วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2565

เพลิงไหม้สัมภาระจากการรั่วไหลของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ MO Memoir : Saturday 15 January 2565

ปฏิกิริยาการออกซิไดซ์ (oxidation) เป็นปฏิกิริยาคายความร้อน และถ้าเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วบนวัตถุที่ลุกไหม้ได้ก็จะทำให้เกิดการลุกติดไฟได้ ปฏิกิริยาการออกซิไดซ์ที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ในพื้นที่เปิดนั้นอาจคายความร้อนออกมาในปริมาณที่เราไม่รู้สึก แต่ถ้าเกิดขึ้นในบริเวณที่ปิดที่การระบายความร้อนเกิดได้ไม่ดี ทำให้เกิดการสะสมความร้อน ความร้อนที่สะสมก็จะเร่งให้ปฏิกิริยานั้นเกิดเร็วขึ้น จนอาจทำให้วัสดุนั้นลุกติดไฟได้ ปรากฏการณ์นี้เป็นที่ทราบดีว่าเกิดได้กับผ้าขี้ริ้วที่ใช้เช็ดทำความสะอาด ที่ถ้านำผ้าขี้ริ้วนั้นมาใช้ทำความสะอาดน้ำมันบางชนิด (เช่นน้ำมันที่ใช้เคลือบผิวไม้) การกองผ้าขี้ริ้วหลังการใช้งานเอาไว้อย่างไม่เหมาะสม สามารถทำให้ผ้าขี้ริ้วนั้นลุกติดไฟได้จากความร้อนที่ปลดปล่อยออกมาจากปฏิกิริยาระหว่างน้ำมันกับอากาศ (รูปที่ ๑)

รูปที่ ๑ เอกสารคำเตือนเรื่องการป้องกันการลุกติดไฟด้วยตนเองของผ้าขี้ริ้วที่ชุ่มไปด้วยน้ำมันบางชนิด (จาก https://www.bendoregon.gov/home/showdocument?id=16299)

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้นำมาจากเอกสารการสอบสวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับอากาศยานที่จัดทำโดย NTSB (National Transportation Safety Board) เป็นกรณีเลขที่ DCA-99-MZ-001 ที่เกิดบนสายการบิน Northwest Airlines เที่ยวบินที่ 957 เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๙๘ (พ.ศ. ๒๕๔๑) เหตุการณ์เริ่มจากการรั่วไหลของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เข้มข้น 35 % ที่ไปปสัมผัสกับถุงไปรษณีย์ (รูปที่ ๒) ก่อนที่จะทำให้เกิดการลุกไหม้ของไปรษณีย์ภัณฑ์ (ที่เป็นกระดาษ)

เหตุการณ์เริ่มจากผู้โดยสารรายหนึ่งนำกระติกน้ำแข็ง (รูปที่ ๓) ที่ใส่ขวดพลาสติกบรรจุไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (รูปที่ ๔) จำนวนสองขวดโดยไม่ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบว่ากระติกน้ำแข็งดังกล่าวบรรจุสิ่งของอะไรอยู่ (จะว่าไปผู้โดยสารก็ไม่รู้ด้วยว่าสิ่งของที่ตนเองขนนั้นมีอันตรายอย่างไร) กระติกน้ำแข็งดังกล่าวถูกบรรจุไว้ในห้องเก็บสัมภาระของเที่ยวบินที่ 957 ที่เดินทางจาก Florida ไปยัง Tennessee ที่ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงนั้นไม่มีปัญหาอะไร ปัญหาเริ่มมาพบในระหว่างการขนถ่ายสัมภาระไปยังเครื่องบินลำที่สอง

รูปที่ ๒ คำบรรยายเหตุการณ์ที่เกิด

เมื่อเที่ยวบินที่ 957 ลงจอดที่ Tennessee พนักงานภาคพื้นดินจำนวนสองนายได้ขึ้นไปบนเครื่องเพื่อถ่ายสัมภาระส่วนหนึ่งไปยังเครื่องบินลำที่สอง (เที่ยวบินที่ 7 ที่จะบินไปยัง Seattle) ในขณะที่ขึ้นไปขนถ่ายสัมภาระนั้นพนักงานทั้งสองสังเกตเห็นว่ามีสัมภาระบางส่วนเปียกของเหลว และมีของเหลวใสอยู่บนพื้น แต่พนักงานทั้งสองเข้าใจว่าของเหลวนั้นคือน้ำที่รั่วไหลมาจากกระติกน้ำแข็งหรือจากการขนส่งปลาเขตร้อน

ประมาณ 10 นาทีหลังการขนถ่ายสัมภาระ พนักงานที่ทำหน้าที่ขนสัมภาระที่เปียกและถุงไปรษณีย์รายงานว่ารู้สึกปวดเสียวที่มือ และกลายเป็นสีขาว โดยในช่วงเวลานั้นสัมภาระบางส่วน (ที่เปียก) ได้ถูกลำเลียงขึ้นไปบนเที่ยวบินที่ 7 แล้ว

(หมายเหตุ : ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เข้มข้นเวลาถูกผิวหนังจะทำให้รู้สึกปวดเสียว แต่มันไม่ได้เกิดทันทีที่สัมผัส จะเกิดขึ้นหลังจากสัมผัสแล้วสักพัก และผิวหนังตรงนั้นจะกลายเป็นสีขาวเหมือนกับโดนป้ายน้ำยาลบคำผิด (รูปที่ ๕ ที่เป็นมือผมเอง ที่ไปโดนไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่เปียกอยู่บนพื้นผิวด้านนอกของบีกเกอร์) รอยสีขาวนี้ล้างน้ำไม่ออก แต่ทิ้งไว้สักพักก็จะหายไป (ประมาณหนึ่งชั่วโมง)

รูปที่ ๓ กระติกน้ำแข็งที่บรรจุขวดไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ซึ่งก็แปลกใจเหมือนกันว่าของเหลวข้างในมันรั่วออกมาได้อย่างไร หรือว่าในระหว่างการขนส่งนั้นกระติกไม่ได้วางตั้ง แต่วางนอน เลยทำให้ของเหลวไหลซึมออกทางฝาปิดได้

จากการร้องเรียนของพนักงานขนสัมภาระ สายการบินจึงได้ทำการติดต่อหน่วยดับเพลิงของทางสนามบิน ซึ่งได้เดินทางมายังเครื่องบิน พนักงานขนสัมภาระผู้หนึ่งเข้าไปนำกะติกน้ำแข็งออกจากเที่ยวบินที่ 7 แต่เมื่อได้รับแจ้งว่ากระติกน้ำแข็งใบดังกล่าวอาจบรรจุสารเคมีอันตราย จึงได้ออกจากพื้นที่และไปหาแพทย์

หลังจากที่พนักงานขนสัมภาระคนดังกล่าวจากไป นักบินของเที่ยวบินดังกล่าวก็เข้ามาและเห็นเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินและของสายการบินรอบเครื่องบิน จึงได้สอบถามว่าเกิดเหตุอะไร เมื่อทราบแล้วจึงถามต่อว่าแล้วกระติกน้ำแข็งใบดังกล่าวอยู่บนเครื่องหรือไม่ เจ้าหน้าที่สายการบิน (จำนวนหลายคน) ที่อยู่บริเวณนั้นรู้ว่ากระติกใบดังกล่าวไม่ได้อยู่บนเครื่องบิน จึงบอกนักบินไปว่ากระติกใบดังกล่าวไม่ได้อยู่บนเครื่อง นักบินจึงเข้าใจว่าเครื่องบินของเขานั้นไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากเหตุการณ์ จึงออกเดินทางตามกำหนดการ

ตรงนี้มีประเด็นที่แสดงให้เห็นว่ามีปัญหาเรื่องการสื่อสารกันอยู่ คือทั้งพนักงานสายการบินและนักบินเข้าใจว่าเมื่อกระติกน้ำแข็งใบดังกล่าวไม่ได้อยู่บนเครื่อง (โดยไม่รู้ว่ามันถูกขนขึ้นเครื่องก่อนที่จะถูกนำออกมา) เครื่องบินก็ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ แต่ในความเป็นจริงนั้นก่อนหน้านั้นช่วงที่กระติกใบดังกล่าวอยู่บนเครื่อง สารเคมีที่รั่วไหลออกมาก็ได้เปียกกระเป๋าสัมภาระบางใบและถุงไปรษณีย์บางถุงแล้ว

จากการตรวจสอบ ณ ที่เกิดเหตุว่าในกระติกน้ำแข็งใบนั้นบรรจุอะไร และก็พบขวดบรรจุไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 35% ที่เสียหาย และก็ได้มีการแจ้งไปยังสนามบินปลายทางของเที่ยวบินที่ 7 ว่าเที่ยวบินที่ 7 อาจบรรจุสารเคมีอันตรายไปด้วย และให้ผู้ขนถ่ายสัมภาระระมัดระวังและใช้ถุงมือยางป้องกันมือ ซึ่งเที่ยวบินที่ 7 เดินทางไปถึงปลายทางได้โดยไม่มีเหตุการณ์อะไร

รูปที่ ๔ ขวดบรรจุไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่เสียหาย (บรรจุขวดพลาสติก)

แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ขนถ่ายสัมภาระเปิดประตูห้องเก็บสัมภาระก็พบกลุ่มควันลอยออกมาแต่ไม่มีเปลวไฟ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งเข้าไปลากเอากระเป๋าเดินทางที่มีกลุ่มควันลอยออกมาออกมานอกเครื่อง และเจ้าหน้าที่ดับเพลิงก็ฉีดน้ำใส่กระเป๋าใบนั้นให้ชุ่ม (คงเป็นความโชคร้ายของเจ้าของกระเป๋าเดินทางใบนั้น)

รูปที่ ๕ ปื้นสีขาวบนนิ้วมือที่สัมผัสกับสารละลาย H2O2 35 %wt สีดังกล่าวคงอยู่เพียงแค่ประมาณชั่วโมงก่อนหายไป

ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide H2O2) สามารถทำการออกซิไดซ์สารอินทรีย์ได้หลากหลาย ส่วนความเร็วในการเกิดปฏิกิริยานั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ในกรณีที่สารเคมีนั้นมีส่วนผสมของโลหะบางชนิดหรือเมื่อไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์สัมผัสกับสารประกอบบางชนิด (เช่นสนิมเหล็ก) ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ก็จะสลายตัวได้รวดเร็วขึ้นพร้อมทั้งปลดปล่อยแก๊สออกซิเจนและความร้อนออกมา ที่สามารถทำให้วัสดุนั้นลุกไหม้ได้ แต่สิ่งนี้จะเกิดได้เมื่อไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์นั้นมีความเข้มข้นสูงมากพอ (ประมาณ 30% ขึ้นไป ส่วนไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่ขายเป็นยาล้างแผลนั้นเข้มข้นเพียง 3%)

ในเหตุการณ์นี้อาจเป็นเพราะภายในกระเป๋าเดินทางนั้นเป็นพื้นที่ที่การถ่ายเทอากาศไม่ดี สิ่งที่เป็นเชื้อเพลิงที่บรรจุอยู่ในกระเป๋าเดินทางจึงไม่สามารถเกิดการลุกไหม้จนเกิดเปลวไฟได้ แต่เป็นการลามไหม้อย่างช้า ๆ ที่ทำให้เกิดควัน

ไม่มีความคิดเห็น: