วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ขยะเผาได้ ขยะเผาไม่ได้ MO Memoir : Thursday 23 June 2564

"NIMBY - Not In My Back Yard" ที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่สวนหลังบ้านฉัน

คำย่อข้างบนได้ยินมากว่า ๓๐ ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ต่างประเทศ เป็นคำที่เขาใช้ประชดประชันพวกที่เรียกตัวเองว่าอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ไม่ว่าใครจะทำอะไรก็เที่ยวขวางโน่นขวางนี่ไปหมด โดยไม่ได้ให้แนวทางแก้ปัญหา "ที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมาแทน" (ไม่รู้ว่าเป็นเพราะว่าอยู่ได้ด้วยเงินบริจาคเพื่อทำการประท้วงหรือเปล่า หรือเป็นเพราะถ้าไม่มีเรื่องราวให้ประท้วงก็จะไม่ได้เงินบริจาค) ตัวอย่างที่เห็นได้ใกล้ตัวเราก็คือการสร้างโรงไฟฟ้า ที่ไม่ว่าจะใช้พลังงานแบบไหน (เชื้อเพลิงฟอสซิล ชีวมวล นิวเคลียร์ หรือพลังงานหมุนเวียน) ก็จะโดนประท้วงทั้งนั้น แต่ตัวผู้ประท้วงเองก็ต้องการใช้พลังงานไฟฟ้า และก็ไม่ได้ผลิตไฟฟ้าใช้เองในบ้าน

เมื่อเทียบกับกระดาษแล้ว ผลิตภัณฑ์พลาสติกถูกมองว่าก่อปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม เพราะย่อยสลายยาก แต่จะว่าไปผลิตภัณฑ์กระดาษก็ก่อให้เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน เพียงแต่ว่าปัญหานั้นไปอยู่ที่กระบวนการผลิต ที่ต้องใช้พลังงานมากในการแปรรูปไม้ให้กลายเป็นกระดาษ มลพิษที่ปลดปล่อยออกมาก็คือ CO2 ที่เกิดจากการผลิตพลังงานความร้อนเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต เพียงแต่ CO2 เป็นมลพิษที่อยู่ในรูปแก๊สที่เรามองไม่เห็น ไม่ได้กลิ่น และมันไม่ได้ปรากฏให้เห็นกับสายตาคนตามที่ต่าง ๆ ทั่วไป ซึ่งต่างจากขยะพลาสติก

การจัดการกับขยะพลาสติกจัดว่าเป็นเรื่องยากตรงที่มันมีความหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นชนิดพลาสติก หน้าตาของผลิตภัณฑ์และการใช้งาน ไม่สามารถที่จะระบุชนิดได้ด้วยการสัมผัสหรือการมองดู ตัวอย่างเช่นน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกที่ตัวขวดทำจาก PET (Polyethylene terephthalate) ในขณะที่ฉลากข้างขวดและฝาขวดก็ทำจากพอลิเมอร์ตัวอื่น (ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นชนิดเดียวกันด้วย) ขวดบรรจุภัณฑ์ชนิดเดียวกัน (เช่น สบู่เหลว แชมพู) ต่างยี่ห้อกันก็ไม่จำเป็นต้องใช้พอลิเมอร์ชนิดเดียวกัน เสื้อผ้าที่มีองค์ประกอบเป็นเส้นใยสังเคราะห์ก็มีการใช้เส้นใยสังเคราะห์กันหลากหลายชนิด ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ทำส่วนใดของเครื่องแต่งกาย พลาสติกที่เป็นของใช้ในครัวเรือนก็มีทั้งพวกที่เป็น thermoplastic และ thermosetting พลาสติกชนิดเดียวกันแต่ความสะอาดต่างกัน (เช่นพวกที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์อาหารใช้ครั้งเดียวทิ้ง กับของใช้ในครัวเรือน) ก็ก่อให็เกิดปัญหาในการเก็บรวบรวมไปใช้งานใหม่

แต่แม้ว่าจะมีการแยกเอาขยะพลาสติกไปแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติกเพื่อใช้งานใหม่ แต่ท้ายสุดแล้วพลาสติกเหล่านั้นก็จะกลายเป็นขยะที่ไม่สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกใหม่ได้ และต้องได้รับการกำจัด

วิธีการกำจัดขยะพลาสติกหลัก ๆ ที่ทำกันก็คือการฝังกลบและการเผา แต่ไม่ว่าวิธีการใดต่างก็มีข้อดีข้อเสียในตัวมันเองทั้งนั้น วิธีการฝังกลบนั้นดูเผิน ๆ แล้วเหมาะกับขยะที่ย่อยสลายได้ แต่เอาเข้าจริงสภาวะภายในหลุมฝังกลบที่ไม่มีทั้งออกซิเจนและความชื้นนั้น ทำให้วัสดุที่ย่อยสลายได้เมื่อทิ้งไว้บนพื้นผิวเปิด กลายเป็นวัสดุที่ไม่ย่อยสลายในหลุมฝังกลบ และยังมีเรื่องการหาพื้นที่จะทำใช้ฝังกลบ ปัญหาเรื่องกลิ่นและแก๊สที่เกิดจากสลายตัวของขยะ (ที่มักไม่ถูกกล่าวถึง) ปัญหาน้ำเสียจากหลุมฝังกลบที่มีโอกาสปนเปื้อนน้ำผิวดินเมื่อฝนตก หรือซึมลงไปปนเปื้อนน้ำใต้ดิน ในขณะที่การเผาเองนั้นแม้ว่าจะช่วยลดปัญหาเรื่องการหาที่ฝังกลบ และช่วยลดปริมาตรขยะที่เป็นของแข็งที่ต้องกำจัด (เถ้าที่เกิดจากการเผา) แต่ก็มักจะโดนโจมตีเรื่องแก๊สมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ขยะ

ดังนั้นจะว่าไปแล้วทั้งฝังทั้งเผาต่างก็ควรต้องใช้ร่วมกัน เพราะเถ้าที่เกิดจากการเผาก็ต้องนำไปฝัง และการเผาก็ช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องฝัง (ขยะฝังกลบก็คือภาระที่คนรุ่นหลังต้องแบกรับเอาไว้) ดังนั้นวันนี้จะมาลองตั้งประเด็นพิจารณาเรื่องการเผาขยะกันหน่อย โดยเฉพาะขยะพลาสติก

รูปที่ ๑ ลองจัดกลุ่มพอลิเมอร์ตามธาตุที่เป็นองค์ประกอบ

เคยเห็นในประเทศญี่ปุ่น ที่มีการแยกขยะก่อนทิ้งกันอย่างแพร่หลาย โดยการแยกขยะทิ้งนั้นอย่างน้อยจะแยกเป็น "ขยะที่เผาได้" และ "ขยะที่เผาไม่ได้" โดยความเห็นส่วนตัวแล้วการแยกขยะแบบนี้มันก็มีข้อดีในการจัดการกับขยะที่ไม่สามารถนำไปแปรรูปใหม่ได้แต่สามารถเผาได้ เช่นพวกบรรจุภัณฑ์พลาสติกและกระดาษแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (เช่น กล่อง, ถาด, ฟิล์ม, ถ้วย) ที่ใช้บรรจุอาหารต่าง ๆ, อุปกรณ์การบริโภคแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (เช่น หลอดดูด, ช้อน ส้อม ที่ทำจากพลาสติก, ตะเกียบไม้, กระดาษ/ฟิล์มที่ห่อหุ้มอุปกรณ์เหล่านี้), ป้ายกระดาษที่ติดมากับตัวผลิตภัณฑ์, ไปจนถึงกระดาษชำระและเศษกระดาษชิ้นเล็กชิ้นน้อย

ขยะที่เป็นไม้หรือเป็นกระดาษมันไม่มีปัญหาในการเผา เพราะองค์ประกอบหลักของมันคือเซลลูโลส (cellulose) เหมือนกัน ที่มีปัญหามากกว่าน่าจะเป็นพวกพลาสติก เพราะแม้ว่ามันจะติดเผาไหม้ได้ แต่ความยากง่ายในการเผานั้นขึ้นกับโครงสร้างโมเลกุลและองค์ประกอบทางเคมี รูปที่ ๑ ข้างต้นเป็นการทดลองจำแนกพลาสติกที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปและส่วนใหญ่ก็มีการใช้งานกันอยู่ภายในครัวเรือน (คือรายชื่อยังมีเพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้อีกนะ)

โครงสร้างที่เผาไฟได้ยาก (คือเผาได้ แต่อาจต้องใช้อุณหภูมิสูงหน่อย) คือพวกที่มีโครงสร้างวงแหวนอะโรมาติก (เช่นพวก PS, PET) และโครงสร้างที่มีการเชื่อมโยงแบบขวาง (crosss linked) (เช่น Bakelite, Melamine) อะตอมที่ก่อปัญหาในการเผาก็คืออะตอมธาตุฮาโลเจน (เช่น Cl ใน PVC) เพราะถ้ามีมากมันจะทำให้ตัวพอลิเมอร์เองไม่ติดไฟด้วยซ้ำ อะตอม O จะว่าไปเป็นตัวช่วยจ่ายออกซิเจนให้กับการเผาไหม้ ในขณะที่อะตอม N ถ้าอยู่ในรูปของหมู่ไนโตร (-NO2) ก็เป็นตัวช่วยจ่ายอะตอมออกซิเจนในการเผาไหม้ แต่มันก็อาจเพิ่มการเกิดแก๊ส NOx ได้ถ้าควบคุมการเผาไหม้ไม่ดี (คือปรกติ NOx มันก็จะเกิดจากปฏิกิริยาระหว่าง N2 และ O2 ในอากาศได้เองอยู่แล้วในกระบวนการเผาไหม้ โดยเฉพาะถ้าอุณหภูมิการเผาไหม้สูงก็จะเกิดมากตามไปด้วย)

รูปที่ ๒ กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้า การผลิตพลาสติก และการกำจัดขยะพลาสติก

รูปที่ ๒ ข้างบนเป็นแผนผังกระบวนการที่เห็นว่าน่าจะนำมาร่วมพิจารณาในการเผาขยะ คือการใช้ขยะพลาสติกเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานความร้อน/กระแสไฟฟ้าทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะถ้ามองจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม พลาสติกก็คือการนำเอาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ได้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นเพื่อการใช้งานในครัวเรือนก่อน หลังจากที่มันผ่านการใช้งานสุดท้ายแล้วก็นำไปเผาเพื่อผลิตพลังงานความร้อน/กระแสไฟฟ้า ซึ่งอาจจะเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงเพียงอย่างเดียว หรือเผาร่วมกับชีวมวลอื่นในโรงไฟฟ้าชีวมวล และจะว่าไปแล้วมันมีขยะประเภทหนึ่งที่การจัดการที่ดีที่สุดก็คือการเผา นั่นก็คือขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาล เช่นพวกอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่ใช้เพียงครั้งเดียวทิ้ง (เช่น สายยาง, ถุงน้ำเกลือ, ถุงโลหิต, หลอดฉีดยา, ก้านสำลี, ผ้า/กระดาษซับต่าง ๆ)

แต่ด้วยการที่ขยะนั้นมีความหลากหลายด้านโครงสร้างโมเลกุล การออกแบบการเผาขยะเพื่อให้เผาโมเลกุลทุกชนิดได้อย่างสมบูรณ์และระบบจัดการแก๊สไอเสียจากการเผาไหม้ จึงเป็นเรื่องท้าทายมากกว่าการออกแบบโรงงานที่วัตถุดิบมีองค์ประกอบคงที่ แต่จะว่าไปก็ไม่เกินความสามารถของเทคโนโลยีปัจจุบันที่มีอยู่ เพียงแต่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอาจจะสูงกว่า แต่ในภาพรวมก็ได้รับการชดเชยในแง่ของการจัดการขยะฝังกลบที่ลดลง

ไม่มีความคิดเห็น: