วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

วตฺตา จ MO Memoir 2559 May 19 Thu

วตฺตา จ : รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไรอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษา
 
ข้อความข้างต้นผมนำมาจาก https://th.wikipedia.org/wiki/กัลยาณมิตร เป็นหนึ่งในคุณสมบัติ ๗ ข้อของ "กัลยาณมิตร" (กัลยาณมิตรธรรม 7)
 

เมื่อกว่า ๓๐ ปีที่แล้ว สำหรับนิสิตปี ๑ ของคณะเรา มีการซ้อมเชียร์กัน ๓ ช่วงเวลาด้วยกัน คือ "เชียร์เที่ยง" ที่จัดกันตอนเที่ยงหลังอาหารเที่ยง เลิกก่อนเข้าเรียนช่วงบ่าย เชียร์เที่ยงนี้เน้นไปที่การซ้อมร้องเพลงมหาวิทยาลัยและเพลงประจำคณะ หลังเลิกเรียนตอนเย็นก็มี "เชียร์เย็น" ที่เน้นไปที่การร้องเพลงเล่น สังสรรค์ เป็นการทำความรู้จักกันระหว่างรุ่นเดียวกันและรุ่นพี่ เชียร์เย็นนี้มักเป็นพวกที่ไม่ได้ไปเล่นกีฬาใด ๆ เป็นพวกทำหน้าที่เป็นกองเชียร์ให้กับนักกีฬา เพลงที่ร้องกันบางเพลงก็ออกทะลึ่งนิด ๆ แต่ไม่ถึงกับหยาบคายหรือหยาบโลน 
 
และสุดท้ายก็คือ "เชียร์ดึก" ที่มักจะจัดกันในซอบหลืบลับหูลับตาของคณะ
 
เพลงเชียร์ดึกนี้เรียกว่าเป็นเพลงที่ฟังแล้วไม่ต้องคิดอะไรมากเลยก็ได้ เพราะมันออกมาตรง ๆ ไม่อ้อมค้อม ไม่ต้องผวนคำ แต่การร้องเพลงเชียร์ดึกนี้มันก็มีกติกาของมันอยู่เหมือนกัน คือไม่ร้องให้ผู้หญิงได้ยิน ไม่นำไปร้องให้คนอื่นที่ผ่านไปผ่านมาได้ยิน เรียกว่าเหมาะสำหรับร้องกันในวงเหล้าหรือระหว่างหมู่เพื่อนฝูงที่สนิทกันมากกว่า ตัวเนื้อเพลงนั้นจะมีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือเปล่าผมเองก็ไม่ทราบ รู้แต่ว่ามันมีการสอนกันแบบปากต่อปาก จำต่อ ๆ กันมา
 
ผู้ชายวิศวสมัยนั้น แม้ว่าเมื่ออยู่ในกลุ่มเพื่อนสนิท สังสรรกันเองในสถานที่ที่ไม่มีคนอื่นภายเห็น ก็อาจจะเล่นกันแรง พูดจากันด้วยคำหรือประโยคแบบที่เรียกว่าคนภายนอกฟังแล้วอาจรับไม่ไหว แต่เขาก็รู้กันนะครับว่า คำพูดใด พฤติกรรมใด มันควรจำกัดอยู่ระหว่างเพื่อนฝูงที่สนิทกันเท่านั้น ไม่ควรนำมาเผยแพร่ข้างนอก (เพื่อนไม่แกล้งกัน) และถ้ามีใครสักคนกำลังจะทำอะไรที่ไม่เหมาะสม (เช่นการกระทำที่ทำให้ภาพลักษณ์ของตัวผู้กระทำเอง หรือสถาบันเกิดความเสียหาย ไม่ว่าการกระทำนั้นจะกระทำโดยตั้งใจหรือเผลอเรอก็ตาม ) ก็มักจะมีเพื่อนฝูงในกลุ่มคอยสะกิดเตือนกันว่าอย่าทำ 
  
นั่นเป็นเหตุการณ์สมัยที่สื่อสังคมออนไลน์ยังไม่เกิด
  
------------------------------
 
บางสิ่งบางอย่าง "ภาพนิ่ง" มันบอกไม่ได้ แต่ "คลิปวิดิโอ" นั้นมันบอกได้ 
  
เคยมีกรณีของนิสิตหญิงกลุ่มหนึ่งไปสังสรรค์กันระหว่างหมู่เพื่อนผู้หญิงด้วยกัน และมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย พอสนุกสนานกันได้ที่ก็มีการออกมาเต้นรำทำท่าทำทางกัน เท่านั้นยังไม่พอเพื่อนฝูงในกลุ่มรายหนึ่งไม่เพียงแต่ทำการบันทึกคลิปวิดิโอการเต้นนั้นเอาไว้ แล้วยังเอามาเผยแพร่บนหน้า facebook ของเขา แถมยังทำการ tag บุคคลที่ปรากฏอยู่ในคลิปวิดิโอดังกล่าว (ในคลิปเห็นได้ชัดว่าผู้ออกมาแสดงท่าทางคงจะมีอาการมึนเมาบ้างแล้ว) โชคดีของนิสิตหญิงคนที่ปรากฏตัวอยู่ในคลิปตรงที่เพื่อนคนอื่นใน facebook ของเขาพอเห็นคลิปวิดิโอนั้นเข้าก็รีบบอกให้นิสิตหญิงผู้นั้นไปบอกให้เพื่อนคนโพสคลิปนั้นรีบนำคลิปดังกล่าวออกจากหน้า facebook ซึ่งเพื่อนของเขาก็รีบดำเนินให้ตามคำร้องขอ

การโพสท่าถ่ายรูปบางท่าและ/หรือด้วยเครื่องแต่งกายบางรูปแบบนั้น สำหรับคนบางอาชีพถือได้ว่าเป็นเรื่องปรกติที่ทำกันทั่วไป แต่สำหรับคนจำนวนไม่น้อยแล้ว ด้วยหน้าที่การงานหรือบทบาทในสังคม การโพสท่าร่วมกับการแต่งกายเช่นนั้นมันดูไม่เหมาะสม
 
เคยมีกรณีของบัณฑิตหญิงรายหนึ่ง โพสท่าถ่ายรูปแต่งตัวออกแนว sexy นิด ๆ เรียกว่าถ้าเทียบกับภาพที่เหล่านางแบบหรือสาวพริตตี้ต่าง ๆ ขอบโพส รูปที่เขาโพสออก facebook ก็ยังดูเรียบร้อยอยู่ แต่ด้วยบทบาทหน้าที่การงานและทางสังคมของเขานั้น ภาพนั้นค่อนข้างจะสุ่มเสี่ยง โชคดีที่เขามีเพื่อนที่เห็นรูปดังกล่าวแล้วคิดว่ามันไม่ค่อยจะเหมาะสม จึงได้เตือนให้เขาลบรูปนั้นทิ้งไป รูปนั้นจึงหายไปภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่เขาโพส

--------------------------
 
กรณีที่ยกมาข้างต้นนั้นผมเห็นว่าสองคนนั้นโชคดีที่มีเพื่อนที่ดี ที่เห็นว่าถ้ามีการเผยแพร่ใด ๆ ที่สุ่มเสี่ยงอาจทำให้เจ้าตัวเกิดความเสียหายได้ (จะเนื่องด้วยสามารถทำให้ผู้อื่นที่เห็นเกิดความเข้าใจผิด หรืออาจมีการนำไปขยายผลในทางที่ผิดก็ตามแต่) ก็รีบทำการตักเตือนให้ยุติการเผยแพร่ดังกล่าว เพื่อนที่น่ากลัวกว่าคือพวกที่คอยยุส่ง (พวกที่โพสทำนองเช่น ไม่ต้องกังวล คนอื่นไม่เข้าใจนายไม่เป็นไร พวกเราเข้าใจนายดี มันต้องอย่างนี้ เจ๋งสุดยอด เอาอีก ฯลฯ) ใครที่เต็มไปด้วยเพื่อนพวกนี้ควรต้องระวังคำยุส่งของเขาให้ดี เพราะความเสียหายถ้าเกิดขึ้นแล้วมันเฉพาะเจาะจงลงไปที่ตัวผู้กระทำ คนที่คอยยุส่งไม่ได้รับผลกระทบนั้นไปด้วย และความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วนั้นมันยากที่จะแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากระทำโดยเผยแพร่ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ที่สามารถกระจายออกไปได้เร็ว ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ก็มีตัวอย่างเช่นนี้ให้เห็น
 
เวลาเล่น facebook จะกดไลค์กดแชร์ข้อความอะไรก็ตาม ก็ควรที่จะอ่านประโยคต่างๆ และการใช้คำในข้อความเหล่านั้นให้ดีเสียก่อน ถ้าคิดจะกดไลค์หรือกดแชร์ก็ควรพิจารณาด้วยว่าข้อความเช่นนั้นมันเหมาะที่จะให้ทุกคนที่เป็นเพื่อนกันอยู่บน facebook เห็นหรือไม่ หลากหลายข้อความนั้นมันใช้ภาษาที่เหมาะที่จะแบ่งปันกันในระหว่างเพื่อนฝูงที่สนิทกันจริง ๆ มากกว่าที่จะให้ทุกคนที่เป็นเพื่อนอยู่บน facebook เห็นหมด เพราะถ้าสิ่งที่กดไลค์หรือกดแชร์นั้นมันมีข้อความที่ไม่เหมาะสม คนอื่นที่มาเห็นเข้าคงห้ามไม่ให้คิดไม่ได้ว่านั่นเป็นตัวตนอีกด้านหนึ่งของเราที่เราเก็บซ่อนเอาไว้ไม่แสดงออกมาเวลาที่เจอหน้ากันตรง ๆ

อยู่ในสถาบันการศึกษายังมีครูบาอาจารย์ที่ทำหน้าที่คอยว่ากล่าวตักเตือน เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของเขา แต่อยู่ในสถานที่ทำงานนั้นแม้แต่เพื่อนกันก็ยังแทงข้างหลังกันได้ วิธีการหนึ่งที่เห็นใช้กันก็คือการยุส่ง อยากทำอะไรก็เชียร์ให้ลงมือทำไปเลย อย่าไปกังวลใด ๆ แต่ถ้าทำผิดพลาดเกิดเรื่องขึ้นมาแล้วจะคอยซ้ำเติม 
  
เหมือนเล่นตระกร้อนั่นแหละครับ ชงตั้งลูกให้ขึ้นสูงแบบสวย ๆ แล้วหาจังหวะเตะตบลงพื้นแรง ๆ

------------------------------
 
การเรียนในมหาวิทยาลัยมันทำได้อย่างมากแค่บอกว่าความรู้อยู่ที่ไหนบ้าง ไม่สามารถให้รายละเอียดได้ทั้งหมด มันมีสิ่งที่ต้องไปศึกษาเอาเองอีกเยอะ
 
ปัญหาคือเมื่อต้องไปค้นหาความรู้เอาเองนั้น มันมีแหล่งให้ค้นหรือเปล่า ในบ้านเราเมื่อสักกว่ายี่สิบปีที่แล้ว แหล่งข้อมูลมีจำกัดมาก ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็ยังไม่มีให้ค้น บริษัทใหญ่ ๆ ยังไม่มีต้นฉบับเอกสารมาตรฐานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการทำงานให้พนักงานได้มีโอกาสศึกษาเลย ดังนั้นวิศวกรสมัยนั้นแม้ว่าใครอยากจะทราบว่าแต่ละเรื่องมันมาได้อย่างไร บางทีเขาก็ไม่สามารถค้นได้ ไม่เหมือนคนที่ได้ไปเรียนต่างประเทศ ที่เป็นแหล่งต้นตอของข้อมูลที่สามารถสืบค้นได้ง่าย แต่วิศวกรรุ่นเก่า ๆ เหล่านั้นเขาก็แก้ปัญหากันมาได้ด้วยการใช้ประสบการณ์ และถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นด้วยวาจา ซึ่งมันทำให้ข้อมูลมันมีการผิดเพี้ยนหรือหายไปตามเวลา สมัยผมจบเข้าทำงานใหม่ ๆ ก็เรียนกันแบบนี้ คือเดินตามวิศวรุ่นพี่ แล้วเขาก็อธิบายการทำงานให้ฟังด้วยวาจา
 
วิศวกรบ้านเราเมื่อจบไปทำงานแล้ว การศึกษาก็ยังคงมีความจำเป็นอยู่อยู่ เพียงแต่อาจจะไม่ได้ลงลึกไปในบางด้าน อาจจะเน้นไปทางกว้างแทน หรือไม่ก็เฉพาะเจาะจงไปยังกระบวนการที่เขารับผิดชอบ นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวใหม่ ๆ ในอีกหลากหลายมิติให้ต้องศึกษา ดังนั้นจึงไม่แปลกที่พอถามอะไรเขาลึก ๆ ทางเทคนิคลงไปบางเรื่องแล้วเขาตอบไม่ได้ ยิ่งเป็นคนที่ไม่ได้จับงานด้านนั้นมานานด้วย เรื่องพวกนี้มันก็ลืมกันได้ และเมื่อเขาผ่านพ้นงานช่วงนั้นมาแล้ว เขาก็คงหาเวลายากที่จะกลับไปหาคำตอบที่ค้างคาใจ เพราะด้วยหน้าที่ของเขาทำให้เขามีปัญหาใหม่ที่ต้องแก้ไข

แต่บางครั้งการที่ใครสักคนตอบว่า "ไม่รู้" นี่ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่รู้นะครับ แต่เป็นเพราะว่าเขาอยากรู้ว่าคนที่ถามเขานั้น "รู้จริง" หรือเปล่า

ในฐานะที่ทำงานเป็นอาจารย์ผู้หนึ่ง ผมจะบอกนิสิตเสมอว่าถ้าเราเข้าใจ "หลักการ" เราจะสามารถมองเห็น "วิธีการ" ได้หลากหลายวิธี ดังนั้นการสอนนั้นจึงควรที่จะยก "หลักการ" ขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงค่อยยก "ตัวอย่างวิธีการ" เพื่อให้ผลออกมาเป็นไปตามหลักการนั้น ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนได้รู้ว่า มันยังมีวิธีการอื่นอีก การยกแต่วิธีการโดยไม่อธิบายถึงหลักการ ก็นำไปสู่การใช้ "สูตรสำเร็จ" ที่ทำให้ผู้รับรู้เข้าใจผิดได้ว่ามันใช้งานได้ในทุกกรณี ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่อันตราย 
  
และในเมื่อมันมีวิธีการเพื่อให้ได้ผลตามหลักการนั้นหลายวิธี ก็ควรที่ต้องบอกถึงข้อเด่น-ข้อด้อยของวิธีการต่าง ๆ เหล่านั้นด้วย บางวิธีการนั้นทำได้ง่าย แต่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้นต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ในขณะที่บางวิธีการนั้นวุ่นวายมากกว่า แต่มีความเสี่ยงต่ำกว่า จึงมีความปลอดภัยที่สูงกว่า แต่การจะเลือกใช้วิธีการไหนนั้น ก็ต้องคำนึงถึงสถานการณ์และสภาพแวดล้อม

สำหรับนิสิตปี ๔ ของภาควิชา เช้าวันนี้ก็คงเป็นวันสุดท้ายในชีวิตการเรียนระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยของพวกคุณ คงเหลือแต่รอฟังผลสอบเท่านั้น สิ่งที่อยากจะฝากไว้ก็คือขอให้มี "สติ" และใช้ "ปัญญา" ไตร่ตรอง ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรลงไป บางครั้งสิ่งที่เราคิดว่าเป็น "กระแส" ที่ใคร ๆ เขาทำกันนั้น เอาเข้าจริง ๆ อาจเป็นเพียงแค่คนส่วนน้อยเท่านั้นที่ทำ เพียงแต่เขาแสดงออกมาเยอะและใช้เทคนิคการนำเสนอชักจูงจนเราทำให้เราหลงไปได้ว่าคนส่วนใหญ่เป็นกัน ลองกลับไปดูที่ facebook ของพวกคุณ (ถ้ามี) ก็ได้ครับว่าคุณมีเพื่อนในนั้นกี่คน และมีสักกี่คนที่โพสข้อความต่าง ๆ เป็นประจำ

ขอให้ทุกคนโชคดี ประสบแต่ความสุขความสำเร็จในชีวิตหน้าที่การงานและครอบครัวต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: