วันอังคารที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2566

สถานีรถไฟเจ็ดเสมียน MO Memoir : Tuesday 21 March 2566

ถ่ายรูปสถานีเสร็จผมแวะเข้าไปจอดรถในตลาดเก่า ที่ริมนั้นมีคาเฟ่อยู่ บ่ายวันนั้นเป็นลูกค้าคงเดียวของคาเฟ่นั้น ก็เลยได้มีโอกาสคุยกับเจ้าของร้าน เขาเล่าว่าท่านั้นบริเวณข้างล่าง (ที่ตอนนี้เป็นลานกีฬา) เดิมนั้นเป็นท่าเรือที่ชาวบ้านนำพืชผลทางการเกษตรมาขาย แต่นั่นก็คงเป็นยุคที่เส้นทางถนนยังไม่แพร่หลาย

รูปชุดนี้ถ่ายไว้เมื่อกลางปีที่แล้ว ตอนนี้สภาพคงไม่เหมือนตอนที่แวะไปถ่ายรูป สิ่งหนึ่งที่เห็นในหลายสถานีคือมีการปิดจุดถนนตัดทางรถไฟ และสร้างสะพานรูปตัวยูข้ามทางรถไฟแทน สิ่งนี้อำนวยความสะดวกให้กับรถยนต์ที่ไม่ต้องหยุดรอรถไฟ แต่ก็ก่อให้เกิดความลำบากสำหรับผู้เดินเท้า ใช้จักรยาน หรือรถเข็นต่าง ๆ

สะพานข้ามมันก็ดีตรงที่ไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำท่วมเวลาฝนตก แต่มันต้องสร้างสูงจากพื้นอย่างน้อย ๕ เมตรเพื่อให้ยานพาหนะต่าง ๆ ลอดข้ามไปได้ พวกอุโมงค์ลอดถ้าออกแบบระบบระบายน้ำไม่ดีก็มีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมได้ แต่มันก็มีข้อดีตรงที่ไม่จำเป็นต้องลงไปลึก เอาแค่ให้รถยนต์หรือคนเดินลอดได้สบายก็พอ (ส่วนรถใหญ่ก็ให้ไปใช้ทางข้ามที่อื่น)

ข้อมูลที่ปรากฏในหน้าเว็บของกรมศิลปากร (https://www.finearts.go.th/main/view/31596-เจ็ดเสมียน) บ่งบอกว่าชุมชนนี้เป็นชุมชนเก่ามีมานานแล้ว มีการกล่าวถึงบ้านเจ็ดเสมียนย้อนไปจนถึงสมัยนิทานพื้นบ้านพระยากง-พระยาพาน และคงเป็นชุมชนที่คึกคักแห่งหนึ่ง

แต่เมื่อการเดินทางย้ายจากลำน้ำ ย้ายจากทางรถไฟ ความพลุกพล่านก็จางหายไป

รูปที่ ๑ พื้นที่บริเวณตำบลเจ็ดเสมียนและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง จากแผนที่ทหาร Biritsh-India ที่จัดทำในปีค.ศ. ๑๙๔๕ (พ.ศ. ๒๔๘๘)

รูปที่ ๒ แผนที่แนบท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธารม จังหวัดราชบุรี ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๑๐๕ หน้า ๒๔๔๘ วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๐๖

รูปที่ ๓ จากทางหลวงมายังตัวสถานีรถไฟ ต้องข้ามทางรถไฟที่อยู่ตรงหน้าทางเข้าวัดเจ็ดเสมียน แต่อีกไม่นานทางข้ามที่คงจะถูกปิดและให้ไปใช้สะพานกลับรถแทน วันนั้นไปถึงก็ติดขบวนรถไฟพอดี

รูปที่ ๔ รถไฟที่แล่นมาเป็นรถซ่อมบำรุงทาง เลยถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกหน่อย

รูปที่ ๕ ข้างสถานีมีที่จอดรถที่อยู่ทางเข้าตลาดเก่าเจ็ดเสมียน อีกฟากคือแม่น้ำแม่กลอง มีคาเฟ่ริมน้ำที่สามารถไปนั่งกินกาแฟและซื้อของที่ระลึกได้

รูปที่ ๖ มองไปยังทิศทางล่องใต้

รูปที่ ๗ มองไปยังเส้นทางที่มาจากโพธาราม อาคารสถานีหลังนี้คงไม่ถูกรื้อ และจะว่าไปก็ไม่เห็นว่าจะมีการสร้างอาคารสถานีใหม่บริเวณนี้ด้วย

รูปที่ ๘ ป้ายชื่อสถานีรุ่นเก่าและรุ่นใหม่

รูปที่ ๙ ป้ายบอกสถานีที่อยู่เคียงข้าง

รูปที่ ๑๐ มายืนทางด้านเหนือ มองไปยังเส้นทางที่มาจากโพธาราม

รูปที่ ๑๑ ตอนนี้ไม่มีรางหลีกแล้ว

รูปที่ ๑๒ อีกมุมหนึ่งของตัวอาคารสถานี

รูปที่ ๑๓ จุดถนนตัดผ่านที่กำลังจะกลายเป็นอดีตไปแล้ว

รูปที่ ๑๔ อาคารเจ้าพนักงานควบคุมจุดตัดผ่านทางรถไฟ

รูปที่ ๑๕ สะพานรูปตัวยูที่มาแทนที่จุดตัดถนน สำหรับรถยนต์คงสะดวกขึ้น เพราะดูแล้วออกแบบมาเพื่อรถยนต์เป็นหลัก แต่สำหรับคนเดินเท้า มอเตอร์ไซค์ รถเข็น สามล้อ คงสร้างความลำบากให้พวกเขาไม่น้อย

รูปที่ ๑๖ บริเวณสถานีมีโครงเหล็กสะพานเก่ากองอยู่ ก็เลยขอถ่ายรูป name plate ไว้เป็นที่ระลึกหน่อย ว่าสร้างโดยใคร เมื่อใด

ไม่มีความคิดเห็น: