วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ถ้ากลัวน้ำท่วมให้ไปอยู่บนดอย MO Memoir 2558 June 11 Thu

"เราเป็นเมืองน้ำครับ เราเป็นเมืองฝนครับ ไม่มีจุดเสี่ยงเลยเป็นไปไม่ได้ครับ ถ้าอยากไม่มีจุดเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม ไปอยู่บนดอยครับ ต้องอยู่บนดอยครับ"
  
ข้างบนเป็นข้อความที่ผมถอดเสียงมาจากบทสัมภาษณ์ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ให้สัมภาษณ์หลังมีฝนตกใหญ่ในกรุงเทพมหานคร เกิดน้ำท่วมขัง เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
  
และเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาก่อนเช้าวันจันทร์ ก็มีฝนตกหนักจนน้ำท่วมขังอีก จนมีคนจำนวนไม่น้อยด่าผู้ราชการกรุงเทพเสียยกใหญ่ มีการยกเอาบทสัมภาษณ์ดังกล่าวขึ้นมาอีก

แต่ที่น่าสนใจก็คือ เวลามีฝนตกหนักที่ไร ฝั่งที่มีปัญหาน้ำท่วมขังเป็นประจำคือกรุงเทพฝั่งตะวันออก คนที่อยู่ทางฝั่งธนบุรี (หรือกรุงเทพฝั่งตะวันตก) มักไม่มีปัญหานี้

แผนที่ที่แนบท้ายมาคือ "แผนที่แสดงแนวคันกั้นน้ำและระดับพื้นที่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล" จัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร (ดาวน์โหลดได้ที่ http://www.rtsd.mi.th/index.php?option=com_content&view=article&id=169) จัดทำขึ้นเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๔ เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย แผนที่นี้แสดงระดับความสูงของพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลว่าสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเท่าใด ยิ่งสีฟ้าเข้มมากขึ้นก็อยู่ใกล้กับระดับน้ำทะเลมากขึ้น และถ้าเป็นสีน้ำเงินไปเลยก็แสดงว่าต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ถ้าไล่มาทางสีเขียวอ่อน เขียวแก่ เหลือง น้ำตาล ก็จะสูงจากระดับน้ำทะเลมากขึ้น แผนที่ดังกล่าวครอบคลุมจากแม่น้ำท่าจีน (ทางด้านซ้าย) ไปจนจรดแม่น้ำบางปะกง (ทางด้านขวา)
  
เป็นธรรมชาติที่น้ำจะไหลจากที่สูงไปยังที่ต่ำ และสำหรับน้ำบนพื้นผิวแล้ว ที่ต่ำที่สุดก็คือระดับน้ำทะเล ดังนั้นพื้นที่ในเขตภาคกลาง เวลาที่ฝนตกลงมา น้ำจากผิวดินก็จะไหลลงไปยังคลอง น้ำในคลองก็จะไหลลงสู่แม่น้ำ และน้ำในแม่น้ำก็จะไหลลงสู่ทะเล
  
แต่ถ้าเป็นบริเวณตัวเมืองนั้น น้ำฝนที่ตกลงมาก็จะไหลลงสู่ท่อระบายน้ำก่อน (ซึ่งอยู่ต่ำกว่าะระดับผิวดิน) จากนั้นน้ำในท่อระบายน้ำก็จะไหลลงสู่คลอง (ถ้าระดับน้ำในคลองต่ำกว่าระดับท่อ) อีกทีหนึ่ง

ในบริเวณที่อยู่ใกล้ปากแม่น้ำเช่นกรุงเทพมหานครและนนทบุรีนั้น น้ำในแม่น้ำจะไหลสู่ทะเลได้ดีในช่วงเวลาน้ำลง แต่ถ้าเป็นช่วงเวลาน้ำขึ้น ถ้าระดับน้ำในแม่น้ำนั้นยังสูงกว่าระดับน้ำทะเลที่ขึ้นสูง น้ำในแม่น้ำก็จะยังไหลลงสู่ทะเลได้อยู่ แต่จะไหลได้ช้าลง แต่ถ้าเป็นหน้าแล้ที่น้ำในแม่น้ำมีน้อย น้ำทะเลจะไหลย้อนเข้ามาในแม่น้ำ และไหลย้อนเข้าไปในคลองต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำนั้นได้
  
ในช่วงหน้าแล้ ระดับน้ำทะเลขึ้นลงจะอยู่ในช่วงประมาณ -๐.๔๐ ถึง +๑.๔๐ เมตร (เครื่องหมาย "-" คือต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง เครื่องหมาย "+" คือสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง ตัวเลขที่ให้เป็นตัวเลขที่ผมประมาณจากข่าวพยากรณ์อากาศที่ฟังทางวิทยุตอนเช้า ใครอยากได้ข้อมูลที่ถูกต้องก็ลองไปค้นจากเว็บของ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือก็แล้วกัน) และในช่วงฤดูน้ำหลากที่มักจะตรงกับช่วงน้ำทะเลหนุนสูงด้วยนั้น ระดับน้ำขึ้นสูงสุดอาจสูงถึงระดับ ๒ เมตร ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงเกินกว่าระดับ ๒ เมตรขึ้นไปอีก
  
คิดเล่น ๆ แบบง่าย ๆ ก่อนนะครับ ถ้าเราตีซะว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยานั้นอยู่ที่ระดับ ๑ เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ดังนั้นระดับน้ำในคลองต่าง ๆ ที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา (ถ้าไม่มีการใช้ประตูน้ำควบคุมระดับ) ก็จะอยู่ที่ระดับเดียวกับระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย (คือ ๑ เมตร) ทีนี้ถ้าเกิดฝนตกหนักลงมา น้ำจากผิวดินก็จะไหลลงท่อระบายน้ำ และไหลออกสู่คลองอีกที ถ้าว่ากันตามนี้ พื้นที่ที่จะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมก็เห็นจะได้แก่พื้นที่ที่ระดับพื้นดินสูงกว่า ๑ เมตร ซึ่งก็คือพื้นที่ที่ไม่ใช่สีฟ้าหรือสีน้ำเงินในแผนที่
  
แต่กรุงเทพมหานครมีระบบประตูระบายน้ำ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก็คือทำการพร่องน้ำในคลองให้มันต่ำลง (เช่นอาจปิดประตูกั้นน้ำที่ปากคลอง แล้วใช้เครื่องสูบน้ำสูบน้ำออกจากคลอง (ที่มีระดับน้ำต่ำกว่าระดับน้ำในแม่น้ำ) ออกสู่แม่น้ำอีกที) ดังนั้นพื้นที่ที่มีระดับความสูงต่ำกว่าระดับความสูงของน้ำในแม่น้ำ ก็ยังสามารถระบายน้ำลงสู่คลองได้ ด้วยการทำให้ระดับน้ำในคลองมันต่ำกว่าระดับท่อระบายน้ำ
  
ดังนั้นถ้าระบบระบายน้ำลงท่อและ/หรือตัวท่อเองไม่อุดตัน น้ำก็จะไหลลงคลองได้ดี และถ้าฝนไม่ "ตกหนักมากเกินไป" จนเกินกว่าความสามารถของระบบท่อระบายน้ำและเครื่องสูบน้ำจะรองรับได้ ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมขัง
  
ปริมาตรน้ำที่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำสูบระบายออกไปนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนที่ตก ขนาดพื้นที่ที่ฝนตก และระดับความสูงของพื้นดินที่มีฝนตก ถ้าฝนตกหนักมากและกินบริเวณกว้าง และขนาดพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำในแม่น้ำมีบริเวณกว้าง ปริมาตรน้ำที่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำระบายออกก็จะมีมากตามไปด้วย ทีนี้ถ้าเราลองไปพิจารณาแผนที่ระดับชั้นความสูงของกรุงเทพมหานคร และตีคร่าว ๆ ว่าพื้นที่ที่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำในการระบายน้ำฝนออกนั้นคือพื้นที่ที่มีระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง "ไม่เกิน ๑ เมตร" หรือพื้นที่ที่เป็นบริเวณสีฟ้าและสีน้ำเงินทั้งหมด ก็คงจะมองเห็นภาพแล้วนะครับว่าพื้นที่ที่น่าจะมีปัญหาในการระบายน้ำนั้นมันมีขนาดเท่าใด และพื้นที่ที่น่าจะมีปัญหามากในการระบายน้ำ (บริเวณพื้นที่ที่มีสีฟ้าเข้มและสีน้ำเงินอยู่มาก) นั้นอยู่ที่บริเวณใด นั่นก็คือพื้นที่ "กรุงเทพฝั่งตะวันออกเกือบทั้งหมด"
  
สวนผลไม้จะอยู่ทางฝั่งธนบุรีและนนทบุรี ส่วนนาข้าวจะอยู่ทางฝั่งกรุงเทพมหานคร คนทำสวนนั้นจะปลูกไม้ยืนต้น และไม้ยืนต้นนั้นมันไม่ทนน้ำท่วมนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ในขณะที่ต้นข้าวนั้น ถ้าเป็นพันธ์ข้าวป่าเดิม ต่อให้น้ำท่วมสูง ๒-๓ เมตรมันก็อยู่ได้ ดังนั้นคนทำสวนจึงมักจะทำในพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมขังนาน แต่คนทำนาข้าวต้องการพื้นที่ที่มีน้ำเยอะและท่วมขังได้นาน วิธีชีวิตของคนโบราณนั้นเขาเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ ประกอบอาชีพที่เข้ากับธรรมชาติของพื้นที่ที่เขาพักอาศัย คนทำสวนแบบดั้งเดิมที่ปลูกต้นไม้หลายชนิดจะมีของออกขายได้ทั้งปี แต่คนทำนานั้นจะมีข้าวขายตามฤดูกาล
  
แต่เมื่อวิถีชีวิตการทำงานของคนเปลี่ยนไป สภาพสังคมเปลี่ยนไป การตั้งหลักแหล่งตั้งชุมชนนั้นอาศัย "ราคาที่ดิน" เป็นตัวกำหนด บริเวณไหนที่มีราคาถูกก็มีไปซื้อและสร้างหมู่บ้านอยู่อาศัยกัน และสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้นขยายตัวออกไปมากทางด้านตะวันออก ในขณะที่พื้นที่ทางด้านตะวันตกเพิ่งจะมีการขยายตัวกันไม่นานนี้เอง เพราะพื้นที่ทางด้านตะวันออกมีการขยายตัวไปจนจะอิ่มตัวอยู่แล้ว
  
แผนการสร้างอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังหลังฝนตกของกรุงเทพนั้นอยู่ทางฝั่งตะวันออกทั้งสิ้น ทางฝั่งธนบุรี (หรือกรุงเทพฝั่งตะวันตก) นั้นกลับได้รับการพิจารณาว่าไม่จำเป็น ทั้งนี้เพราะด้วยสาเหตุใดก็ขอให้พิจารณาแผนที่ที่แนบมาเอาเองก็แล้ว คำตอบมันอยู่ในน้ำอยู่แล้ว
  
"ชีวิตสมบูรณ์แบบ" ชนิดที่เรียกว่าอะไรไม่ได้ดังใจแม้แต่เป็นเรื่องเล็กน้อยก็ต้องด่าเอาไว้ก่อนดูเหมือนจะเป็นอาการที่ฝังอยู่ในความคิดของคนกรุงเทพจำนวนไม่น้อย บางเรื่องนั้นเราอาจไม่สามารถป้องกันไม่ให้ไม่เกิดเลยไม่ได้ เพียงแต่ถ้ามันรุนแรงจนเกินความสามารถของระบบป้องกันที่จะป้องกันไม่ให้เกิดได้ ก็ต้องหาทางลดระยะเวลาที่ความเสียหายนั้นจะคงอยู่ ระบบระบายน้ำปัจจุบันของกรุงเทพก็เป็นเช่นนั้น แต่เดิมนั้นท่วมขังกันเป็นวันครับ ไม่ใช่ไม่กี่ชั่วโมงเหมือนเช่นปัจจุบัน และการจะทำไม่ให้มันเกิดเลยก็ทำได้ แต่นั่นก็หมายถึงงบประมาณที่เพิ่มขึ้นในการก่อสร้าง และใครจะเป็นคนจ่ายค่าบำรุงรักษาให้พร้อมที่จะใช้งานตลอดเวลา ต้องการโน่นต้องการนี่ ก็อย่าลืมถามด้วยนะครับว่าเอาเงินใครมาจ่าย

ผมเห็นว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครท่านพูดไม่ผิดหรอก
  

ไม่มีความคิดเห็น: