วันพุธที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2566

สูบจากท่อประปาโดยตรง MO Memoir : Wednesday 19 April 2566

แรงดันน้ำประปาในท่อมันจะเปลี่ยนไปตามจำนวนผู้ใช้งาน ยิ่งบ้านที่อยู่ปลายเส้นท่อจะเห็นปัญหาชัดเจน ช่วงเวลาที่ไม่ค่อยมีคนใช้น้ำ น้ำก็จะไหลแรง แต่ช่วงเวลาที่คนใช้เยอะ แรงดันก็จะลดต่ำลง อาจถึงขนาดที่อาบน้ำฝักบัวไม่ได้ (บ้านผมก็เป็นอย่างนั้น) ยิ่งถ้าใครมีบ้านสองชั้นและมีห้องน้ำอยู่ชั้นบน ก็ยากที่จะคาดหวังว่าห้องน้ำชั้นบนน้ำจะไหลแรง หรือไหลไปถึง ด้วยเหตุนี้ปั๊มน้ำอัตโนมัติจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นในครัวเรือน

ปั๊มน้ำอัตโนมัติของบ้านผมจะมีสวิตจะมีสวิตช์ควบคุมการเปิดปิดอยู่ ๒ ตัว ตัวแรกคือสวิตช์ความดัน (pressure switch) ที่จะเปิดการทำงานของปั๊มถ้าหากความดันลดต่ำลงกว่าค่าที่กำหนด เช่นเมื่อเปิดก็อกน้ำในน้ำ ตัวที่สองคือสวิตช์การไหล (flow switch) ตัวหลังที่เคยเห็นมีลักษณะเป็นก้านบานพับ ที่การไหลของน้ำจะไปดันให้ก้านบานพับนี้พับไปทางด้านทิศทางการไหล มันเป็นเหมือนกับเป็นตัวป้องกันไม่ให้ปั๊มทำงานโดยไม่มีน้ำไหลผ่าน ปั๊มน้ำอัตโนมัติที่บ้านมีสองตัว เวลาที่มันไม่ทำงานก็ต้องตรวจให้ดีว่าปัญหาอยู่ที่ตัวไหน จะได้ซื้อมาเปลี่ยนถูกตัว

การเดินท่อปั๊มน้ำอัตโนมัตินี้ที่บ้านผมเดินแบบ ๒ ระบบ คือจากมิเตอร์น้ำแยกออกเป็น ๒ เส้นทาง เส้นทางแรกตรงไปยังถังพักน้ำสำหรับให้ปั๊มน้ำสูบจ่ายเวลามีการเปิดน้ำใช้ เส้นทางที่สองจะไปบรรจบกับเส้นที่มาจากด้านขาออกของปั๊มน้ำ เส้นนี้จะมีวาล์วกันการไหลย้อนกลับติดตั้งอยู่ เส้นนี้มีไว้เผื่อเวลาปั๊มน้ำเสียหรือไฟดับ จะได้ยังคงมีน้ำใช้ อย่างน้อยก็ที่ชั้นล่าง วาล์วกันการไหลย้อนกลับมีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำที่ปั๊มจ่ายออกมา ไหลย้อนกลับไปยังถังเก็บน้ำหรือกลับเข้าระบบท่อ อันที่จริงตรงนี้ถ้าไม่ติดตั้งวาล์วกันการไหลย้อนกลับ ก็ต้องคิดตั้งวาล์วปิดเปิดเอาไว้ เวลาไหนจะใช้น้ำจากปั๊มน้ำก็ให้ปิดวาล์วตัวนี้ เวลาที่ปั๊มใช้งานไม่ได้ก็ค่อยมาเปิด

รูปที่ ๑ โฆษณาของร้านค้าแห่งหนึ่งเกี่ยวกับการออกแบบระบบท่อปั๊มน้ำอัตโนมัติที่เลือกได้ทั้งสูบจากถังพักน้ำหรือสูบจากท่อประปาโดยตรง

วันก่อนเห็นโฆษณาทาง facebook ของร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างแห่งหนึ่งเกี่ยวกับปั๊มน้ำอัตโนมัติและรับวางระบบ คือนอกจากจะรับวางระบบแบบที่เล่ามาข้างต้นแล้ว ยังมีการรับวางระบบแบบสูบตรงจากท่อน้ำประปาแล้วจ่ายตรงเข้าไปในบ้าน (รูปที่ ๑) และสูบตรงจากท่อน้ำประปาเพื่อจ่ายตรงเข้าไปในบ้านและวนน้ำกลับไปใส่ในถังเก็บน้ำ (รูปที่ ๒) หลายคนที่เห็นการออกแบบแบบนี้ก็เลยเข้าไปให้ความเห็นดังแสดงในรูป

รูปที่ ๒ โฆษณาของร้านค้าเดียวกันเกี่ยวกับการออกแบบระบบท่อปั๊มน้ำอัตโนมัติที่เลือกได้ทั้งสูบจากถังพักน้ำหรือสูบจากท่อประปาโดยตรง หรือสูบจากท่อป้อนเข้าไปไว้ในถังเก็บ

ปัญหาน้ำประปาไหลอ่อนบ้านเรามีมานานแล้วและมีอยู่ทั่วไป โดยปรกติท่อประปาก็จะเดินฝังดิน เวลาที่ท่อรั่ว เนื่องจากในท่อมีความดัน น้ำในท่อก็จะรั่วออก การรั่วออกนี้เป็นการป้องกันไม่ให้สิ่งปนเปื้อนหลุดรอยเข้ามาในท่อ การต่อปั๊มน้ำสูบน้ำจากท่อประปาโดยตรง จะทำให้ความดันน้ำในท่อลดต่ำลง ถ้าภายนอกท่อเป็นน้ำสกปรก น้ำสกปรกนั้นก็จะรั่วไหลเข้ามาในระบบท่อ ทำให้ผู้ใช้น้ำมีโอกาสเจอกับสารพัดสิ่งออกมาจากก๊อกน้ำ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งไม่มีชีวิตหรือสิ่งมีชีวิต

ด้วยเหตุนี้การประปาจึงห้ามไม่ใช้ใช้เครื่องสูบน้ำสูบตรงจากท่อประปา (รูปที่ ๓) ใครจะใช้เครื่องสูบน้ำก็ต้องติดตั้งถังเก็บน้ำหรือบ่อพักน้ำ แล้วค่อยสูบน้ำจากถังเก็บน้ำหรือบ่อพักน้ำนั้นอีกที

รูปที่ ๓ ประกาศการประปานครหลวงเกี่ยวกับการใช้เครื่องสูบน้ำ

แต่ประกาศการประปานครหลวงก็ไม่ได้ห้ามขาดนะ มันมีต่อท้ายข้อห้ามนิดนึงว่า "เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากการประปานครหลวง" แต่ตรงนี้ก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าต้องเป็นกรณีเช่นใด จึงจะได้รับการยกเว้น

ท่อประปาจากมิเตอร์เข้ามาในบ้านจะเดินมาตามพื้น การใช้บ่อพักน้ำที่อยู่ต่ำกว่าระดับผิวดินมันมีข้อดีตรงที่เวลาที่น้ำในท่อมีแรงดันต่ำ มันก็ยังไหลลงบ่อได้ แต่เวลาน้ำท่วมบ้านที่ (เช่นตอนปี ๒๕๕๔) ก็ต้องล้างทำความสะอาดกันน่าดู นอกจากนี้มันยังเปิดช่องให้สัตวตัวเล็ก ๆ ที่เดินอยู่บนพื้น ลงไปนอนแช่น้ำในบ่อพักน้ำได้ บ่อพักน้ำนี้มักต้องทำกันตั้งแต่ตอนสร้างบ้าน

การใช้ถังเก็บน้ำตั้งบนพื้นมันก็มีข้อดีตรงที่ไม่ต้องกังวลปัญหาเรื่องน้ำท่วมหรือจะมีตัวอะไรเข้าไปนอนแช่อยู่ในถัง แต่ต้องปิดฝาถังให้ดี คือแค่ป้องกันไม่ให้ตัวอะไรต่อมิอะไรเข้าไปในถังได้ แต่ต้องให้อากาศไหลเข้าออกได้ทันเวลาตามระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเวลาที่มีการสูบน้ำออกจากถัง (ระดับมันจะเปลี่ยนเร็วกว่าเวลาเติมน้ำเข้าถัง) ถังเก็บน้ำที่ใช้กันตามบ้านจะให้น้ำประปาไหลเข้าทาง "ด้านบน" ของถัง ด้วยเหตุผลที่ว่าใช้ระบบลูกลอยเป็นตัวควบคุมการปิดเปิดท่อจ่ายน้ำเข้าไปในถัง แต่ทั้งนี้ต้องมั่นใจนะว่า เวลาที่น้ำไหลอ่อน แรงดันน้ำจะยังคงสูงพอที่จะไหลเข้าทางด้านบนของถังได้ ถ้ากังวลเรื่องนี้ก็คงต้องใช้ถังเก็บน้ำแบบเตี้ย ๆ แทน ที่มีหลายรายทำมาเพื่อใช้เป็นเก้าอี้โซฟาไปด้วยในตัว แต่มันก็จะกินที่วางหน่อย

สิ่งหนึ่งในรูปที่ ๑ และ ๒ ที่สงสัยคือทำไมเขาออกแบบติดตั้งวาล์วกันการไหลย้อนกลับไว้ทางด้านเข้าปั๊ม เพราะปรกติถ้าจำเป็นต้องติดตั้ง เราจะติดตั้งไว้ทางด้านขาออก และในกรณีของปั๊มน้ำอัตโนมัติที่ติดตั้งตามบ้านนั้นก็มักจะมีวาล์วกันการไหลย้อนกลับในตัวอยู่แล้ว การติดตั้งวาล์วกันการไหลย้อนกลับด้านขาเข้าปั๊มจะทำกันในกรณีของการสูบน้ำจากระดับที่ต่ำกว่าปั๊ม โดยจะติดตั้งไว้ที่ปลายท่อที่จุ่มอยู่ในน้ำ วาล์วนี้จะมีชื่อเรียกเฉพาะว่า foot valve การติดตั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าท่อด้านขาเข้าปั๊มมีน้ำเต็มตลอดเวลา เมื่อปั๊มทำงานก็จะจ่ายน้ำได้ทันที

แต่ในกรณีที่ระดับน้ำในถังเก็บน้ำมันสูงกว่าระดับตัวปั๊ม มันไม่จำเป็นต้องติดตั้งวาล์วกันการไหลย้อนกลับ

ไม่มีความคิดเห็น: