วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2564

เมื่อไทเทเนียมทำให้สแตนเลสสตีลลุกติดไฟ MO Memoir : Sunday 21 March 2564

ปฏิกิริยาระหว่างโลหะกับออกซิเจนเป็นปฏิกิริยาคายความร้อนสูง โลหะในหมู่ IA (คือกลุ่มพวกลิเทียม Li, โซเดียม Na, โพแตสเซียม K ฯลฯ) จะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถนำมาใช้ในรูปของโลหะบริสุทธิ์ โลหะบางตัวก็สามารถทำปฏิกิริยากับออกซิเจนได้อย่างรุนแรงและรวดเร็ว เช่นแมกนีเซียม Mg ที่สามารถลุกติดไฟและลุกไหม้ได้อย่างต่อเนื่องในอากาศถ้าได้รับความร้อนสูงมากพอเป็นตัวเริ่มต้น อะลูมิเนียม Al ในรูปแบบที่เป็นผงก็มีการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของวัตถุระเบิดบางชนิด ไทเทเนียม Ti ในรูปแบบที่เป็นผงฟุ้งกระจายในอากาศก็สามารถเกิดการระเบิดแบบ Dust Explsion ได้เช่นกัน การที่รูปแบบผงนั้นทำปฏิกิริยากับออกซิเจนได้รุนแรงก็เพราะมันมีพื้นที่ผิวสัมผัสกับอากาศสูงมาก

ในกรณีของโลหะเหล่านี้เมื่อนำมาขึ้นรูปเป็นชิ้นงานต่าง ๆ พื้นที่ผิวที่สัมผัสกับอากาศต่อจำนวนอะตอมโลหะทั้งหมดจะต่ำมาก มีเฉพาะอะตอมโลหะที่อยู่บนพื้นผิวที่สามารถทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศเกิดเป็นสารประกอบโลหะออกไซด์ สารประกอบโลหะออกไซด์ของโลหะหลายตัวจะก่อตัวเป็นชั้นฟิล์มปกคลุมผิวโลหะที่อยู่ข้างใต้ไม่ให้สัมผัสกับอากาศอีก (เช่นชั้นออกไซด์ของอะลูมิเนียม) การทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศก็จะหยุด ในขณะที่ชั้นออกไซด์ของโลหะบางตัวเช่นเหล็ก Fe นั้นมันไม่ก่อตัวเป็นชั้นฟิล์มปกคลุม ผิวบนทำปฏิกิริยาเกิดเป็นสนิมเหล็กที่มีความพรุน (แถมยังหลุดร่อนได้ง่ายอีก) เปิดช่องทางให้ออกซิเจนในอากาศเข้าสัมผัสกับเนื้อเหล็กที่อยู่ลึกลงไปตลอดเวลา การกัดกร่อนจึงเกิดได้ต่อเนื่อง

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้เรื่องแรกเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น ที่เกิดกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลอง โดยมีโลหะเป็นเชื้อเพลิง (การลุกไหม้ของไทเทเนียมนำไปสู่การลุกไหม้ของสแตนเลสสตีล - รูปที่ ๑) ส่วนเรื่องที่สองเป็นบทความที่เกี่ยวข้องกับโอกาสที่จะเกิดการลุกไหม้ของโลหะในสภาวะที่มีความเข้มข้นออกซิเจนสูง ที่มีการนำมาใช้เพื่อการรักษาทางการแพทย์ (รูปที่ ๒)

รูปที่ ๑ เหตุการณ์เพลิงไหม้ที่มีตัวโลหะของอุปกรณ์ทดลองเป็นเชื้อเพลิง ที่เกิดที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙ (จาก http://www.shippai.org/fkd/en/cfen/CC1200066.htm)

ไทเทเนียม (Titanium - Ti) เป็นโลหะที่นำมาใช้งานในทางวิศวกรรมตัวหนึ่งเนื่องจากการที่มันทนการกัดกร่อนและทนอุณหภูมิได้สูงกว่าเหล็ก ในขณะที่มีน้ำหนักเบากว่า แต่ในบางกรณีโลหะ Ti ก็ลุกติดไฟได้ง่ายเหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อเจอกับคลอรีน (Chlorine - Cl) ที่ "แห้ง"

คลอรีนเป็นตัวออกซิไดซ์ที่แรงว่าออกซิเจน สารประกอบคลอไรด์ของโลหะนั้นมักจะเป็นของแข็ง แต่ของไทเทเนียมจะแปลกอยู่หน่อยตรงที่มันเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้องและยังมีความว่องไวในการทำปฏิกิริยากับสารหลายตัวเช่นน้ำ ในกรณีของแก๊สคลอรีนที่มี "ความชื้น" (ซึ่งก็คือน้ำ) ปนอยู่ ไทเทเนียมเททระคลอไรด์ (Titanium tetrachloride TiCl4) ที่เกิดขึ้นจะทำปฏิกิริยาต่อกับน้ำได้ กลายเป็นสารประกอบออกไซด์ปิดคลุมผิวโลหะส่วนที่เหลือเอาไว้ การทำปฏิกิริยาก็จะหยุด ดังนั้นอุปกรณ์ที่ทำจากโลหะไทเทเนียมจึงไม่มีปัญหาเมื่อใช้งานกับคลอรีนที่ "ชื้น" แต่จะลุกไหม้ได้เมื่อเจอกับคลอรีนที่แห้ง

ออกซิเจนที่ความเข้มข้นสูงขึ้นจะมีความสามารถในการทำปฏิกิริยาที่รุนแรงมากขึ้น และค่าพลังงานกระตุ้นที่ต้องใช้ในการเกิดปฏิกิริยาก็อาจลดลงมามากด้วย ดังนั้นโลหะที่ไม่ทำปฏิกิริยาเมื่อสัมผัสกับอากาศแม้ว่าจะมีอุณหภูมิสูงก็ตาม ก็อาจลุกไหม้ติดไฟได้ถ้าหากสัมผัสกับออกซิเจนที่มีความเข้มข้นสูงและมีพลังงานกระตุ้นที่มากพอ

คำว่า "ความเข้มข้นที่สูงขึ้น" ในที่นี้คือเมื่อคิดในหน่วย "ปริมาณ (ที่อาจเป็นโมลหรือน้ำหนัก) ต่อหน่วยปริมาตร" นะ เพราะในบางหน่วยเช่น "สัดส่วนโมล - mole fraction" ความเข้มข้นในรูปสัดส่วนโมลนี้จะไม่เปลี่ยนไม่ว่าแก๊สจะมีความดันเท่าใด แต่ถ้าคิดในหน่วย "ปริมาณต่อหน่วยปริมาตร" ที่ความดันสูงขึ้นก็จะมีความเข้มข้นสูงขึ้นด้วย

เหตุการณ์ที่เกิดในห้องทดลองแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นนั้นเกิดขึ้นระหว่างการทดลองสังเคราะห์ตัวนำยิ่งยวด (superconductor) ที่ทดลองด้วยการเอาสารตั้งต้นนั้นมาทำปฏิกิริยากับออกซิเจนบริสุทธิ์ที่ความดันต่าง ๆ ด้วยเครื่อง thermal analysis กล่าวคือนำตัวอย่างมาบรรจุในภาชนะปิด เพิ่มความดันออกซิเจนให้ได้ตามต้องการ จากนั้นก็เพิ่มอุณหภูมิตัวอย่างให้สูงขึ้นและเฝ้าดูน้ำหนักที่เปลี่ยนไป (จะลดลงถ้ามีการสูญเสียออกซิเจน และจะเพิ่มขึ้นถ้ามีการทำปฏิกิริยากับออกซิเจน) ตัวอุปกรณ์นั้นเพิ่งจะเริ่มใช้งานได้ประมาณ ๒ เดือนและมีการทำการทดลองแบบเดียวกันไปแล้วประมาณ ๑๔-๑๕ ครั้งโดยไม่เกิดเรื่องอะไร

ในวันที่เกิดเหตุนั้นหลังจากเพิ่มอุณหภูมิไปจนถึง 600ºC และคงไว้นานกว่า 100 นาทีก็ไม่เกิดปัญหาอะไร และเนื่องจากผลการทดลองที่ได้ไม่ได้แสดงว่ามีการเปิดปฏิกิริยาอย่างรวดเร็วในระหว่างกาารทดลอง สมมุติฐานเรื่องปฏิกิริยาเกิดการ runaway จึงถูกตัดไป สาเหตุที่คาดว่าเป็นตัวทำให้เกิดเพลิงไหม้ก็คือการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร (ตัวอุปกรณ์วัดน้ำหนักต้องมีวงจรไฟฟ้าต่อเข้าไปอยู่แล้ว) และด้วยการที่เป็นบรรยากาศออกซิเจนบริสุทธิ์จึงทำให้วัสดุที่ไม่เป็นโลหะนั้นลุกติดไฟได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งนำไปสู่การลุกติดไฟของโลหะไทเทเนียมที่ใช้ทำชิ้นส่วนบางชิ้นของตัวอุปกรณ์ ความร้อนที่เกิดขึ้นทำให้โลหะหลอมเหลวและทำปฏิกิริยากับสแตนเลสสตีลที่เป็นวัสดุใช้ทำชิ้นส่วนของตัวอุปกรณ์เช่นกัน เกิดการระเบิดและเพลิงลุกไหม้ภายในช่องบรรจุตัวอย่างจนมีผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการลุกไหม้นี้ฉีดพ่นออกมาทางช่องทางที่ใช้เดินสายไฟเข้าไปข้างใน

เหตุการณ์ที่ประเทศญี่ปุ่นนี้ดูเผิน ๆ อาจเป็นเรื่องไกลตัว แต่จะว่าไปมันก็มีคนคำนึงถึงโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ในสภาพการณ์ที่ใกล้กับตัวเราก็ได้ นั่นคือการรักษาอาการหรือความเจ็บป่วยต่าง ๆ ด้วยการให้ผู้ที่ต้องการได้รับการรักษานั้นได้เข้าไปอยู่ในบรรยากาศที่มีออกซิเจนสูง ที่อาจเข้าไปอยู่ทั้งตัว (ที่สามารถเอาหนังสือเข้าไปนอนอ่านได้) หรือเพียงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง (เช่นใส่ hood ครอบศีรษะเอาไว้) ที่ปัจจุบันในบ้านเราก็มีบางโรงพยาบาลนำมาใช้ในการรักษา

บทความที่นำมาแสดงในรูปที่ ๒ เป็นการกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการลุกไหม้ของโลหะไทเทเนียมในระหว่างการรักษาด้วยการใช้ออกซิเจนความเข้มข้นสูง (Hyperbaric oxygen) ในกรณีเช่นนี้ถ้าจะบอกว่าถ้าเช่นนั้นก็ไม่ให้ใช้โลหะไทเทเนียมในการผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวก็น่าจะสิ้นเรื่อง แต่ประเด็นที่ผู้เขียนตั้งเป็นข้อกังวลไม่ได้อยู่ตรงนั้น มันไปอยู่ตรงที่ในช่วงเวลานั้น (คือปีพ.ศ. ๒๕๔๖) และจะว่าไปก็สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มันมีการนำเอาโลหะไทเทเนียมนี้มาใช้ทำเป็นทั้งกรอบแว่นตาและเครื่องประดับกันอย่างแพร่หลาย และสิ่งเหล่านี้มักจะเป็นสิ่งที่ทางโรงพยาบาลยอมให้ติดตัวคนไข้ไว้ในระหว่างการรักษาด้วย

รูปที่ ๒ บทความเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดเพลิงไหม้ในระหว่างการรักษาด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ความดันสูงที่มีการตีพิมพ์ในวารสาร Aviation, Space, and Environmental Medicine, Vol 74, No. 12 เดือนธันวาคม ปีค.ศ. ๒๐๐๓ หน้า 1301-1302 หน่วย ATA ที่เป็นปรากฏคือ Atmospheric Absolute ความดัน 1 ATA ก็คือความดันบรรยากาศปรกติ (0 atm ที่เป็นความดันเกจ) ความดัน 2 ATA ก็จะมีค่าเป็น 2 เท่าของความดันบรรยากาศปรกติ (หรือ 1 atm ที่เป็นความดันเกจ)

ที่เล่ามาตอนต้นเรื่องว่าโลหะหลายตัวนั้นเมื่อสัมผัสกับอากาศมันก็จะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนกลายเป็นสารประกอบออกไซด์ปิดคลุมผิวเอาไว้ ทำให้ปฏิกิริยาเกิดต่อไม่ได้ และเนื่องจากไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับหรือกรอบแว่นตาที่ติดตัวผู้ป่วยมานั้นมันก็สัมผัสกับอากาศมานานแล้ว แล้วมันจะก่อเรื่องได้อย่างไร ประเด็นที่ผู้เขียนบทความชี้ให้ควรพิจารณาก็คือการเกิดพื้นผิวใหม่ที่ยังไม่เคยสัมผัสกับอากาศมาก่อน เช่นการขีดข่วนที่เป็นการกำจัดพื้นผิวออกไซด์ที่ปกคลุมอยู่เดิมนั้นออกไป หรือการฉีกขาด (เช่นกรอบแว่นตาหัก) ที่จะเปิดพื้นผิวโลหะใหม่ตรงรอยฉีกขาดนั้น และด้วยบรรยากาศที่เป็นออกซิเจนบริสุทธิ์ ความรุนแรงของปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นก็จะทำให้ตัวโลหะนั้นลุกติดไฟต่อเนื่องได้

กรณีการลุกไหม้ของโลหะไทเทเนียมเมื่อสัมผัสกับแก๊สคลอรีนแห้งที่เกิดในโรงงานก็มีการบันทึกเอาไว้หลายครั้ง ส่วนกรณีการลุกไหม้ของโลหะไทเทเนียมในบรรยากาศออกซิเจนบริสุทธิ์ และการลามไปสู่การลุกไหม้ของสแตนเลสสตีลเนี่ยเพิ่งจะมีโอกาสได้รับรู้เป็นครั้งแรก ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันเคยมีการเกิดขึ้นที่ไหนอีกหรือเปล่า คงต้องค่อย ๆ ค้นคว้ากันต่อไป

ส่วนเรื่องการลุกไหม้ของโลหะต่าง ๆ ในสภาวะที่มีอุณหภูมิสูงและ/หรือออกซิเจนความเข้มข้นสูง จะว่าไปก็มีการศึกษากันมานานแล้วเหมือนกัน โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับจรวด (ที่บางทีก็ใช้ออกซิเจนบริสุทธิ์เป็นตัวออกซิไดซ์) และอากาศยาน โดยเฉพาะเครื่องยนต์กังหันแก๊สหรือ jet engine ที่ทำงานที่อุณหภูมิสูงและมีแก๊สร้อนไหลผ่านด้วยความเร็วสูง และมีการนำเอาโลหะผสมไทเทเนียมมาผลิตเป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ เพราะมันมีน้ำหนักที่เบากว่าและทนอุณหภูมิได้สูงกว่าโลหะอื่น แต่ไทเทเนียมมันก็มีพฤติกรรมที่แปลกอย่างหนึ่งคือ มันสามารถลุกติดไฟได้ในบรรยากาศ "ไนโตรเจน" บริสุทธิ์

รูปที่ ๓ สมการที่ (8) เป็นปฏิกิริยาระหว่างไทเทเนียม (ที่หลอมเหลว) กับไนโตรเจน (จากบทความเรื่อง "Interaction of powdery Al, Zr and Ti with atmospheric nitrogen and subsequent nitride formation under the metal powder combustion in air" โดย Alexander Alexandrovich Gromov และคณะ ในวารสาร Powder Technology เดือนธันวาคม ค.ศ. 2011)

รูปที่ ๔ เครื่องยนต์ของเครื่องบิน (น่าจะเป็นเครื่องบินทหาร) ที่ตกเนื่องจากเกิดโลหะไทเทเนียมในเครื่องยนต์ลุกติดไฟ และลามออกสู่ภายนอกเครื่องยนต์ (จากเอกสาร "Titanium Fire in Jet Engines" โดย T. Uihlein และ H. Schlegel เอกสารนี้ค้นเจอเป็นไฟล์ pdf ทางอินเทอร์เน็ต แต่ไม่มีรายละเอียดว่าเผยแพร่ครั้งแรกที่ไหนและเมื่อใด)

ปัจจุบันมีการนำเอาเครื่องยนต์กังหันแก๊สมาใช้ในการผลิตไฟฟ้ากันอย่างแพร่หลาย ผมเองก็ไม่รู้ว่าโครงสร้างและวัสดุที่ใช้ในการผลิตนั้นแตกต่างกับที่ใช้กับอากาศยานมากน้อยแค่ไหน เพราะเครื่องยนต์ที่ตั้งอยู่บนพื้นมันไม่ได้มีข้อจำกัดด้านน้ำหนักมากเหมือนกรณีของอากาศยาน และน่าจะทำงานที่สภาวะค่อนข้างจะคงที่มากกว่าด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: