริงนั้นใช่ว่าทุกคนจะถนัดในการเขียนเรื่องราวต่าง
ๆ หนังสือประวัติส่วนตัวที่คนมีชื่อเสียงในต่างประเทศบางคนต้องการมี
ก็ยังต้องใช้วิธีการจ้างนักเขียนไปรับทราบข้อมูลจากเขาเพื่อให้นักเขียนเหล่านั้นนำมาเขียนเรื่องตัวเขาเอง
มีอยู่ปีหนึ่งผมมีแขกที่เป็นอาจารย์ต่างประเทศมาเยี่ยม
เขาจะมาบรรยายให้นิสิตฟังที่ภาควิชา
ปรกติสิ่งที่ใครต่อใครทำกันก็คือใช้วิธีติดประกาศและบังคับให้นิสิตของตัวเองเข้าฟัง
และสิ่งที่เห็นเป็นประจำก็คือหลังการบรรยายจบสิ้นก็มักไม่มีคำถามอะไรจากนิสิต
อาจารย์ผู้เป็นเจ้าภาพต้องเป็นผู้ถามเอง
แต่ครั้งนั้นผมทำกลับกัน
ผมเดินไปเชิญนิสิตด้วยตนเอง
พร้อมจัดรูปแบบการบรรยายใหม่
โดยก่อนการบรรยายนั้นมีการรับประทานของว่างกันเล็กน้อยระหว่างผู้เข้าฟัง
(ประมาณ
๑๐ คนเศษ)
กับผู้บรรยาย
ในช่วงนี้ก็จะมีการแนะนำให้ผู้บรรยายรู้จักกับผู้เข้าฟังว่าแต่ละคนนั้นกำลังทำวิจัยเรื่องอะไรอยู่
มีการพบปะสนทนากันระหว่างผู้บรรยายกับผู้เข้าฟังก่อนเริ่มการบรรยาย
ส่งที่ได้ก็คือระหว่างการบรรยายมีการถามตอบแสดงความคิดเห็นระหว่างกันเป็นระยะระหว่างผู้บรรยายและผู้เข้าฟัง
โดยที่ผมนั่งฟังเฉย ๆ
ไม่ต้องทำอะไร
สิ่งที่ผมอยากเล่าให้ฟังในตอนที่
๔ นี้ที่เป็นตอนสุดท้ายของเรื่อง
Knowledge
Management คือ
ผมเห็นว่าถ้าเราอยากให้ใครสักคนเล่าสิ่งที่เขารู้หรือความคิดเห็นของเขาออกมา
เราก็ต้องสร้างบรรยากาศและให้ความสำคัญกับเขา
เขามีความรู้ในสิ่งที่เราไม่รู้
ความคิดเห็นในมุมมองที่แตกต่างไปจากเรา
แต่เราไม่รู้ว่าเขามีความรู้อะไรบ้าง
เขาเห็นอะไรที่เรามองข้ามไปบ้าง
การสร้างบรรยากาศที่เหมาะกับการสนทนาและการให้ความสำคัญกับผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการทำให้ผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนนำความรู้ที่มีอยู่นั้นมาเผยแพร่ให้บุคคลอื่นได้รับทราบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น