วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2561

การติดตั้งวาล์วกันการไหลย้อนกลับด้านขาเข้าปั๊มหอยโข่ง MO Memoir : Wednesday 14 March 2561

ปั๊มหอยโข่ง (centrifutal pump) ที่จ่ายของเหลวขึ้นที่สูง หรือไปยังระบบที่มีความดันสูง จำเป็นต้องมีการติดตั้งวาล์วกันการไหลย้อนกลับ (check valve หรือ non-return valve) ด้านขาออก เพื่อที่ว่าเวลาที่ปั๊มหยุดเดินเครื่อง ของเหลวด้านขาออกจะไม่ไหลย้อนกลับมาทางท่อด้านขาเข้าผ่านตัวปั๊ม โดยจะติดตั้งวาล์วกันการไหลย้อนกลับไว้ระหว่างตัวปั๊มกับ block valve ด้านขาออก นอกจากนี้ตัววาล์วกันการไหลย้อนกลับยังอาจทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์นิรภัยด้วย เช่นในกรณีที่ความดันท่อด้านขาออกและด้านขาเข้าต่างกันมากหรือของเหลวด้านขาออกนั้นมีอุณหภูมิที่แตกต่างกว่าด้านขาเข้ามาก (เช่นส่งของเหลวเข้าเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน) ทำให้การเลือกวัสดุที่ใช้ทำระบบท่อด้านขาเข้า (และอาจรวมถึงตัวปั๊ม) นั้นแตกต่างไปจากวัสุดที่ใช้ทำระบบท่อด้านขาออก (เช่นทนได้เพียงแค่อุณหภูมิปรกติของของเหลวที่สูบและจ่ายออก แต่ไม่ทนต่ออุณหภูมิที่ร้อนจัดหรือเย็นจัดทางด้านขาออก) ในกรณีเช่นนี้ถ้าปล่อยให้ของเหลวด้านขาออกนั้นไหลย้อนกลับมาทางด้านขาเข้า ก็อาจทำความเสียหายให้กับตัวปั๊มและระบบท่อด้านขาเข้าได้ (รูปที่ ๑ (บน))
 
การติดตั้งวาล์วกันการไหลย้อนกลับด้านขาเข้าปั๊มหอยโข่งก็มีเหมือนกัน แต่จะเป็นกรณีที่ระดับของเหลวที่จะทำการสูบนั้นอยู่ต่ำกว่าระดับตัวปั๊ม เช่นการสูบน้ำขึ้นจากบ่อ ในกรณีนี้จะติดตั้งวาล์วกันการไหลย้อนกลับไว้ที่ปลายท่อดูดที่จุ่มอยู่ในของเหลว (โดยอาจมีกระโหลกหุ้มอีกทีเพื่อกันสิ่งสกปรกขนาดใหญ่ไม่ให้ถูกดูดเข้าท่อ) วาล์วกันการไหลย้อนกลับแบบนี้เรียก foot valve หรือที่บ้านเราเรียกว่าวาล์วหัวกะโหลก (รูปที่ ๑ (ล่าง)) เหตุผลที่ต้องติดตั้งวาล์วหัวกระโหลกก็เพราะปั๊มหอยโข่งไม่สามารถทำสุญญากาศได้มากพอที่จะดึงน้ำจากระดับที่อยู่ต่ำกว่าได้ จำเป็นต้องมีการ "ล่อน้ำ" คือเต็มน้ำให้เต็มตัวปั๊มและท่อด้านขาเข้าก่อน วาล์วหัวกระโหลกทำให้น้ำยังคงค้างอยู่ในตัวปั๊มและท่อด้านขาเข้าเมื่อหยุดเดินเครื่องปั๊ม ทำให้สามารถเริ่มเดิมเครื่องปั๊มได้ใหม่โดยไม่ต้องทำการล่อน้ำใหม่ทุกครั้ง แต่ถ้าเป็นปั๊มลูกสูบจะไม่มีปัญหานี้ เพราะมันล่อน้ำด้วยตัวเองได้


รูปที่ ๑ (บน) ในกรณีที่ของเหลวในเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนมีอุณหภูมิแตกต่างไปจากของเหลวด้านขาเข้ามาก วัสดุของตัวปั๊มและท่อด้านขาเข้าอาจทนต่ออุณหภูมิดังกล่าวไม่ได้ ตัววาล์วกันการไหลย้อนกลับควรได้รับการพิจารณาว่าเป็นอุปกรณ์นิรภัยตัวหนึ่งด้วย (ล่าง) การติดตั้ง foot valve เพื่อช่วยในการล่อน้ำ
 
เมื่อวานมีโอกาสได้ไปเยี่ยมสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ผมก็ได้เล่าให้อาจารย์ท่านที่พาผมเดินเยี่ยมชมว่า จะว่าไปแล้วเรื่องที่เราจะเอามาสอนนิสิตได้นั้นมันก็มีอยู่ทั่วไปหมด แม้กระทั่งสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว เช่นเรื่องวาล์วกับปั๊ม บางทีก็ไม่ต้องไปหาตัวอย่างของจริงให้นิสิตดูไกล ๆ หลายเรื่องที่ผมเอามาเขียนลง blog ก็ไปถ่ายภาพจากห้องใต้ถุนอาคารที่นั่งทำงานอยู่ เพราะเป็นที่ตั้งของปั๊มส่งน้ำขึ้นอาคารและปั๊มน้ำดับเพลิง
 
และระหว่างที่เดินจากห้องแลปหนึ่งเพื่อไปยังอาคารโรงอาหาร ก็บังเอิญไปเห็นปั๊มน้ำส่งน้ำขึ้นอาคาร ๒ ตัว ที่ติดตั้งอยู่ใต้บันไดทางขึ้นตึก (รูปที่ ๒) ข้างล่าง เห็นบางอย่างมันสะดุดตา ก็เลยต้องขอมุดเข้าไปเยี่ยมชม ลองพิจารณาดูเองก่อนไหมครับว่ามันมีอะไรไม่เหมือนทั่วไปอยู่ตรงไหน


รูปที่ ๒ ภาพด้านข้างของปั๊มส่งน้ำขึ้นอาคารแห่งหนึ่ง

ปรกติตัวอาคารนั้นมักจะมีการสร้างบ่อเก็บน้ำประปาไว้ใต้ดิน (ใช้ระบบลูกลอยปิดทางน้ำเข้าเมื่อน้ำเต็มบ่อ) แล้วค่อยใช้ปั๊มสูบน้ำจ่ายขึ้นไปบนอาคารอีกที (เช่นส่งขึ้นถังเก็บชั้นบนก่อนปล่อยลงมาใหม่) บางอาคารนั้นตัวบ่อพักน้ำนี้เป็นส่วนหนึ่งของห้องใต้ดิน ตัวปั๊มน้ำก็อยู่ในห้องใต้ดิน อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำในบ่อพัก ในกรณีเช่นนี้มันไม่ต้องมีการติดตั้ง foot valve ด้านขาเข้าปั๊มเพราะมันไม่ต้องล่อน้ำ เพียงแค่เปิดวาล์วด้านขาเข้าน้ำก็จะไหลเข้ามาเต็มตัวปั๊มเอง แต่ถ้าตัวปั๊มนั้นตั้งอยู่บนพื้นดิน ท่อดูดต้องจุ่มแช่ลงไปในบ่อพักน้ำ ก็ต้องมีการติดตั้ง foot valve ไว้ที่ปลายท่อดูดที่จมอยู่ใต้ระดับน้ำ แต่กรณีนี้มาแปลกก็คือมีการติดตั้ง swing check valve ไว้ทางด้านขาเข้าของปั๊มน้ำ (ส่วนปลายท่อดูดจะมี foot valve ด้วยหรือไม่ผมก็ไม่รู้) นอกเหนือไปจากทางด้านขาออกที่มันต้องมีอยู่แล้ว ดูจากสภาพแล้ววาล์วด้านขาเข้านี้น่าจะเป็นวาล์วตัวเก่า ส่วนที่ว่าจำเป็นต้องติดตั้งมันเอาไว้ทำไปนั้น ก็ยังนึกเหตุผลไม่ออกเหมือนกัน วานใครก็ได้ที่รู้ช่วยบอกที
 
รูปที่ ๓ ภาพจากทางด้านหน้า ตรงลูกศรสีเหลืองชี้เป็นแกนหมุน (บานพับ) ของตัว disc ทำให้รู้ว่าวาล์วเหล่านี้เป็น swing check valve

ไม่มีความคิดเห็น: