วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2564

อุบัติเหตุ เมื่อมองต่างมุม (๑) MO Memoir : Sunday 12 September 2564

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับมอบหมายให้บรรยายเรื่องเกี่ยวกับอุบัติเหตุให้กับนิสิตปริญญาเอกของภาควิชาฟังในวิชาสัมมนา เนื่องจากได้รับหัวข้อมากว้าง ๆ ก็เลยเอาเนื้อหาที่เคยเตรียมไว้ตอนลองทำไลฟ์สดออนไลน์ไปเมื่อเดือนกรกฎาคมมาปรับแต่งใหม่ และด้วยคิดว่ามันอาจจะมีประโยชน์สำหรับบางคน ก็เลยขอนำมาเขียนและเผยแพร่ไว้ในที่นี้

รูปที่ ๑ สไลด์เปิดการบรรยาย

รูปที่ ๑ เป็นสไดล์ที่ใช้เริ่มการบรรยายที่ยกเอา Murphy's Law มาเป็นตัวเปิด ที่มาของกฎนี้มาได้ยังไงนั้นก็ยังมีการถกเถียงกันอยู่ บางคนอาจมองว่ามันเป็นกฎที่ไร้สาระ แต่สำหรับคนที่เคยมีประสบการณ์ว่า ที่คิดว่างานที่ตัวเองได้ทำไว้นั้นได้ทำไว้อย่างรอบคอบที่สุดแล้ว แต่ในที่สุดสิ่งที่อยุ่นอกเหนือการคาดการณ์ก็ได้เกิดขึ้น ก็จะเข้าใจความหมายนี้ดี

หัวข้อที่คิดว่าจะพูดนั้น ตอนแรกก็คิดว่าจะแยกเนื้อหาเป็นส่วน ๆ ไม่เกี่ยวข้องกันได้หรือไม่ แต่เอาเข้าจริงก็พบว่ามันก็ยากอยู่เหมือนกัน เพราะมันมีความเกี่ยวพันกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุ (accident prevention) ที่ในความเป็นจริงแล้วอาจเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนรูป (accident transformation) ที่ป้องกันไม่ให้อุบัติเหตุรูปแบบหนึ่งเกิด แต่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุรูปแบบอื่นแทน การสอบสวนอุบัติเหตุ (accident investigation) ที่เรายอมให้สิ่งที่มีการเผยแพร่กันทางสื่อออนไลน์ที่คนเขา "ว่ากันมา" (ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ไม่มีหลักฐานใด ๆ รองรับเลย) นั้นส่งผลต่อความคิดของเราหรือไม่ และทำไมอุบัติเหตุบางอย่างที่เคยเกิดขึ้น เราจึงไม่คิดป้องกัน กลับยอมรับที่จะอยู่ร่วมกับมัน

ในการป้องกันอุบัติเหตุนั้น สิ่งที่เราอาจได้ทำลงไปคือ

๑. ป้องกันอุบัติเหตุที่เราเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดนั้น ไม่ให้เกิดขึ้นจริง แต่ประเด็นคำถามก็คือเราสามารถมองเห็นอุบัติเหตุที่มีความเป็นไปได้ทั้งหมดหรือไม่

๒. ป้องกันอุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้นแล้วไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก แต่ประเด็นคำถามก็คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามาตรการที่ออกมาป้องกันนั้นจะไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติ (ที่อาจปรากฏให้เห็นในระยะยาว) หรือไม่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุรูปแบบอื่น

เพื่อที่จะมองเห็นสิ่งที่ต้องการชี้ให้เห็นในสองหัวข้อข้างต้น เราลองมาพิจารณาสถานการณ์ต่อไปนี้กันดีกว่า

สถานการณ์ที่ ๑ : การออกแบบที่ "ดีขึ้น" สามารถลดความเสี่ยงโดยไม่ทำให้เกิดอุบัติเหตุรูปแบบใหม่ได้หรือไม่

ในสถานการณ์นี้จะขอยกตัวอย่างการออกแบบถนน (ดูรูปที่ ๒ ประกอบ) สมมุติว่าถนนจากจุด A ไป B นั้นเต็มไปด้วยทางโค้งมากมาย อุบัติเหตุที่เกิดได้ก็คือรถวิ่งแหกโค้ง หรือแซงทางโค้งโดยมองไม่เห็นรถที่วิ่งสวนมา แล้วเกิดการชนกัน ดังนั้นถ้าการตัดถนนนั้นพยายามที่จะให้ถนนมีแนวตรงมากที่สุด อุบัติเหตุ (ทั้งจำนวนและความรุนแรง) จะลดลงหรือไม่

แน่นอนว่าถนนที่ตรงลดอุบัติเหตุที่เกิดจากรถวิ่งรแหกโค้ง เพราะมันไม่มีโค้งให้รถวิ่งแหก แต่ถนนที่ตรงแต่เป็นระยะทางยาว (เช่นจาก C ไป D) นำมาซึ่งอีกสิ่งหนึ่งนั่นคือ "การหลับใน" และในกรณีที่ถนนนั้นไม่มีเกาะกลางถนนแบ่งฝั่ง เราก็ยังเห็นข่าวว่าการชนประสานงากันนั้นก็ยังเกิดอยู่ และมักเป็นการชนที่รุนแรง เพราะเอาเข้าจริงการที่มองเห็นรถวิ่งสวนมาจากระยะไกลกับการที่มองไม่เห็นเลยนั้นมันทำให้พฤติกรรมคนขับรถแตกต่างกัน การมองไม่เห็นรถในทิศสวนทางมานั้นทำให้คนขับเกรงว่าจะมีรถใหญ่กว่าวิ่งสวนมา ไม่รู้ว่าพ้นมุมโค้งแล้วจะมีช่องให้เบียดเข้าหรือไม่ ฯลฯ แต่ในกรณีที่มองเห็นชนิดและระยะทางของรถที่วิ่งสวนมานั้น ถ้าเห็นรถที่วิ่งสวนมาเล็กกว่า หรือคิดว่ารถตัวเองเครื่องแรงกว่า ก็พร้อมที่จะเสี่ยงเร่งเครื่องแซง และพอแซงไม่พ้น อุบัติเหตุที่เกิดก็เลยรุนแรงกว่าเดิม เพราะรถวิ่งเร็วกว่าเดิม

รูปที่ ๒ รูปประกอบการบรรยายกรณีการออกแบบถนน

ช่วงที่ไปทำงานที่มาบตาพุดนั้น รุ่นพี่วิศวคนหนึ่งเคยสอนไว้ว่า "คนเรา ถ้าเราไปป้องกันเขามากเกินไป เขาก็จะทำอะไรที่มันเสี่ยงมากขึ้นตามไปด้วย" ซึ่งดูเหมือนคำกล่าวนั้นจะตรงกับความจริง เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้วตอนเรียนที่อังกฤษนั้นได้ดูสารคดีของ BBC เรื่องหนึ่ง ชื่อเรื่องทำนองว่า 'Dummy takes risk, not human" เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางรถยนต์ ตอนที่ไปเรียนนั้นกฎหมายอังกฤษบังคับเฉพาะคนนั่งหน้าเท่านั้นที่ต้องรัดเข็มขัดนิรภัย แต่พอติดตามผลการบังคับใช้กฎหมายมาหลายปีก็พบว่าแนวโน้มการสูญเสียกลับไม่ได้ลดลงอย่างที่ควรเป็น จากการศึกษาพบว่าการคาดเข็มขัดนิรภัยทำให้ผู้ขับรถรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ก็เลยขับรถเร็วขึ้น อุบัติเหตุก็เลยเกิดรุนแรงขึ้นตาม นอกจากนี้การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากผู้นั่งเบาะหลังก็เพิ่มมากด้วย เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับให้ต้องรัดเข็มขัด พอรถเกิดการชน คนนั่งเบาะหลังก็ปลิวกระแทกกับเบาะหน้าอย่างแรง (ซึ่งถ้าเป็นเบาะคนขับ แรงปะทะจากคนนั่งหลังที่ปลิวมากระแทกก็สามารถพับพนักพิงให้คนขับถูกอัดเข้ากับพวงมาลัยได้) ถ้านั่งกลางก็กระแทกกับกระชกหน้าได้ ก็เลยต้องมีการปรับปรุงกฎหมายใหม่ ให้คนนั่งทุกคนไม่ว่าจะเป็นเบาะหน้าหรือเบาะหลัง ต้องรัดเข็มขัดนิรภัย

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เขายกขึ้นมาก็คือบริเวณสามแยกแห่งหนึ่งที่มีต้นไม่บดบัดทัศนวิสัย ทำให้ผู้ขับขี่มองไม่เห็นรถที่วิ่งสวนมาหรือมาจากทางด้านข้าง ก็เลยเกิดแนวความคิดว่าดังนั้นก็ตัดต้นไม้ออก ให้เป็นที่โล่ง เพื่อที่จะมองได้เห็นไกล ๆ แต่หลังจากที่ทำไปแล้วก็พบว่าอุบัติเหตุเกิดรุนแรงขึ้น ทั้งนี้เพราะช่วงที่มีต้นไม้อยู่นั้น เวลารถวิ่งเข้าหาทางแยก คนขับจะลดความเร็วรถให้ช้าลง เพราะมองไม่เห็นว่าข้างหน้าจะมีอะไรหรือเปล่า แต่พอเอาพุ่มไม้ออก คนขับกลับไม่ลดความเร็วเหมือนเดิม เพราะคิดว่ามองเห็นได้ไกลขึ้น แต่ระยะที่มองเห็นได้ไกลขึ้นกับความเร็วรถนั้นไม่สัมพันธ์กัน คือรถวิ่งเร็วมากขึ้นถึงขนาดที่ว่าถึงแม้ว่าจะมองเห็นรถอีกฝั่งจากระยะที่ไกลขึ้น ก็ไม่สามารถหยุดรถได้ทัน

ในรายการเดียวกันนี้ยังมีการตั้งคำถามว่า ถ้าเปลี่ยนจาก air bag มาเป็นเหล็กแหลมติดไว้ที่พวงมาลัยแทน และเหล็กแหลมนี้จะพุ่งออกมาเสียบอกคนขับถ้ารถเกิดการชน จำนวนอุบัติเหตุรถชนจะลดลงไหม คำถามนี้อาจจะดูโหด แต่จะว่าไปมันก็สะท้อนความคิดและการกระทำของคนเวลาที่เขาคิดว่าเขาปลอดภัยได้ดีเหมือนกัน

เหตุการณ์ทำนองนี้ก็เห็นกันทั่วไปในบ้างเรา มอเตอร์ไซค์ที่ขึ้นมาวิ่งบนทางเท้าก็ถือว่าตนเองใหญ่กว่าคนเดินเท้า คนเดินเท้าบนทางเท้าต้องหลบให้ แต่พอวิ่งบนถนนก็ต้องหลบให้รถเก๋ง รถเก๋งเองเวลาแซงสวนมันจะไม่กลัวมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งสวนมา ในทำนองเดียวกันรถทัวร์หรือรถบรรทุกที่แซงสวนขึ้นมาก็ไม่กลัวรถเก๋งที่วิ่งสวนมา แต่กลับไม่ค่อยอยากจะท้าทายพวกเดียวกันเอง

สถานการณ์ที่ ๒ : เราควรมีมาตรการป้องกันเพิ่มเติม หรืออยู่เฉย ๆ เหมือนเดิมโดยไม่ต้องทำอะไร

แปลกดีเหมือนกันที่เหตุการณ์บางอย่างพอมันเกิดขึ้นก็มีคนออกมาเรียกร้องให้หามาตรการป้องกันกันเต็มไปหมด แต่กลับบางเหตุการณ์ก็กลับเงียบกันหมด แล้วก็อยู่กันแบบเดิม ๆ สำหรับคนที่เคราะห์ร้าย ก็ถือว่าซวยไป อย่างเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ ๓๐ ปีที่แล้วที่ป้ายรถเมล์บริเวณหน้ามหาวิทยาลัย (รูปที่ ๓) เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ที่วัยรุ่นคนหนึ่งขับเกิดเสียหลัก ปีนทางเท้าชนคนที่ยืนรอรถเมล์อยู่ได้รับบาดเจ็บสาหัส (เข้าใจว่าถึงขั้นพิการในขณะที่คนขับเสียชีวิต)

รูปที่ ๓ ป้ายรถเมล์บริเวณประตูหน้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การป้องกันคนยืนรอรถเมล์หรือเดินอยู่บนทางเท้าไม่ให้ได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุรถยนต์เสียหลักปีนทางเท้าทำได้ด้วยการติดตั้งรั้วกั้นที่แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นราวเหล็กหรือรั้วคอนกรีต ว่าแต่เรามีเกณฑ์อะไรในการกำหนดว่า สิ่งที่อยู่มานานโดยไม่เคยเกิดเรื่องอะไร พอเกิดเรื่องทีก็ต้องทำการเปลี่ยนแปลงกันแบบล้างบาง ในขณะที่บางสิ่งนั้นเรากลับรู้สึกเฉย ๆ โดยมองว่าเป็นเรื่องโชคร้ายครั้งคราว แล้วก็อยู่กับแบบเดิม ๆ

จริงอยู่ที่ว่าการมีรั้วกั้นถนนช่วยเพิ่มความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ทางเท้าได้ แต่มันก็มีสิ่งที่คนใช้ทางเท้าต้องจ่าย เช่น: ความสะดวกในการขึ้นลงรถ (ที่จะทำตรงไหนก็ได้) ความสะดวกในการจอดรถข้างทางที่ไหนก็ได้ ความไม่สะดวกในการเอารถมาจอดบนทางเท้า ความรู้สึกว่าไม่ได้ถูกกักขังด้วยรั้ว (ลองนึกภาพสมมุติว่าบ้านคุณอยู่ในซอยหรือถนนเล็ก ๆ แล้วฝั่งตรงข้ามเป็นรั้วโปร่งกับรั้วสูงทึบ) ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีคำถามตามมาอีกว่า ทำเฉพาะที่ป้ายรถเมล์ป้ายนี้เท่านั้นหรือ เพราะอุบัติเหตุแบบนี้มันมีโอกาสเกิดขึ้นกับทุกป้ายรถเมล์ ดังนั้นถ้าคิดว่าต้องทำรั้วกั้นก็ควรต้องทำทุกป้ายใช่ไหม แล้วค่าใช้จ่ายตรงนี้จะเอามาจากไหน (ไม่ว่าจะเป็นค่าติดตั้งและบำรุงรักษา) ใครจะเป็นคนจ่าย ยอมเสียภาษีเพิ่มขึ้นหรือไม่

การหาจุดสมดุลของแต่ละเหตุการณ์ ว่าควรจะมีมาตรการเพิ่มเติมหรือเลือกที่จะอยู่อย่างเดิม จึงควรต้องมีการพิจารณาให้รอบด้านและให้เหตุผลได้ ว่าทำไมจึงตัดสินใจแบบนั้น ไม่เช่นนั้นจะเจอปัญหาว่าทำไมอันนั้นทำได้ อันนี้ทำไม่ได้ เป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกัน

สถานการณ์ที่ ๓ : เรื่องของไม้ยืนต้นข้างทางและบนเกาะกลาง

๓๐ กว่าปีที่แล้วถนนจากบางนาไปชลบุรีเป็นถนนข้างละสองเลน แบ่งกันด้วยคูตรงกลางที่มีการปลูกไม้ยืนต้นเอาไว้ (แม้ว่ามันจะต้นไม่ใหญ่เท่าไรนัก) ในขณะที่ถนนบรมราชชนนีช่วงจากศาลายาไปบรรจบเพชรเกษมนั้นแบ่งด้วยเกาะกลางเตี้ย ๆ ที่กว้างขนาดพอให้รถที่จะกลับรถนั้นหลบเข้าไปได้โดยไม่กีดขวางรถที่วิ่งมาข้างหลัง

ตอนนั้นช่วงเดินทางไปกลับระยองจะเห็นเป็นประจำว่ามีรถเสียหลักไปคว่ำอยู่บริเวณคูร่องกลางถนน ถนนที่มีคูแบ่งกั้นนั้นจะมีข่าวรถเสียหลักตกคูลงไปพลิกคว่ำอยู่เสมอ ในขณะที่ถนนที่แบ่งด้วยเกาะกลางนั้นไม่ยักมีข่าวรถเสียหลักปีนขึ้นไปจอดบนเกาะกลาง แต่จะกลายเป็นไปโผล่อีกฟากหนึ่งและชนประสานงากับรถอีกฝั่งหนึ่งที่เขาวิ่งมาดี ๆ

เวลาที่มีรถชนต้นไม้เกาะกลางก็มักมีคนออกมาโวยวายว่าเป็นเกาะกลางที่อันตราย แต่พอมีรถข้ามเกาะกลางชนประสานงากับรถที่ขับมาดี ๆ ก็มีคนออกมาโวยวายว่าทำไมเกาะกลางไม่สามารถป้องกันไม่ให้รถข้ามเลนมาได้ พอมีรั้วกั้นเกาะกลาง รถเสียหลักชนรั้วกั้นตามแนวเกาะกลาง กระเด็นเข้ามากลางทาง รถตามหลังมาดี ๆ ก็วิ่งชน ก็โดนโวยวายต่อว่าทำไมเกาะกลางไม่หยุดรถไว้ไม่ให้กระเด็น

รูปที่ ๔ เรื่องราวของไม้ยืนต้นบนเกาะกลางถนนและข้างทาง

พอถนนมีไหล่ทางที่มีรั้ว เพื่อเอาไว้เก็บรถที่เสียหลักชนรั้วไม่ให้กระเด็นกลับเข้าไปในทาง หรือเพื่อเอาไว้ให้รถฉุกเฉินวิ่ง พอรถช่วงจราจรติดขัด เจ้าหน้าที่ก็เปิดไหล่ทางเป็นเลนใหม่ขึ้นมา ช่วงรถชั่วโมงเร่งด่วนที่รถติดมันก็ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะมีเจ้าหน้าที่คอยคุมและรถก็วิ่งเร็วไม่ได้ แต่ช่วงรถคล่องตัวไม่มีเจ้าหน้าที่คุม พวกก็ยังวิ่งไหล่ทางเหมือนเป็นช่องทางเดินรถปรกติ จนชนรถที่จอดรอความช่วยเหลืออยู่ที่ไหลทาง

อันนี้เป็นตัวอย่างที่คิดว่าทุกคนมองเห็นได้คือ เวลามองภาพความเสี่ยง เรามองว่าใครควรได้รับการป้องกัน ระหว่างคนขับรถคันที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ คนที่ขับรถมาดี ๆ จากฝั่งตรงข้ามหรือตามหลังมา หรือคนที่เดินอยู่บนทางเท้าดี ๆ เพราะการไปป้องกันความเสี่ยงให้กับเหตุการณ์หนึ่ง มันไปเพิ่มความเสี่ยงให้กับอีกเหตุการณ์หนึ่งได้


เรื่องที่บรรยายไปยังไม่จบ แต่เห็นว่ามันร่ายยาวมามากพอสำหรับการอ่านแล้ว ก็คงต้องขอจบตอนที่ ๑ แค่นี้ก่อน

ไม่มีความคิดเห็น: